เรื่องเล่าเร้าพลัง...ที่แท้จริง


ยาวค่ะ ....แต่อยากให้อ่านทั้งหมดนี้

เมื่อวันเสาร์ ที่ 20 มกราคม 2550 ได้ไปร่วมเวทีสัมมนา NewSchool Forum ครั้งที่ 1 (ภาคกลาง) เป็นกิจกรรมที่จัดโดยโครงการวารสารนิวสกูล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เป็นสื่อในการนำความรู้และประสบการณ์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการจัดการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย และต่างประเทศ มาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียรู้ในการจัดการศึกษา อย่างกว้างขวาง


  ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ โครงการฯ ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้(สวร.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และ สคส. เพื่อจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของ กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และ บุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ( ผู้นำ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้เข้าร่วมในเวทีครั้งนี้) ซึ่งประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นก็มีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันคือ


1. นวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้
2. นวัตกรรมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมและการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน)
3. นวัตกรรมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับครอบครัวและชุมชน


ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์ใหม่เนื่องจากผู้ที่เข้าร่วมในเวที เป็นครูที่มาจากต่างโรงเรียน ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักดัน ทั้งครู และผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองต่างร่วมกันทำกิจกรรมด้วยไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง โดยมีทีมงานของโครงการฯ เริ่มกิจกรรมโดยแจกกระดาษรูปหัวใจ 4 ห้อง ห้องที่ 1 ให้เขียนจุดแข็งของตัวเองลงไป ห้องที่ 2 ให้เขียนจุด่อนของตัวเรา ห้องที่ 3 ให้เขียนระบบการศึกษาไทยที่อยากเห็น และ ห้องที่4ให้เขียนระบบการศึกษาไทยที่จะดีกว่านี้ถ้า...เมื่อเขียนแล้วก็ให้ไปถามจากเพื่อนในที่ประชุมข้อละ 4 คน ไม่ให้ซ้ำกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ครู และผู้บริหารสถานศึกษารวมทั้งผู้ปกครองวิ่งวุ่นกันทั้งห้อง แต่บรรยาศเต็มไปด้วยความสุข(นิดหน่อยเพราะถือเป็นการติดเครื่องความสัมพันธ์เล็กๆ


  จากนั้นก็ให้ครูใหม่ ออกมาเล่าเรื่องเล่าเร้าพลังเป็นตัวอย่างให้เพื่อนครูฟัง โดยครูใหม่ (จากโรงเรียนเพลินพัฒนา ก็เล่าเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียนผ่านกิจกรรม “ลมข้าวเบา...เงาเดือนเพ็ญ” ครูใหม่เล่าด้วยแววตาและน้ำเสียงที่ชวนให้เคลิบเคลิ้ม (อีกแล้วค่ะ) ทำเอาผู้คนในที่ประชุมดิ่งลงไปกับเรื่องราวที่ครูใหม่เล่า...(ไม่ขอเล่าดีกว่าเดี๋ยวอรรถรสในการเล่าของครูใหม่จะเสียสูญ)  จากนั้น ทีมงานก็ให้ผู้เข้าร่วมประชุม จับคู่และเล่าเรื่องราวที่ตนประสบความสำเร็จและเป็นเรื่องที่น่าประทับใจให้กันและกันฟังใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็ให้ตัวแทนในที่ประชุมลองออกมาเล่าเรื่องที่ตนประทับใจคู่สนทนาของตน


  ปรากฎว่า มี 2 คู่ค่ะที่ออกมาเล่าความประทับใจเรื่องราวของเพื่อน ที่สำคัญ คู่ที่ 2 หลังจากที่ออกมาเล่าเรื่องราวของคู่สนทนาที่ตนประทับใจ (คือเรื่องที่ครูอรุณี จากโรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์ สามารถช่วยเหลือนักเรียนที่ติดยาเสพติดให้กลับมาเรียนและเป็นเด็กดีได้ในที่สุด ) ครูอรุณีก็ออกมาชมเชย คู่สนทนาเช่นกันว่า “ แหม!!! ก็ครู(คู่สนทนา) เขาน่ารัก ฟังด้วยท่าทางชื่นชมรม แววตายิ้มตลอดเวลา และกล่าวชื่นชมเราเป็นระยะๆ ทำให้เราอยากเล่า”


  ประเด็นนี้เอง ถือเป็นไม้ที่ส่งต่อให้พี่หญิง (สคส.) สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นความสำคัญของ story telling ที่มีพลังเป็นอย่างไร เท่านั้นแหละค่ะ ในที่ประชุมก็เริ่มเข้าใจ


 พอตอนบ่าย แบ่งกลุ่มย่อย น้ำก็ได้เข้าร่วมฟัง-สังเกตการณ์ในกลุ่มที่ 2 ประเด็น นวัตกรรมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมและการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน) เริ่มเล่าโดยครูอรุณี จากโรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์ ท่านเล่าได้ดีมากๆ ค่ะ เล่ากระทั่งไปตอนสุดท้ายถึงกับหลั่งน้ำตาเชียวค่ะ ไม่ใช่ราม่า แต่ดูเหมือนท่านจะกลั้นน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มไว้ไม่อยู่ ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้วมันไม่ใช่น้ำตาแห่งความปลาบปลื้มอย่างเดียว แต่มันรวมไปถึงอารมณ์ความรักที่ต่อศิษย์ดังลูก ความเจ็บช้ำระหว่างทางที่เดินไปศิษย์กระทั่งส่งศิษย์ไปถึงอีกฟากฝั่งได้


  

เรื่องก็มีอยู่ว่า ...มีเด็กนักเรียน ม.6 คนหนึ่งคิดดูซิค่ะ จะจบอยู่แล้ว แต่กลับติดยาเสพติด โดยครูอรุณีท่านสังเกตุเห็นจากพฤติกรรมเหม่อลอยและซึมเศร้า ขั้นแรกแกก็เชิญผู้ปกครองแต่พบว่าพ่อแม่แยกทางกัน พ่อไม่ยอมมาค่ะ มาก็แต่ยายซึ่งรักเด็กคนนี้มาก ส่วนครูก็พยายามใช้ความคิดเชิงบวกกับเด็กคนนี้ค่ะ พยายามตะล่อมถามค่อยๆ ถามแต่ไม่คาดคั้น มีคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าเธอไม่สบายใจก็ไม่ตอบตอบครูวันนี้ ไว้วันหลังค่อยมาตอบก็ได้” แบบนี้ได้ผลค่ะ 3 วันต่อมา เด็นคนนี้กลับมาหาครูเอง มาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนครูก็พยายามที่จะดึงเด็กออกจากจุดนั้นโดยพยายามหาความเป็นตัวตนและสิ่งที่เขาชอบเป็นแรงจูงใจ โดยครูถามเด็กว่า โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร เด็กตอบว่า หนูอยากเป็นดีไซเนอร์ อยากเป็นนักออกแบบ


  ครูก็ได้คำตอบตรงนี้เองนำพาทั้งเด็กและครูไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ครูใส่ใจเด็กคนนี้โดยจะมาพูดคุยกันทุกวัน เหมือนเพื่อนสนิท หาเพื่อนในห้องที่อาสาเป็นสายให้ครู แต่สายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการคอยสอดแนมจับผิด แต่อาสาเป็นเพื่อน เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะถูกเพื่อนรังเกียดไม่ให้เข้ากลุ่มเวลามีกงานกลุ่มทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่อยากมาเรียน (นี่เป็นกุศโลบายที่แยบยลเชียวแหละ) ซึ่งก็มีหัวหน้าชั้นที่อาสามาเป็นเพื่อนของเด็กคนนี้ ...ครูกระตุ้นให้เขาทำงานให้โรงเรียน ทำงานให้ชมรม กระทั่งเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรม ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าของเด็กกลุ่มนี้ก็กลับมา ผลการเรียนดีขึ้น แต่วันหนึ่งเด็กคนนี้กรีดแขนมาโรงเรียน ทำให้ครูอรุณีเสียใจมาก จากเรื่องราวที่กำลังจะจบกลับกลายเป็นเรื่องหนักใจอีกครั้ง (ระหว่างที่ครูอรุณีกำลังเล่าถึงช่วงนี้เองก็ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ครูหลายคนก็ทำท่าจะร้องตามเช่นเดียวกัน) แต่สุดท้ายด้วยความรักของครูที่มีต่อศิษย์ก็ทำให้เขาสามารถสอบได้โควต้าในคณะมัณฑณะศิลป ได้ในที่สุด ....


  นี่แค่เรื่องเดียวน่ะค่ะในจำนวน 10 กว่าเรื่องในกลุ่ม2 ซึ่งทุกเรื่องเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรและความชื่นชมยินดีมาก
  กระทั่งถึงช่วงรวมกลุ่มกัน เมื่อทุกกลุ่มส่งตัวแทนมานำเสนอกลุ่มใหญ่ ก็พบว่า เหตุที่ทำให้ครูอรุณีถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ในระหว่างการเล่าไม่เพียงแต่เพราะเรื่องราวที่ชวนซึ้งเท่านั้น แต่เป็นเพราะเพื่อนในกลุ่มนั่นแหละ ที่มีท่าทางใส่ใจในเรื่องที่ตนเล่า ยิ่งทำให้ตนพรั่งพรูความรู้สึกภายในออกมาหมด( ตีความเหมือนกับว่า ครูท่านกำลังเล่าเรื่องราว ปรับทุกข์ให้เพื่อนซี้ฟังยังไง ยังงั้น)


  *** เห็นไหมล่ะค่ะ เรื่องเล่าที่มันเร้าพลังจริง มันต้องเป็นแบบนี้
 นอกจากนี้จากการ AAR กันของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ทุกคนเห็นความสำคัญของเรื่องเล่า ครูหลายโรงเรียนบอกว่า เวทีอย่างนี้น่าจะมีขึ้นอีก และจะตามไปดูทุกครั้ง และน่าจะมีให้โรงเรียนอื่นซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่โรงเรียนที่เป็นเลิศแต่เขาน่าจะมาร่วมเรียนรู้ด้วย ที่สำคัญหลายโรงเรียนบอกว่าเวทีอย่างนี้น่าจะถูกยกเข้าไปไว้ในโรงเรียน ไปจัดในโรงเรียน และบางโรงเรียนบอกว่าจะนำแนวทางแบบนี้ไปจัดในโรงเรียนของตนและจะชวนเพื่อนโรงเรียนอื่นๆ ร่วมเวทีด้วย อีกทั้งยังเข้าใจ KM โดยที่ สคส.ไม่ต้องบรรยายอะไร...


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวทีนี้


 น่าแปลกใจค่ะที่KM ในภาคการศึกษา โดยเฉพาะวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มครู จะตั้งใจแบบนี้อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ถูกบังคับมา แต่ครั้งนี้เป็นการเชิญมาด้วยความสมัครใจ เป็นเรื่องที่คนทำงานน่าคิดวิเคราะห์ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 74007เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จับภาพ การไฟฟ้าแม่เมาะ   ติดต่อ

คุณพินิจ  นิลกัณหะ    โทร 089- 7042988

[email protected]

สวัสดีค่ะ..หนูก็เป้นคนหนึ่งที่รักและเคารพในตัวอาจารย์อรุณีเหมือนกัน..

เพราะหนูได้มีโอกาศไปเป็นอาจารย์ฝึกสอนที่นั่น..

และมีอาจารย์อรุณีเป็นหัวหน้าหมวดแนะแนว...

อาจารย์ที่นั่นใจดีมาก..มักจะสอนและให้คำแนะนำที่ดี..

เห็นรูปอาจารย์อรุณีโดยบังเอิญ..ทำให้คิดถึงท่านขึ้นมาทันที..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท