เรียนรู้จากประสบการณ์ : (๒) ภาคปฏิบัติ ๒๑. เรียนรู้จากอนาคต


 

ตอนที่ ๒ (ภาคปฏิบัติ) ของ บันทึกชุด เรียนรู้จากประสบการณ์นี้  ตีความแบบสรุปจากหนังสือ Experiential Learning : A Practical Guide for Training, Coaching and Education, 4th Edition (2018)  เขียนโดย Colin Beard  และ John P. Wilson   

ตอนที่ ๒๑ นี้  ตีความจากการอ่านหนังสือบทที่ ๑๐  Imagining, experiencing and learning from the future   ซึ่งเป็นบทสุดท้าย 

ข้อสรุปอย่างสั้นที่สุดคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง แต่ไม่พอ ต้องรู้จักเรียนรู้จากอนาคตด้วย    โดยมนุษย์ทุกคนได้รับพรสวรรค์ติดตัวมา ให้มีจินตนาการไปในอนาคตได้   เราจึงเรียนรู้จากอนาคตได้    ใช้จินตนาการฝึกฝนสมองให้เรียนรู้ได้    และผมขอเสริมจากประสบการณ์ชีวิตของตนเองว่า     เราสามารถจินตนาการชีวิตในอนาคตของเรา แล้วนำมาบอกตัวเองให้สร้างประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้สู่อนาคตนั้นได้   ช่วยให้เป็นชีวิตที่มีทิศทางคล้ายเรือที่มีหางเสือ    ไม่ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างเคว้งคว้างไร้เป้าหมาย     

 ยิ่งในยุคปัจจุบันและอนาคต มนุษย์เราสามารถเรียนรู้จากอนาคตหรือสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงได้โดยใช้เทคโนโลยีช่วย    เช่น  ความจริงเสมือน (VR – virtual reality)    ความจริงปรุงแต่ง (AR – augmented reality)    รวมทั้งภาพยนตร์ประเภทนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi)    

เขายกข้อเขียนของ Peter Senge ในหนังสือ The Fifth Discipline (1993) เรื่องข้อหลงผิดต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์    ว่าเป็นการหลงคิดว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่เห็นผลทันที    แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่   การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นการเรียนรู้ที่เห็นผลกระทบช้า    ดังนั้น หากต้องการเห็นผลเร็ว ต้องใช้การเรียนรู้แบบอื่น ไม่ใช่การเรียนรู้จากประสบการณ์   

สมองนักจินตนาการ

มนุษย์เราจินตนาการอยู่ตลอดเวลา    และจินตนาการนี้ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อใยประสาทในสมอง     โดยที่สมองทำหน้าที่จดจำเรื่องราวต่างๆ โดยกระจายข้อมูลอยู่ในหลายส่วนของสมอง   เมื่อจะใช้งานก็ดึงเอามาจากที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว     แตกต่างจากแผ่นเสียง หรือระบบความจำในคอมพิวเตอร์ ที่แยกอยู่กันเป็นเรื่องๆ   

การเรียนรู้จากประสบการณ์จึงเป็นการฝึกสมองหลายส่วนให้ทำงานร่วมมือกัน    มีการบันทึกข้อมูลไว้ในสมองหลากหลายส่วน   เป็นการเรียนรู้ที่ซับซ้อนและมีการสั่งสมอยู่ตลอดเวลา ทีละน้อยๆ     กว่าจะเห็นผลก็ใช้เวลานาน         

ที่น่าพิศวงยิ่งกว่านั้นคือ  จริงๆ แล้วสมองฝึกและใช้จินตนาการอยู่ตลอดเวลา   ตัวอย่างเช่น ระหว่างสนทนากันมีเสียงดังอยู่รอบข้าง    เราได้ยินเสียงของคู่สนทนาไม่ชัดในบางคำ แต่ก็เดาหรือปะติดปะต่อเรื่องราวได้   โดยจินตนาการคำที่ขาดหายไปได้ไม่ยาก   จากการที่สมองมีการฝึกดึงข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของสมองเอามาใช้งานประกอบกันเป็นเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันอยู่ก่อนแล้ว     

จะเห็นว่า สมองมีการทำงานแบบจินตนาการปนจริงอยู่เป็นปกติ   เด็กเล็กบางคนยังแยกไม่ออกระหว่างจินตนาการที่เกิดขึ้นในสมองกับเรื่องจริง    จึงเล่าจินตนาการออกมาเป็นเรื่องราวด้วยความเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น    นักแต่งนวนิยาย คือนักจินตนาการ 

จินตนาการกับประสบการณ์

ฝันกลางวัน ไม่ได้มีผลร้ายเสมอไป ในแง่ที่ว่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ทำอะไร เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์     มองมุมบวก ฝันกลางวันเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง   และมีส่วนทำให้สมองมีการเรียนรู้ และจัดระบบข้อมูลเอาไว้ใช้ในอนาคต   คือฝันกลางวันเป็นวิธีสร้างพลังหรือฝึกสมองในยามที่การประตุ้นสมองจากภายนอกมีจำกัด   

ในทำนองเดียวกัน ประสบการณ์ก็มีผลได้ทั้งด้านดีและด้านลบ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นประสบการณ์ด้านเจ็บปวดหรือล้มเหลว   มนุษย์เราตอบสนองต่อประสบการณ์ที่เป็นความล้มเหลวหรือความผิดพลาด ๓ แบบคือ  (๑) รับรู้ความผิดพลาด และเรียนรู้วิธีการใหม่ เพื่อไม่ทำผิดอีกต่อไป  (๒) ไม่เรียนรู้และทำผิดพลาดอย่างเดิมเรื่อยไป (๓) มีความเจ็บปวดจากความผิดพลาดนั้นรุนแรง จนพยายามหลีกเลี่ยงจากประสบการณ์ทำนองนั้นในอนาคต    การตอบสนองแบบที่ ๓ นี้ เป็นการกักขังตนเองอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone)    ไม่กล้าเผชิญความเสี่ยง หรือพื้นที่ท้าทาย (challenge zone)    คนแบบนี้เท่ากับปิดกั้นตนเองจากโอกาสเรียนรู้      

จิตใจแข็งแกร่งเพื่ออนาคต

มีงานวิจัยเรื่องให้คนกลุ่มหนึ่งออกกำลังท่าใดท่าหนึ่งซ้ำๆ หลายๆ วัน   แล้ววัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ออกกำลัง    พบว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นร้อยละ ๓๓    ให้คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องออกกำลังจริงๆ แต่ให้จินตนาการว่าออกกำลังท่าเดียวกัน ในความถี่และจำนวนวันเท่ากัน    พบว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นร้อยละ ๒๒    ส่วนคนกลุ่มที่ไม่ออกกำลังและไม่จินตนาการ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคงที่   เมื่อเอาคนกลุ่มที่ ๑ และ ๒ ไปทำ brain scan ดูขนาดของสมองส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่าสมองส่วนนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น   บ่งชี้ว่า การจินตนาการไปในอนาคต เราช่วยให้สมองเกิดการเชื่อมเครือข่ายใยประสาท   ที่จะช่วยให้มีความสำเร็จในการทำกิจกรรมทำนองนั้นในอนาคต   

จินตนาการอนาคต

ไอน์สไตน์กล่าวว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”    การตั้งคำถามใหม่ๆ  คิดหาลู่ทางใหม่ๆ  และมองปัญหาเก่าจากมุมมองใหม่ๆ ต้องการจินตนาการสร้างสรรค์ ที่ช่วยสร้างความก้าวหน้าให้แก่วิทยาศาสตร์     อีกท่านหนึ่งใช้คำว่า imaginization และให้นิยามว่า หมายถึงการพัฒนาความสามารถในการมองและทำความเข้าใจสถานการณ์ในมุมใหม่ๆ    โดยต้องกล้าทำตัวเป็นนักทฤษฎี  และกล้าปฏิบัติตามความเข้าใจของตนเอง   ซึ่งจะช่วยให้เราขยายกรอบความคิดของตนเองออกไป    ซึ่งหมายความว่า เราสะท้อนคิดประสบการณ์ในอดีตด้วยมุมมองใหม่   ที่เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ย้อนหลัง (retrospective learning)    และในขณะเดียวกันเราก็ต้องกล้าจินตนาการให้ตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ใหม่ หรือความท้าทายใหม่ เพื่อการเรียนรู้  ที่เรียกว่าการเรียนรู้ไปข้างหน้า (prospective learning)    ซึ่งจะช่วยแหวกกรอบความคิดเดิมๆ    

เด็กกับจินตนาการ 

จินตนาการเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมนุษย์   โดยเริ่มจากเครื่องมือฝึกจินตนาการในเด็ก คือการเล่น    ขอย้ำว่าการเรียนรู้ในเด็กเล็กเป็น play-based learning เป็นส่วนใหญ่   พ่อแม่ผู้ปกครองและครูจึงควรส่งเสริมให้เด็กเล็กได้เล่นเพื่อเรียนรู้    ไม่ควรเร่งให้เด็กประพฤติตัวเป็นผู้ใหญ่   

เด็กที่จินตนาการเก่ง จะเรียนรู้การบูรณาการประสบการณ์ ทำความเข้าใจประสบการณ์ภายนอก กับประสบการณ์ภายในตัว   รู้จัดจัดระบบข้อมูลได้ดีกว่า  สะท้อนคิดได้ดีกว่า  แยกแยะการรับรู้ (perception) กับการคิด (cognition) ได้   รับรู้ความผิดพลาดได้เร็ว และมีใจจดจ่อได้ดีกว่า   

ประโยชน์ทางสังคมของจินตนาการคือ เป็นคนที่ว่องไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น  มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น   ปรับตัวได้ดี   ทำตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้ดี  สร้างความรื่นเริงเบิกบานให้แก่ตัวเองเป็น   ลดความกลัวและความวิตกกังวล   พัฒนาสุขภาวะด้านอารมณ์  และการควบคุมตนเอง      

ช่วงเวลาที่เด็กเล่นเชิงจินตนาการกับพ่อและ/หรือแม่  เป็นช่วงเวลาและปรากฏการณ์พิเศษ    คือเด็กได้มีโอกาสสร้างและทดลองไอเดียของตน จากความรู้ความเข้าใจที่ได้จากประสบการณ์ครั้งก่อนๆ   ในบริบทที่เต็มไปด้วยความเอ็นดูและไม่ถือสาความไร้เดียงสาของเด็ก   ทำให้เด็กมีความมั่นใจที่จะทดลองและปฏิบัติตามจินตนาการของตน    ว่าไม่ว่าจะทำอะไร อย่างไร ผลออกมาอย่างไร ก็ไม่มีการตัดสินถูกผิดจากพ่อแม่   เพราะการเล่นนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องสมมติ     การที่พ่อแม่เล่นสมมติตามที่ลูกกำหนด  แสดงความสนุกสนานหัวเราะเมื่อได้เผชิญความท้าทายร่วมกัน และสำเร็จอย่างหวุดหวิด   เป็นการสื่อสารเชิงบวกระหว่างกันที่มีค่ายิ่งต่อพัฒนาการเด็ก  รวมทั้งพ่อแม่ก็ได้ความสุขความเบิกบานใจด้วย   

การเรียนรู้ของเด็ก เกิดจากธรรมชาติภายในตัวเด็กเอง  จากการเลี้ยงดูและการศึกษา   และจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ประกอบกันทั้ง ๓ ปัจจัย    ทั้งสามปัจจัยนี้ พึงส่งเสริมการเรียนรู้จากการเล่นให้แก่เด็ก 

ลำดับเวลาของการเรียนรู้จากประสบการณ์

การเรียนรู้จากประสบการณ์ แบ่งตามเวลาของการเรียนรู้ได้เป็น ๓ กลุ่มคือ  (๑) เรียนรู้หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว (retrospective learning)   (๒) เรียนรู้ขณะที่เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น (concurrent learning  หรือ reflection-in-action))  และ (๓) เรียนรู้ก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้น (reflection-before-action  หรือ anticipatory reflection หรือ reflection-on-the-future)    โดยส่วนใหญ่มักเน้นกันที่กลุ่มแรก และเรียกชื่อว่า “การสะท้อนคิดต่อกิจกรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว” (reflection-on-action)        

การเรียนรู้จากเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นในเวลาต่างกัน เช่น  (๑) เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต เมื่อสะท้อนคิดถึงเหตุการณ์ในภายหลัง   (๒) เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตเมื่อย้อนคิดกลับไปอีก (๓) เมื่อมีประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไปตีความประสบการณ์เดิม ด้วยมุมมองใหม่   (๔) เรียนรู้จากเหตุการณ์ ณ เวลาที่กำลังเกิดเหตุการณ์นั้น   (๕) เรียนรู้จากการคิดฉากทัศน์ในอนาคต (future scenarios) 

ไม่ว่าจะจัดกลุ่มการเรียนรู้จากประสบการณ์แบบใด มนุษย์เราเรียนรู้จากประสบการณ์หลากหลายแบบนั้น อยู่ตลอดเวลา    โดยเราสามารถฝึกฝนตนเองให้เรียนรู้เก่ง (รู้ครบด้าน ลึก และเชื่อมโยง) ได้ 

ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงการสะท้อนคิดเกี่ยวกับอนาคตน้อย เพราะ  (๑) เพราะเชื่อกันว่าการสะท้อนคิดต่อเหตุการณ์ในอดีต และต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็เพื่อเอาไปใช้ทำให้การดำเนินการในอนาคตได้ผลดี (๒) คำว่า “สะท้อนคิด”  สื่อความหมายว่า กระทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้น  (๓) มักคิดว่าการสะท้อนคิดต้องทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (concrete reality) เท่านั้น  (๔) เราสะท้อนคิดต่อการปฏิบัติ  คำว่าปฏิบัติมักหมายถึงการกระทำ   การคิดหรือสะท้อนคิดไม่ใช่การกระทำ   (๕) มีการศึกษาเรื่องอนาคตน้อย    ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าเวลานี้เราได้รับข้อมูลข่าวสารการทำนายอนาคตของโลกของสังคมเป็นประจำ   น่าจะเป็นจุดอ่อนภายในวงการการเรียนรู้จากการปฏิบัติเอง ที่เอาใจใส่เรื่องนี้น้อย  (๖) ต้องการการคาดเดาอนาคต และทักษะการสะท้อนคิดต่อการคาดเดานั้น   (๗) ต้องการความชัดเจนว่า การสะท้อนคิดเกี่ยวกับอนาคตเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ  และต้องช่วยกันทำให้มีความชัดเจน   

เรียนรู้ล่วงหน้า สะท้อนคิดอนาคต

ผมเขียนตอนนี้จากความคิดของตนเอง    ไม่ได้เอาจากหนังสือ    โดยผมคิดว่ามนุษย์เราเมื่อเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ก็จะเริ่มมีตัวตน (identity)    มีเป้าหมายชีวิต (ดู Chickering’s Seven Vectors of Identity Development)   การมีเป้าหมายชีวิตหมายความว่าผู้นั้นจินตนาการอนาคตเป็น    และมีการจินตนาการอนาคตของตนในแง่มุมต่างๆ อยู่เสมอ    มีผลให้สมองเกิดการพัฒนาขึ้นรองรับอนาคตตามเป้าหมายชีวิตนั้น   

โดยที่เป้าหมายชีวิตเป็นสิ่งที่ซับซ้อน มีหลายมิติหรือหลายแง่มุม    ทั้งด้านการเรียนเพื่อเข้าสู่อาชีพและการมีงานทำ รวมทั้งมีแวดวงสังคมที่ดี  การได้มีโอกาสตอบแทนคุณพ่อแม่และผู้มีอุปการคุณ   การมีคู่ครองและครอบครัว  การมีอุดมการณ์ในชีวิต  ฯลฯ   

การสะท้อนคิดสู่เป้าหมายอนาคตหลากหลายด้าน นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้สมองสร้างเครือข่ายใยประสาทเอาไว้รองรับกิจกรรมตามที่จินตนาการไว้ล่วงหน้าแล้ว    ยังจะช่วยหล่อหลอมค่านิยม (values) ไว้เป็นหางเสือชีวิต    ให้เป็นคนมีจิตใจเห็นแก่ผู้อื่น (หรือตรงกันข้าม)   ให้เป็นคนยึดมั่นในคุณธรรม (integrity) (หรือตรงกันข้าม)    ให้เป็นคนยึดมั่นในการทำประโยชน์ หรือให้ แก่สังคม (หรือมุ่งเอาแต่ตักตวงเข้าสู่ตนเอง) ฯลฯ          

การสะท้อนคิดอนาคต มองในแง่ของบุคคล จึงเป็นเรื่องของการกำหนดอนาคตของตนเองโดยไม่รู้ตัว   

ถึงแม้ผมจะไม่ได้เขียนตอนนี้โดยตีความจากหนังสือ    แต่ก็เขียนจากการเรียนรู้หลักการ ด้านการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากหนังสือทั้ง ๒ เล่ม ที่นำสู่การเขียนบันทึกทั้ง ๒๑ ตอนที่ผ่านมา   โดยเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมาเอง   ไม่ได้ลอกจากหนังสือ   

ความจริงเสมือน

ที่จริงมนุษย์เราสร้างความจริงเสมือนให้ตัวเองเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นได้    โดยการคิดและทำ ซึ่งจะนำสู่การเรียนรู้และจัดระบบใยประสาทในสมอง (และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย)   แต่ความจริงเสมือนที่เรากล่าวถึงหมายถึงความจริงเสมือนจากการสร้างโดยเทคโนโลยี   ที่ช่วยให้ตัวเราเสมือนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริง   และฝึกประสบการณ์ตอบสนองต่อสถานการณ์เสมือนนั้น    ใช้พัฒนาคนในหลากหลายบริบท    เช่นนักบิน และเจ้าหน้าที่บริการบนเครื่องบิน  ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ให้บริการในธุรกิจหลากหลายธุรกิจ    รวมทั้งด้านการศึกษาและการแพทย์    นักศึกษาแพทย์สามารถดึงอวัยวะเสมือนออกมาศึกษาส่วนต่างๆ จากร่างเสมือนได้   รวมทั้งศึกษาการทำหน้าที่ของส่วนต่างๆ ของอวัยวะได้  เป็นต้น   

สรุป

ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์บูรณาการความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ เอามาใช้หนุนการเรียนรู้   ได้แก่การเรียนรู้จากการกระทำ (action learning)   เรียนรู้จากการสะท้อนคิด (reflective learning)   คำนึงถึงปัจจัยด้านอารมณ์    รวมทั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

เป้าหมายคือการพัฒนาตัวตน เพื่อเดินเส้นทางชีวิตสู่การเปลี่ยนขาด (transform) ตนเอง สู่ตัวตนในระดับที่สูงขึ้น  โดยวิทาศาสตร์บอกว่า ประสบการณ์สามารถส่งอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของยีน โดยไม่มีการเปลี่ยนรหัสยีน   แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งต่อไปยังลูกหลานได้ (เรียกว่า epigenetic)   

การเรียนรู้จกประสบการณ์ใช้พลังของการสะท้อนคิด โดยสะท้อนคิดต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อยกระดับตนเองให้อยู่เหนือตัวตนของตนเอง (transcend)    เพื่อร่วมสร้างอนาคตให้แก่มนุษยชาติ และโลก 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๖๖

ห้อง ๑๖๐๒  อาคารเฉลิมพระเกียรติ  โรงพยาบาลศิริราช 

 

       



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท