ชีวิตที่พอเพียง  4551. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๒๑๑. ไม่รู้ว่าไม่รู้ กับหลอกตัวเอง


 

การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับกัลยาณมิตรท่านหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ นำสู่บันทึกนี้

ท่านขอคำปรึกษาผมเรื่องการไปฝึกอาจารย์ของสถาบันผลิตครูกลุ่มหนึ่งให้มีทักษะในการ “พัฒนาครู” ให้มีทักษะที่ผมตีความว่า เป็นทักษะการออกแบบและจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning)   

ผมตอบไปว่า “...พัฒนาครู โดยไม่เข้าไปร่วมทำงานและเรียนรู้ที่โรงเรียน เป็นสิ่งที่ไม่มีวันสำเร็จครับ    เพราะจะเป็นกระบวนทัศน์เดิม ที่เน้นพัฒนาครูโดยเอาความรู้ของตนไปถ่ายทอดให้   ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ    ผมคิดว่า … ต้องเริ่มจากการวางฐานกลยุทธ    หากไม่วางให้ถูกต้อง   ก็จะเสียเวลาเปล่า    

เขามาฟังและเรียนรู้ …   แล้วเอาไปแนะนำครูที่ รร. โดยไปปีละสองสามครั้ง ไม่มีวันได้ผลครับ    จะให้ได้ผลต้องใช้ท่าทีทำงานด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกันจากประสบการณ์”  

ผมตอบสั้นๆ   แต่กัลยาณมิตรตอบมายาว    ในลักษณะเล่าพฤติกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษากลุ่มนั้น    และขอคำแนะนำเพิ่มขึ้นอีก    ผมตอบกลับไปว่า “การทำงานแบบหลอกๆ โดยไม่ตระหนักว่าเป็นการหลอกตัวเอง   ไม่มีวันเกิดความสำเร็จแท้จริงครับ”    กัลยาณมิตรตอบมาว่าโดนใจ   และขออนุญาตส่งความเห็นสั้นๆ ทั้งสองตอนไปให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่กำลังเข็นเรื่องที่กัลยาณมิตรปรึกษามา     ซึ่งผมก็ยินดี เพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาและบ้านเมือง

หัวใจอยู่ที่สัมมาทิฐิเรื่องการศึกษาหรือการเรียนรู้    เน้นที่การทำหน้าที่ครู   ที่ต้องไม่ใช่แค่มีความรู้เชิงทฤษฎีเท่านั้น    ต้องมีความรู้จากประสบการณ์ ซึ่งเป็นบูรณาการของความรู้เชิงปฏิบัติและทฤษฎี เกี่ยวกับการทำหน้าที่ครู อยู่ด้วยกันอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน     การที่สถาบันผลิตครูไปทำหน้าที่พัฒนาครูจึงต้องไม่ไปนิเทศแบบไปให้คำแนะนำแบบถ่ายทอดความรู้ครั้งละสองสามชั่วโมง  ปีละสองสามครั้ง     เพราะการทำเช่นนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยจะไม่มีทางเข้าใจงานของครู ว่ามีความซับซ้อนเพียงใด       

ผมเชื่อว่า “ครูของครู” ต้องมีประสบการณ์การทำหน้าที่ครูที่โรงเรียน   จึงจะทำหน้าที่ “พัฒนาครู” (ซึ่งในที่นี้หมายถึงพัฒนาครูประจำการ) ได้อย่างแท้จริง    หากไม่ไปฝังตัวร่วมทำงานและเรียนรู้ร่วมกับครูที่โรงเรียนตลอดภาคการศึกษา    ไปได้แค่ ๑ - ๒ วัน ก็ต้องไป “ร่วมทำงานและเรียนรู้ร่วมกับครู” ในฐานะคนที่เสมอกัน    คือ “ผู้มุ่งเรียนรู้จากประสบการณ์ในห้องเรียน”   ไม่ใช่ท่าทีของ “ผู้รู้” ไปแนะนำ “ผู้ไม่รู้”   ไม่ทราบว่าความคิดเห็นของผมเป็นความคิดของ “ผู้โง่เขลา” หรือเปล่า   

ใน ๑ - ๒ วัน สั้นๆ นั้น “ครูของครู” ควรได้เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน    และร่วมหมุน Kolb’s Experiential Learning Cycle ร่วมกับครู  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอน Reflective Observation  สู่ Abstract Conceptualization    เพื่อหนุนให้ครูได้ทบทวนหลักการหรือทฤษฎีจากการสะท้อนคิดจากประสบการณ์จากการปฏิบัติของตนและพฤติกรรมของนักเรียน   

สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดที่ “ครูของครู” จะได้เรียนรู้หรือตระหนักคือ   ความซับซ้อนและเป็นพลวัตในชีวิตจริงของครู    ที่มีมากกว่าวิชาเอกที่ “ครูของครู” รับผิดชอบ   อย่างมากมาย 

“ครูของครู” ต้องทำหน้าที่สร้าง “วัฒนธรรมเรียนรู้” ให้แก่วงการศึกษา    ทดแทนวัฒนธรรม “ผู้รู้” ที่ครอบครองพื้นที่อยาในปัจจุบัน   วัฒนธรรมเรียนรู้ สร้างได้โดยหนุนให้เกิด “การเรียนรู้จากประสบการณ์” ขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาไทย   

การเรียนรู้จากประสบการณ์” เป็นรูปแบบสำคัญของการเรียนรู้เชิงรุก    และการเรียนรู้บูรณาการครบด้าน (holistic learning) VASK   ที่ครูต้องเน้นทำหน้าที่ตั้งคำถามให้ศิษย์สะท้อนคิด   ไม่ใช่ครูเน้นเป็นแหล่งความรู้อย่างในปัจจุบัน   

ผมมองว่า ท่าที หรือวัฒนธรรม เรียนรู้จากประสบการณ์ คือตัวช่วยให้คนในวงการศึกษาหลุดจากบ่วง “หลอกตัวเอง”   หรือบ่วง “ไม่รู้ว่าไม่รู้”

วิจารณ์ พานิช 

๒๐ ก.ค. ๖๖    

 

 

หมายเลขบันทึก: 714389เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2023 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2023 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท