"เรื่องเล่าจากดงหลวง" เรื่องที่ 3 ความขัดแย้งแฝง (1)


...หากมองในมุมหนึ่งเราก็ตกอยู่ใน “วงล้อมของวัฒนธรรมชุมชน” นักสังคม-มานุษยวิทยา อาจเรียกว่า “การก่อตัวของระบบอุปถัมภ์” ซึ่งในที่สุดสังคมไทยเราโดยทั่วไปก็ต้องสนองตอบตามเงื่อนไขที่ทำได้ และจำนวนมากพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านมอบให้กับเรานั้นมันมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เรามอบให้เขาด้วยซ้ำไป...

1.   สังคมชุมชนกับความขัดแย้ง :  เป็นที่เข้าใจกันโดยปกติว่าสังคมทุกสังคมมีความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งนี้มีหลากหลายสาเหตุ และรูปแบบ ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้นที่ผู้เขียนเรียกว่า ความขัดแย้งแฝง หรือแฝงเร้น เหล่านั้นอาจจะเป็นการเกิดระหว่างภายในชุมชนกับภายนอก และความขัดแย้งภายในชุมชนด้วยกันเอง สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้เป็นความขัดแย้งในชุมชนกรณีที่จังหวัดมุกดาหารและเป็นพื้นที่ในโครงการ คฟป.เท่านั้น

2.   คิดอย่างไรกับความขัดแย้ง :  ในการประชุมทีมที่ปรึกษาหลายครั้งเอาความขัดแย้งมาพูดกันจนคุณ Project Team Leader ส่ายหน้า พร้อมกล่าวว่า ไม่พูดปัญหานะ เอาข้อเสนอแนะเลย.. สิ่งที่จะกล่าวต่อไปเป็นความขัดแย้งในชุมชนที่แฝงอยู่ โดยเราไม่ได้ใส่ใจ เพราะเราเพียงผ่านชุมชนเท่านั้นจนไม่สังเกตเห็น ความขัดแย้งหรือเห็นบ้างแต่ไม่มีเวลาศึกษา  แม้กระทั่งไม่ใส่ใจเพราะงานที่รับผิดชอบบรรลุผลแล้ว..  หากงานนั้นเพียงเป็นงานชั่วครั้งคราวเมื่อจบก็จบไม่ได้มุ่งหวังระยะยาว  แต่หากเป็นงานที่หวังผลระยะยาวแล้ว ปล่อยไปไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าความขัดแย้งในชุมชนนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับกิจกรรมที่เราสนับสนุนอยู่  ในฐานะที่ผู้เขียนรับผิดชอบพื้นที่ และมีคนจ้องมองอยู่หลายคน ทั้งนักบริหารระดับสูง ผู้ให้เงินทุน นักประเมินผล แต่ทั้งหมดผู้เขียนกล่าวถึงในฐานะคนทำงานชุมชน ที่รู้สึกรับผิดชอบกับสิ่งที่ นำเข้าสู่ชุมชน ว่าสิ่งนำเข้านี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อชุมชน

3.   วงล้อมวัฒนธรรมชุมชน : ผู้เขียนผ่านการทำงานกับชุมชนมาพอสมควร เคยมีบทเรียนเรื่องเหล่านี้ เช่น สมัยที่ทำงานที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบงานส่งเสริมและจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ลักษณะหนึ่ง เราใช้เวลาอบรม พูดคุย ศึกษาดูงานมากกว่า 6 เดือนกว่าจะจัดตั้งได้ พบว่า เมื่อเรานำกิจกรรมนี้เข้าสู่ชุมชน  การทำงานก็มุ่งไปที่สมาชิกกลุ่ม ไปประชุม เยี่ยมเยือน สนิทสนมมากจนเรียกเราเป็นลูกเป็นหลาน กินนอนที่บ้านนั้นเลยก็มี ความสนิทสนมนำพาเราไปสู่เรื่องอื่นๆที่นอกเหนือจากสาระเรื่องกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนเท่านั้น และแน่นอนที่สุดชาวบ้านผู้ใกล้ชิดเราก็มองเราเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง จึงจะปรนเปรอเรามากกว่าลูกหลานเขาจริงๆเสียอีก  แล้วเมื่อจังหวะความสนิทสนมเปิด เรื่องทุกข์ร้อนอื่นๆ ก็ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน  เช่น ขาดแคลนสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ขอให้ช่วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ฯลฯ หากมองในมุมหนึ่งเราก็ตกอยู่ใน วงล้อมของวัฒนธรรมชุมชน นักสังคม-มานุษยวิทยา อาจเรียกว่า การก่อตัวของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งในที่สุดสังคมไทยเราโดยทั่วไปก็ต้องสนองตอบตามเงื่อนไขที่ทำได้ และจำนวนมากพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านมอบให้กับเรานั้นมันมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เรามอบให้เขาด้วยซ้ำไป (เราสำนึก...สำนึก...)

4.   การก่อตัวอย่างเงียบๆของความขัดแย้งแฝง : เมื่อกลุ่มก่อตัวและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเพราะเราใช้ความถี่ในการเยี่ยมเยือน ประชุม พบปะ คลุกคลี ความสนิทสนมก่อให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อถือ โดยปราศจากข้อสงสัยในเจตนา เราผู้มาจากภายนอกก็ตกอยู่ใน สภาวะของความสำเร็จ การก่อตั้งกลุ่ม ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การแบ่งระหว่างชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มกับชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ดูผิวเผินไม่น่ามีอะไร เมื่อมีกลุ่มก็เป็นธรรมดาที่จะต้องแบ่งเป็นสองส่วนดังกล่าว แต่จริงๆแล้วสิ่งแฝงเร้นอยู่ ในส่วนนี้จะยังไม่กล่าวถึง.. มาตามสาระส่วนที่เป็นกลุ่ม...เมื่อเวลาผ่านไป สีขาวบริสุทธิ์ของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกก็สำแดงสีอื่นที่ไม่ใช่สีขาวออกมา  หากสีขาวคือความบริสุทธิ์ ความศรัทธา ความเชื่อและการยอมรับในหลักการ ปรัชญาของกลุ่มที่ตั้งขึ้น เพราะคนนำสิ่งนี้เข้าสู่ชุมชน จะโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ ด้วยกระบวนวิธีที่เรียกว่า กระบวนการฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วม หรืออะไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งอาศัยลอยตามน้ำเข้ามาสักพักหนึ่งก็สำแดงสีสันของตัวเองออกมา(ลักษณะนี้เป็นเฉพาะบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีผลประโยชน์) เช่น พยายามหาช่องทางหาผลประโยชน์เข้าตนเองหรือพรรพวก ครอบครัว ตามเงื่อนไขที่เปิดช่องให้ โดยที่ผู้นำกิจกรรมเข้าสู่ชุมชนไม่ได้คิดถึง ไม่คาดคิด จนถึงมองไม่เห็น แล้วสิ่งที่เกิดคือ สมาชิกบางส่วนที่เห็นการเอาประโยชน์ก็จะวิภาควิจารณ์ในเพื่อนสมาชิกที่ใกล้ชิดของตัวเอง แสดงความไม่เห็นด้วย นี่เองเป็นภาวะที่เรียกว่าการเกิดขึ้นของความขัดแย้งแฝงเร้น เพราะความขัดแย้งนี้อาจจะไม่ถูกเสนอให้เป็นปัญหาของกลุ่ม เพียงแฝงเร้นอยู่ในความรู้สึกภายในของสมาชิกคนนั้นๆ แต่อาจจะขยายออกไปสู่การเป็นปัญหากลุ่มอย่างเปิดเผยได้ ซึ่งเราต้องการแบบนั้น ความแฝงเร้นของความขัดแย้งนั้นบางทีคนภายนอกอย่างเรามองไม่เห็นจริงๆ  เมื่อไม่มีการแก้ไขสมาชิกคนนั้นก็ค่อยๆหายตัวไปจากกลุ่ม จนกระทั่งลาออกไป และไปเป็นการพูดคุยกันภายนอกกลุ่ม หรือในชุมชนทั่วไป

5.   ผ้ากันเปื้อน รูปธรรมของความขัดแย้งแฝงเร้น: ขอยกตัวอย่างกรณีตลาดชุมชนที่บ้านแก่งนาง  เริ่มก่อตั้งตลาดด้วยความสวยสดงดงาม อย่างที่ทุกคนทราบดี  ต่อมาเมื่อผู้เขียนหวังดี เพราะแม่ค้าเสนอให้ทางโครงการสนับสนุนผ้ากันเปื้อน แต่เราไม่มีเงิน บังเอิญหาได้จากการรับบริจาคจาก Nestlé’ จำนวนหนึ่ง เมื่อผู้เขียนนำไปให้กรรมการผู้หนึ่งช่วยนำไปแจกให้กับแม่ค้าเท่าที่จะมี ที่เหลือจะพยายามหามาให้อีก  ต่อมาพบว่า กรรมการผู้รับผ้ากันเปื้อนไปนั้นเก็บไว้ที่ตัวเองเสีย 2 ชุด ที่เหลือจึงเอาไปแจกแม่ค้าคนอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ กรรมการบางคนทราบ ไม่พอใจ....(เข้าใจว่าน่าจะมีพฤติกรรมแบบนี้ในเรื่องอื่นๆอีก) กรรมการตลาดชุมชนจำนวนหนึ่งถอยห่างจากกิจกรรมนี้ทั้งๆที่เห็นด้วยกับหลักการ แต่รับไม่ได้กับพฤติกรรมกรรมการบางคน การถอยห่างจึงเกิดขึ้นจากค่อยๆห่างไปจนออกไปเลย 

6.   วิเคราะห์:

1)       มีกรรมการบางคนได้ประโยชน์จากการเป็นกรรมการจริง

2)       การได้ประโยชน์ส่วนตนก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจแก่กรรมการคนอื่นๆ ซึ่งกรรมการบางคนได้ทุ่มเทช่วยงานตลาดชุมชนนี้มากกว่าด้วยซ้ำไป

3)       ความไม่พึงพอใจไม่ได้รับการแก้ไข หรือ ความรู้สึกไม่พอใจ พองตัวมันเองโตคับความอดทนไปแล้วจึงนำไปสู่การถอยออกห่างจากกิจกรรมนี้

4)       ปัญหานี้ไม่ได้ถูกหยิบยกมาปรึกษาหารือ และแก้ไขอย่างจริงจัง

7.   จะแก้ไขอย่างไร: ไม่มีสูตรแก้ไขสำเร็จรูปแน่นอน ย่อมขึ้นกับรายละเอียดของเรื่อง คนทำงานที่สนใจกระบวนการพัฒนาชุมชนต้องใช้เวลาคลุกคลี ชุมชนมากจน ถ่องแท้ในชุมชนนั้นๆ  หลายปัญหาที่ผู้เขียนพบนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนวิธีแบบคนข้างนอก เช่น นั่งโต๊ะคุยกันด้วยเหตุผล  ประชุมร่วมกันแก้ไขปัญหา.. เพราะหลายปัญหาไม่เพียงเป็นเหตุผลที่นำคำพูดเพื่อยอมรับกัน  แต่มันเป็น ความรู้สึกข้างใน  ความรู้สึกทำนองนี้บางเรื่องไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเหตุผล  แต่ผู้เขียนเสนอว่า

1)       ต้องอาศัยผู้นำ หรือคณะกรรมการกลุ่มที่เข้มแข็ง ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง โปร่งใส และอดทน และเมื่อมีสิ่งไม่ถูกต้องเกิดขึ้นรีบแก้ไขแล้วเชิดชูความถูกต้องนั้น

2)       เวลา จะมีส่วนช่วยเยียวยา ความรู้สึก ได้ ภายหลังดำเนินการตามข้อ 1 แล้ว

3)       ผู้เขียนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การพัฒนาการขององค์กรชุมชนที่ต้องการปรับตัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อุปสรรคของความเข้มแข็งขององค์กร หากผู้นำกลุ่มใช้ทักษะของการเป็นคนในชุมชน และได้รับการชี้แนะที่เหมาะสมจากพี่เลี้ยง เมื่ออุปสรรคนี้ไดัรับการแก้ไข องค์กรก็จะยกระดับขึ้น เพื่อไปเผชิญปัญหาใหม่ เช่นนี้เรื่อยไป

8.   กรณีอื่นๆ:  มีอีกหลายกรณี (จริงๆ) ที่เป็นความขัดแย้งชุมชนแฝงเร้น และไม่แฝงเร้น เช่นกรณีป่าชุมชนบ้านพังแดง  กรณีกลุ่มเกษตรธรรมชาติ ต.พังแดง กรณีเครือข่ายไทบรู ต.หนองแคน  หรือความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับคนที่มาจากข้างนอกอันเนื่องจากงานพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 72752เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้ว นึกในใจว่าผมน่าจะได้อ่านเร็วกว่านี้ครับ

ขอบคุณคุณหมอครับ เรื่องราวของชนบทหรือชุมชนไหนๆก็ตาม มีรายละเอียดเฉพาะตัวมากมายนะครับ เราเห็น หรือไม่เห็น เห็นแล้วผ่านไปหรือหาทางแก้ไข และกระบวนการแก้ไขนั้นวิธีใดที่น่าจะนุมนวนที่สุด ทั้งหมดนี้ขึ้นกับเรา ผู้เป็นคนภายนอกว่าเรามีมุมมองอย่างไรกับชนบท กับคน เราเข้าใจด้านลึกของชุมชนแค่ไหน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ชนบทเขาก็มีวิธีคิดของเขา เขามีวิธีการแก้ไขของเขา และรู้จักการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้ครับ ยินดีครับที่มีประโยชน์สำหรับคุณหมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท