บันทึกครั้งที่ ๑๓/๑ การใช้หลักกฎหมายมาวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาด้านเทคโนโลยี กรณีข่าว ซิสโก้ฟ้องแอปเปิ้ล ข้อหาละเมิดใช้ชื่อ "iPhone"


สาระสำคัญที่ฝ่ายใดจะถูกต้องหรือไม่ อยู่ที่การแสดงว่าสินค้าทั้งสองชนิดเป็นกลุ่มประเภทเดียวกันหรือไม่ โดยของบริษัทซิสโก้เป็นผลิตภัณฑ์โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP) ขณะที่บริษัทแอปเปิ้ลเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้การฟ้องร้องจากซิสโก้ในขณะนี้ เป็นการฟ้องร้องในยุคของการบรรจบกันของอุตสาหกรรมไอทีและโทรคมนาคม ซึ่งไม่มีใครจะรับประกันได้ว่า ในอนาคตซิสโก้จะไม่ติดตั้งฟังก์ชันเพื่อรองรับการทำงานกับโทรศัพท์มือถือ หรือติดตั้งหน่วยความจำเพื่อรองรับการใช้งานมัลติมีเดียต่าง ๆ ลงในผลิตภัณฑ์ VoIP แบรนด์ไอโฟนของทางค่าย

เนื้อข่าวมีดังนี้

ตามคาด! ซิสโก้ฟ้องแอปเปิ้ล ข้อหาละเมิดใช้ชื่อ "iPhone"   11 มกราคม 2550

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000003397 

       ซิสโก้ ซิสเต็มส์ บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเน็ตเวิร์กยื่นฟ้องบริษัท แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ ภายใต้การกุมบังเหียนของสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอคนดังแล้ว ด้วยข้อหาละเมิดใช้ชื่อ "ไอโฟน" (iPhone) ในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ของบริษัท ซึ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานแมคเวิลด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (เวลาในสหรัฐอเมริกา)

นาย Mark Chandler รองประธานอาวุโสของซิสโก้กล่าวว่า "โทรศัพท์ใหม่จากแอปเปิ้ลเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ควรนำชื่อเครื่องหมายการค้าของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต" การยื่นฟ้องในครั้งนี้ของซิสโก้จึงอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่ต้องการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้านั่นเอง      ชื่อ "iPhone" เป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทซิสโก้ ซึ่งมีสิทธิ์ครอบครองเครื่องหมายการค้าไอโฟนในช่วงปี 2000 โดยเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการกับบริษัท อินโฟเกียร์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้จดลิขสิทธิ์ชื่อไอโฟนเป็นรายแรก ต่อมาซิสโก้ได้ตัดสินใจนำชื่อดังกล่าวมาใช้ในการทำตลาดผลิตภัณฑ์โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP)    ตามการรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า ก่อนหน้านี้ ทั้งสองบริษัทได้มีการเจรจากันเพื่อขออนุญาตใช้ชื่อไอโฟนในโทรศัพท์มือถือของแอปเปิ้ลได้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน แต่ซิสโก้ยื่นเอกสารฟ้องเนื่องจากผู้บริหารของแอปเปิ้ลตัดสินใจแถลงข่าวผลิตภัณฑ์ก่อนได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง   "ในกรณีนี้ แอปเปิ้ลได้เดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์โดยไม่รอให้มีการอนุญาตใช้ชื่อไอโฟนอย่างถูกต้องในแบรนด์ดังกล่าวจากซิสโก้ นั่นหมายความว่า การเจรจาระหว่างเราต้องถือว่ายุติลงตามไปด้วย ซึ่งต่อจากนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม" นาย Mark Chandler กล่าว 

    อย่างไรก็ดี นาตาลี เคอร์ริส โฆษกของแอปเปิ้ลได้ออกมาตอบโต้ทันควัน พร้อมให้เหตุผลว่า การใช้ชื่อไอโฟนในโทรศัพท์มือถือของทางแอปเปิ้ลเป็นผลิตภัณฑ์คนละกลุ่มกับผลิตภัณฑ์ไอโฟนของซิสโก้ พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวว่า การฟ้องร้องของซิสโก้เป็นเรื่องไร้สาระมาก และในท้องตลาดปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ VoIP หลายยี่ห้อใช้ชื่อไอโฟนทำตลาด    หากการยื่นฟ้องครั้งนี้ของซิสโก้สามารถทำให้แอปเปิ้ลต้องระงับการใช้ชื่อไอโฟน ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำตลาดในอนาคตของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้     Erik Suppiger ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านระบบเครือข่ายจาก Pacific Growth Equities กล่าวให้ความเห็นไว้ว่า การฟ้องร้องจากซิสโก้ในขณะนี้ เป็นการฟ้องร้องในยุคของการบรรจบกันของอุตสาหกรรมไอทีและโทรคมนาคม แต่ใครจะรับประกันได้ว่า ในอนาคตซิสโก้จะไม่ติดตั้งฟังก์ชันเพื่อรองรับการทำงานกับโทรศัพท์มือถือ หรือติดตั้งหน่วยความจำเพื่อรองรับการใช้งานมัลติมีเดียต่าง ๆ ลงในผลิตภัณฑ์ VoIP แบรนด์ไอโฟนของทางค่าย    "แม้ว่าเทคโนโลยีโทรศัพท์กับโลกไอทีจะยังไม่บรรจบกันในยุคนี้ แต่เราคงได้เห็นกันในอีกไม่ช้า" 

     ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลข่าว จำนวน ๓ เรื่อง ได้แก่  การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด  ความสามารถทางเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์นี้  และการคาดการณ์เทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ที่จะเกิดขึ้น 

ข่าวแรก

เปิดแล้ว!!! iPhone จากแอปเปิ้ล   10 มกราคม 2550

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000002804 

       หลังจากมีข่าวลือมานานเกี่ยวกับกระแส iPhone โทรศัพท์มือถือจากค่ายแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ มาในวันนี้ได้มีการเปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการภายในงาน The Macworld Conference and Expo ที่ซานฟรานซิสโก และถือเป็นการต้อนรับศักราชใหม่ของวงการไอทีด้วยการเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอีกหนึ่งราย

 "iPhone จะช่วยให้คุณรู้สึกเหมือนโลกของอินเทอร์เน็ตสามารถย่อลงมาอยู่ในขนาดเท่าฝ่ามือ และคุณสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เปรียบเสมือนอุปกรณ์ดิจิตอลที่ไร้ขีดจำกัด" นายสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอแอปเปิ้ลกล่าวเกี่ยวกับโทรศัพท์ iPhone ในงานแถลงข่าวเปิดตัว       คุณสมบัติเด่นของโทรศัพท์มือถือ iPhone เครื่องนี้คือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ฟังเพลงได้ และเป็นกล้องถ่ายรูปได้ อีกทั้งยังมีขนาดบางเฉียบเพียง 1.3 เซนติเมตร หรือไม่ถึงครึ่งนิ้ว แม้จะติดตั้งกล้องดิจิตอลที่ถ่ายภาพได้ด้วยความละเอียด 2 ล้านพิกเซลเอาไว้ก็ตาม       การประกาศเปิดตัวดังกล่าวส่งผลให้หุ้นของแอปเปิ้ลดีดตัวขึ้น 4.20 เหรียญสหรัฐ แตะ 89.67 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4.9 เปอร์เซ็นต์       โทรศัพท์มือถือ iPhone ที่แอปเปิ้ลเปิดตัวมีสองรุ่นด้วยกันคือ รุ่นที่มาพร้อมหน่วยความจำ 4 กิกะไบต์ ในราคา 499 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17,964 บาท) และรุ่นที่มีหน่วยความจำ 8 กิกะไบต์ในราคา 599 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21,564 บาท) โดยจะเริ่มวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาช่วงประมาณเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ส่วนการวางตลาดในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปี 2008       อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมไอทีได้คาดการณ์กันล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปิดตัวโทรศัพท์ iPhone ในงาน Macworld ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการดึงกระแสความนิยมของเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลสุดฮิตอย่างไอพ็อดให้เข้าสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม       สตีฟ จ็อบส์ยังแสดงความมั่นใจอีกว่า โทรศัพท์มือถือ iPhone เครื่องนี้จะโกยคะแนนนิยมเทียบเท่ากับไอพ็อด ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ด้านยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์มาแล้ว พร้อมเผยว่าไม่หวั่นกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือแต่อย่างใด โดยระบุว่าการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ       ภายในงานแถลงข่าว จ็อบส์ได้สาธิตการใช้บริการแผนที่จากกูเกิลที่สามารถซูมให้เห็นถึงภาพสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของโลกได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเข้าไปเช็คราคาหุ้นของแอปเปิ้ลที่เพิ่มขึ้นด้วย       "เราอาจเรียกโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูงว่าสมาร์ทโฟน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกมันไม่ได้ฉลาดมากนัก และใช้งานค่อนข้างยากด้วย ดังนั้นเมื่อเราจะพัฒนาโทรศัพท์สักเครื่องให้ผู้บริโภคใช้ เราคิดว่าผู้บริโภคน่าจะเห็นด้วย หากเราจะปฏิวัติรูปแบบมันเสียใหม่" สตีฟ จ็อบส์ กล่าว      ไม่เพียงแต่เปิดตัวโทรศัพท์มือถือ iPhone เท่านั้น เขายังได้แถลงข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Apple TV ที่มาพร้อมฮาร์ดไดรว์ 40 กิกะไบต์ สามารถเก็บข้อมูลรายการวิดีโอได้นานถึง 50 ชั่วโมง สำหรับรองรับการใช้งานแบบสตรีมมิ่งไฟล์จากคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมาเล่นในโทรทัศน์ด้วย คาดว่า Apple TV จะวางจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในราคา 299 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,764 บาท)

 ข่าวที่สอง

โชว์ฟีเจอร์เด่นของ iPhone กระหึ่มงาน Macworld   10 มกราคม 2550

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000002874

ทีมงานผู้จัดการออนไลน์ได้รวบรวมความสามารถพิเศษที่ iPhone มีและน่าสนใจ โดยมีดังต่อไปนี้       มัลติทัช (Multi-touch) เป็นการปฏิวัติรูปแบบอินเทอร์เฟสการทำงานของโทรศัพท์มือถือให้เป็นไอคอนขนาดใหญ่ สามารถใช้นิ้วจิ้มเลือกซอฟต์แวร์ที่ต้องการทำงานได้ เช่น เปิดอัลบั้มภาพ และส่งอีเมลภาพเหล่านั้นได้ด้วย       คีย์บอร์ดแบบ QWERTY ที่มาพร้อมระบบทำนายคำอัตโนมัติ รวมถึงช่วยตรวจคำผิดให้ด้วย ซึ่งแอปเปิ้ลอ้างว่าใช้งานสะดวกกว่าการกดแป้นหมายเลขบนโทรศัพท์ในปัจจุบัน        ติดตั้งระบบปฏิบัติการ OSX เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของระบบปฏิบัติการ OS X ของแอปเปิ้ลที่สามารถติดตั้งลงบนอุปกรณ์ดิจิตอลขนาดจิ๋ว และสามารถทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ไม่แพ้คอมพิวเตอร์เดสก์ทอป เช่น ใช้งานอีเมล, เล่นเว็บ, ทำงานกับแอปพลิเคชันประเภท Widget, ปฏิทิน, ส่งข้อความ และรองรับการทำงานแบบมัลติทาสก์กิ้งได้ด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้สามารถเปิดเว็บเพจอ่านข่าวได้ระหว่างรอดาวน์โหลดไฟล์จากอีเมล
ระบบสื่อสารไร้สาย iPhone ทำงานบนเครือข่าย GSM โดยเปิดตัวภายใต้แบรนด์ซิงกูลาร์ของสหรัฐอเมริกา รองรับการทำงานบนเทคโนโลยี EDGE, 802.11b/g Wi-Fi และบลูทูธ 2.0 fh;p     เซนเซอร์ชนิดพิเศษ iPhone มีระบบตรวจจับอัตโนมัติว่าผู้ใช้กำลังใช้งานอุปกรณ์ในลักษณะแนวตั้งหรือแนวนอน และจะเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลให้อัตโนมัติตามการใช้งานของผู้บริโภค นอกจากนั้น หากเรายก iPhone ขึ้นมาแนบหู ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังจะโทรศัพท์ ระบบจะตัดไฟหน้าจออัตโนมัติเพื่อประหยัดพลังงานและป้องกันนิ้วมือกดไปโดนปุ่มอื่น ๆ ที่จะกระทบต่อการทำงานของเครื่อง จนกว่าจะมีการย้าย iPhone ไปอยู่ที่อื่น
ความสามารถด้านอินเทอร์เน็ต       รองรับโปรแกรมอีเมลไคลเอนต์ และเบราเซอร์ซาฟารี ในโปรแกรมซาฟารียังมาพร้อมบริการเสิร์ชจากยาฮูและกูเกิลด้วย นอกจากนั้นยังสามารถใช้บริการแผนที่ออนไลน์จากกูเกิลได้ด้วย สุดท้ายกับความสามารถด้านอินเทอร์เน็ตคือการรองรับโปรแกรมประเภท Widget ที่มีให้เลือกมากมายทั้ง ข้อมูลสภาพอากาศ ราคาหุ้น ผลกีฬา ฯลฯ     ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์แอปเปิ้ล
 

ข่าวที่สาม

วงการไอทีชี้เทรนด์ปีหมู"เชื่อมคอมพ์-ทีวี-มือถือ"   15 มกราคม 2550

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000004508

      ผลสรุปงาน CES ชี้เทรนด์ไอทีปีหมู เน้นเจาะตลาดไอทีเพื่อความบันเทิงในครัวเรือน เปลี่ยนคอมพิวเตอร์พีซีเป็นโฮมเซิร์ฟเวอร์ รองรับการดูหนังฟังเพลง รวมถึงการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ดิจิตอลเพื่อความบันเทิงทุกรูปแบบ       ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า บรรดาผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมไอทีปีนี้จะพุ่งเป้าไปที่ความบันเทิงภายในครอบครัว นำโดยแม่ทัพอย่างฮิวเล็ตต์แพกการ์ด และเดลล์ คอมพิวเตอร์ที่เน้นการจัดบูธภายในงานสื่อไปที่บ้านดิจิตอล และมีการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี พรินเตอร์ พร้อมกันนั้นยังส่งเซิร์ฟเวอร์สำหรับบ้านยุคใหม่ออกมาตีตลาดแทนชุดคอมพิวเตอร์เสียด้วย โดยหวังให้เป็นศูนย์กลางที่สามารถรองรับการทำงานต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น สามารถโหลดคอนเทนต์จากอินเทอร์เน็ต และส่งผ่านเน็ตเวิร์กไร้สายไปยังอุปกรณ์แสดงผล รวมถึงการจัดการไฟล์ภาพ ไฟล์เพลงด้วย       ขณะที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เก็บข้อมูลอย่าง ซีเกท และฮิตาชิก็เล็งเห็นถึงความต้องการในฮาร์ดดิสก์ความจุสูงที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า จึงได้ส่งดิสก์ขนาด 1 เทราไบต์ หรือสามารถเก็บข้อมูลได้มากถึง 1,000 กิกะไบต์ ลงชิมลางตลาดคอนซูเมอร์แล้วด้วย       หันมาสังเกตในเรื่องของราคากันบ้าง แม้ว่าเทรนด์ของบ้านดิจิตอลจะมาแรงมากในปีนี้ แต่ราคาที่จะติดตั้งก็ค่อนข้างแพงเอาการอยู่ ค่ายเบสต์บาย ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ร่วมมือกับฮิวเล็ตต์แพกการ์ด ทำตลาดชุดอุปกรณ์บ้านดิจิตอลครบเซ็ต ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์จากเอชพีไปจนถึงจอทีวีที่สามารถสั่งการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน ในราคา 15,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 540,000 บาท       ส่วนเดลล์คอมพิวเตอร์ก็เปิดตัวชุดสร้างความบันเทิงสำหรับครอบครัวเช่นกัน โดยมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์พีซีรุ่น XPS 410 ลำโพง ทีวีจอแบนขนาด 27 นิ้ว และอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีความละเอียดสูง ซึ่งเดลล์ระบุว่าจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงราคาขาย หลังจากไมโครซอฟท์เปิดตัวระบบปฏิบัติการวิสต้าเสร็จสิ้นเสียก่อน       ชอว์ วู (Shaw Wu) นักวิเคราะห์จากอเมริกัน เทคโนโลยี รีเสิร์ชกล่าวว่า "ผู้บริโภคยุคนี้ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่ทรงประสิทธิภาพ สวนทางกับทิศทางการทำตลาดที่เน้นแข่งขันเรื่องราคาเป็นอย่างมาก"       จากคำกล่าวของนักวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีมีความพยายามลดต้นทุนการผลิตลง เพื่อให้สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ ขณะเดียวกัน การเปิดตัวสินค้าใหม่ด้วยราคาแพง ๆ จึงไม่น่าจะมีประโยชน์มากนัก หากในอนาคตผู้บริโภคจะสามารถรับรู้ได้ว่า ราคามันจะต้องถูกกว่าที่เป็นอยู่นี้ลงมาอีก       ความเป็นไปได้ประการหนึ่งคือ สาเหตุหลักมาจากผู้ผลิตพีซีตกอยู่ในภาวะอดอยากปากแห้งมานาน เนื่องจากไม่สามารถทำยอดขายคอมพิวเตอร์ได้มากนัก ภาวะตลาดเกิดชะงักงันจากการรอระบบปฏิบัติการวิสต้า จนทำให้ต้องดิ้นรนไปต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หวังเพิ่มผลกำไร แต่ผลที่ได้กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก       เควิน เคทเลอร์ (Kevin Kettler) ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายเทคโนโลยีของเดลล์กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมอยู่ในรูปของการเชื่อมต่อพีซีเข้ากับโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เครื่องเล่นเกมคอนโซล และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังจะตามมา       "คำถามของเราคือ อะไรคือสิ่งที่เราจะพัฒนาให้มันมาเชื่อมต่อกันได้ และสิ่งที่เราทำนั้น ตรงกับความต้องการของตลาดหรือเปล่า"       นักวิเคราะห์วูกล่าวเปรียบเทียบตัวอย่างด้วยว่า ในตลาดทั่วไป ราคาของพีซี และชิ้นส่วนต่าง ๆ จะลดลงหลังจากเปิดตัวในช่วงแรก ๆ วันนี้ เราสามารถหาซื้อคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปได้ในราคาประมาณ 350 เหรียญสหรัฐ แต่เมื่อ 10 ปีก่อน เราอาจต้องจ่ายเงินมากถึง 2,000 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว       "การตั้งราคาแพงหูฉี่จึงสร้างกำไรงามให้กับผู้ผลิตพีซีในช่วงแรกของเปิดตัวเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาจะลดราคาลง เพราะราคาถูกจะสร้างยอดขายได้มากกว่านั่นเอง" 

สรุป

            จากข่าว โจทย์ คือ บริษัท ซิสโก้  จำเลย คือ บริษัทแอปเปิ้ล   จะมีการฟ้องคดีเครื่องหมายการค้าประเด็นเหมือนหรือคล้าย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534   โดยกล่าวว่า บริษัทแอปเปิ้ลได้ละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าและผลิตภัณฑ์ "iPhone"  ที่ซิสโก้เป็นเจ้าของสาระสำคัญที่ฝ่ายใดจะถูกต้องหรือไม่ อยู่ที่การแสดงว่าสินค้าทั้งสองชนิดเป็นกลุ่มประเภทเดียวกันหรือไม่  โดยของบริษัทซิสโก้เป็นผลิตภัณฑ์โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP)   ขณะที่บริษัทแอปเปิ้ลเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่  หากการยื่นฟ้องครั้งนี้ของซิสโก้มีผลให้แอปเปิ้ลต้องระงับการใช้ชื่อไอโฟน ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำตลาดในอนาคตของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้   ทั้งนี้การฟ้องร้องจากซิสโก้ในขณะนี้ เป็นการฟ้องร้องในยุคของการบรรจบกันของอุตสาหกรรมไอทีและโทรคมนาคม ซึ่งไม่มีใครจะรับประกันได้ว่า ในอนาคตซิสโก้จะไม่ติดตั้งฟังก์ชันเพื่อรองรับการทำงานกับโทรศัพท์มือถือ หรือติดตั้งหน่วยความจำเพื่อรองรับการใช้งานมัลติมีเดียต่าง ๆ ลงในผลิตภัณฑ์ VoIP แบรนด์ไอโฟนของทางค่าย

 ข้อมูลเพิ่มเติม

http://www.buncheeaudit.com/thai-trademark.htm

เครื่องหมายการค้า (Trademark)

เครื่องหมายการค้า หรือ ตราสินค้า เปรียบเสมือน "แบรนด์" ที่เจ้าของสามารถได้รับการคุ้มครองสิทธิความเป็นเจ้าของได้อย่างเต็มที่ ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการตลาดและธุรกิจของบริษัทและองค์กรต่าง ๆ

วัตถุประสงค์ของการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้า

 การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า / ตราสินค้า นั้น แสดงถึงสิทธิและความเป็นเจ้าของของผู้ที่ได้จดทะเบียน ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์คุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันผู้อื่นลอกเลียน ก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้1. เครื่องหมายการค้า ที่จดทะเบียนแล้วจะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี เมื่อครบกำหนดสามารถที่จะต่ออายุได้เป็นคราว ๆ คราวละ 10 ปี
2.
มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของท่าน
3.
มีสิทธิในการทำสัญญาอนุญาตหรือโอนสิทธิ ให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของท่าน
4.
มีสิทธิฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ในกรณีที่มีผู้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของท่าน

เครื่องหมายการค้า มี 4 ประเภท ดังนี้

1. เครื่องหมายการค้า (Trademark):  เป็นเครื่องหมายที่ใช้กำกับสินค้า เพื่อแสดงว่า สินค้า ที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับ สินค้า ที่ใช้เครื่องหมายของผู้อื่น เช่น AIS, DTAC
2.
เครื่องหมายบริการ (Service Mark):  เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับธุรกิจบริการ เพื่อแสดงว่า บริการ ที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับ บริการ ที่ใช้เครื่องหมายของผู้อื่น เช่น รูปดอกจำปีของการบินไทย

3.
เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark):  เป็นเครื่องหมายที่ใช้รับรองคุณภาพในสินค้าหรือบริการของผู้อื่น เช่น เครื่องหมายเชลล์ชวนชิม
4.
เครื่องหมายร่วม (Collective Mark):  เป็นเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ใช้โดยบริษัท สมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ หรือรัฐวิสาหกิจ องค์กร์ในกลุ่มเดียวกัน เช่น รูปช้างในตะกร้อของเครือปูนซีเมนต์ไทย

มีต่อใน บันทึกครั้งที่ ๑๓/๒

หมายเลขบันทึก: 73440เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ข่าวล่าสุดการจ้างผลิตสินค้าออกสู่ตลาดโดยคดีความยังไม่จบเรียบร้อย 

ไต้หวันฟันออเดอร์ผลิตไอโฟน 21 ม.ค. 50

http://www.thairath.co.th/news.php?section=cybernet&content=34116

ไต้หวันได้สิทธิเป็นผู้ผลิตไอโฟน โทรศัพท์มือถือของแอปเปิ้ล อิงค์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวใหม่ รีบคุยฟุ้งเป็นเพราะประสิทธิภาพในการผลิตของดีราคาถูก ทำให้สามารถตัดหน้าผู้ผลิตคู่แข่งอย่างจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ไปได้แบบนอนมา ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันคว้าออเดอร์ในการผลิตไอโฟน โทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเปิดตัวของค่ายแอปเปิ้ล อิงค์ ไปครองตามความคาดหมาย หลังมีความสัมพันธ์ แนบแน่นกับแอปเปิ้ลมาโดยตลอด ในฐานะเป็นแกนหลักในการผลิตคอมพิวเตอร์ของแอปเปิ้ล รวมไปถึงเครื่องเล่นเพลงเอ็มพี 3 ไอพอด ด้วย Saggita Pan ผู้จัดการแผนกโทรศัพท์ มือถือ สถาบันเพื่ออุตสาหกรรมไอที แห่งประเทศไต้หวัน กล่าวว่า ผู้ผลิตไต้หวันกับแอปเปิ้ลมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น จึงเชื่อว่า ไต้หวันจะยังคงครองตำแหน่งประเทศที่เป็นฐานการผลิตสินค้าของแอปเปิ้ลอีกอย่างน้อยใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยยากที่คู่แข่งในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เช่นกันอย่างจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย จะแย่งชิงคำสั่งซื้อไปได้ง่ายๆ

“ผู้ผลิตไต้หวันมีความสามารถพิเศษในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และผลิตออกมาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายได้ทันท่วงที”

มิหนำซ้ำยังมีจุดแข็งด้านราคาที่ชัดเจน สอดคล้องกับยุคสมัยที่ส่วนต่างกำไรในการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดน้อยลงทุกขณะ สืบเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุน-แรง เพราะผู้ผลิตไต้หวันแข็งแกร่งมากในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต

Fox Su นักวิจัยจากสถาบันวิจัยโทโพ-โลจี้ กล่าวชื่นชมผู้ผลิตสัญชาติเดียวกันอีกว่า ผู้ผลิตไต้หวันลดต้นทุนการผลิตด้วยการย้ายสายการผลิตเข้าไปในเมืองจีน ซึ่งราคาวัตถุดิบและแรงงานต่ำกว่า ขณะที่ผู้ผลิตมือถืออย่างโนเกียและซัมซุง ยังมีสายการผลิตอยู่ในประเทศต้นกำเนิดอยู่บ้าง ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูง “ที่สำคัญ ผู้ผลิตไต้หวันมีทักษะในการผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ โดยที่ยังสามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างเต็มที่”

ปีที่ผ่านมา ไต้หวันผลิตมือถือเพื่อส่งออกขายจำนวนมากถึง 123 ล้านเครื่อง ในบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ประกอบด้วยคอมเพล คอมมูนิเคชั่น อิงค์ ซึ่งคาดว่าจะผลิตมือถือออกขายราว 75 ล้านเครื่องในปีนี้

ราว 80% ของมือถือที่ผลิตโดยคอมเพล เป็นการผลิตภายใต้แบรนด์โมโตโรล่า ส่วนที่เหลือผลิตภายใต้แบรนด์ฟูจิตสึและซีเมนส์

แต่สำหรับไอโฟนนั้น บริษัทไต้หวันที่ได้ เข้าร่วมผลิตประกอบด้วย Hon Hai ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าไอทีชั้นนำระดับโลก รวมทั้งแคทเชอร์-เทคโนโลยี โดยทั้ง 2 รายมีสายการผลิตส่วนใหญ่ ในประเทศจีน

นอกจากนั้นยังมีพริแม็กซ์ อิเล็กทรอนิกส์, ยูนิมิครอน เทคโนโลยี และซินเทค ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตส่วนประกอบต่างๆของไอโฟน.

คดีความระหว่างซิสโก้กับแอปเปิ้ล ข้อหาละเมิดใช้ชื่อ "iPhone" น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า

ทั้งสองฝ่ายต่างก็ทำธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งตอนนี้ แอปเปิ้ลก็ไม่สนใจซิสโก้ยังคงทำตลาด และว่าจ้างไต้หวันทำผลิตภัณฑ์ ชิ้นนี้อยู่

ไม่แน่ว่าอาจจะมีการประนีประนอมยอมความกันได้

เพิ่มเติมข้อมูลข่าวครับ

จ็อบส์ฉุนยุโรปปลดล็อกไอจูนส์ ประชดดึงค่ายเพลงถอดDRM 

ผู้จัดการออนไลน์ 8 กุมภาพันธ์ 2550

สมาคมค่ายเพลงโต้คำเสนอล้มเลิก DRM หรือซอฟต์แวร์ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในธุรกิจจำหน่ายเพลงออนไลน์ที่สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ประธานบริหารแอปเปิลคอมพิวเตอร์ เขียนเสนอไว้อย่างประชดประชันบนเว็บไซต์ของตัวเองหลังถูกอียูออกคำสั่งให้แอปเปิลเปิดเสรีไอจูนส์ ค่ายเพลงระบุ DRM ไม่ใช่ตัวขัดขวางการเติบโตของธุรกิจเพลงออนไลน์ตามที่จ็อบส์อ้าง ยันจ็อบส์ควรปลดล็อกให้ผู้ซื้อเพลงจากไอจูนส์สามารถนำไฟล์ไปเล่นกับเครื่องเล่นเพลงทุกค่ายก่อนที่จะออกมาเรียกร้องใดๆ
       
       มิตช์ เบนโวล (Mitch Bainwol) ประธานและประธานบริหารของสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบันทึกเสียงของสหรัฐอเมริกา Recording Industry Association of America หรือ RIAA ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของธุรกิจเพลงออนไลน์ คือเทคโนโลยีแฟร์เพลย์ (FairPlay) ที่ร้านค้าเพลงออนไลน์ไอจูนส์ (iTunes Music Store) ใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถนำเพลงที่ซื้อจากไอจูนส์ไปเล่นบนเครื่องเล่นแบรนด์อื่นนอกจากไอพ็อด (iPod) ของแอปเปิลเอง ไม่ใช่การยกเลิก DRM ของค่ายเพลง
       
       วุฒิสภาฝรั่งเศสได้ผ่านการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ออนไลน์ เนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกดดันค่ายแอปเปิ้ลให้เปิดเผยเทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องเล่นเพลงไอพ็อดของทางค่ายแก่บริษัทอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดการผูกขาดในระบบการขายเพลงออนไลน์และทำให้ตลาดสามารถเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่
       
       สตีฟ จ็อบส์ระบุด้วยว่า ค่ายเพลงที่ขายเพลงออนไลน์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นค่ายเพลงในยุโรป ได้แก่ ยูนิเวอร์แซล, อีเอ็มไอ หรือโซนี่บีเอ็มจี ดังนั้นการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์ไม่เติบโตจึงควรเริ่มจากให้บริษัทเหล่านี้ยกเลิก DRM ทั้งหมด ไม่ใช่เริ่มจาก DRM ในไอจูนส์และไอพ็อด หากค่ายเพลงยินยอม แอปเปิลก็ยินดี"อย่างยิ่ง"ที่จะทำตาม
       
       "DRM ไม่ได้ผลหรือบางทีอาจไม่เคยได้ผลเลย ในการลดการละเมิดลิขสิทธิ์" จ็อบส์เขียนไว้บนเว็บไซต์ของแอปเปิล โดยระบุว่าเพลงออนไลน์ที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ DRM ที่ถูกจำหน่ายไปในปีที่แล้วมีจำนวนน้อยกว่า 2,000 ล้านเพลง เทียบกับการจำหน่ายแผ่นซีดีที่สามารถจำหน่ายได้มากถึง 2 หมื่นล้านเพลง ซึ่งเพลงในแผ่นซีดีเหล่านี้ ผู้บริโภคสามารถคัดลอกไปไว้ในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลอื่นๆได้อย่างอิสระ ข้อมูลเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจการขายเพลงออนไลน์ไม่เติบโตเท่าที่ควร
       
       การสำรวจประจำปี 2006 พบว่าไอจูนส์สามารถจำหน่ายเพลงออนไลน์โดยเฉลี่ยเพียง 22 เพลงต่อไอพ็อดหนึ่งเครื่องเท่านั้น ขณะที่ไอพ็อดสามารถเก็บเพลงได้มากกว่า 1,000 เพลง
       
       "ตัวเลขนี้ทำให้เราเห็นว่า กว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของเพลงที่อยู่บนไอพ็อดขณะนี้ไม่ใช่เพลงที่มาจากร้านไอจูนส์ เห็นชัดเจนว่าแอปเปิ้ลไม่ได้ผูกขาดตลาดแต่อย่างใด" จ็อบส์กล่าว
       
       บนเว็บไซต์ จ็อบส์โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ค่ายเพลงเปิดเสรีให้ผู้บริโภคมีอิสระเต็มที่ในการเล่นไฟล์เพลงที่ซื้อจากร้านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกลงคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเพลง MP3 ทุกชนิดที่มีหลากหลายในท้องตลาด มีการกล่าวถึงการเรียกร้องให้ค่ายเพลงยกเลิกคำสั่งที่ให้แอปเปิล ไมโครซอฟท์ โซนี่ และผู้จำหน่ายเครื่องเล่นเพลง MP3 รายอื่นๆในตลาด ต้องจำหน่ายเพลงแก่ผู้ใช้เครื่องเล่นเพลงของบริษัทตัวเองเท่านั้น โดยจ็อบส์ระบุว่า แอปเปิลยินดีอย่างยิ่งที่จะปลดล็อกเพลงในไอจูนส์ ให้ผู้ซื้อเพลงสามารถนำเพลงไปฟังบนเครื่องเล่นของค่ายคู่แข่งได้
       
       เทคโนโลยี DRM (Digital Rights Management) เป็นซอฟต์แวร์ป้องกันการคัดลอกที่บริษัทค่ายเพลงหวังพึ่งพาให้เป็นตัวช่วยในการเพิ่มยอดขายเพลง ด้วยความเชื่อว่าเมื่อผู้บริโภคไม่สามารถคัดลอกไฟล์เพลงก็จะหันมาซื้อเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์ โดย DRM ในไอจูนส์และไอพ็อดของแอปเปิลนั้นรู้จักกันในนาม "แฟร์เพลย์(FairPlay)" เป็นเทคโนโลยีที่ป้องกันไม่ใช้ผู้ซื้อเพลงจากร้านอื่นที่ไม่ใช่ไอจูนส์สามารถนำเพลงไปฟังบนเครื่องเล่นไอพ็อดได้ จ็อบส์เคยกล่าวถึงแฟร์เพลย์ว่าแอปเปิลนั้นไม่เห็นด้วยที่จะเปิดเผยเทคโนโลยีนี้แก่ค่ายคู่แข่ง เพื่อเปิดเสรีให้ไอจูนส์ให้สามารถใช้งานกับเครื่องเล่นเพลงค่ายอื่นๆตามที่อียูออกคำสั่ง เนื่องจากหากเทคโนโลยีแฟร์เพลย์แพร่หลายมากเข้า ก็จะทำให้แฮกเกอร์ตัวร้ายสามารถไขรหัสตามใจชอบได้ง่ายขึ้น
       
       อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จจาก eMusic ซึ่งเป็นร้านค้าเพลงออนไลน์โดยไม่มีระบบป้องกันด้านลิขสิทธิ์ใด ๆ และมีเพลงให้บริการอยู่บนเว็บไซต์กว่า 2 ล้านเพลงจากศิลปินอิสระที่ยอมรับนโยบายดังกล่าว รวมถึงค่ายอีเอ็มไอที่เริ่มทดลองนำเพลงเก่า ๆ ของศิลปินมาขายแบบไม่ติดตั้งระบบป้องกันด้วย
       
       จีน เมเยอร์ โฆษกของอีเอ็มไอกล่าวว่า "ฟีดแบ็กที่ได้รับค่อนข้างน่าพอใจ"

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท