ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

เกลือภูเขา..สินเธาว์ที่เคยรู้จักแต่ชื่อ


ครอบครัวสุขสันต์พากันไปชมการทำเกลือภูเขา..ชอบใจกันสุดสุดไปเลย..

สมัยที่ป้าเจี๊ยบเรียนหนังสือ ในตำรามีเรื่องเกลือสินเธาว์อยู่สัก 2 บรรทัดได้มั๊ง  และครูก็ไม่เห็นอธิบายอะไร เพราะครูก็คงไม่รู้จักเหมือนกัน  ผ่านมาถึงสมัยนี้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย เพราะลองถามน้องแพรกับแพทริคก็รู้แค่ 2 บรรทัดเหมือนกัน แต่ตอนนี้ เด็กทั้งสองคนรวมทั้งป้าเจี๊ยบรู้มากขึ้นแล้วค่ะ

ตอนปิดช่วงปีใหม่พ่อจ้อย แม่แอน ผ้าแพร แพทริค และป้าเจี๊ยบ ไปเที่ยวแบบ Camping กัน  ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องจองโรงแรมใดๆ ทั้งนั้น  ชอบที่ไหนก็จอดรถ ช่วยกันกางเต๊นท์ ทำอาหารกินกัน และชื่นชมกับสถานที่อย่างสุขโข

เราไปรู้จักเกลือภูเขากันที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านค่ะ  เราค้างคืนกันที่ลานชมดาวของดอยภูคา เมื่อดูแผนที่แล้วเราพบว่าอยู่ห่างจากจุดที่เราพักแค่ 30 กิโลเมตร ก็ลุยสิคะ  เห็นแล้วตื่นตาตื่นใจค่ะ ชาวบ้านบริเวณนั้นแทบทุกบ้านทำเกลือภูเขา โดยใช้น้ำใต้ดินที่อยู่ลึกลงนับสิบๆ เมตร เป็นน้ำเค็มปี๋เลยค่ะ ทั้งๆที่ติดกันนั้นมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่กลับจืดสนิท

บ่อน้ำเค็มนี้มีหลายบ่อค่ะ  แต่ละบ่อก็จะมีบ้านที่เป็นสมาชิกวางตุ่มใส่น้ำไว้รอบๆ บ่อ โดยมีระดับสูงต่ำต่างกัน ใครบ้านอยู่ใกล้บ่อก็วางต่ำหน่อย  อยู่ไกลก็วางสูงขึ้น เพราะมีการต่อท่อจากตุ่มตรงเข้าบ้านโดยไม่ได้ใช้เครื่องจักรค่ะ  ใช้หลักแรงดันของน้ำตามภูมิปัญญาชาวบ้าน   การนำน้ำไปใส่ตุ่มไม่ใช้เครื่องจักรค่ะ  แต่มีคนหนึ่งคนทำหน้าที่รับผิดชอบในการใช้ถังผูกเชือกหย่อนลงไปตักน้ำขึ้นมาเทให้แต่ละตุ่ม  โดยใช้เครื่องผ่อนแรงเป็นเสาที่ถ่วงน้ำหนักอีกด้านหนึ่งไว้  นี่ก็วิทยาศาสตร์เบื้องต้นสำหรับผ้าแพรกับแพทริคอีกเหมือนกัน เห็นของจริงกันจะจะไปเลย 

ป้าเจี๊ยบชื่นชมชาวบ้านที่ไม่ต้องใช้เครื่องจักรให้สิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงและสร้างมลภาวะทำลายสภาพแวดล้อมอีกต่างหาก จึงชี้ประเด็นนี้ให้หลานทั้งสองได้ชื่นชมด้วย

น้ำที่ต่อเข้าไปในบ้านแต่ละหลังจะลงไปอยู่ในโอ่งสำหรับตักมาใช้ทำเกลือ โดยแต่ละบ้านมีกระทะขนาดใหญ่แห่งละ 2 ใบ (รู้สึกว่าจะจำนวนเท่ากันทุกบ้าน) สำหรับเคี่ยวน้ำให้แห้งจนกลายไปเกลือ ซึ่งแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ผ้าแพรและแพทริคลองช่วยชาวบ้านทำด้วยค่ะ

เมื่อน้ำแห้งกลายเป็นเกลือแล้ว  จะถูกตักขึ้นมาพักไว้ในตะกร้าที่แขวนอยู่เหนือกระทะ  พอสะเด็ดน้ำดีแล้วก็นำไปเทรวมกับกองเกลือที่ทำเสร็จก่อนหน้านี้  ขั้นต่อไปคือผสมไอโอดีนลงไปเพื่อช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก ซึ่งโรงพยาบาลบ่อเกลือเป็นผู้จัดให้โดยไม่คิดมูลค่า  เกลือที่ใส่ถุงจำหน่ายนักท่องเที่ยว มีตั้งแต่ราคาถุงละ 5 บาท 10 บาท และ 20 บาท เราก็สนับสนุนชาวบ้านไป 5 ถุงรวมหนึ่งร้อยบาท

ชาวบ้านบอกว่าน้ำนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว  ป้าเจี๊ยบห่วงว่าน้ำนี้จะหมดไปในวันข้างหน้า แต่จากความรู้เพิ่มเติมที่อ่านในเอกสารของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ทราบว่าชาวบ้านจะหยุดทำเกลือ 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษาเพื่อทำบุญและไหว้ผี   ป้าเจี๊ยบเองกลับคิดว่าคนที่อยู่กับธรรมชาติฉลาดที่รู้จักให้เวลาแก่ธรรมชาติได้มีเวลาพัก มีเวลาฟื้นตัว  ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน  เพราะเมื่อไหร่ที่คนเรามุ่งแต่จะหาประโยชน์จากสิ่งที่ธรรมชาติให้มาอย่างไม่มีวันหยุด มุ่งทำกันตลอดทั้งปี ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตจะมีน้ำเค็มเหลือถึงรุ่นลูกหลานให้ทำกันต่อไปหรือเปล่า

เราทั้งห้าคนประทับใจกับประสบการณ์ครั้งนี้ที่สุด  ป้าเจี๊ยบเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วยค่ะ และตอนนี้ป้าเจี๊ยบทำกับข้าวใส่เกลือภูเขาด้วยล่ะ.. 

หมายเลขบันทึก: 72603เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องเล่าดีจังเลยค่ะ

ได้รู้อะไรๆ มากขึ้น ขอบคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท