ทักษะการสอน (ต่อ)


วิชาชีพครูจะต้องใช้ศิลปะในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ
ทักษะการอธิบาย  หมายถึง ความสามารถในการพูดแสดงรายละเอียดและให้ตัวอย่างให้ผู้เรียนเข้าใจ หายจากข้อสงสัย เกิดความชัดเจนในสิ่งนั้น หรือขยายความในลักษณะที่ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจกระทำได้โดยการบอก การตีความ การสาธิต การยกตัวอย่าง ฯลฯ บางครั้งเพื่อให้การอธิบายเป็นที่เข้าใจได้ง่าย อาจจะใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบการอธิบาย ก็จะช่วยทำให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจความหมายได้ดีขึ้น  ทักษะการอธิบายมีความสำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการเรียนการสอน ทุกระดับ  โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่า วิธีสอนที่ครูส่วนมากนิยมคือการสอนแบบบรรยาย  และการอธิบาย ซึ่งทักษะการอธิบายจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการสอนสองวิธีนี้  การมีทักษะในการอธิบายที่ดีมีความหมายและสำคัญสำหรับครูมาก     ทักษะการอธิบายควรจะได้รับการ
ฝึกหัดและติดตามผลอยู่เสมอว่าช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวที่อธิบายมากน้อยเพียงใด แล้วหาทางแก้ไขปรับปรุงวิธีการอธิบายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ลักษณะการอธิบายที่ดี
1.  เวลาที่ใช้ในการอธิบายไม่ควรนานเกินไป  โดยปกติใจความที่สำคัญอาจจะใช้เวลาในการอธิบายเพียง 1 นาที หรือน้อยกว่านั้น  เวลาที่ใช้ในการอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งในแต่ละครั้ง ไม่ควรเกิน 10 นาที เพราะการใช้เวลาที่ยาวนานเกินไป  จะทำให้ผู้ฟังขาดความสนใจ และเกิดการเบื่อหน่าย ซึ่งจะทำให้ยากแก่การทำความเข้าใจและจดจำ
2.  ภาษาที่ใช้ควรจะง่ายแก่การเข้าใจ ไม่ต้องแปล รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ น่าฟัง
3.  สื่อการสอนหรือตัวอย่างที่ใช้ประกอบการอธิบายควรจะมีลักษณะน่าสนใจ และช่วยให้เข้าใจเรื่องที่อธิบายได้ง่ายขึ้น
4.  การอธิบายควรจะให้ครอบคลุมใจความสำคัญได้ครบถ้วน
5.  การอธิบายควรเริ่มจากเรื่องที่เข้าใจง่ายไปหาเรื่องที่เข้าใจยาก
6.  ควรใช้ท่าทางประกอบเพื่อให้การอธิบายน่าสนใจ
7.  ควรใช้แนวความคิดหรือการอธิบายของนักเรียนที่ครูให้อธิบายมาเป็นแนวทางในการอธิบายด้วย เพราะความเข้าใจตามแนวความคิดของนักเรียน ถ้าได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจะช่วยให้เข้าใจดีขึ้น
8.  ควรมีการสรุปประเด็นในการอธิบายด้วย
แนวทางในการฝึกทักษะการอธิบาย
เลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากวิชาใดก็ได้ ซึ่งท่านไม่เคยเรียนหรือรู้มาก่อน ค่อนข้างยากที่จะเข้าใจ และพอเหมาะกับเวลาที่จะทดลองฝึกทักษะการอธิบายได้  เมื่อได้เรื่องแล้วปฏิบัติดังนี้
1. อ่านเรื่องให้ตลอดด้วยความตั้งใจ
2. สรุปใจความที่สำคัญของเรื่องเข้าด้วยกัน
3. นำใจความสำคัญที่สรุปมาทำแผนการสอน
4. ทำบันทึกการสอนแบบจุลภาค
5. ทดลองสอน และประเมินผลการสอน
ข้อควรระลึกถึงในการฝึกทักษะการอธิบาย
1. ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะอธิบายอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับเรื่อง และทำให้ผู้อื่นเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อความหมายออกไป
2. ความแตกต่างระหว่างกลุ่มหรือบุคคลมีผลต่อการอธิบาย กล่าวคือ การอธิบายที่ดีหรือเหมาะสม อาจจะเหมาะกับนักเรียนกลุ่มหนึ่งแต่อาจจะไม่เหมาะกับนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้
3. ความพร้อมของครู เช่น ความรู้ในเรื่องที่จะอธิบาย ความสนใจ และความสามารถของครูจะช่วยให้ครูอธิบายได้ดีขึ้น
4. ใช้สื่อการสอนในการช่วยอธิบายสิ่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. บุคลิกภาพของผู้พูดมีผลต่อการอธิบายอย่างยิ่ง
6. การจะอธิบายสิ่งใด ๆ ก็ตามให้ผู้อื่นฟัง ให้ลองถามตัวเองถึงเรื่องที่จะอธิบายให้คนอื่นฟังว่า ถ้าตัวเองเป็นผู้ฟังเรื่องนี้จะเข้าใจมากน้อยเพียงไร
คุณลักษณะที่ประเมิน
1. การอธิบายของครูน่าสนใจ
2. การอธิบายของครูทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนชัดเจน
3. สามารถอธิบายเนื้อหาที่สำคัญ ๆ ได้ครอบคลุมครบถ้วน
4. ตัวอย่างหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการอธิบายช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องที่อธิบายได้ดีขึ้น
5. ลำดับขั้นตอนในการอธิบายเริ่มจากเรื่องเข้าใจง่ายไปหายาก
6. เสียงและอากัปกิริยาเน้นเสียงหนักเบา สร้างบรรยากาศที่ดี รวมทั้งสีหน้าและสายตา
หมายเลขบันทึก: 73572เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 07:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท