การจัดทำแผนชุมชน โดยใช้ AIC


การวางแผนชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการ A-I-C
         เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 25549 ได้ลงพื้นที่ชุมชน (อีกแล้ว) ครั้งนี้เราได้โจทย์ใบกิจกรรมที่ 3 การจัดทำแผนชุมชนในพื้นที่เดิม (ชุมชนกีฬากลางพัฒนา Block 5) ใช้แนวทางการวางแผนชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการ A-I-C (Appreciation Influence Control) เป็นกระบวนการที่ใช้ในการระดมความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เพื่อการวางแผนพัฒนาโดยมีการช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหา กำหนดเป้าหมายและแนวทางพัฒนาร่วมกัน

         ก่อนจะลงพื้นที่ดำเนินการ เราก็ต้องมีการศึกษาชุมชนเบื้องต้นกันก่อน ซึ่งเราได้ทำไปแล้วในกิจกรรมที่ 1 จากนั้นกลุ่มจึงคัดเลือกตัวแทนจากชุมชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น กรรมการหมู่บ้าน เยาวชน ผู้อาวุโส กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพต่าง ๆ และนัด อสม.เพื่อปรึกษาหารือนัดชาวบ้าน ทีมผู้นำประชุมต้องทำความเข้าใจกระบวนการและแบ่งหน้าที่กัน โดยใช้ศาลาเอนกประสงค์ในชุมชนเป็นที่ดำเนินการ เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำกลุ่ม ผลไม้ และน้ำผลไม้ไว้บริการ

          เมื่อลงพื้นที่ตอนแรกเราก็กังวลว่าจะมีคนในชุมชนมาร่วมทำแผนกับเราไม่มาก แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าพลังจากชุมชนเกินคาด มานั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากที่เราชี้แจงวัตถุประสงค์และแนะนำตัวกันไปแล้ว สังเกตว่าบรรยากาศก็ดูจะเคร่งเครียดไปก็เลยให้พี่ทิพย์ (คนสวยประจำกลุ่ม) มานำเล่นเกมประกอบเพลง ก็ผ่อนคลายไปได้มาก

          ต่อมาพี่อ๊อฟ (คุณพ่อคนใหม่) มานำกระบวนการ เริ่มจากให้ชุมชนคิดภาพ ชุมชนในปัจจุบัน แล้วก็เสนอความคิดขึ้นมา ทีมก็ช่วยกันเขียนลงแผนที่ความคิด (พี่แต้มกับพี่เล็กก็ช่วยจัดกลุ่มให้ ไม่อย่างนั้นเขียนไม่ทันแน่) จากนั้นก็ให้ชุมชนคิดภาพ ชุมชนในอนาคต เขียนลงแผนที่ความคิดอีกใบ แล้วมาสรุปปัญหาที่พบได้ต่าง ๆ กันไป แล้วก็ให้ยกมือโหวตปัญหาที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วน 4 อันดับแรก ได้แก่ น้ำประปาไม่สะอาด สถานบริการล่าช้า ท่อระบายน้ำอุดตัน และขาดอุปกรณ์ออกกำลังกาย จะเห็นว่าปัญหาของชุมชนจะไม่เป็นปัญหาสุขภาพโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม สาธารณูปโภคมากกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ใกล้สถานบริการ (รพ.มหาราช และคลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว) และสิทธิการรักษา 

          ทางกลุ่มจึงนำ 4 ปัญหาแรกที่ชุมชนเสนอ มาช่วยกันจัดทำแผนชุมชน ประกอบด้วย ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ กิจกรรม งบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการ ตัวชี้วัด และผู้รับผิดชอบ จากนั้นกลุ่มก็สรุปให้ชุมชนทราบและผลของการทำแผนที่ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความเข้าใจของทั้ง 2 ฝ่าย (เจ้าหน้าที่กับชุมชน) ขอขอบคุณความร่วมมือของชุมชนกีฬากลางพัฒนา Block 5 และอสม.ที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง

                                        นันท์นภัส สุขใจ

                            นศ.การพัฒนาสุขภาพชุมชน รุ่นที่ 4

                              มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  
คำสำคัญ (Tags): #สม.4
หมายเลขบันทึก: 73978เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 05:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจมาก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท