ดัชนีความสุขบนโลกที่ไม่เท่าเทียม (และไม่มีวันสมบูรณ์)


ชีวิตจริงมันไม่มีอะไรสมบูรณ์หรอก และจะไม่มีวันสมบูรณ์ มันเป็นเรื่องของการผสมผสาน ในร่างกายคุณยังไม่สมบูรณ์เลย ร่างกายผมก็ไม่สมบูรณ์ อวัยวะผมหายไป 4 อย่าง ถูกตัดไป 4 อย่าง แต่เราก็บริหารภายใต้ความไม่สมบูรณ์ เราทำให้ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สมบูรณ์

            (บทสัมภาษณ์ โดยกองบรรณาธิการ ลงในคอลัมน์ Interview ของหนังสือ WAY ฉบับที่ 3 หน้า 60-66)

            ไม่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็น ปรัชญาหรือ ยุทธศาสตร์...และจะถูกปรับใช้จนสามารถเดินควบคู่ไปทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่างไม่ขัดแย้งได้จริงหรือไม่ก็ตาม 

            แต่เมื่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ประกาศให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวนโยบายหลักของรัฐบาล นอกจากจะส่งผลไปถึงทิศทางและเงื่อนไขการทำงานของกระทรวงใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานอย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการ ก็กลายเป็นกระทรวงที่มีบทบาทเกี่ยวข้องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระทรวงแห่งนี้มีแผนผลักดันให้ใช้ ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH (Gross national happiness) เป็นเครื่องมือชี้วัดคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคม ควบคู่ (ยังไม่ใช่ทดแทน) ไปกับการใช้จีดีพีซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดความรวย-จนที่นับวันจะเชยขึ้นเรื่อยๆ

            ตารางงานของ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หรือ อาจารย์ไพบูลย์ ที่ผู้คนในแวดวงการทำงานท้องถิ่นและชุมชนให้ความเคารพในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ จึงแน่นแทบไม่เว้นชั่วโมงและไม่มีวันหยุด ทั้งที่สุขภาพร่างกายของอาจารย์ไพบูลย์เอง ก็เพิ่งฟื้นจากโรคภัยไข้เจ็บครั้งใหญ่ได้ไม่นาน

            เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯเดินมาแจ้งกับกองบรรณาธิการ way ว่า ขอเลื่อนเวลาการให้สัมภาษณ์ออกไปจากกำหนดเดิมครึ่งชั่วโมง เพื่อให้อาจารย์ไพบูลย์ใช้เวลานั้นพักผ่อน ภายหลังการประชุมกับคณะรัฐมนตรีมาตลอดทั้งวัน (การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้นมีวาระว่าด้วยเรื่องหวยบนดินรวมอยู่ด้วย)

            อาจารย์ไพบูลย์เดินมาที่ห้องรับรองของกระทรวงเมื่อครบ 30 นาที สีหน้าอิดโรย แต่มีรอยยิ้มประกอบการตอบคำถามเบาๆ เกี่ยวกับความสุข ความรวย และความคืบหน้าในการนำดัชนีความสุขมาใช้กับสังคมไทย       

นโยบายของรัฐบาลที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมฯซึ่งจะผลักดัน GNH (Gross national happiness) เป็นนโยบายแห่งชาติ ถึงตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

            เรื่องการมองว่าความสุขเป็นเป้าหมายของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาแต่โบร่ำโบราณเป็นพันๆ ปีมาแล้ว แต่เป็นนามธรรมอยู่ในใจคน ไม่มีการวัด ไม่มีการเอามาเป็นนโยบายแห่งชาติ 

            เดิมเนื่องจากคนยังเห็นเรื่องวัตถุสำคัญ เรื่องรายได้สำคัญ เรื่องการเงินสำคัญ ซึ่งก็สำคัญจริงนะ จึงเอาเรื่องรายได้ประชาชาติมาเป็นเป้าหมายในการบริหารและพัฒนาประเทศ แต่ภายใต้สภาพที่คนมีรายได้สูงขึ้นๆ แต่ก็มีปัญหาเรื่องคุณค่า คุณธรรม จริยธรรม เรื่องความเป็นสุข ทั้งในตนเอง ในครอบครัว ในสังคม ความแตกแยกของครอบครัว ความแตกแยกในชุมชน ชีวิตที่อ้างว้าง จิตใจไม่เป็นสุข คนเลยหันกลับมาสนใจว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่เราต้องการน่าจะไม่ใช่รายได้ รายได้เป็นเพียงเครื่องมือ รายได้ที่พอเหมาะพอควรก็น่าจะพอ ไม่ใช่ว่ายิ่งมากยิ่งดี 

            เพราะถ้ารายได้มากก็แปลว่า มีการดึงทรัพยากรจากคนอื่นมาก สร้างปัญหาให้คนอื่น เกิดความแตกแยก ความขัดแย้งในสังคม เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดความไม่เป็นธรรม ถ้ามีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมก็นำไปสู่ความแตกแยก เกิดความไม่เป็นสุข คนจนก็เป็นทุกข์ คนรวยก็เป็นทุกข์ (หัวเราะ) 

            จนกระทั่งประเทศภูฏานเขาออกมาบอกว่า เขาจะไม่พัฒนาประเทศโดยมุ่งรายได้ประชาชาติ เขาจะมุ่งความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross national happiness (GNH) ศัพท์นี้เลยเป็นที่กล่าวถึง ได้มีการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติมา 2 รอบ ครั้งแรกที่ประเทศภูฏาน ครั้งที่ 2 ที่แคนาดา มีดำริจะจัดครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยปลายปี 2550

ถึงตอนนี้เราได้นิยามร่วมกันหรือยังว่า เวลาพูดถึงความสุขเราพูดในความหมายเดียวกันหรือไม่

            ก่อนจะพูดเรื่องนั้น...หันมาดูประเทศไทย ประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจเรื่องความสุข เรื่องการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาที่มุ่งให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ต่อมาฉบับที่ 9 ก็เพิ่มปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นความพอดี ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันบนฐานของความรู้และความดี หรือความรู้และคุณธรรมความดี ฉะนั้น ประเทศไทยไม่ใช่ว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องความสุข และได้มีดำริที่จะจัดทำตัวชี้วัด ความสำเร็จของการพัฒนาในรูปของความสุขของประชาชน ที่ไม่ใช่รายได้ประชาชาติอย่างเดียว 

            อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้มีระบบวัดที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และถือเป็นนโยบายระดับชาติ ได้มีการทำโดยสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้มีการใช้มาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ฉะนั้นในแผนฉบับที่ 10 จึงมีการตอบรับวิสัยทัศน์หรือความมุ่งมาดปรารถนาผลสำเร็จของการพัฒนาให้เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน หรืออาจจะบอกว่าสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ภาษาที่ใช้ในแผนฯ 10 คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นวิสัยทัศน์ประเทศไทย ฉะนั้นภายใต้แผนฯ 10 ซึ่งยังคงใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง ก็น่าจะมีความเข้มในเรื่องของการมุ่งในความสุขหรือความเป็นสุขหรือความอยู่เย็นเป็นสุข

ต้นแบบความคิดยังมาจากภูฏาน?

            ก็ไม่เชิงหรอก...คือที่จริงความคิดในเรื่องความอยู่ดีมีสุข หรือว่าอยู่ดีมีสุข ในภาษาอังกฤษเรียกว่า well-being คือความเป็นสุข มีในประเทศต่างๆ หลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศภูฏาน เพียงแต่ว่าที่ประเทศอื่นๆ จะทำในระดับท้องถิ่น ระดับเขตเทศบาล หรือระดับรัฐ แต่อย่าลืมว่ารัฐในอเมริกาก็เท่ากับประเทศหนึ่งแล้ว (หัวเราะ) ในออสเตรเลียก็มีระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จึงไม่ใช่ของใหม่ สังคมทั่วโลกพยายามจะค้นหาตัวชี้วัดที่ดี ดีกว่าเรื่องรายได้อยู่แล้ว

ตัวดัชนีที่จะใช้คำนวณนั้นลงตัวหรือยังว่ามีอะไรบ้าง

            ยัง...แต่ได้มีผู้สนใจได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ชื่อว่า เครือข่ายดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุข ภาษาอังกฤษคือ Well-being Index Network (WIN) มีผมอยู่ด้วย มีผู้บริหารสภาพัฒน์ฯ มีนักวิชาการ และอื่นๆ เราก็จะใช้ความพยายามร่วมกันที่จะผลักดันให้เกิดดัชนีวัดความสุขที่ใช้ร่วมกัน 

            ความคิดเริ่มต้นคือว่า ดัชนีวัดความสุขนั้นควรจะต้องเป็นดัชนีของประชาชน ที่ประชาชนเห็นชอบและประชาชนใช้ ประชาชนนำมาเป็นเครื่องมือในการจัดการ คำว่าประชาชนจะต้องรวมตั้งแต่ระดับฐานราก คือระดับชุมชนท้องถิ่น ในทางปฏิบัติก็คือจะมีการส่งเสริมให้ประชาชนท้องถิ่นระดับหมู่บ้าน ตำบล หรือเขตเทศบาล คิดดัชนีชี้วัดความสุขของเขาขึ้นมา แล้วเป็นสิ่งที่เขาเห็นชอบแล้วเขาใช้ แต่ถ้าวิชาการอาจจะประมวลมาให้ดูว่าเขาคิดกันมาแล้วเท่าไร อย่างไรประเทศอื่นๆ เขาคิดกันมาอย่างไร มีกี่สูตรกี่แบบ ขณะนี้มีประมาณ 7-8 แบบที่คิดกันมา คิดโดยชาวบ้านก็มี คิดโดยนักวิชาการก็มี คิดโดยข้าราชการก็มี เอามาให้ดู แล้วให้ชุมชนท้องถิ่นพิจารณาดู ว่าเขาอยากใช้หรือเปล่า 

            ถ้าเขาชอบเขาจะใช้ ก็ให้เขากำหนดรายละเอียดตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสม เพราะเขาต้องเป็นคนใช้ ใช้เพื่ออะไร ใช้เพื่อช่วยให้ท้องถิ่นเขามีความสุขมากขึ้น (หัวเราะ) ไม่ใช่ใช้เพื่อจะวัดแล้วไปให้รัฐบาลดู ที่แล้วมานั้นรัฐบาลไปวัด วัดแล้วรัฐบาลเอามาดู แล้วก็ออกทางสื่อ ประชาชนท้องถิ่นไม่ได้รับรู้ด้วย ฉะนั้นเขาก็ไม่ได้เอาไปใช้เป็นเครื่องมือทำให้ชีวิตเขามีความสุขมากขึ้น

อาจารย์มีวิธีจะทำให้เขาเข้าใจอย่างไร เพราะว่าก่อนหน้านั้นท้องถิ่นหรือทั่วประเทศถูกปลูกฝังมาว่า ถ้าคุณจะมีความสุข คุณต้องมีเศรษฐกิจที่ดี

            ท้องถิ่นที่มีความคิดก้าวหน้ามีเป็นพันๆ ตำบล ไม่ใช่ว่าทุกแห่งจะเป็นประชานิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม...ไม่ใช่ มีหลายแห่งที่เขามุ่งพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจพอเพียง หลายแห่งเขาไปในทิศนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ยากที่จะไปส่งเสริม 

            อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เนื่องจากว่าผมมานั่งอยู่ที่กระทรวงนี้ เป็นรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผมก็จะผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับชาวบ้าน ร่วมกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เพื่อที่จะให้เกิดดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นมา

การผลักดัน GNH จะขัดแย้งกับการใช้ GDP (Gross Domestic Product) ที่มีอยู่เดิมไหม

            ไม่ ไม่ขัดแย้ง มันอยู่ในแผนฯ 10 อยู่แล้ว แผนฯ 10 เราเน้นความอยู่เย็นเป็นสุขเป็นยุทธศาสตร์อยู่แล้ว ฉะนั้นหน้าที่ของทุกกระทรวงนั้นคือพยายามไปทำตามแผนฯ 10 คำแถลงนโยบายรัฐบาลก็สอดคล้องกับแผนฯ 10 มีนโยบายด้านสังคม 9 ข้อ ซึ่งกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการ ซึ่งรวมถึงเรื่องการมีดัชนีชี้วัดความสุข อยู่ในแผนงาน ภายในปีนี้แหละ อย่างน้อยผมและกระทรวงนี้จะต้องดำเนินการ และเรามีฐานงานอยู่ที่ชุมชนเยอะอยู่แล้ว

สรุปว่าภายในปีนี้เราจะได้ข้อสรุปว่าตัวชี้วัดดัชนีความสุขควรประกอบด้วยอะไรบ้าง?

            ภายใน 1 ปี ไม่ใช่ภายในปีนี้ ปีนี้เหลือแค่เดือนกว่าๆ (หัวเราะ)

ในแง่นโยบายการค้าระหว่างประเทศ เราต้องปรับท่าทีหรือจุดยืนกันใหม่ไหมครับ ถ้าจะเดินตามทิศทางจีเอ็นเอช 

            ยังไม่จำเป็นต้องไปสุดโต่ง (ตอบทันที) คือเรื่องเศรษฐกิจมหภาคเขาจะว่าอะไรก็ว่าไป จีดีพี จีเอ็นพี ก็ยังต้องวัดกันต่อไป ไม่จำเป็นต้องเลิกเศรษฐกิจ ธุรกิจที่ทำอยู่ แต่ว่าสิ่งที่จะทำก็คือว่า ส่งเสริมให้เศรษฐกิจหรือธุรกิจนั้นเป็นไปในทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแปลว่าพยายามให้เกิดความสมดุล เกิดความพอดี ความมั่นคง ความยั่งยืน อันนี้เศรษฐกิจ ธุรกิจเขารับอยู่แล้ว นักธุรกิจใหญ่ๆ เขารับแนวคิดนี้อยู่แล้ว เพราะว่าความพอดี สมดุล มั่นคง ยั่งยืนนั้น คือวิธีปฏิบัติที่ดีของธุรกิจ ธุรกิจที่เอาแต่รายได้ เอาแต่กำไร เป็นธุรกิจที่ไม่ดี นักธุรกิจเขาก็เห็นว่าไม่ดี (หัวเราะ) แต่ว่าที่แล้วมาไม่เคยมีใครมาสกัดไว้ รัฐบาลนี้จะต้องสกัดความคิดแบบสุดโต่งไปในทางวัตถุนิยม บริโภคนิยม ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจะต้องทำเป็นล่ำเป็นสัน

            ได้มีการประชุมเมื่อวันก่อนที่นายกรัฐมนตรีไปปาฐกถาให้กับนักธุรกิจ นักวิชาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานของรัฐ และอื่นๆ อีกมากมาย รัฐบาลนี้เอาจริงเอาจังในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ขัดกับเศรษฐกิจปกติ บนเงื่อนไขที่ว่าเศรษฐกิจปกติถ้าดีแล้วนั้น ก็คือเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไม่ดีก็คือแบบก่อนปี 2540 นั่นคือแบบไม่ดี (หัวเราะ) แบบที่นำไปสู่ความล่มสลาย

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะตั้งข้อสังเกตเชิงเย้ยหยันเสมอคือ การวัดค่าจีเอ็นเอชนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร 

            ต้องไปคิดกันว่าเราจะวัดกันแบบไหน สูตรที่ออกมามีหลายๆ แบบ ถ้าแบบง่ายๆ อย่างที่องค์กร happy planet index เขาวัดกัน เขาวัดโดยดูสองอย่าง หนึ่ง เขาดูข้อมูลที่บอกถึงความอยู่เย็นเป็นสุข ดูอายุ อายุยาวมั้ย รายได้เท่าไร อีกด้านหนึ่งเขาไปถามความเห็นประชาชน ว่ารู้สึกเป็นสุขมั้ย เอาสองอย่างมารวมกัน เพื่อหาค่าเฉลี่ย แต่เขาไปหารด้วยการใช้ทรัพยากร ฉะนั้นถ้าที่ไหนใช้ทรัพยากรมาก ตัวเลขตัวนี้จะต่ำ ถ้าที่ไหนความเป็นสุขพอสมควร แต่การใช้ทรัพยากรน้อย ตัวเลขจะสูง

            นี่เป็นเหตุที่ว่าทำไมเกาะเล็กๆ ที่มหาสมุทรแปซิฟิกถึงมีตัวเลขสูง ประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์สูงเทียบกับยุโรปและอเมริกา ไม่ใช่เพราะเรามีความสุขมากกว่าเขา เรามีความสุขอาจจะใกล้เคียงกับเขา หรือแม้กระทั่งน้อยกว่า แต่เราใช้ทรัพยากรน้อยกว่าเขาเยอะ อันนั้นเป็นการวัดแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นตัววัดที่ไม่ค่อยดี 

            ตัววัดที่ดีเท่าที่เราทำกันในประเทศไทยมี 7-8 แบบ แบบหนึ่งที่ผู้นำชาวบ้านร่วมคิดด้วย เป็นผู้นำชาวบ้านจากภาคอีสานกับนักวิชาการทำกันมา เขาสรุปกันมาเป็น 7-8 หมวด มีหมวดเรื่องความมั่นคงในชีวิต หมวดเรื่องความอบอุ่นในครอบครัว หมวดเรื่องความปลอดภัย หมวดเรื่องการมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง แล้วก็มีหมวดที่ว่าด้วยการเข้าถึงธรรมะ ฯลฯ รายละเอียดเรื่องนี้เรามีข้อสรุปกันอยู่ 

            อย่างไรก็ดี การวัดนั้นความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสมบูรณ์หรือถูกต้อง เพราะไม่มีใครรู้ว่าสมบูรณ์หรือถูกต้องเป็นยังไง แต่การวัดเป็นกุศโลบายให้คนได้คิด แล้วจับความคิดเอาไปทำ โดยเฉพาะได้คิดร่วมกันแล้วไปทำร่วมกัน คุณค่าของดัชนีไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้องของดัชนี มากเท่ากับที่ผู้เกี่ยวข้องกับดัชนีนั้นรับว่าเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์ และในการพัฒนานั้นจะทำให้ต้องมาคิดด้วยกันทำด้วยกัน สร้างทุนทางสังคม สร้างปฏิสัมพันธ์ในการพัฒนา ตรงนั้นเราเรียกว่าทุนของสังคม และนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน เมื่อมีความเข้มแข็งก็จะจัดการได้ดีขึ้น จัดการได้ดีขึ้นนั่นแหละ ความอยู่เย็นเป็นสุขจะมากขึ้น

คนที่ยังยากจนอยู่ เขาจะเข้าถึงสิ่งที่อาจารย์บอกได้อย่างไร

            ไม่มีใครหรอกที่เขาจะไม่มีไปเสียหมดทุกอย่าง เช่น สมมุติว่าบ้านเขาไม่มั่นคง โอเค ข้อนี้ถือว่าเป็นลบ แต่พอมาถึงด้านครอบครัว เขาอาจจะอบอุ่น พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน จนแต่อยู่ด้วยกัน จิตใจดี ในด้านความปลอดภัย อาจจะมีความปลอดภัย อาจจะเข้าถึงธรรมะ จิตใจเขาผ่องใส เขาไม่จำเป็นต้องร่ำรวย แต่เขามีจุดอ่อนในเรื่องความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีใครหรอกที่ไม่มีคะแนนเลย เขาจะต้องมีคะแนนอยู่บ้าง 

            ทีนี้สำคัญอยู่ตรงนี้ คือเราไม่ได้สนใจว่าไปดูแล้วเป็นยังไง สำคัญว่าเมื่อดูแล้วนั้นช่วยให้เขาคิดได้ว่าจะทำให้ดีขึ้นทำยังไง และไม่ใช่คิดคนเดียว คิดร่วมกันทั้งชุมชน ร่วมกันกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันกับราชการส่วนภูมิภาค ร่วมกันกับภาคประชาสังคมที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ร่วมกันกับภาคธุรกิจที่เข้าไปเกี่ยวข้อง มันเป็นเครื่องมือ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะปรึกษาหารือยังไง ไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นประเด็น แต่ถ้ามีตัวชี้วัด เราจะเห็นว่าเออ...เป้าหมายเราอย่างนี้ใช่มั้ย เป้าหมายเราตรงกันมั้ย เราต้องการทำให้ความอยู่เย็นเป็นสุขดีขึ้นจากปัจจุบัน สมมุติว่าจาก 70 ให้เป็น 75 นั่นคือเป้าหมาย เรามีแนวทางที่จะไปสู่จุดนั้นได้ยังไง ก็ปรึกษาหารือกัน ทำให้เกิดขึ้นเป็นวงจรไปเรื่อยๆ

ดูเหมือนว่าอาจารย์และกลุ่มกระทรวงที่เกี่ยวข้องอาจจะไปในทางเดียวกัน แต่ในตัวของรัฐบาลจริงๆ โดยภาพรวมแล้วจะไปด้วยกันได้จริงหรือไม่ 

            ถ้าผมร่วมงานกับสภาพัฒน์ฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็เยอะ และถ้าคนอื่นเห็นว่าดี เขาก็เอาด้วย เราก็ต้องหวังอย่างนั้นไว้สิ

จากกรณีท่าทีรัฐบาลเรื่องหวยบนดิน มันพอจะประเมินได้ไหมว่าปลายทางของการผลักดันดัชนีความสุขจะลงเอยรูปแบบไหน 

            ในชีวิตจริงมันไม่มีอะไรสมบูรณ์หรอก มันเป็นเรื่องของการผสมผสาน ในร่างกายคุณยังไม่สมบูรณ์เลย ร่างกายผมก็ไม่สมบูรณ์ อวัยวะผมหายไป 4 อย่าง ถูกตัดไป 4 อย่าง มันก็ไม่มีอะไรสมบูรณ์หรอก และก็จะไม่มีวันสมบูรณ์ แต่ว่าเราก็บริหารภายใต้ความไม่สมบูรณ์ เราทำให้ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สมบูรณ์ 

            เรื่องหวยก็ได้ข้อสรุปมา เรื่องหวยนั้นก็คงต้องขายไปก่อน เพราะถ้าไม่ให้ขายคงสร้างปัญหาอีกแบบ ในขณะเดียวกันเราจะเพิ่มในด้านการส่งเสริมให้คนมีชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข และเพื่อทำเรื่องนี้ให้จริงจัง เราจะตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีงบประมาณสนับสนุน ชวนคนมาคุยกัน แล้วก็ลงมือทำ สิ่งนี้คือสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน เราก็จะทำ เรื่องขายก็ขายไป แต่ที่เราจะระงับคือระงับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ระงับอะไรก็ตามที่ไปยุยงส่งเสริมให้คนอยากเล่น ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้ระงับ ทำให้คนยิ่งเล่นกันใหญ่ คือปากว่าตาขยิบ ปากก็บอกว่าไม่ส่งเสริม...

หวยบนดินถือว่าเป็นความสุขของชาวบ้านไหมครับ

            ไม่ใช่หรอก มันเหมือนกับ...คันก็เกาให้หายคัน แต่มันไม่ใช่ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีขึ้น หรือว่ามาบีบๆ นวดๆ ให้รู้สึกสบายขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ร่างกายดีขึ้น ซึ่งบุหรี่ก็ทำให้มีความสุขขณะสูบ ดื่มเหล้าก็ทำให้มีความสุขขณะดื่มเหล้า แต่ผลที่ตามมาก็เห็นกันอยู่ เล่นหวยก็เหมือนกันแหละ มีความสุขตอนเล่น แต่สิ่งที่ตามมามันทำให้คนจำนวนมากมีชีวิตอ่อนด้อย จิตใจอ่อนด้อย

แต่ก็เลิกขายไม่ได้ แล้วเราจะพูดถึงความสุขกันแบบไหน? 

            การลดละเลิกนี่ตรงกันสิ ผมทำตรงส่วนนี้ เรื่องขายนั้น...เป็นความจำเป็น จะขายก็ขายไป แต่นโยบายรัฐบาลคือ ตอนนี้ขายไปตามความจำเป็น แต่ว่าจะต้องมีมาตรการให้คนลดละเลิกหวย งดมาตรการที่ไปส่งเสริม และเพิ่มมาตรการป้องกันปราบปราม ต้องไปด้วยกัน และก็เชื่อว่าการเล่นหวยจะค่อยๆ ลดลง หวังอย่างนั้น ตั้งเป้าหมายอย่างนั้น 

ระหว่างการลดดีมานด์กับลดซัพพลาย อะไรแสดงผลได้ชัดเจนกว่าครับ

            ถ้าลดก็ต้องลดทั้งความต้องการและปริมาณ อยู่ๆ มาบอกว่าเราไม่ขายแล้วบนดิน คนก็ไปซื้อใต้ดิน คือจะไปห้ามมันไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ไปลดซัพพลายนั้นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ หรือหวย แม้กระทั่งยาเสพติด ตราบใดที่มีความต้องการ ฉะนั้นต้องทำทั้งสองอย่างไปด้วยกัน ลดปริมาณมันง่าย แต่ลดความต้องการมันยาก ต้องให้เวลาสำหรับการลดความต้องการ ค่อยๆ เกิดผล แล้วก็ค่อยๆ ลดด้านอุปทาน คือมันอาจจะขยับซ้ายทีขวาที ต้องพยายามไปอย่างนั้น 

            แต่จุดมุ่งหมายของรัฐบาลชัดเจน คือไม่ส่งเสริมการพนัน ไม่ส่งเสริมอบายมุข และจะมีวิธีการที่จะส่งเสริมให้คนมีชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข อันนี้ผมได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน ว่าให้จัดให้มีองค์การมหาชนขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อแสดงเจตนาที่ชัดเจนและต่อเนื่อง โดยมีงบประมาณสนับสนุน

พอจะมีตัวอย่างของประเทศที่ดัชนีความสุขสูงๆ แต่ว่าเป็นประเทศที่มีโครงการซับซ้อน ไม่ใช่อย่างวานูอาตู และไม่ใช่ภูฏาน บ้างไหมครับ

            การวัดที่เป็นระบบแบบที่เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้นั้นยังไม่มี ตัวอย่างประเทศที่พูดขึ้นมานั้นคือ HPI (happy planet index) อย่างที่ผมว่านั้นเป็นการวัดหยาบๆ และก็ไม่ได้วัดความสุขโดยตรง คืออย่าไปให้ความสำคัญกับการวัดเชิงเปรียบเทียบว่าประเทศนั้นมีความสุขกว่าประเทศนี้ให้มากนัก ผมยังเห็นว่าการเปรียบเทียบเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ไม่ใช่เครื่องมือสำคัญที่สุด เพราะว่าสถานการณ์มันต่างกัน 

            สิ่งที่มีประโยชน์คือท้องถิ่นหนึ่งๆ วัดตัวเอง แล้วพยายามจะสร้างความสำเร็จในตัวเอง พัฒนาตนเอง ตรงนั้นมีประโยชน์มากที่สุด การเปรียบเทียบระ

คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 73816เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2007 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์ไพบูลย์

เนื่องจากงานที่อาจารย์กำลังทำอยู่ต้านกับกระแสสังคมที่ดำเนินอยู่ย่อมลำบาก ฝืนก็ย่อมเหนื่อยเป็นธรรมดาค่ะ

อย่างไรก็ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท