โยคะฝึกจิตพิชิตโรค


โยคะฝึกจิตพิชิตโรค

 โยคะ   เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ  5 พันปีมาแล้ว ผู้ที่เปรียบเสมือนเป็นบิดาแห่งโยคะ คือ ฤษีปตัญชลี  เมื่อโยคะเป็นที่แพร่หลายก็จะแตกแขนงออกเป็นหลายแบบหลายสำนัก ซึ่งแต่ละสำนักจะมีการฝึกแตกต่างกันออกไป แต่ก็ยึดหลักเดียวกัน คือ การให้กายสมดุลกับจิตใจ

ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ] 
โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหนึ่งเดียว 
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้การบริหารอวัยวะทุกส่วนของร่างกายโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ ให้เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้ หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี 

หลักการฝึกโยคะ
1. ผู้ฝึกใหม่ต้องฝึกลมหายใจก่อน โดยใช้วิธีง่ายๆ คือ หายใจเข้า - ท้องพอง, หายใจออก - ท้องแฟบ หายใจเข้าลึกๆยาวให้พอดีกับท่าฝึก เพื่อให้ได้ออกซิเจนมากพอ 
• เวลาหายใจออก ปล่อยลมหายใจออกให้สุด เพื่อขับอากาศเสียออกจากร่างกาย และลดความตึงเครียด ของกล้ามเนื้อ 
• หายใจเข้า - ออก ให้สอดคล้องเป็นจังหวะกับท่าฝึกแต่ละท่า 

2. ฝึกท่าแต่ละท่า ไม่ต้องรีบร้อน เคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ ให้เป็นจังหวะที่ลงตัว ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตามข้อจำกัดร่างกายของแต่ละบุคคล อย่าฝืนเกินไป เช่น ยืดตัวมากเกินไป เกร็งเกินไป ตึงมากไป บิดมากเกินไป จะทำให้เกิดความเจ็บปวดและเกิดความท้อแท้ไม่อยากฝึกอีกต่อไป 

สำหรับการฝึกโยคะนั้น ผู้ที่อยากฝึกเองอาจจะหาหนังสือโยคะมาอ่านเองที่บ้านก็ได้ ฝึกท่าง่ายๆ แต่ถ้ามีโรคประจำตัวหรือท่าที่ยากๆ และอาจเป็นอันตราย ควรจะฝึกกับครูฝึกโยะคะโดยเฉพาะ

3. การกำหนดจิต ( Concentration ) ให้เป็นหนึ่งเดียวกับการฝึกโดยไม่วอกแวก จะทำให้จิตสงบ เข้าถึงสมาธิได้ดี ขึ้น ห้ามแข่งขัน หรือคุยกันระหว่างการฝึก ควรอดทนและขยันฝึกเป็นประจำควรฝึกอย่างน้อย อาทิตย์ละ 3 - 4 ครั้ง

4. หยุดพักและผ่อนคลาย หลังแต่ละท่าฝึก ( Pause & Relax ) ให้หายใจเข้า - ออก ช้า ๆ ลึกๆ 6-8 รอบ  เพื่อคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และทำให้การเต้นของหัวใจปรับเข้าสู่สภาวะปกติ ก่อนที่ จะฝึกท่าต่อไป 

ประโยชน์ของโยคะ

1. เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ปรับระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ   โรคภูมิแพ้ โรคปวดศ๊รษะ  ผิวพรรณผ่องใส สมองปลอดโปร่ง ช่วยให้จิตใจสงบ  

2. ในด้านกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็น จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้การเดินคล่องขึ้น การทรงตัวดีขึ้น  กระดูกสันหลังถูกปรับให้เข้าสภาพปกติ ป้องกันอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ หรือ ปวดศีรษะ และ ปรับรูปร่างให้สมดุล กระดูกไม่งอ ไหล่ไม่เอียง โยคะบางท่าไม่เหมาะกับผู้ป่วยหรือคนชรา จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของครูฝึกโยคะ 
3 .ด้านสมอง จะช่วยกระตุ้นสมองให้มีความจำดีขึ้น  ผ่อนคลายความเครียด แก้โรคนอนไม่หลับ 
4. นวดอวัยวะภายในให้แข็งแรงขึ้น เช่น หัวใจ มดลูก กระเพาะอาหาร ตับ ไต เป็นต้น ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เลือดไปที่ไตล้างไตให้สะอาดขึ้น ระบบการหายใจจะโล่งขึ้น ทำให้การเผาผลาญแคลอรีในร่างกายเพิ่มขึ้น ได้พลังงานเสริมความแข็งแรง 
5. ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ ผิวพรรณชุ่มชื้น ร่างกายมีสัดส่วนดีขึ้น สวยงามขึ้นและที่สำคัญ ช่วยในควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูแลใส่ใจในเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ด้วย
6.ทางจิตใจ ถ้าตั้งใจฝึกอย่างจริงจังจะทำจิตใจสงบและมีสมาธิมากขึ้น  ช่วย ลดความวิตกกังวลและอาการที่ตื่นกลัว
7. ในบางท่าจะช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น 

การเริ่มต้นฝึกโยคะ

1.  ควรฝึกก่อนหรือหลังอาหาร อย่างน้อย  1-2  ชม.
2. ควรขับถ่ายให้เรียบร้อยก่อนการฝึก 
3. สตรีมีครรภ์ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และคำแนะนำของครูฝึกโยคะ 
4. ผู้ที่เคยทำการผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มฝึก 
5. แต่งกายให้เหมาะสม ไม่รัดหรือรุ่มร่ามจนเกินไป  
6. ไม่สวมแว่นตา นาฬิกา เครื่องประดับที่รกรุงรัง
7. สถานที่ฝึกควรเงียบสงบ สะอาด และไร้ฝุ่นละออง เพื่อป้องกันการแพ้ฝุ่น
8. ช่วงเวลาของการฝึกโยคะ ไม่จำกัด แต่ช่วงที่ดีที่สุด คือ ช่วงเช้าก่อนเวลาทานอาหาร  ถ้าฝึกช่วงบ่ายควรหาที่ ไม่ร้อนเกินไป 
9. ฝึกท่าวอร์มร่างกายก่อนการฝึกทุกครั้ง และแต่ละท่าควรทำซ้ำ ๆหลายๆครั้งหรือ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละ บุคคล 
10. ถ้าเกิดอาการเจ็บปวด แม้จะเล็กน้อยระหว่างฝึก ให้หยุดฝึกทันที แล้วนอนหงายผ่อนคลายอาการ  เจ็บปวด ก่อนที่จะฝึกท่าต่อไป 

11. ก่อนจบการฝึกทุกครั้งจะต้องจบด้วย ท่าศพอาสนะทุกครั้ง โดยให้หายใจ เข้า ลึกๆ และหายใจ  ออก ยาวๆ อย่างช้าๆ 30 - 40 รอบ หายใจ 
12. ก่อนลุกขึ้นจากท่านอน ควรตะแคงตัวจากท่านอนเป็นท่านั่งทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปวดหลัง 
13. หลังจากฝึกเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรอาบน้ำทันที นั่งพักให้ร่างกายปรับสมดุลก่อน ประมาณ 20-30 นาที

คำเตือนก่อนการฝึกโยคะ 
1.. อบอุ่นร่างกาย ( warm-up ) ก่อนการฝึกทุกครั้ง 
2. ควรศึกษาท่าบริหารแต่ละท่าให้เข้าใจก่อนฝึก 
3. เริ่มฝึกช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่าเร่ง หรือฝืนร่างกาย ถ้าเจ็บให้หยุดพัก เมื่อดีขึ้นแล้วค่อยๆฝึกไปวันละนิด ห้ามแข่งขัน 
4. ผู้ที่ปัญหาจากโรคประจำตัว หรือมีปัญหาด้านกระดูก ห้ามทำในท่าต้องห้าม (ปรึกษาครูผู้สอนโยคะ) 
5.ถ้าไม่เข้าใจการฝึกดีพอ และอยากมีครูแนะนำ ควรหาครูฝึกที่ได้มาตรฐาน และผ่านการอบรมเป็นครูโยคะมาแล้ว 

 

 

หมายเลขบันทึก: 72568เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยากทำโยคะมากๆเลยค่ะ ซื้อหนังสือมาอ่านก็ทำไม่ค่อยเป็น ทำงัยดี?.. บอกที

ถ้ามีโอกาส ก็ลองสมัครเข้าคอร์สโยคะ ซักครั้งนะคะ ผู้เริ่มต้นฝึกใหม่ควรมี ครูฝึกโยคะคอยดูแล เพื่อให้เข้าใจหลักที่ถูกต้องของการฝึกโยคะนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท