ขอนำประสบการณ์ตรงของผมเรื่องหนึ่งมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน เผื่อบางท่านที่มีสภาวะและจริตใกล้เคียงกัน ก็อาจพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ตามจริตของตน ไม่ได้อยากอวด แต่อยากแลกเปลี่ยนแบ่งปันเพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจ และเราก็พลอยได้กุศลไปด้วย
ความที่ชีวิตในวัยเด็ก วัยหนุ่ม ต้องทำงานหนัก มัวแต่ทำมาหากินไม่สนใจดูแลสุขภาพตนเอง ประกอบกับพ่อแม่พี่น้องต่างมีโรคประจำตัวสืบทอดเป็นกรรมพันธุ์กันมาด้วย แม้เราไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา รวมทั้งไม่ดื่มชากาแฟด้วย แต่ก็ไม่วายมีโรคภัยเบียดเบียนหลายโรค(อาจเป็นกรรมเก่าก็ได้) ตามประวัติการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีไม่น้อยกว่า 6 โรค
หลังเกษียณจึงเริ่มหันมาดูแลสุขภาพกายใจอย่างจริงจังมากขึ้น เริ่มจากการฝึกเจริญวิปัสสนาตามหลักไตรสิกขา(ศีล สมาธิ ปัญญา)ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เบื้องต้นพบว่าตนเองเริ่มมีสติ รู้กาย รู้ใจ ในอิริยาบทต่างๆทั้งการนั่ง นอน เดิน ยืน ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
นอกจากนี้ผมยังออกกำลังกายหลายวิธี ทั้งเดินจ๊อกกิ้ง แกว่งแขน ขี่จักรยานอยู่กับที่ ฟิตเนสก็เคยเข้าไปเล่นอยู่ระยะหนึ่ง รวมทั้งออกกำลังกายด้วยการทำงานประจำวัน เช่น การปลูกและดูแลต้นไม้ เป็นต้น
สังเกตได้ว่ากิจกรรมทุกอย่างที่ทำในชีวิตประจำวัน ถ้าเราปฏิบัติอย่างมีสติ มีความรู้สึกอยู่กับปัจจุบัน ล้วนเป็นการเจริญสติทั้งสิ้น
ระยะหลังอายุมากขึ้นร่างกายที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ใช้มานาน ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆก็ทยอยชำรุดทรุดโทรม ถึงคราให้ต้องซ่อมแซมมากขึ้น ถึงขั้นต้องผ่าตัดปอดไป 1 กีบ ผ่าตัดกระดูกทับเส้นที่คอและหลัง รวม 2 ครั้ง ภาวะต่อมลูกหมากโตก็ตามมา โรคเก่าๆที่เคยเป็นมานานแล้ว คือโรคไต ความดัน ไขมัน ต้อกระจกตา นอนกรน ก็ยังต้องดูแลต่อเนื่อง
การเจริญวิปัสสนาที่ผ่านมาพอเป็นต้นทุนให้ผมมีสติรับรู้ถึงเวทนาความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บ และสามารถวางอุเบกขาไม่ทุรนทุรายให้เกิดความทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง จึงปฏิบัติที่บ้านเช้า-เย็นทุกวันจนเป็นนิสัยมาจนทุกวันนี้ และบางช่วงก็ไปอบรมหลักสูตรวิปัสสนา 10 วันด้วย
เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพค่อนข้างปกติได้ทุกโรค แต่ก็ต้องปฏิบัติตามโปรแกรมที่คุณหมอแต่ละท่านกำหนด คือนัดตรวจแต่ละโรค ให้คำแนะนำ และให้ยารักษาตามอาการอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสให้เราสองคนตายายไม่เหงาได้จูงมือกันออกจากบ้าน ไปท่องเที่ยวโรงพยาบาลตามที่หมอนัด นัดของตาบ้าง นัดของยายบ้าง ได้คุยกับคนไข้โรคเดียวกันที่ต่างมาพบหมอเหมือนกับเรา เจอกันบ่อยๆจนคุ้นเคยกัน บางคนก็หายหน้าหายตาไป เดาว่าเขาคงไปที่ชอบๆกันแล้ว อีกไม่นานก็คงถึงคิวเราเหมือนกัน
หันมาเข้าเรื่องที่อยากจะเล่าเสียที... วันหนึ่งคุณหมอที่ดูแลโรคปอดที่ผมถูกตัดไป 1 กีบ จาก 5 เหลือ 4 กีบ แนะนำว่าให้ลองมาออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำดูบ้าง แต่อย่าหักโหม เพราะสามารถบริหารได้ทุกส่วนของร่างกาย น้ำมีความยืดหยุ่น ไม่ทำให้เกิดการกระทบกระแทกจากภายนอกเหมือนออกกำลังกายบนบก น้ำช่วยปรับความสมดุลในร่างกาย เป็นวารีบำบัด และเป็นการทำกายภาพบำบัดได้อย่างดีด้วย
คนภูเขาอย่างผมที่ไม่เคยว่ายน้ำดำน้ำเลย ก็จึงมาลองเริ่มต้นเรียนกับครูสอนว่ายน้ำเมื่อวัย 69 แค่ฝึกดำน้ำอย่างเดียวก็ใช้เวลาหลายวัน จากนั้นครูให้เกาะโฟมตีขา แต่ตีขาแล้วแทนที่จะพุ่งไปข้างหน้า กลับถอยหลัง ครูเขาจึงให้มาฝึกการตีขาก่อน แต่ฝึกเท่าไรก็ตีไม่ได้ ปลายเท้าไม่พริ้วเหมือนหางปลาคล้ายคนอื่นๆ เหมือนกับการทุ่มตีไปทั้งขา ที่สำคัญคือตลอดท่อนขาและปลายเท้าทั้งสองข้างแข็งไปหมด
ครูเลยเปลี่ยนมาสอนให้ว่ายท่ากบ ไม่ต้องตีขา แต่ถีบขาแยกออกไปเหมือนกับกบว่ายน้ำ ให้สัมพันธ์กับการแหวกมือให้พุ่งไปข้างหน้า
สอนอยู่หลายครั้งครูก็เห็นแววว่า ท่ากบใช่เลย ผมจึงเริ่มฝึกว่ายท่ากบตามลำดับ เมื่อทั้งขาและมือสัมพันธ์กันก็สามารถว่ายไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาอีกแล้ว ขณะว่ายท่ากบผมไม่สามารถเงยหน้าขึ้นมาหายใจเหนือน้ำเป็นระยะๆได้ เพราะเคยผ่าตัดกระดูกต้นคอใส่หมอนรองกระดูก
ครูเลยแนะนำให้ใช้ snorkel ช่วยหายใจทางปากขณะอยู่ใต้น้ำ เพื่อไม่ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจ ผมเลยไปซื้อ snorkel มา ราคาอันละ 400 กว่าบาท มาฝึกต่อ ฝึกใหม่ๆ ปรากฎว่าน้ำเข้าจมูกกินน้ำเข้าไปหลายอึก อดทนฝึกต่อไป จนสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการว่ายท่ากบและหายใจใต้น้ำผ่าน snorkelได้สำเร็จ
ใหม่ๆสามารถว่ายไปกลับด้านยาว 25 เมตร ไปกลับ 2 เที่ยวก็ 50 เมตร แล้วพัฒนาไปเรื่อยๆจนปัจจุบันสามารถว่ายไป-กลับต่อเนื่องไม่หยุดได้ 40 เที่ยว(1 กิโล) แล้วกลั้นลมหายใจว่ายดำน้ำ 15 เมตรแล้วเป่าลมไป- กลับ อีก 10 เที่ยว ใช้เวลาว่ายน้ำแต่ละวันรวมทั้งสิ้น 1 ชั่วโมงพอดี พยายามรักษาวินัยว่ายให้ได้สัปดาห์ละ 4วัน มาจนถึงปัจจุบัน
ผมสังเกตเห็นว่า การว่ายโดยไม่เกร็ง ว่ายไปเรื่อยๆ สบายๆ โดยไม่ต้องแข่งกับใคร จะไม่รู้สึกเหนื่อย และรู้ตัวว่าความสามารถแค่นี้ถ้าตกแม่น้ำลำคลอง/หรือทะเลจริงๆก็คงเอาชีวิตไม่รอดหรอก แต่อายุป่านนี้แล้วจะตกน้ำตายก็ช่างเถอะ จุดมุ่งหมายของเราเพื่อบริหารร่างกายให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น
ครูที่ฝึกถามผมว่า "ไม่คิดเปลี่ยนท่าว่ายเป็นท่าอื่นบ้างเหรอ" ผมก็ตอบไปว่า
"เวลากบว่ายน้ำ ไม่เห็นมันต้องว่ายท่าฟรีสไตล์ ท่าผีเสื้อ ท่ากรรเชียงเลย" ผมยืนยันว่าจะเป็นกบทะเล ไม่เป็นกบในคลอง ที่จริงไม่อยากทรมานตัวเองฝึกท่าอื่นต่างหาก แต่ครูก็พูดให้กำลังใจว่า
"การว่ายท่ากบเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด"
ผมพยายามเชื่อมโยงการว่ายท่ากบสู่การดูกายดูจิตที่เคยฝึกฝนและปฏิบัติมานานหลายปี โดยพุ่งตัว เหยียดมือ เหยียดเท้าออกไป ขณะกำลังว่ายก็ผ่อนคลายทุกส่วน มีสติอยู่กับตัว จิตตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก(ผ่าน snorkel) เข้ายาว ออกยาว(เต็มปอด) ไม่บังคับจิต สัมพันธ์กันระหว่างมือและเท้า เคลื่อนไหวออกไปอย่างช้าๆ ไม่แข่งกับใคร ไม่สนใจใคร ไม่คาดหวังว่าจะถึงฝั่งเมื่อไร รู้สึกตัวตลอดเวลาว่าเหมือนเรากำลังล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร ตัวเบาเหมือนปุยนุ่น เมื่อว่ายถึงฝั่งก็รู้ว่าถึงแล้ว และรู้ได้เองว่าว่ายไปถึงเที่ยวที่เท่าไรแล้ว โดยที่ใจมิได้จดจ่อนับ พอถึงฝั่งก็กลับตัวว่ายต่อโดยอัตโนมัติ ว่ายสบายๆโดยไม่หยุด เพราะไม่รู้สึกว่าเหนื่อยอะไร ว่ายไปจนครบ 1 กิโล(40 เที่ยว) จึงหยุด. รู้สึกได้เลยว่าสบายกาย สบายใจขึ้นเยอะทีเดียว
ชีวิตแต่ละวันทุกวันนี้ในวัย 74 ปีคือพยายามมีสติ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด มีวินัยในการวิปัสสนาเช้า - เย็น และว่ายน้ำสัปดาห์ละ 4 วัน นอกนั้นก็ทำตัวสบายๆ ในสิ่งที่อยากทำ เช่น ช่วยงานบ้าน ดูแลต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนบทความ อ่านมือถือ ดูซีรีย์ ดูข่าว ดูแล้วก็ปล่อยผ่านไป ขับรถ ขึ้นรถไฟฟ้าไปท่องเที่ยวกับครอบครัว พบปะเพื่อนฝูงบ้างตามโอกาสอำนวย และหมั่นให้ทาน รักษาศีลให้มั่นคง
สุขภาพโดยรวม ก็ยังแข็งแรงดีเหมือนคนไม่มีโรคภัย ความเจ็บปวดจากโรคต่างๆยังรู้สึกได้เสมอ แต่ก็ดูมันไป อยู่กับมันได้ ชินเสียแล้ว เพราะไม่นานมันก็หายปวดไปเอง และวนเวียนกลับมาใหม่ แล้วก็ดับไปตามกฏธรรมชาติ
แต่ต่อไปจะเป็นยังไงก็เป็นเรื่องของอนาคต เข้าใจดีว่าทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ร่างกายและอวัยวะก็บริจาคไปหมดแล้ว หวังว่าเมื่อถึงเวลาก็ขอให้ไปอย่างสงบแล้วกัน
ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ตรงของผมเอง ใครจะลองนำไปประยุกต์ใช้บ้างก็ตามอัธยาศัย ไม่มีงานวิจัยรองรับนะครับ
ธเนศ ขำเกิด
29 พ.ย. 67
ไม่มีความเห็น