สุสีมชาดก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๖. สุสีมชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๔๑๑)
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะออกผนวช
(พระโพธิสัตว์โอวาทตนเองว่า)
[๑๑๔] เมื่อก่อนผมสีดำได้งอกบริเวณศีรษะ วันนี้ผมเหล่านั้นมีสีขาว สุสีมะ เจ้าเห็นแล้วจงประพฤติธรรมเถิด เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะประพฤติพรหมจรรย์
(พระราชเทวีทูลพระราชาว่า)
[๑๑๕] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ ผมหงอกของหม่อมฉันมิใช่ของพระองค์ ผมหงอกงอกบนศีรษะของหม่อมฉัน หม่อมฉันได้ทูลคำเท็จเพราะหวังทำประโยชน์แก่ตนเอง ขอเดชะพระราชาผู้ประเสริฐ ขอพระองค์พระราชทานอภัยแก่หม่อมฉันสักครั้งหนึ่งเถิด
[๑๑๖] ขอเดชะพระมหาราช พระองค์ยังทรงหนุ่ม น่าทัศนา ทรงดำรงอยู่ในปฐมวัย งามประดุจยอดไม้ ขอพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ และทรงสนพระทัยหม่อมฉัน ขอพระองค์อย่าด่วนประพฤติพรหมจรรย์ที่ให้ผลตามกาลเลย
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๑๗] เราเห็นสาววัยรุ่น มีผิวพรรณเกลี้ยงเกลา ร่างกายงดงาม ทรวดทรงเฉิดฉาย เจ้าหล่อนมีกิริยาละมุนละไม ประดุจดังเถาย่านาง ประหนึ่งว่าประเล้าประโลมกิเลสกามยามไปใกล้บุรุษเพศ
[๑๑๘] ต่อมาเราเห็นหญิงนั้นมีอายุถึง ๘๐ ปี หรือ ๙๐ ปีนับแต่เกิด ถือไม้เท้าตัวสั่นงันงก มีกายค่อมลงเหมือนกลอนเรือนเที่ยวไปอยู่
[๑๑๙] เรานั้น เมื่อพิจารณาใคร่ครวญถึงเหตุอันนั้นแหละ จึงนอนอยู่ท่ามกลางที่นอนคนเดียว และพิจารณาเห็นว่า ถึงเราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น จึงไม่ยินดีในการครองเรือน เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะประพฤติพรหมจรรย์
[๑๒๐] ความยินดีของผู้ครองเรือนเปรียบเหมือนเชือกที่ผูกยึดเหนี่ยวไว้ นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเชือกนั้นแล้ว ไม่มีความอาลัย ละกามสุขไป
สุสีมชาดกที่ ๖ จบ
------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา
สุสีมชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าสุสีมะออกผนวช
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภมหาภิเนษกรมณ์ แล้วตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.
ในสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันนั่งที่ธรรมสภา พรรณนาถึงการเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ของพระทศพล. พระศาสดาเสด็จมาถึง แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เราตถาคตผู้บำเพ็ญบารมีเต็มแล้วมากมายหลายแสนโกฏิกัปป์ ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ แม้ในกาลก่อน เราตถาคตก็ทอดทิ้งราชสมบัติในกาสิกรัฐประมาณสามร้อยโยชน์ ออกสู่อภิเนษกรมณ์เหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในท้องของภรรยาหลวงของปุโรหิตของพระองค์. ในวันที่พระโพธิสัตว์เกิดนั่นเอง ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสีก็ประสูติ. ในวันขนานนามและพระนามของกุมารและพระราชกุมารเหล่านั้น พวกปุโรหิตขนานนามพระมหาสัตว์นั้นว่า สุสีมกุมาร ส่วนพระนามของพระราชบุตรว่า พรหมทัตกุมาร.
พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า สุสีมกุมารเกิดวันเดียวกันกับบุตรของเรา จึงมีพระบรมราชโองการไปยังพระโพธิสัตว์ พระราชทานพี่เลี้ยง ทรงให้เจริญวัยพร้อมกับพระราชกุมารนั้น. กุมารแม้ทั้ง ๒ นั้นจำเริญวัยแล้ว เป็นผู้มีรูปร่างสวยงาม มีผิวพรรณเหมือนเทพกุมาร เรียนศิลปะทุกอย่างที่เมืองตักกสิลา สำเร็จแล้วก็กลับมา.
พระราชบุตรทรงเป็นอุปราช ทรงเสวย ทรงดื่ม ประทับนั่ง ประทับบรรทมอยู่ร่วมกับพระโพธิสัตว์ โดยสิ้นรัชกาลพระชนกก็เสวยราชย์แทน พระราชทานยศสูงแก่พระมหาสัตว์ ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งปุโรหิต.
วันหนึ่ง รับสั่งให้เตรียมพระนคร แล้วทรงแต่งพระองค์เหมือนท้าวสักกเทวราช ประทับนั่งบนคอช้างต้นที่เมามัน มีส่วนเปรียบด้วยช้างเอฬาวรรณที่ตบแต่งแล้ว ทรงให้มหาสัตว์นั่งบนหลังช้าง ณ ที่นั่งด้านหลัง ทรงทำประทักษิณพระนคร.
ฝ่ายสมเด็จพระราชชนนีประทับยืนที่ช่องพระแกล ด้วยพระดำริว่า เราจักมองดูลูก ทอดพระเนตรเห็นปุโรหิตนั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระราชานั้นผู้ทรงทำประทักษิณพระนครแล้วเสด็จมา ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์ จึงเสด็จเข้าห้องบรรทม ทรงงดพระกระยาหาร แล้วเสด็จบรรทมด้วยหมายพระทัยว่า เราเมื่อไม่ได้ปุโรหิตนี้ก็จักตาย ณ ที่นี้นั่นเอง.
พระราชา เมื่อไม่ทรงเห็นพระราชชนนี จึงตรัสถามว่า แม่ของฉันไปไหน? ทรงสดับว่าประชวร จึงเสด็จไปถึงที่ประทับของพระราชชนนี ทรงถวายบังคม แล้วตรัสถามว่า เสด็จแม่พระเจ้าข้า เสด็จแม่ประชวรเป็นอะไร? พระนางไม่ตรัสบอกพระองค์ เพราะทรงละอาย. พระองค์จึงเสด็จไปประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์ รับสั่งให้เรียกพระมเหสีของพระองค์มา ทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า เธอจงไปแล้วทราบการประชวรของเสด็จแม่. พระนางเสด็จไป แล้วทรงนวดพระปฤษฎางค์ไปพลางทูลถามไปพลาง.
ธรรมดาผู้หญิงทั้งหลายจะไม่ซ่อนความลับต่อผู้หญิงด้วยกัน.
พระราชชนนีนั้นตรัสบอกเนื้อความนั้น.
ฝ่ายพระราชินีทรงสดับคำนั้น แล้วจึงเสด็จไปทูลพระราชา พระราชารับสั่งว่า เรื่องนั้นยกไว้เถอะ เธอจงไป จงให้เสด็จแม่เบาพระทัย ฉันจักตั้งปุโรหิตให้เป็นพระราชา แล้วตั้งเสด็จแม่ให้เป็นอัครมเหสี. พระนางจึงได้เสด็จไป แล้วทรงให้พระราชชนนีเบาพระทัย.
ฝ่ายพระราชารับสั่งให้ปุโรหิตเข้าเฝ้า แล้วตรัสบอกเนื้อความนั้น แล้วรับสั่งว่า สหายเอ๋ย ขอสหายจงให้ชีวิตแก่เสด็จแม่ สหายจงเป็นพระราชา เสด็จแม่จะเป็นพระมเหสี เราจะเป็นอุปราช. ปุโรหิตนั้นทูลคัดค้านว่า ข้าพระองค์ไม่อาจทำอย่างนั้นได้ แต่เมื่อพระองค์ทรงรบเร้าบ่อยๆ ก็รับ. พระราชาได้ทรงอภิเษกปุโรหิตให้เป็นพระราชา พระราชชนนีให้เป็นอัครมเหสี ส่วนพระองค์ทรงเป็นอุปราช. เมื่อทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงประทับอยู่สมัครสมานกัน.
ในกาลต่อมา พระโพธิสัตว์ทรงระอาพระทัยในท่ามกลางเรือน การครองเรือน ทรงละกามทั้งหลาย แล้วทรงมีพระทัยน้อมไปในการบรรพชา ไม่ทรงอาลัยไยดีถึงความยินดีด้วยอำนาจกิเลส ประทับยืน ประทับนั่ง เสด็จบรรทมแต่ลำพังพระองค์เดียว ได้เป็นเสมือนถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำ และเป็นเสมือนไก่ถูกขังไว้ในกรง.
ลำดับนั้น พระมเหสีของพระองค์ทรงดำริว่า พระราชาพระองค์นี้ไม่ทรงอภิรมย์กับเรา ประทับยืน ประทับนั่ง และทรงบรรทมแต่ลำพังพระองค์เดียว แต่พระราชาพระองค์นี้เป็นคนหนุ่ม ส่วนเราเป็นคนแก่ ผมหงอกปรากฏบนศีรษะของเรา ถ้ากระไรแล้ว เราควรจะสร้างความเท็จขึ้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ บนพระเศียรของพระองค์ปรากฏพระเกษาหงอก ดังนี้ ให้พระราชาทรงยอมรับ แล้วทรงอภิรมย์กับเราด้วยอุบายนั้น.
วันหนึ่ง จึงทรงทำเป็นเสมือนหาเหาบนพระเศียรของพระราชา ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงชราแล้ว บนพระเศียรของพระองค์ปรากฏพระเกษาหงอกเส้นหนึ่ง เพคะ.
พระราชาตรัสว่า ข้าแต่นางผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอเธอจงถอนผมหงอกเส้นนั้นมาวางไว้บนมือของฉัน. พระนางจึงทรงถอนพระเกษาเส้น ๑ จากพระเศียรของพระราชาทิ้งมันไป แล้วทรงหยิบเอาพระเกษาหงอกเส้น ๑ จากพระเศียรของตน แล้ววางบนพระหัตถ์ของพระราชานั้น โดยทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ นี้พระเกษาหงอกของพระองค์.
พระเสโทไหลออกจากพระนลาฏ ที่เสมือนกับแผ่นทองของพระโพธิสัตว์ผู้ทรงสะดุ้ง เพราะทรงเห็นพระเกษาหงอกเท่านั้น แล้วก็ทรงกลัว.
พระองค์เมื่อทรงโอวาทตน ทรงดำริว่า ดูก่อนสุสีมะ เจ้าเป็นคนหนุ่ม แต่กลายเป็นคนแก่ไปแล้ว เจ้าจมอยู่ในเปือกตม คือกาม เหมือนหมูบ้านจมอยู่แล้วในเปือกตมคือคูถ ฉะนั้น ไม่สามารถถอนตนขึ้นได้ บัดนี้ เป็นเวลาของเจ้าที่จะละกามทั้งหลายเข้าสู่ป่าหิมพานต์บวช แล้วประพฤติพรหมจรรย์มิใช่หรือ? ดังนี้
แล้วจึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
เมื่อก่อน ผมสีดำเกิดบนศีรษะของเจ้าตามที่ของมันแล้ว สุสีมะเจ้า วันนี้เจ้าเห็นเส้นผมเหล่านั้นมีสีขาว แล้วจงประพฤติธรรมเถิด เวลานี้เป็นเวลาแห่งการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว.
เมื่อพระโพธิสัตว์พรรณนาคุณการประพฤติพรหมจรรย์อย่างนี้แล้ว พระราชินีทรงสะดุ้งพระทัย เพราะทรงกลัวว่า เราตั้งใจว่าจะทำการมัดพระทัยพระราชาไว้ แต่กลายเป็นทำการสละไปเสีย จึงทรงดำริว่า เราจักสรรเสริญพระฉวีวรรณแห่งพระสรีระเพื่อต้องการไม่ให้พระราชาพระองค์นี้เสด็จออกผนวช
จึงได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถาว่า :-
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผมหงอกของหม่อมฉันเอง ไม่ใช่ของพระองค์ ผมหงอกงอกขึ้นบนศีรษะ บนกระหม่อมของหม่อมฉันเอง หม่อมฉันได้ทูลคำเท็จ โดยตั้งใจว่า จักทำประโยชน์ให้ตน ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษหม่อมฉันสักครั้งหนึ่งเถิดเพคะ
ข้าแต่มหาราช พระองค์ยังทรงหนุ่ม มีพระโฉมน่าทัศนา ยังทรงอยู่ในปฐมวัยเหมือนตองกล้วยแรกผลิฉะนั้น ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอมคน ขอพระองค์ทรงเสวยราชสมบัติ ทรงดูแลหม่อมฉันเถิด และอย่าทรงทะยานไปสู่การประพฤติพรหมจรรย์ที่ให้ผลตามกาลเวลา.
พระโพธิสัตว์ ครั้นทรงสดับคำนั้น แล้วตรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เธอพูดถ้อยคำนั้นที่ควรเป็นไปได้ เพราะว่า เมื่อวัยของเราที่มีความเปลี่ยนแปลงเป็นที่สุด ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผมสีดำทั้งหลายเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสีขาวเหมือนใยป่านไปหมด.
จริงอยู่ เมื่อวัยของกุมารทั้งหลายที่เช่นกับพวงดอกไม้มีดอกอุบลเขียวเป็นต้น และของขัตติยกัญญาเป็นต้น ผู้เปรียบปานกับด้วยรูปทอง อุดมสมบูรณ์ด้วยความหนุ่มสาวและความสง่างาม มีความเปลี่ยนแปลงเป็นที่สุด ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราจะเห็นทั้งสิ่งที่น่าตำหนิทั้งความชำรุดแห่งสรีระของคนทั้งหลายผู้ถึงความชราแล้ว ดูก่อนนางผู้เจริญ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ โลกของสัตว์ผู้มีชีวิตนั้น ก็มีความวิบัติเป็นจุดจบ ดังนี้แล้ว
เมื่อทรงแสดงธรรมด้วยพุทธลีลาในเบื้องสูง จึงได้กล่าวคาถาทั้ง ๒ ว่า :-
เราเห็นกุมารีรุ่นสาวผู้มีรูปร่างสวยงาม มีผิวพรรณเกลี้ยงเกลา มีทรวดทรงเฉิดฉาย อ่อนละมุนละไมเหมือนเถากาลวัลลี ต้องลมโชย เอนตัวเข้าใกล้ชายเหมือนยั่วยวนชายอยู่ฉะนั้น
ต่อมา เราได้เห็นนารีคนนั้นมีความชรามีอายุล่วงไป ๘๐ ปี ๙๐ ปี ถือไม้เท้าสั่นงกงัน มีร่างกายโค้งค้อมลงเหมือนกลอนเรือนเดินไป.
พระมหาสัตว์ ครั้นทรงแสดงโทษของรูปด้วยคาถานี้ โดยประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงประกาศความเบื่อหน่ายของตนในการครองเรือน
จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถาไว้ว่า :-
เราครุ่นคิดถึงคุณและโทษของรูปนั้นอยู่นั่นเอง จึงนอนอยู่กลางที่นอนแต่คนเดียว เราเมื่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเราก็จะเป็นอย่างนี้ จึงไม่ยินดีในเรือน เวลานี้เป็นเวลาแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
ความยินดีของผู้อยู่ครองเรือนนี้แหละ เป็นเหมือนเชือกผูกเหนี่ยวไว้ ธีรชนตัดเชือกนี้ได้แล้ว ไม่อาลัยใยดี จะละกามสุข แล้วหลีกเว้นหนี.
ด้วยบทนี้ พระโพธิสัตว์ทรงแสดงถึงความที่กามทั้งหลายมีคุณน้อย.
ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
บุรุษผู้ป่วยไม่สามารถพลิกตัวได้ด้วยกำลังของตนเอง ผู้พยาบาลต้องผูกเชือกสำหรับเหนี่ยวไว้ โดยบอกว่า จงเหนี่ยวเชือกนี้พลิกตัว. เมื่อเขาเหนี่ยวเชือกนั้นพลิกตัว ก็คงมีความสุขกายและความสุขใจหาน้อยไม่ฉันใด เมื่อสัตว์ทั้งหลายผู้เร่าร้อนเพราะกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่สามารถจะพลิกใจได้ ด้วยสามารถแห่งความสุขเกิดแต่วิเวก ปรารภอารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่สถิตอยู่ท่ามกลางเรือนด้วยอำนาจการซ่องเสพเมถุนธรรม ในเวลาพวกเขาเร่าร้อนเพราะกิเลส พลิกไปพลิกมาอยู่ ความยินดีในกาม ได้แก่ความสุขกาย สุขใจ เมื่อเกิดขึ้นชั่วครู่เท่านั้น ก็มีประมาณเพียงเล็กน้อย กามทั้งหลาย ชื่อว่า มีคุณน้อยอย่างนี้.
พระมหาสัตว์ ครั้นทรงแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา ชี้ให้เห็นคุณและโทษในกามทั้งหลายอย่างนี้ แล้วตรัสสั่งให้เรียกสหายมา ทรงมอบราชสมบัติให้.
เมื่อญาติมิตรและสหายผู้มีใจดีทั้งหลาย คร่ำครวญกลิ้งเกลือกไปมาอยู่นั่นเอง ทรงทอดทิ้งสิริราชสมบัติ แล้วบวชเป็นฤษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ในที่สุดแห่งสัจธรรม ยังชนจำนวนมากให้ได้ดื่มน้ำอมฤต แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า
พระอัครมเหสีในครั้งนั้น ได้แก่ มารดาพระราหุล ในบัดนี้
พระราชาผู้เป็นพระสหาย ได้แก่ พระอานนท์
ส่วนพระเจ้าสุสีมะ ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาสุสีมชาดกที่ ๖
-----------------------------------------------------
ไม่มีความเห็น