บ่ายวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๘ ผมนัด “ทีมวิจัยปัญหาตุลาการศาสตร์” [Judicial Studies Research Team], Niigata University ประเทศญี่ปุ่น นำโดย อ. พิเชษฐ เมาลานนท์ มีทีมคือ อจ. นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์ และคุณพรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา มาคุยเพื่อเรียนรู้ข้อค้นพบของงานวิจัยที่น่าจะมีประโยชน์ยิ่งต่อประเทศไทย ท่านปรารภกับผมทาง อีเมล์ แรก ว่า
“ผมพบท่าน อจ. ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2007
หลังจากนั้น ผมก็ไปวิจัยในญี่ปุ่น
เวลาผ่านไป 18 ปีแล้ว
ขณะนี้ ผมมีองค์ความรู้ 2 เรื่อง
ที่เชื่อว่า จะเปลี่ยนเมืองไทยได้ใน 2 ด้าน เป็นอย่างน้อย
1. เปลี่ยนวงการ Thai Lawyers & Legal Studies
2. เปลี่ยนวงการ Thai Judiciaries
จึงใคร่ได้มีโอกาสพบปะหารือกับท่าน อจ. อีกครั้ง …”
และในอีเมล์ต่อมา ท่านปรารภว่า
“มีคนไทยน้อยมาก ที่คิดอะไร Outside of the Box
คนไทยส่วนใหญ่ [อาจทั้งหมด] จะคิดสิ่งใดๆ Inside the Box
That wouldn’t work for any “game-changing” businesses.
ผมเป็นคนรุ่น “ยุคแสวงหา” เช่นเดียวกับหมอวิชัย โชควิวัฒน์ ผู้อยู่ในวัยใกล้เคียงกับผม
คนรุ่นนั้น เรา “ฝัน” กันมากว่า พวกเราจะเปลี่ยนเมืองไทย “ไปให้ไกลแสนไกล”
ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน
ติดปีกบินไปให้ไกล ไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว
เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี
แต่ในวันนี้ ไทยก็ยัง “ย่ำอยู่กับที่”
ดีไม่ดี อาจจะตกต่ำกว่าครั้ง 14 ตุลาฯ 16 ด้วยซ้ำไป
ไทยก็คือ ---“ชนเผ่า” ที่ย่ำกับที่ ---ในทัศนะผม
ไทยแทบไม่มีใคร คิดอะไร Outside the Box
ไทยจึงเป็น ‘เกวียนติดหล่ม’ ….”
ผมนัดพบที่มูลนิธิสยามกัมมาจล เพราะที่ สกสว. ที่ อ. พิเชษฐ อยากไปประชุมยังวุ่นวายอยู่กับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และผมไม่มีความใกล้ชิดพอที่จะขอห้องประชุม รวมทั้งอยากให้คุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อร่วมกันหาทางทำประโยชน์แก่สังคมไทย
พื้นฐานความคิดของผมคือ เวลานี้สังคมไทยอยู่ในสภาพความไว้วางใจต่อกันต่ำ จึงกลายเป็นสังคมนิติธิปไตย จะทำอะไรก็ต้องผ่านนักกฎหมายก่อน ต่างจากเมื่อผมเริ่มทำงานเมื่อปี ๒๕๑๑ อย่างมากมาย
เมื่อพบกัน มีท่าน ชาลี ทัพวิมล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ในศาลฎีกา ซึ่งเป็นเพื่อน อ. พิเชษฐ มาร่วมคุยด้วย คุยกันสนุกสนานและได้ความรู้มาก โดยเฉพาะเรื่องที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในสังคมไทย
ผมชอบที่ อ. พิเชษฐ เสนอให้มีกระบวนการหนุนให้ศาลและนักกฎหมาย ทำหน้าที่ “วิศวกรสังคม” คือใช้ขบวนการกฎหมายยกระดับคุณภาพของสังคมไทย ซึ่งน่าจะเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” ในความหมายใหม่ ร่วมกับนักสังคมศาสตร์ นักเคลื่อนไหวสังคม ฯลฯ เปลี่ยนแปลงสังคมไทย ไปพร้อมๆ กันกับเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาระบบกฎหมาย
จึงเสนอให้ท่านชวนนักกฎหมาย และนักอื่นๆ ที่มีความห่วงใยสังคมไทย จำนวนหนึ่งมาร่วมกันคุยหาแนวทางทำงานพัฒนาและวิจัยสังคมไทยผ่านกระบวนการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และร่วมกันตั้งโจทย์และกลยุทธดำเนินการขับเคลื่อนและสร้างความรู้ใหม่จากกิจกรรมขับเคลื่อนนั้น ในลักษณะของการหมุนวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ (https://www.roong-aroon.ac.th/?p=13290) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกตกผลึกหลักการจากประสบการณ์ (gotoknow.org/posts/7135644)
ชื่อบันทึกนี้ มาจากชื่อหนังสือที่ท่านนำมาแจก ที่เมื่ออ่านรายละเอียด พบว่าตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยการสนับสนุนของ มสช. อ่านแล้วได้สัญญาณว่า ที่ อ. พิเชษฐ เสนอ แทบไม่มีอะไรก้าวหน้าในช่วงเวลา ๑๘ ปี แต่ก็ได้โจทย์วิจัย และแนวคิดพัฒนาสังคมไทย จากหลากหลายมุม ที่มีความซับซ้อนมาก และต้องการนักจัดการงานวิจัยตัวยง สำหรับทำงานทำนองนี้
วิจารณ์ พานิช
๒๒ เม.ย. ๖๘