ชีวิตที่พอเพียง 4787. กระตุ้นประสาทสัมผัสของเยาวชน เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน


 

รศ. ดร. ณัฏฐนียา โตรักษา (แอนน์) ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบัน อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่ง ต้นฉบับหนังสือ หนังสือคู่มือ “เรียนรู้ร่วมกันผ่าน “การเล่น” ในสวนประสาทสัมผัสเพื่อสุขภาวะของเด็กทุกคน: วิธีส่งเสริมการเล่นกับธรรมชาติเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็กในสภาพแวดล้อมที่เด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายสามารถเล่นร่วมกันได้อย่างมีความสุข” มาขอคำนิยม   นำสู่การนัดหมายพบตัวเพื่อคุยหารือสร้างผลกระทบต่อสังคมของ “สวนประสาทสัมผัสเพื่อสุขภาวะของเด็ก” ในเช้าวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ 

ผมมีความเห็นว่า เด็กไทยทุกคน ในทุกพื้นที่ ทุกสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ควรได้รับการกระตุ้นดังกล่าว    โดยอาจมีกลไกกระตุ้นแตกต่างกัน  ตามบริบทวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก    ที่เด็กเมืองต่างจากเด็กชนบทอย่างสิ้นเชิง   

ดังนั้น  อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ควรทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับ   คือควรทำหน้าที่พัฒนาหลักการและวิธีการ กระตุ้นประสาทสัมผัสของเยาวชน เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน   เพื่อขยายผลสู่สภาพที่ เด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับการกระตุ้นดังกล่าว   

นั่นคือประเด็นการพูดคุยกันตอนเช้าวันที่ ๑๑ กรกฎาคม  ที่กาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ใกล้บ้านผม     

ข้อเสนอของผมคือ นอกจากเผยแพร่ข้อค้นพบตามในหนังสือแล้ว   ควรหาทางขยายแนวทางดำเนินการไปยังพื้นที่หรือชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ    โดยเชิญชวน อบต. หรือเทศบาลที่สนใจ ๑๐ - ๒๐ แห่ง เข้าร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินการ    แล้วนำประสบการณ์และผลลัพธ์ต่อเด็กออกเผยแพร่ในวงกว้างทั้งทางสื่อสังคม และทางเว็บไซต์ของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ   

ผมเชื่อตามที่ อ. แอนน์ เสนอในหนังสือของเธอ เพราะตรงกับหลักการและสาระที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์    โดยผมคิดขยายความว่า เด็กๆ ทุกคน ทั้งที่มีความผิดปกติด้านการรับประสาทสัมผัส หรือมีความพิการทางร่างกายหรือไม่ก็ตาม ควรได้พัฒนาตนเองผ่านการเล่น  และการสะท้อนคิด    โดยต้องมีพี่เลี้ยงช่วยชวนเล่น หนุนการเล่น และช่วยตั้งคำถามกระตุ้นการสะท้อนคิดหลายๆ แบบ   ที่นำสู่การทดลองเล่นแบบใหม่ๆ สำหรับเด็ก    และนำสู่ความตระหนักรู้ด้านประสาทสัมผัส ต่อสรรพสิ่งรอบตัว   และนำสู่การพัฒนาทักษะเรียนรู้จากประสบการณ์ใส่ตัว   ที่จะเป็นการวางพื้นฐานทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่เด็ก

ความพิเศษของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คือความเป็นสวนรุกขชาติ มีพืชสมุนไพร มีธรรมชาติร่มรื่น และมีสัตว์อยู่ในธรรมชาติ   ที่เด็กจะได้สัมผัสและเรียนรู้ทั้งอย่างเป็นธรรมชาติ และที่มีการจัดระบบในสวนประสาทสัมผัส ให้เอื้ออย่างที่ระบุในหนังสือ    คือสวนประสาทสัมผัสเป็นเพียงส่วนย่อยนิดเดียวของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ที่มีพื้นที่ถึง ๑๔๐ ไร่   มีสระน้ำกว้างใหญ่ที่มีนกน้ำและนกอื่นๆ อาศัยอยู่มากมาย    และน่าจะมีสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย    ที่น่าจะจัดบริการเรียนรู้ธรรมชาติได้หลากหลายรูปแบบ   โดยมีโค้ชของการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำหน้าที่ เอื้ออำนวยการเรียนรู้   ที่หนุนให้เด็กเชื่อมโยงประสบการณ์เข้ากับสาระวิชาที่ตนกำลังเรียน หรือได้เรียนมาแล้ว   และสะท้อนคิดเป็นการเรียนรู้สมรรถนะครบด้าน (holistic learning - VASK)   รวมทั้งค่านิยมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน – SDG 

 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ น่าจะได้ทำหน้าที่เป็นสวนพฤกษชาติเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนตัวอย่าง   สำหรับให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ นำไปปรับดำเนินการในพื้นที่ของตน    สำหรับหนุนการเรียนรู้จากธรรมชาติของเด็กและเยาวชนของตน    ปลูกฝังการรักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ   เชื่อมโยงสู่การปลูกฝังกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน      สุขภาวะที่ยั่งยืน กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นสองหน้าของเรียญเดียวกัน    

 การเชื่อมโยงกับโลโก้ SDG จะช่วยให้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ หาทุนสนับสนุนจากโครงการ CSR ของบริษัทขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น    สำหรับพัฒนาเครื่องอำนวยความสะดวกในการเข้าชม รวมทั้งเป็นค่าเข้าชมฟรีสำหรับเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลน                  

เมื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสแล้ว ต้องเชื่อมสู่การเรียนรู้จากประสบการณ์    ด้วยการสะท้อนคิดสู่การเรียนรู้หลักการ ที่ครบด้าน VASK  ตามระดับพัฒนาการของเด็ก    อุทยานธรรมชาติวิทยา ก็จะทำหน้าที่หนุนให้เด็กพัฒนาทั้งค่านิยม เจตคติ  ทักษะ และความรู้ใส่ตัว    วางรากฐานการพัฒนาเป็นคนที่มีความสามารถ และเป็นคนดี   

วิจารณ์ พานิช          

 ๑๓ ก.ค. ๖๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 719054เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2024 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2024 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท