Web 2.0 ความยินดีที่มาพร้อมความกลัว


Web 2.0 ให้เครื่องมือแก่เราในการแสวงหา/แบ่งปันความรู้ในเรื่องที่เราสนใจ แต่ Web 2.0 ไม่สามารถป้องกันเราจากภาวะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดได้

จาก bact.blogspot.com


ช่วงนี้มีคนพูดถึง Web 2.0 บ่อยขึ้นทุกที

บางคนคิดว่ามันหมายถึงเทคโนโลยีอย่าง AJAX, อินเทอร์เฟสที่ลื่นไหลขึ้น โต้ตอบได้ทันใจ ทำให้การใช้งานเว็บสะดวกขึ้น มีการพูดถึงว่า ต่อไปเราจะทำทุกอย่างได้ในเว็บเบราเซอร์ (ตอนนี้ก็มีทั้งโปรแกรมอีเมล ตารางนัดหมาย ประมวลคำ ตารางคำนวณ ฯลฯ)

แต่แค่เทคโนโลยีอย่างเดียวจริง ๆ เหรอ ที่ทำให้คนสนใจ Web 2.0 ?

เพราะจะว่าไป ไอ้เจ้าเทคโนโลยีทั้งหลายใน Web 2.0 นั้น ไม่ได้เป็นของใหม่เลย มันมีมานานแล้ว
แล้วสิ่งที่ใหม่คืออะไรล่ะ ?

ก็คือมุมมองในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นนั่นเอง ที่เป็นของใหม่

หัวใจของ Web 2.0 อยู่ที่ "คน" เพื่อคน และโดยคน

เมื่อเปรียบเทียบกับ "Web 1.0" ที่หัวใจอยู่ที่เนื้อหา(ทางเดียว) เพื่อการค้่า และโดยผู้จัดพิมพ์รายใหญ่
(ส่วน "Web prototype" นั่น หัวใจคงเป็นเรื่องการวิจัย เพื่อความมั่นคง และโดยรัฐ)

สิ่งที่สร้าง Web 2.0 คือ การแบ่งปัน และสิ่งที่ทำให้การแบ่งปันเป็นไปได้ ก็คือ มาตรฐานเปิด (นอกจากนี้ ก็มีเรื่องซอฟต์แวร์เสรี ที่ทำให้ราคาของเทคโนโลยีนั้นต่ำลง กำแพงที่กันผู้เล่นหน้าใหม่ก็ลดลง)

และสิ่งที่ Web 2.0 สร้าง ก็คือ collective intelligence จะพูดอย่างไทย คงได้ว่า "ปัญญารวมหมู่"
tagging หรือ folksonomy และ Wikipedia เป็นตัวอย่างของ collective intelligence ที่ individual intelligence ปัญญาเดี่ยว ๆ หัวเดียวกระเทียมลีบสู้ไม่ได้ในบางเรื่อง (ไม่ว่าเดี่ยว ๆ นั้น จะเป็นคน หรือ AI ก็ตาม)

Web 2.0 ไม่ได้เลื่อนเวอร์ชั่นขึ้นมาจากรุ่น 1.0 เพียงเพราะมันใช้เทคโนโลยีใหม่
แต่เพราะมันยังนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของเว็บอีกด้วย

ลิงก์ของ Web 1.0 คือ ไฮเปอร์ลิงก์ ; ลิงก์ของ Web 2.0 คือความสัมพันธ์ทางสังคม (และรสนิยม)

โหนดของ Web 1.0 คือ เซิร์ฟเวอร์ ; โหนดของ Web 2.0 คือ คน

เป็นเว็บที่เนื้อหาไม่ได้มากจากศูนย์กลาง (ผู้จัดพิมพ์รายใหญ่) เพียงอย่างเดียว (ศูนย์กลางยังคงมี แต่ถูกลดความสำคัญลงไป) ความสนใจในเนื้อหาถูกกระจายออกไปยังผู้จัดพิมพ์รายย่อย ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง มันก็คือผู้ใช้เว็บปกตินี่เอง (เว็บบล็อก) เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ (online social network) ที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อหาจากผู้จัดพิมพ์เล็ก ๆ สามารถเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน - ถ้าเนื้อหานั้นโดนใจพอ มันก็จะแพร่สะพัดไปทั้งเว็บอย่างรวดเร็ว

มาตรฐานเปิด การแบ่งปัน เนื้อหาจากทั้งด้านบนและด้านล่าง เครือข่าย บวกกับการโต้ตอบอย่างฉับพลัน ทำให้ Web 2.0 กลายสภาพจากสื่อที่ไม่ต่างอะไรนักจาก ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไปสู่สื่อที่มีสภาพเหมือน ลานสาธารณะขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่คล้ายห้องประชุมสภาทางไกล มีโทรศัพท์หลายล้านสายโยงเข้าและออก ทุกคนสามารถพูด ทุกคนสามารถได้ยิน ทุกคนสามารถให้ความเห็น พร้อมกับส่งสิ่งที่ตนได้ยินพร้อมความเห็นไปหาเพื่อน ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทุก ๆ คนทำหน้าที่เป็นทั้งนักข่าว นักคิด นักเขียน ผู้จัดพิมพ์ โฆษก เด็กส่งหนังสือพิมพ์ แถมบางคนยังทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์คัดแยกข่าวสารไปในตัวอีกต่างหาก (tagging)

ทั้งหมดนี้ ดำเนินไปได้ด้วย ปัจเจกบุคคล ที่อาจจะไม่ได้มีเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่แรงคนละเล็กละน้อยที่ทำลงไป พอรวมกันแล้ว ก็กลายออกมาเป็นปรากฏการณ์อย่างที่เราเห็นกันอยู่

Web 2.0 เป็นเรื่องน่ายินดี สำหรับสังคมความรู้ ...
แต่...

สิ่งที่น่ากลัวอย่างมาก(และอาจจะอย่างเดียว)สำหรับ Web 2.0 ก็คือ
เป็นไปได้อย่างมาก ที่ต่อไป คนจะอ่านเฉพาะเรื่องที่ตนอยากอ่าน รู้เฉพาะเรื่องที่ตนอยากรู้ ... ผู้คนจะเสพข่าวสารกันง่ายขึ้นและมากขึ้น แต่แคบลงแคบลง
รู้ลึก แต่ไม่รอบรู้
เมื่อไม่รอบรู้ ก็มองไม่เห็นภาพใหญ่ ภาพรวม ไม่เห็นบริบทของสิ่งที่ตนรู้ลึก ..คุณค่าของสิ่งที่รู้ลึกนั้น ก็อาจจะด้อยลงไป

สำคัญก็คือ เมื่อไม่รอบรู้แล้ว ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของคนที่รอบรู้กว่าได้
สำคัญกว่าก็คือ หากไม่รอบรู้ แล้วดันรู้ลึกอีก (นั่นคืออาจจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนใกล้ชิด/เครือข่าย) ก็ไม่แน่ว่าอาจจะถูกคนอื่นใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อชักนำคนใกล้ชิด/เครือข่าย เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ได้

Web 2.0 ให้เครื่องมือแก่เราในการแสวงหา/แบ่งปันความรู้ในเรื่องที่เราสนใจ

แต่ Web 2.0 ไม่สามารถป้องกันเราจากภาวะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดได้

ด้วยปัญญารวมหมู่ผสมกับเทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์ Amazon.com, Last.fm สามารถแนะนำเพลงที่คุณอยากฟังได้ จากประวัติการฟัง(ซื้อ)เพลงที่ผ่านมาของคุณ ...
แต่คน ๆ นึงจะรู้ได้ยังไง ว่าตัวเองชอบฟังแจ๊ส(หรืออะไรก็ตาม) ถ้ายังไม่เคยลองฟังมาก่อนเลย ?


พักความกลัวไว้ ตอนนี้ไปรู้จักกับเว็บที่สร้างโดยคน และเพื่อคน กันก่อน CNET News.com เสนอบทความชุด ยึดเว็บกลับ Taking Back the Web
ยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน เห็นแล้วเข้ามาเขียนบล็อกก่อน :P เดี๋ยวอ่านแล้วอาจจะเข้ามาเขียนอะไรเพิ่ม


ต้องการความเห็นอย่างมาก เชิญด้านล่าง

คำสำคัญ (Tags): #social#network
หมายเลขบันทึก: 7248เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2005 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีคะ คุณ Bact

ไม่ได้เจอกันเสียนานนะคะ นึกว่าจะไม่เข้ามาเยี่ยมเยียน GotoKnow.org เสียแล้ว

เข้ามาแวะคุยนิดนึงคะ ไว้ว่างก่อนนะคะ แล้วจะมา Comment คะ

จันทวรรณ

ยังไม่ให้มีใครตอบคุณ Bact เลยนะคะ อย่างนี้ต้องเข้ามาเขียนบ่อยๆ นะคะ จะได้เป็นที่รู้จักคะ

ดิฉันขอให้ความคิดเห็นต่อคุณ Bact สำหรับบันทึกนี้ดังนี้นะคะ การที่คนเราจะอ่านเฉพาะสิ่งที่อยากอ่านนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลมากกว่าคะ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี เช่น Web 2.0 ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

ส่วนการ Personalized information ดิฉันว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เพราะในยุคที่ Information Overload ขนาดนี้ คนเรารวมถึงดิฉันยอมต้องการข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับดิฉันเท่านั้น

นอกจากนี้ knowledge นั้นมากับคนและชุมชน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่การ Personlized knowledge จะทำให้เกิด knowledge เฉพาะด้านเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และเป็นไปได้ยากที่เทคโนโลยีจะทำให้ผู้อ่านก็จะอ่านเพียงด้านนี้ด้านเดียว

ในทางตรงกันข้าม ค่อนข้างตอบสนองให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ตรงตามความต้องการในปัจจุบัน (Need) และอนาคต (Desire) ได้เป็นอย่างดี

และด้วย Social software จะทำให้เกิดการขยายฐานความรู้ที่สนใจไปยังเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะสนใจได้ดีด้วยคะ

แต่ก็อย่างที่ว่าคะ ดิฉันคิดว่า มันเกี่ยวกับตัวบุคคลมากกว่านะคะว่าจะรับความรู้จำกัดแค่ไหน บางคนเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะอ่านแต่เรื่องบันเทิง เป็นต้น

คุณเขียนได้ดีมากๆค่ะ ชมจากใจจริง เข้ามาเจอ blog คุณเพราะว่าเข้าไปหาความรู้เรื่อง WEB 2.0

 

ได้คำตอบที่โดนใจ ได้ใจความ กระชับ และโดนมาก ๆ ค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์จันทวรรณในเรื่องการเลือกแสดงความคิดเห็นและ participation ครับ แต่ท่าทางผมจะเข้ามาใน gotoknow.org ช้าไป ตลาดเว็บ 2.0 เริ่มจะวาย ใจจริงๆ กำลังสนใจและอยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากครับ แต่ search ไป search มาคนที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มจะหายไปจาก gotoknow.org ซะแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยยังไม่ได้เห็นเว็บ 2.0 ของไทยเป็นรูปเป็นร่างเสียเท่าไร น่าเสียดายครับ :|
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท