โครงการ ข้าวเพื่อสุขภาพ : การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน


เป้าหมาย : เพื่อให้เกษตรกรเกิดกระบวนการเรียนรู้ถึงพิษภัยที่แท้จริงของการใช้สารเคมีในการปลูกข้าว และได้เรียนรู้ที่จะผลิตข้าวแบบปลอดสารเคมี เพื่อที่จะให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของสุขภาพทั้งของตนเอง และขยายแนวคิดต่อชุมชนเกษตรกร

โครงการ ข้าวเพื่อสุขภาพ : การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

เพื่อสุขภาพของเกษตรกรที่ยั่งยืน

 

1.      คำสำคัญ : ข้าวเพื่อสุขภาพ ,เกษตรกรรมยั่งยืน

 

2.      จังหวัด : สุพรรณบุรี

 

3.      กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกรชาวนา

 

4.      เป้าหมาย : เพื่อให้เกษตรกรเกิดกระบวนการเรียนรู้ถึงพิษภัยที่แท้จริงของการใช้สารเคมีในการปลูกข้าว และได้เรียนรู้ที่จะผลิตข้าวแบบปลอดสารเคมี  เพื่อที่จะให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของสุขภาพทั้งของตนเอง และขยายแนวคิดต่อชุมชนเกษตรกร

 

5.      สาระสำคัญของโครงการ : จากกระแสการตระหนักถึงพิษภัยการใช้สารเคมีในทางการเกษตรที่เกิดในปัจจุบัน มูลนิธิข้าวขวัญ เป็นหน่วยงานภาคเอกชนอีกหน่วยหนึ่งที่ได้ทำงานร่วมกับชาวนาบางรายในจังหวัดสุพรรณบุรี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532  ในการพัฒนาระบบการปลูกข้าวจนประสบผลสำเร็จในการเลิกใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว รวมทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิต โดยผลผลิตไม่ลดลง  และยังพัฒนาใช้ เทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืชที่ได้ผล และเหมาะสมกับชาวนาสุพรรณ และ พร้อมทั้งนำไปใช้อย่างได้ผลติดต่อกันมานานนับสิบปี  แต่แนวทางที่ทำยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงของชาวนาตัวอย่างที่มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากเป็นรูปแบบการทำงานที่เน้นหนักเฉพาะด้านและต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่ไม่พึ่งสารเคมี  ในขณะที่ชาวนาส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ยึดติดกับสารเคมี อันเนื่องมาจากความเคยชิน และอิทธิพลของสื่อโฆษณาสารเคมีอยู่อย่างเหนียวแน่น   ฉะนั้นแนวทางแก้ไขที่มูลนิธิพยายามนำมาใช้กับชาวนาก็คือ การส่งเสริมให้ชาวนาได้เข้าถึง เข้าใจในมิติด้านสุขภาพของชาวนาเอง โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวนาให้เลิกใช้สารเคมีในการเพาะปลูกโดยอาศัยการเชื่อมโยงมิติด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย

                        ดังนั้นโครงการนี้ จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นโครงการนำร่องที่หวังให้เกษตรกรได้มี        โอกาสการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตข้าวให้เป็นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่หลีกเลี่ยงการใช้       สารเคมี และปรับระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของ            คนไทย 

 

6.      เครื่องมือที่ใช้ : ใช้วิธีหรือรูปแบบการผลิตข้าวเพื่อสุขภาพเป็นเครื่องมือทำให้เกิดการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบเชิงกระบวนการ โดยการรวมกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในด้านต่างๆ ในขบวนการผลิต โดยมีขั้นตอนที่สำคัญคือ 1.เรียนรู้ถึงหลักการ และประโยชน์ในการผลิตข้าวเพื่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชิวิตการผลิตของชาวนา 2.ทดลองทำด้วยประสบการณ์จริง 3.สรุปบทเรียนเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน และนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน

 

7.      การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน : โครงการนี้ดำเนินงานโดยมูลนิธิข้าวขวัญซึ่งมีประสบการณ์ในการทดลองทำข้าวแบบปลอดสารเคมี ซึ่งมีบทเรียนอยู่ในระดับหนึ่ง ได้ออกแบบการทำงานโดยเน้นรูปแบบเชิงกระบวนการ ชักชวนและรวมกลุ่มชาวนาที่เห็นประโยชน์ร่วมกัน ได้ทดลองเรียนรู้ตามบทเรียนที่วางไว้ แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างชาวนาด้วยกันเอง และระหว่างชาวนากับมูลนิธิ จนเกิดการยอมรับในหลักการ และผลการปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ พร้อมกับมีการขยายเครือข่ายชาวนาในที่สุด

 

8.      ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ : ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2546 ถึงเดือนพฤษภาคม 2547โดยมีเกษตรกรอาสาเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 ครอบครัว จาก 4 อำเภอ ในจังหวัดสุพรรณบุรี

 

9.      การประเมินผลและผลกระทบ : โครงการนี้มีการประเมินผลหลังจบโครงการพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรในเรื่องการใช้สารเคมีและอินทรียวัตถุตลอดจนพันธุ์ข้าวที่ปลูกพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีลดลง และมีแนวโน้มหันมาใช้อินทรียวัตถุมากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องการผลิตข้าวปลอดสารเคมี และพิษภัยของสารเคมี และได้ลงมือปฏิบัติจริงมาแล้วนั้นเอง   

           

10.  ความยั่งยืน : ความยั่งยืนเมื่อจบโครงการใหม่ๆ อาจไม่ชัดเจนนัก แต่พบว่าในปัจจุบันเกษตรกรระดับแกนนำได้มีการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นขึ้น พัฒนามาเป็นโรงเรียนชาวนาในที่สุด

11.  จุดแข็ง และอุปสรรค : สำหรับโครงการนี้จุดแข็งคงเป็นเรื่ององค์ความรู้ของมูลนิธิ

            พบว่าแนวทางการผลิตข้าวแบบอินทรีย์นั้น มูลนิธิได้ศึกษาและทดลองมาแล้วจนได้ผลใน         ระดับหนึ่ง เมื่อเวลานำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจึงเห็นผลจริง และยอมที่จะปรับ      พฤติกรรมการผลิต และพร้อมยอมรับการเรียนรู้ร่วมกัน ส่วนอุปสรรคนั้นจะเป็นเรื่อง            งบประมาณ และเวลาในการทำโครงการที่ผู้ทำโครงการสะท้อนมาว่าสั้นเกินไปไม่อาจ   แสดงผลได้ในบางแง่มุมที่ต้องการศึกษา   

 

12.    ที่ติดต่อ :

1.คุณเดชา ศิริภัทร  ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ,

2.คุณจันทนา หงษา  ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ  .04-6465908, มูลนิธิข้าวขวัญ 13/1 หมู่ 3 ถนนเทศบาลท่าเสด็จ 1 ซอย 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72230  โทรศัพท์/ โทรสาร 035-597193 

 

 
หมายเลขบันทึก: 72080เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท