จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

มนุษย์สองหน้า


หากเราไม่ให้ความสำคัญกับการสอนที่บูรณาการระหว่างหลักคำสอนของศาสนากับหลักวิชาการทั่วไปแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยใดๆ ว่าผลผลิตจากการจัดการศึกษาของมุสลิมจะได้มนุษย์ที่มีสองหน้า และมนุษย์ดังกล่าวจะต้องเลือกใช้หน้าใดหน้าหนึ่ง ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่คือการใช้หน้าที่มีทางเลือกมากกว่า

ปัญหาหนึ่งของการจัดการศึกษาของมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะการจัดการที่มุสลิมเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในที่นี่ผมไม่ได้วัดจากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรืออะไรอื่นประมาณนี้

แต่ที่ผมใช้วัดคือ เป้าหมายของการจัดการศึกษาในอิสลามที่มุ่งให้ผู้เรียนได้รู้จักพระเจ้าของเขาอย่างแท้จริง และสามารถดำรงตนอยู่เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ได้ในสภาพสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้ในการจัดการศึกษาจริงๆ ของโรงเรียน กลับมอบภาระกิจดังกล่าวให้กับการสอนในกลุ่มวิชาศาสนาเท่านั้น โดยกลุ่มวิชาสามัญไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวเลย เพราะในกลุ่มวิชาสามัญจะต้องตอบโจทย์ที่รัฐบาลกำหนดไว้เท่านั้น

ในความจริงแล้ว การศึกษาในอิสลามมิได้แยกระหว่างการศึกษาทางโลกกับทางธรรม เรื่องของศาสนา คือเรื่องเดียวกันกับเรื่องของโลก แยกกันไม่ได้ แต่ในระบบการศึกษาในปัจจุบันกับแยกสองเรื่องนี้ออกจากนั้นด้วยสองหลักสูตร ซึ่งนั้นก็หมายถึงโรงเรียนหนึ่งโรงสอนเด็กให้มีบุคลิกลักษณะสองแบบ และนักเรียนเองก็ไม่ได้รับคำแนะนำเลยว่า เขาจะสามารถเอาสองลักษณะนี้มารวมกันได้อย่างไร ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ครูผู้สอนเองก็มีทัศนคติต่อการเรียนในอีกกลุ่มวิชาหนึ่งติดลบเหมือนกัน เช่น ครูสอนศาสนาก็มองว่า การเรียนกลุ่มวิชาสามัญเป็นบาปบ้าง ทำให้ห่างไกลศาสนาบ้าง และครูสอนสามัญบางคนก็มองว่า เรียนศาสนามากไป อดตายแน่ ซึ่งแน่นอนทัศนคติของครูก็ได้ถ่ายทอดไปยังศิตย์อย่างแน่นอน

ดังนั้นเมื่อเด็กคนหนึ่งจบจากสถาบัน เด็กคนนั้นก็จะต้องเลือกเอาบุคลิกใดบุคลิกหนึ่งจากสองบุคลิกที่ได้รับการถ่ายทอดมา เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งในส่วนของผมเองมองว่า ทางที่เด็กจะเลือกใช้คือทางสามัญ

ในความจริง ของสองอย่างนี้ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลย เพราะไม่มีความรู้ใดที่ขัดแย้งกับความจริง (เมื่อความรู้นั้นเป็นที่สิ้นสุดแล้ว) และแน่นอนอิสลามคือว่าจริง ดังนั้นการสอนที่ดีในวิชาสามัญ คือ การพิสูจน์ความจริง การเรียนรู้สภาพความเป็นจริง เพื่อสร้างศรัทธาที่มั่นคงยิ่งขึ้น มิใช่แยกออกจากกันเหมือนอย่างในทุกวันนี้

ในขณะเดียวกันหากสอนหลักการศาสนาโดยไม่พาดพิงถึงความเป็นจริงในชีวิต ก็เป็นที่แน่นอนได้ว่า ความรู้นั้นผู้เรียนก็ไม่เห็นคุณค่าใดๆ เลย แล้วอย่างนี้จะสอนไปทำไม

แนวทางที่ถูกต้องของการจัดการศึกษาในโรงเรียน คือ การบูรณาการ นำความรู้ที่ปรากฏชัดมาสอน มาขยายความเพื่อสร้างคนที่มีอีหมานที่มั่นคง และปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาได้ในทุกสภาพการณ์

แต่นั่นแหละคือ ปัญหา เพราะการบูรณาการ ในความเข้าใจของหลายๆ นที่เกี่ยวข้อง ยังมีความหมายแค่การสลับคาบเรียนเท่านั้น

ขออัลลอฮ์ทรงเตาฟิกและฮีดายะห์

หมายเลขบันทึก: 75478เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท