ทักษะการสอน (ต่อ)


วิชาชีพครูจะต้องใช้ศิลปะในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ

ทักษะการสรุปบทเรียน

     ทักษะในการสรุปบทเรียน หมายถึง ความสามารถในการรวบรวมใจความหรือเนื้อเรื่องที่สำคัญ ๆ ที่ผู้สอนต้องการจะให้ผู้เรียนทราบเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในบทเรียนตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้น โดยทั่ว ๆ ไปการสรุปบทเรียนจะทำทุกครั้งหลังจากที่สอนจบบทเรียนแล้ว เพื่อผู้เรียนจะได้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างของความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับ
หลักในการสรุปบทเรียน
1.  ผู้สอนจะต้องรู้ว่าบทเรียนจะจบลงในลักษณะอย่างไร เพื่อจะได้สรุปบทเรียนได้     ถูกต้องด้วยวิธีการที่เหมาะสม
2.  ผู้สอนจะต้องรู้ว่าใจความสำคัญของเรื่องนั้นมีอะไรบ้าง   เพื่อจะได้สรุปบทเรียนได้ถูกต้องและครอบคลุม
3.  ผู้สอนจะต้องครุ่นคิดว่าจะสรุปเรื่องที่ผู้เรียนได้เรียนมาแล้วกับสิ่งที่จะสอนให้ใหม่ให้เข้าด้วยกันได้อย่างไร
4.  การสรุปบทเรียนจะต้องน่าสนใจ เช่น การใช้ความรู้ที่เรียนมาคิดเกี่ยวกับการนำไปแก้ปัญหาที่พบใหม่
5.  พยายามชี้ให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิม สิ่งที่เพิ่งเรียนจบไป การนำไปประยุกต์ใช้ และสิ่งที่จะเรียนต่อไปในอนาคต
6.  ผู้สอนสรุปเรื่องหรือใจความสำคัญเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้น (cognitive closure) ตลอดจนเป็นการเชื่อมความรู้เก่ากับใหม่เข้าด้วยกัน
7.  สรุปแนวความคิดของผู้เรียนเกี่ยวกับการเรียน (Social Closure) ในแง่ที่เกี่ยวกับความสำเร็จในการเรียน ตลอดจนปัญหาหรืออุปสรรคที่ประสบในการเรียนเพื่อจะได้เป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
8.  ผู้สอนอาจดึงสิ่งต่าง ๆ ที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกันให้มาสัมพันธ์กัน
9.  ผู้สอนอาจจะให้ผู้เรียนแสดงหรือสาธิตสิ่งที่เรียนไปให้ดู เช่น ผู้สอนสอนเรื่องการต่อเซลล์ไฟฟ้า แล้วให้เกิดการสรุปในสิ่งที่เรียนโดยให้ผู้เรียนต่อวงจรไฟฟ้าให้ดู
10.  การสรุปบทเรียนไม่จำเป็นที่ผู้สอนจะต้องรอจนสอนเสร็จทั้งหมดจึงค่อยสรุป แต่ผู้สอนอาจพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น ถ้ามีสาระต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมากและซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ ผู้สอนอาจค่อย ๆ แยกสรุปเป็นตอน ๆ ไป แล้วตอนท้ายจึงนำมาสรุปรวมอีกครั้งหนึ่ง การสรุปบทเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ควรเป็นบทบาทร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในการช่วยกันอภิปรายสรุป
ประโยชน์ของการสรุปบทเรียน
1. ประมวลเรื่องราวที่สำคัญ ที่ได้เรียนไปแล้วเข้าด้วยกัน
2. เชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนการสอนเข้าด้วยกัน
3. รวบรวมความสนใจของผู้เรียนเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะจบบทเรียน
4. สร้างความเข้าใจในบทเรียนให้ดีขึ้น
5. ช่วยส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน ถ้าผู้สอนรู้จักให้ผู้เรียนคิดต่อไปว่าจะนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ หรือนำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง

คุณลักษณะที่ประเมิน
1. ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการสรุปบทเรียน เช่น ยกตัวอย่าง ใช้การอธิบาย ใช้การถามคำถาม ใช้สื่อประกอบ
2. สรุปบทเรียนโดยการเน้นจุดสำคัญของเนื้อหา การใช้คำพูด ท่าทางที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ชัดเจนขึ้น
3. วิธีการจบบทเรียนน่าสนใจ
4. วิธีการสรุปบทเรียนช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกลับมาสนใจในบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง
5.  มีการเว้นระยะเพื่อให้ผู้เรียนคิดและสรุปบทเรียน
6.  มีการส่งเสริมให้กำลังใจ การใช้วาจา ท่าทาง สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในการสรุปบทเรียน
7.  การกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมสรุปเนื้อหา ส่งเสริมให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมโดยการสนับสนุนหรือขัดแย้ง
8.  สรุปรวบยอดได้ตรงตามจุดมุ่งหมายของบทเรียน และได้ใจความสำคัญของเนื้อหา

หมายเลขบันทึก: 73576เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท