โกฏสิมพลิชาดก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๗. โกฏสิมพลิชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๔๑๒)
ว่าด้วยเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้นงิ้วใหญ่
(พญาครุฑกล่าวกับรุกขเทวดาว่า)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าจับพญานาคตัวยาวตั้ง ๑,๐๐๐ วามาไว้ พญานาคและข้าพเจ้านั้นมีร่างกายใหญ่โต ท่านยังรองรับไว้ได้ ไม่สะทกสะท้าน
[๑๒๒] โกฏสิมพลิเทพบุตร เพราะเหตุไร เมื่อท่านรองรับนางนกน้อยตัวนี้ซึ่งมีเนื้อน้อยกว่าข้าพเจ้า จึงมีความกลัวจนตัวสั่น
(รุกขเทวดากล่าวกับพญาครุฑว่า)
[๑๒๓] พญาครุฑ ตัวท่านกินเนื้อเป็นอาหาร ส่วนนกนี้กินผลไม้เป็นอาหาร นกตัวนี้กินเมล็ดไทร เมล็ดดีปลี เมล็ดมะเดื่อ และเมล็ดโพธิ์แล้ว จักถ่ายรดลำต้นข้าพเจ้า
[๑๒๔] ต้นไม้เหล่านั้นจะเจริญงอกงามอยู่ระหว่างกิ่งของข้าพเจ้า ต้นไม้เหล่านั้นจะรึงรัดปกคลุมข้าพเจ้า จักทำให้ข้าพเจ้าไม่เป็นต้นไม้
[๑๒๕] แม้ต้นไม้เหล่าอื่นมีรากและลำต้นมั่นคง ที่ถูกนกตัวนี้นำพืชมาทำลายก็มีอยู่
[๑๒๖] ต้นไม้ทั้งหลายที่งอกขึ้นมา จะเติบโตเกินต้นไม้เจ้าป่าแม้ที่มีลำต้นใหญ่โต พญาครุฑ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าเมื่อเห็นภัยในอนาคต จึงสะทกสะท้าน
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๑๒๗] บุคคลพึงระแวงภัยที่ควรระแวง พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง เพราะภัยที่ยังมาไม่ถึง นักปราชญ์จึงได้พิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒
โกฏสิมพลิชาดกที่ ๗ จบ
-------------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา
โกฏสิมพลิชาดก
ว่าด้วย การระวังภัยที่ยังไม่มาถึง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการข่มกิเลสแล้ว จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.
เรื่องจักมีแจ้งชัดในปัญญาสชาดก.
แต่ในที่นี้ พระศาสดาทรงเห็นภิกษุทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ รูป ถูกกามวิตกครอบงำ ภายในโกฏิสัณฐารกะ จึงทรงประชุมสงฆ์ ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ควรระแวง ก็ควรระแวง ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย เมื่อเจริญขึ้นก็ย่อมทำลายเรา เหมือนต้นไทรเป็นต้น เมื่อเติบโตขึ้นก็ทำลายต้นไม้ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น ในปางบรรพ์เทวดาผู้เกิดที่โกฎสิมพลิงิ้วใหญ่ เห็นนกตัว ๑ กินลูกนิโครธ ถ่ายอุจจาระรดกิ่งต้นไม้ของตน ได้ประสบความกลัวว่า ต่อแต่นี้ไปวิมานของเราจักมีความพินาศ ดังนี้.
แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นรุกขเทวดาที่โกฏสิมพลี ภายหลังพญาครุฑตัวหนึ่งเนรมิตอัตภาพ ๑๕๐ โยชน์ ใช้ลมปีกพัดน้ำในทะเลแหวกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วเฉี่ยวเอานาคราชตัวหนึ่งยาวพันวาที่หางให้ขยอกเหยื่อที่พญานาคนั้นใช้ปากคาบไว้ทิ้ง บินไปทางยอดป่า มุ่งหมายโกฏสิมพลี.
นาคราชเมื่อห้อยหัวลง จึงคิดว่า เราจักสลัดตัวให้หลุด จึงสอดขนดเข้าไปที่ต้นนิโครธต้น ๑ พันต้นนิโครธยึดไว้. ต้นนิโครธก็ถอนขึ้น เพราะความแรงของพญาครุฑและพญานาคร่างใหญ่. พญานาคก็ไม่ปล่อยต้นไม้เลย.
ครุฑจึงเฉี่ยวเอาพญานาค พร้อมกับต้นนิโครธไปถึงโกฏสิมพลี แล้วให้พญานาคนอนบนด้านหลังของลำต้นไม้ ฉีกท้องกินมันข้นของพญานาคแล้วทิ้งซากที่เหลือลงทะเลไป.
ก็บนต้นนิโครธนั้น มีนกตัวเมียตัวหนึ่ง เมื่อพญานาคทิ้งต้นนิโครธแล้ว มันก็บินไปเกาะอยู่ระหว่างกิ่งของต้นโกฏสิมพลี. รุกขเทวดาเห็นมันแล้วสะดุ้งกลัวตัวสั่นไปโดยคิดว่า นกตัวเมียตัวนี้จักถ่ายอุจจาระรดลำต้นไม้ของเรา ต่อนั้นไปพุ่มไทรหรือพุ่มไม้ป่า ก็จะขึ้นท่วมทับถมต้นไม้ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นวิมานของเรา ก็จักพินาศ. เมื่อรุกขเทวดาสั่นสะท้านอยู่ โกฏสิมพลีก็สั่นไปถึงโคน.
พญาครุฑเห็นรุกขเทวดาสั่นสะท้านอยู่ เมื่อจะถามถึงเหตุ จึงได้กล่าวคาถาว่า :-
เราได้เอาพญานาคยาวตั้งพันวามาแล้ว ท่านทรงพญานาคนั้นและเราอยู่ได้ ไม่สั่นสะท้าน.
ดูก่อนโกฏสิมพลีเทพบุตร ก็เพราะเหตุอะไร? ท่านเมื่อทรงนกตัวเล็กๆ นี้ ที่มีเนื้อน้อยกว่าเรา จึงกลัวตัวสั่นสะท้านไป.
พญาครุฑเรียกเทพบุตรตามนามของต้นไม้ว่า โกฏสิมพลี. เพราะว่าต้นสิมพลี คือต้นงิ้วต้นนั้น ได้ชื่อว่าโกฏสิมพลี เพราะมีลำต้นและกิ่งก้านใหญ่ แม้เทพบุตรผู้สิงอยู่บนต้นโกฏสิมพลีนั้น ก็ได้ชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน.
ลำดับนั้น เทพบุตรเมื่อจะกล่าวถึงเหตุแห่งการสั่นสะท้านนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า :-
ดูก่อนพญาครุฑ ท่านมีเนื้อเป็นภักษาหาร นกตัวนี้มีผลไม้เป็นภักษาหาร นกตัวนี้จักจิกกินลูกนิโครธ ลูกกร่าง ลูกมะเดื่อ และลูกโพธิ์ แล้วมาถ่ายรดลำต้นไม้ของเรา.
ต้นไม้เหล่านั้นจะเติบโตขึ้น พวกมันเกิดในที่อับลมไม่มีอากาศที่ข้างเรา จักปกคลุมเรา ทำเราไม่ให้เป็นต้นไม้.
ต้นไม้ต้นอื่นๆ เป็นหมู่ไม้มีรากมีลำต้นที่มีอยู่ ก็จะถูกสกุณชาติตัวนี้ทำลายไป โดยการนำพืชผลมากิน.
เพราะว่า ต้นไม้ทั้งหลายที่งอกขึ้น จะเจริญเติบโตขึ้นเลยต้นไม้เจ้าป่า ที่มีลำต้นใหญ่ไป ข้าแต่พญาครุฑ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้ามองเห็นภัยที่ยังไม่มาถึง จึงสั่นสะท้านอยู่.
ครุฑ ครั้นได้ฟังคำของรุกขเทวดาแล้ว จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
ธีรชนควรระแวงภัยที่ควรระแวง ควรระวังภัยที่ยังไม่มาถึง ธีรชนย่อมพิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒ เพราะภัยในอนาคต.
ก็แล ครุฑครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงให้นกนั้นหนีไปจากต้นไม้นั้นด้วยอานุภาพของตน.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า เธอทั้งหลายควรระแวงสิ่งที่ควรระแวงดังนี้ ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้
ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปดำรงอยู่แล้วในอรหัตผล.
พญาครุฑในครั้งนั้น ได้แก่ พระสารีบุตร ในบัดนี้
ส่วนรุกขเทวดา ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาโกฏสิมพลิชาดกที่ ๗
-----------------------------------------------------
ไม่มีความเห็น