ทักษะการสอน (ต่อ)


วิชาชีพครูจะต้องใช้ศิลปะในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ

ทักษะการเสริมกำลังใจ

         ทักษะการเสริมกำลังใจ  หมายถึง ความสามารถในการใช้วิธีการที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความกล้าแสดงออก ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจเป็นการให้รางวัลหรือคำชมเชยหลังจากที่บุคคลประพฤติปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมตามที่เราต้องการ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าบุคคลมีความรู้สึกประสบความสำเร็จ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ดังนั้นในการสอนผู้สอนควรพยายามสร้างความรู้สึกประสบความสำเร็จให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียน ถ้าผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ผู้สอนก็ควรที่จะทำการเสริมกำลังใจให้แก่ผู้เรียนได้ทราบโดยทันที ทุกครั้ง ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้วการกระทำเช่นนี้จะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาซ้ำ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย วิธีการที่ผู้สอนจะนำมาใช้มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การที่ผู้สอนแสดงท่าทางยอมรับ การกล่าวคำชมเชยโดยตรง การยิ้ม แสดงสีหน้าพอใจ การพยักหน้า ให้ผู้เรียนเห็นความก้าวหน้าของตนเอง การให้รางวัล การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นและการช่วยเสริมในสิ่งที่ผู้เรียนกระทำอยู่ให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ผู้สอนควรจะนำการเสริมกำลังใจหรือการเสริมแรงมาใช้อย่างเหมาะสมในการเรียนการสอน โดยพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และวัยของผู้เรียน รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการให้กำลังใจที่เป็นสิ่งของเพราะจะทำให้เกิดความเคยชินกับการรับของรางวัลถ้าไม่ได้เมื่อไรอาจทำให้ไม่ยอมกระทำพฤติกรรมเช่นนั้น
การทดลองของนักจิตวิทยา บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skinner)  เกี่ยวกับเรื่องของการเสริมกำลังใจ สรุปเป็นสาระได้ดังนี้
1. การเสริมกำลังใจคือการให้สิ่งเร้า (รางวัล คำชมเชย ฯลฯ)  แก่ผู้เรียน หลังจากที่เขาทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว จะทำให้เขาอยากจะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก
2. การเสริมกำลังใจทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
3. ถ้าพฤติกรรมอะไรก็ตามถ้าแสดงไปแล้วไม่ได้รับการเสริมกำลังใจ พฤติกรรมนั้นจะมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดขึ้นอีก
4. การให้การเสริมกำลังใจทุกครั้งที่มีการแสดงพฤติกรรมจะทำให้ผู้เรียนทราบว่าการกระทำหรือพฤติกรรมอันไหนที่ทำให้ได้รับรางวัล (การเสริมกำลังใจ)  ได้ดีกว่าการเสริมกำลังใจเป็นบางครั้งบางคราว
5. การลงโทษจะทำให้ผู้เรียนจำได้ว่าพฤติกรรมอย่างไหนที่ไม่ควรทำ ไม่สามารถขจัด พฤติกรรมได้โดยตรง

หลักในการเสริมกำลังใจ
1.  ควรเสริมกำลังใจทันทีหลังจากผู้เรียนกระทำพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เช่น ดีมาก ดี เก่ง ถูกต้อง ยิ้ม พยักหน้า หรือแสดงความเอาใจใส่ขณะที่นักเรียนพูด ฯลฯ
2.  ควรเสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสมและมีความเป็นธรรมชาติ 
3.  ควรใช้วิธีเสริมกำลังใจหลาย ๆ วิธี เช่น ใช้ภาษาและท่าทางเพื่อแสดงการยอมรับการตอบสนองหรือพฤติกรรมของผู้เรียน
4.  การเสริมกำลังใจจะต้องไม่พูดจนเกินความจริง
5.  ควรเสริมกำลังใจให้ทั่วถึงกับผู้เรียนทุกคน
6.  ควรเสริมกำลังใจในทางบวกมากกว่าในทางลบ
7.  ควรเสริมกำลังใจด้วยท่าทางที่จริงใจ
8.  ไม่ควรใช้การเสริมกำลังใจแบบใดแบบหนึ่งซ้ำ ๆ จนมากเกินไป เพราะจะทำให้เบื่อง่ายและไม่ให้ผลทางจิตวิทยา
9.  การเสริมกำลังใจควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัย การเสริมกำลังใจบางชนิดอาจเหมาะกับผู้เรียนบางระดับเท่านั้น

คุณลักษณะที่ประเมิน
1.  มีการเสริมกำลังใจด้วยวาจา
    1.1 มีการชมเชยด้วยการใช้คำพูดต่าง ๆ
    1.2 การกล่าวชมคำตอบที่ใกล้เคียงคำตอบที่ถูกหรือยกบางส่วนของคำตอบมากล่าวชม
    1.3 การนำคำตอบที่ถูกต้องของผู้เรียนไปสัมพันธ์กับคำถามหรือคำตอบใหม่
2. มีการเสริมกำลังใจด้วยท่าทาง
    2.1 แสดงอาการยอมรับผู้เรียนที่ตอบถูกโดยใช้กริยาท่าทางที่แสดงความพอใจเช่น ยิ้ม พยักหน้า  ฯลฯ
    2.2 แสดงอาการให้กำลังใจแก่ผู้เรียนที่ตอบผิด
3. มีการสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในหมู่เพื่อนของผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเสริมกำลังใจ เช่น ให้ปรบมือให้เพื่อน ให้ช่วยกันให้คะแนน ฯลฯ
4. มีหลักเกณฑ์ในการเสริมกำลังใจ เช่น ใช้วิธีการได้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่บ่อยจนเกินไป เป็นต้น
5. มีการเสริมกำลังใจอย่างทั่วถึง

หมายเลขบันทึก: 73575เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นาย วสันต์ บุญประสม

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปันให้มากๆครับ ผมว่าเป็นสิ่งที่ครูควรทำทุกครั้งที่ผู้เรียนปฏิบัติดีปฎิบัติชอบเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท