13 ปีมอน้ำชีที่เป็นมากกว่า "เปิดบ้าน" ธรรมดาๆ


ชื่นชมเพราะมีการยกระดับกิจกรรมเปิดบ้านธรรมดาๆ ไปสู่การ “บริการสังคม” มีกลิ่นอาย “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ” เบ็ดเสร็จ กล่าวคือ ไม่ใช่การพบปะสังสรรค์ธรรมดา แต่มีการจัดทำ “ผ้าป่าสามัคคี” ถวายวัดวัดศรีเวียง บ้านดอนเวียงจันทน์ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นวัดและชุมชนที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย

เรื่องที่อยากเล่าก็คือ  

เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน 2567 นิสิตกลุ่มนิสิตมอน้ำชี (พรรคมอน้ำชี) ได้จัดโครงการ "ผ้าป่าสามัคคี ตุ้มน้องโฮมพี่ ฮ่วมงาน 13 ปีมอน้ำชีไทเฮา" ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวัดศรีเวียงชัย บ้านดอนเวียงจันทน์ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

 

 

กิจกรรมครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับนิสิต - นิสิตกับอาจารย์ และนิสิตกับศิษย์เก่า ตลอดจนการปลูกฝังให้นิสิตได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมต่อการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย ผ่านกิจกรรม "ผ้าป่าสามัคคี"

 

กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น 
•    ทอดผ้าป่าสามัคคี (ยอดผ้าป่าสามัคคี คือ 43,825.25 บาท)
•    Wokshop หัวข้อ SMART MSU 
•    แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตระหว่างนิสิตกับนิสิต-นิสิตกับอาจารย์-นิสิตกับศิษย์เก่า 
•    จัดแสดงผลงานและประวัติความเป็นมาของพรรคมอน้ำชี 
•    พิธีบายศรีสู่ขวัญ 
•    การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน

 

 

โดยส่วนตัวผมชื่นชมกิจกรรมนี้นะครับ – ชื่นชมเพราะว่ารังสรรค์ขึ้นโดยพลังของนิสิตรุ่นปัจจุบันกับศิษย์เก่า  ชื่นชมเพราะไม่ใช่การ “เปิดบ้าน” ประชาสัมพันธ์องค์กรทั่วไป  แต่มีกิจกรรมทางปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นว่า  มีการนำเสนอประวัติและผลงานขององค์กรต่อผู้มาร่วมงาน ผ่านสื่อที่หลากหลาย รวมถึงการบอกเล่าของผู้นำองค์กรและศิษย์เก่า

ชื่นชมเพราะไม่ใช่การ “เปิดบ้าน” เพื่อเรียกคนเข้าสังกัดทั่วไป แต่มีกิจกรรม Wokshop ว่าด้วยกรอบแนวคิดอันเป็นนโยบายการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ว่าด้วยประเด็น SMART MSU ที่ถือเป็นอีกหมุดหมายของการปั้นแต่งให้นิสิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของการเป็นบัณฑิตของมหาวิทยาลัยและสังคม

 

 

ชื่นชมเพราะมีการนำเอาศิลปวัฒนธรรมมาเป็นการเชื่อมร้อยสร้างบรรยากาศให้อิ่มรักและมีมนต์ขลัง ด้วยการบายศรีสู่ขวัญ และการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ในแบบอีสานๆ ตอกย้ำตัวตนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในฐานะมหาวิทยาลัยที่ตั้งตระหง่านในภูมิภาคอีสาน

 

 

ชื่นชมเพราะมีการยกระดับกิจกรรมเปิดบ้านธรรมดาๆ ไปสู่การ “บริการสังคม” มีกลิ่นอาย “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ” เบ็ดเสร็จ  

  • กล่าวคือ  ไม่ใช่การพบปะสังสรรค์ธรรมดา  แต่มีการจัดทำ “ผ้าป่าสามัคคี” ถวายวัดวัดศรีเวียง บ้านดอนเวียงจันทน์ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นวัดและชุมชนที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย
  • กิจกรรมผ้าป่าสามัคคี ไม่เพียงสื่อถึงพันธกิจของนิสิต หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคมเท่านั้น แต่ยังปลูกฝังให้นิสิตได้ซึมซับจารีตประเพณีของชุมชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา หรือเรียกว่าการทำนุบำรุงศาสนา นั่นเอง

จำนวนเงินผ้าป่าสามัคคี ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรม แต่จิตใจ และกระบวนการขับเคลื่อนต่างหาก คือ ความงดงามและเป็นตัวชี้วัดอันแท้จริง

 

พูดแล้ว ก็ชื่นชมครับ

ชื่นชมจากใจจริง ครับ

 



เรื่อง  : พนัส  ปรีวาสนา
ภาพ  : กลุ่มนิสิตมอน้ำชี / พรรคมอน้ำชี มมส.
 

หมายเลขบันทึก: 719517เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2024 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2024 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท