วิจัยในชั้นเรียน ช่วงชั้นที่ 4 ปีที่ 2


เจตคติของนักเรียนต่อการเรียนโดยการค้นคว้าทาง Internet ในวิชาภูมิศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549

 รายงานการวิจัย


เรื่อง     เจตคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์  อำเภอเมือง จังหวัด  ราชบุรี ต่อการจัดการเรียนการสอนสาระภูมิศาสตร์  โดยใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต

ชื่อผู้วิจัย   นางสาววรรณา  ไชยศรี   โรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์  อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

1.  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
            จากการเรียนการสอนสาระภูมิศาสตร์  แบบเก่ามักเน้นหนักไปในทางให้นักเรียนอ่านและจำ การศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในหนังสือ   การใช้กิจกรรมในการเรียนการสอนน้อยมาก ไม่มีแรงจูงใจ ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขในการเรียน ไม่สนุกสนาน บรรยากาศในชั้นเรียนไม่มีชีวิตชีวา
             แต่ในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอน ต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยยึดหลักว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ การจัดการเรียนการสอนต้องมีความหลากหลายและทันสมัย โดยผู้สอนจะต้องเป็นผู้คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำเป็นอย่างดี จึงจะประสบความสำเร็จได้ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายในสาระภูมิศาสตร์ มีหลายวิธี แต่กิจกรรมหนึ่งที่ผู้วิจัยนำมาใช้คือการใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต
แนวคิด
             แนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การจัดการเรียนการสอน ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นต้องจัดสภาวะแวดล้อมบรรยากาศและการสอนที่หลากหลายเพื่อเอื้อต่อความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจเหมาะสมแก่สภาพของผู้เรียน เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่

2.  วัตถุประสงค์
     1. เพื่อศึกษาเจตนคติของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต
     2. เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในการเรียนโดยใช้วิธีการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต

3.  วิธีการดำเนินการวิจัย
     ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาตามหัวข้อต่อไปนี้
    4.1 กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 , 5/2   จำนวน 53 คน
    4.2  เครื่องมือในการวิจัย
       4.2.1  ผลงานนักเรียนที่ส่งผ่านทาง Email 
       4.2.2  แบบสอบถามเจตนคติของนักเรียน ต่อการจัดการเรียนการสอนสาระภูมิศาสตร์   โดยใช้
                วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต
       4.2.3  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระภูมิศาสตร์ 
     4.3    การรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ดังนี้
4.3.1 กำหนดเนื้อหาการสืบค้น
         - สึนามิ  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไทยและโลก
         - สภาพทางภูมิศาสตร์แต่ละภาคของประเทศไทย
         - สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย
         - วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของไทย
         - โครงการพระราชดำริด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
         - องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
4.3.2 นักเรียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตแล้วรวบรวมจัดทำเป็น  ผลงานส่งผ่านทาง  Email
4.3.3 ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนำเสนอผลงาน และอภิปรายซักถามปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนและดำเนินการสอนทบทวน ให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายในสาระภูมิศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548   
4.3.4 นักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามหลังจากจบการเรียนสาระภูมิศาสตร์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา  2548
4.4 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
ใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยและหาส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำเสนอในรูปแบบของตาราง

5.  ผลการวิจัย
จากแบบสอบถามที่ผู้สอนสอบถามเจตนคติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548  โรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  ต่อการจัดการเรียนการสอนสาระภูมิศาสตร์  โดยการใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต  จำนวน  53  คน

สรุปผลการวิจัย
              จากการวิจัย พบว่า เจตนคติของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนสาระภูมิศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์  อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  ภาคเรียนที่ 1/2548 โดยการใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต มีเจตนคติอยู่ในระดับมาก  และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อจะพบว่า นักเรียนมีเจตคติอยู่ในระดับมาก  มากที่สุดในเรื่องเนื้อหามีความเหมาะสม  การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อทางอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์  มีความน่าสนใจ  และนักเรียนต้องการให้มีการจัดการเรียนกรสอนโดยการใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตตามลำดับ  
ส่วนในเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการในโรงเรียนมีเพียงพอ นักเรียนมีเจตคติอยู่ในระดับมาก แต่ในข้อความสะดวกในการใช้อินเตอร์เน็ต และนักเรียนมีความพึงพอใจในการส่งงานทางอีเมล์ อยู่ในระดับปานกลาง  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการมีจำนวนเพียงพอ แต่อาจจะเนื่องมาจากห้องที่ใช้ค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตมีจำกัด ไม่มีความสะดวกในการเข้าใช้ และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในโรงเรียนช้ามาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของนักเรียนประกอบกับนักเรียนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้านที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้มีเพียง 5 คนเท่านั้น ดังนั้นในการใช้อินเตอร์เน็ตของนักเรียนส่วนใหญ่จึงใช้บริการจากร้านค้าให้เช่า  
               แต่อย่างไรก็ตามนักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังมีความพึงพอใจและต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เมื่อพิจารณาจากผลการเรียนของนักเรียนพบว่า ผลการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับดี  ถึงผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ   ไม่มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์   แต่ผลการเรียนของนักเรียนยังไม่อยู่ในเกณฑ์ดีมากนัก ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการใช้วิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตต่อไป

ข้อเสนอแนะ 
               เพื่อความสะดวกในการใช้อินเตอร์เน็ตของนักเรียน  จึงควรเพิ่มห้องที่ใช้ในการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะ  พัฒนาระบบเครือข่ายเชื่อมต่อทางอินเตอร์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  และผู้วิจัยจะพยายามพัฒนาสื่อการเรียนการสอนผ่านทางอินเตอร์เน็ตให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมากขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #งานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 74509เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท