Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยการสวดมนต์


การสวดมนต์ เพื่อการรักษาสุขภาพนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังจะเห็นได้จากหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎก อรรกถาและฎีกา ซึ่งเริ่มเมื่อผู้ป่วยได้เจริญพระพุทธมนต์หรือได้ฟังเสียงสวดมนต์แล้ว ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟูและแข็งแรงขึ้น เพราะเสียงที่เกิดจากการสวดมนต์ส่งผลต่อสภาพจิตใจผู้ป่วยในทางบวก และจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบงานวิจัยที่น่าสนใจ ดังนี้

            งานวิจัยที่ 1 การศึกษาอานุภาพของการสวดมนต์ที่มีผลต่อการเสริมสร้างความสุขแก่ชีวิต

            งานวิจัยที่ 2 การเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยพุทธปริตร                      

            งานวิจัยที่ 3 กระบวนการเตรียมความพร้อมของวัดในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุจังหวัดนครปฐม

            งานวิจัยที่ 4 การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา

            งานวิจัยที่ 5 ศึกษารูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนาของวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

Phrakrū Sukhetpacharakuṇ Guṇakaro (Mingkuan) [9] ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาอานุภาพของการสวดมนต์ที่มีผลต่อการเสริมสร้างความสุขแก่ชีวิต ผลการวิจัยพบว่า เรื่องราวของพุทธมนต์ 12 บท เป็นบทที่มีอานุภาพ มีความขลัง ศักดิ์สิทธ์ มีชัย ไร้อันตราย อุบัติเหตุรอดพ้นจากปีศาจมารร้าย กล่าวคือบทเมตตปริตร มนต์ที่ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย ขันธปริตร มนต์ที่ป้องกันภัยจากอสรพิษ และสัตว์มีพิษร้ายอื่นๆ บทมังคลปริตร มนต์ที่ทำให้เกิดสิริมงคล มีกัลยาณมิตรและปราศจากอันตราย บทรัตนปริตร มนต์ที่ทำให้ได้รับความสวัสดี ห่างไกลจากปีศาจ มารร้ายและพ้นจากอุปสรรคอันตราย การสวดมนต์จะเสริมสร้างสุขให้แก่ชีวิต เพราะทำให้จิตสงบ ทำกายให้สามัคคี ทำให้ปราศจากโรคภัย มีสุขภาพดีจากการบริหารชีวิตโดยองค์รวม คือ บริหารกายด้วยศีล บริหารจิตใจด้วยสมาธิ บริหารปัญญาด้วยการเรียนรู้ธรรม บริหารสังคมด้วยการทำสังคมสงเคราะห์ มนต์มีอานุภาพต่อตนเองและผู้อื่น ชาวพุทธควรสวดประจำวันโดยถือว่าเป็นการธำรงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรได้ทางหนึ่ง เพราะว่าการสวดมนต์ เป็นการพรรณนาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หลังจากการสวดมนต์จะมีอานุภาพทำให้เกิดความปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงได้ มีสิริมงคล เป็นที่รักยิ่งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย 

Phra Decha Sīlatejo (Sripunga) [2] ทำการวิจัยเรื่อง การเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยพุทธปริตร ผลการวิจัยพบว่า วิธีการเสริมสร้างสุขภาพองค์รวมของผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุมีความต้องการอยากที่จะเขาร่วมกิจกรรมกับลูกหลาน เพื่อที่จะทำให้สุขภาพทางจิตใจดีขึ้น และสุขภาพร่างกายจะดีขึ้นตามได้ก็เพราะจิตใจที่ดีขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ผู้ให้บริการในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ต้องมีบทบาทในการให้ความรู้ข่าวสารด้านสุขภาพ การตรวจคัดกรองสุขภาพ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุด้วย และการนำการสวดมนต์บทต่างๆ ในการประกอบพิธีกรรมสวดพระปริตรทำให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดียิ่งขึ้น การเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยพุทธปริตรนั้น พุทธปริตร นอกจากจะเป็นพิธีสร้างขวัญกำลังใจ และทำให้คนได้สำนึกอยู่ในความไม่ประมาทแล้วการสวดพระปริตร ยังถือได้ว่ามีผลหรือประโยชน์ในทางการรักษาสภาวะด้านจิตใจและโรคทางกายเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนานโรคที่ต้องอาศัยการฟื้นฟู ทำให้จิตใจเข้มแข็ง มีกำลังใจพร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆเพื่อการมีชีวิตรอดจนสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายของตนเองสู่สภาพปรกติได้

Phrakhruwibunchetiyaphirom (Tawee Meesuk) [10] ทำการวิจัยเรื่อง กระบวนการเตรียมความพร้อมของวัดในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุจังหวัดนครปฐม ผลการวิจัย มีการเตรียมความพร้อมสุขภาวะ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาวะทางกาย มีการออกกาลังกาย การป้องกันและรักษาสุขภาพ การตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ด้านสุขภาวะทางจิตใจ มีการปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจให้มีการยอมรับ มีความเชื่อในความสามารถของตนเอง เปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มองโลกในแง่ดี และมีความหวัง ด้านสุขภาวะทางสังคม ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่ายังมีประโยชน์และคุณค่า เป็นที่ต้องการและยอมรับของสังคม มีการผูกมิตรหรือเข้ากับคนอื่นได้ และแบ่งปันสิ่งของหรือความรู้ที่ได้รับให้แก่ผู้อื่นเสมอ และด้านสุขภาวะทางปัญญา มี “ปัญญาบำบัด” เป็นการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุและมีการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน เสริมสร้างความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้สูงอายุตามหลักพระพุทธศาสนา มีการให้ทานรักษาศีล การเจริญสติภาวนา การแผ่เมตตา และการสวดมนต์  

Phrabidika Kittipong Silasuddho (Niemrod) [3] ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา ผลการวิจัยพบว่า  ปัจจัยองค์ประกอบสำคัญเพื่อการพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ ตามหลักพุทธจิตวิทยา ใช้ปัจจัย 3 อย่าง คือ การบริการ การเรียนรู้ การส่งเสริม โดยมีองค์ประกอบส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ 4 ด้าน 1.ด้านกาย ผู้สูงอายุออกกำลังกายด้วยการเดินทำความสะอาดบ้านเห็นคุณค่าการนอนหลับ เพื่อสุขภาพแข็งแรง เดินลุกและนั่งได้อย่างคล่องตัว 2.ด้านสังคม ผู้สูงอายุไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และเห็นคุณค่าความเป็นมิตรของเพื่อนบ้าน 3.ด้านอารมณ์ ผู้สูงอายุ คิดบวก ปล่อยวาง สวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์เป็นประจำ ช่วยให้สุขภาพจิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน อารมณ์ดี 4.ด้านปัญญา ผู้สูงอายุสวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ ช่วยให้เกิดปัญญา มีสติ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตประจำวัน 

Phrakru Chaipattananukun (Thananoppharut Jayanto) [4] ทำการวิจัยเรื่อง ศึกษารูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนาของวัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผลการวิจัยพบว่า  การส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย ทางสังคม ทางอารมณ์ แสะทางสติปัญญา สามารถอยู่กับความเป็นจริงของโลกแสะชีวิตได้อย่างปกติสุข แนวทางในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ อาศัยการดำเนินงานกิจกรรม/โครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นด้านหลัก เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนา รวมทั้งการดำเนินการตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อแสะวิถีชีวิตของชุมชน 

จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องข้างต้น สรุปได้ว่า การสวดมนต์เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะที่ดี ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุ การสวดมนต์เป็นการบำบัดโรค โดยไม่ต้องใช้ยา การสวดมนต์บำบัดนับเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรค ทั้งบำบัดโรคทางใจและบำบัดโรคทางกายได้ผลดีด้วย การสวดมนต์เป็นการเจริญภาวนาแบบหนึ่ง นอกจากจะสร้างความเจริญทางโลกและทางธรรมให้แก่ผู้สวดมนต์แล้วยังมีการศึกษาวิจัยอีกมากที่แสดงถึงผลดีที่มีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต อาทิเช่น ช่วยพัฒนาสุขภาพจิตและบุคลิกภาพ ช่วยลดความเครียดความวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับสบายทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงหายจากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เป็นต้น ผู้ป่วยสามารถลดการใช้ยาลงหรือสามารถหยุดยาได้อีกทั้งยังสามารถใช้ดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจของผู้สูงอายุในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี [11] 

ในบริบทของสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมพุทธ ผู้สูงอายุส่วนมากก็มีความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา  ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุควรได้รับ การนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นแนวทางที่ไปด้วยกันได้ ที่สำคัญแนวคิดทางพระพุทธศาสนาสามารถเป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมได้เป็นอย่างดี  หลักธรรมสำคัญที่สอดคล้องกับการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมนั้น คือ หลักภาวนา 4                              

 

การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามหลักภาวนา 4 

 

หลักภาวนา 4 เป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการพัฒนาของมนุษย์ แบ่งเป็น 4 ประการ ได้แก่ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึง คุณสมบัติของบุคคลที่ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้วย่องเป็นผู้ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ  ผลของการฝึกตนตามแนวทางภาวนา 4  นั้น คือ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การพัฒนาความประพฤติให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยการเกื้อกูลแก่กันการฝึกอบรมจิตให้สดชื่นแจ่มใสมีความสุขการเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันโลกและชีวิตตามสภาวะที่เป็นจริงให้มีสุขภาวะทางกาย ทางใจ ทางสังคม ทางจิตวิญญาณ  กล่าวได้ว่าแนวคิดภาวนา 4 เป็นหลักการพัฒนาตนเอง 4 ด้านตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นศาสนาที่มีพัฒนาการควบคู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยเน้นทั้งการพัฒนาทางด้านกายภาพ สังคม จิตและปัญญา เพื่อให้ถึงเป้าหมายสูงสุด การนำหลักพุทธธรรมดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ [3] จึงสามารถสรุปได้ตามตารางต่อไปนี้

 

ตารางที่ 1 การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามหลักภาวนา 4

 

การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามหลักภาวนา 4

หลักการ

 

ประยุกต์

 

1) ด้านกาย 

 

มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือทางวัตถุ ให้รู้จัก “กิน อยู่ ดู ฟัง” 

1) การออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง 

2) มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อม 

3) ทางกายภาพ ให้รู้จัก “กิน อยู่ ดู ฟัง 

2) ด้านจิตใจ 

 

การมีจิตที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีความดีงามสมบูรณ์สมรรถภาพ มีความเข้มแข็งมั่นคง และสมบูรณ์ด้วยสุขภาพ 

1) การฝึกการหายใจ 

2) การใช้ดนตรีช่วยบำบัด 

3) การใช้ศิลปะบำบัด 

4) การจินตนาการบำบัด 

5) การสะกดจิตบำบัด 

3) ด้านสังคม 

 

เราใช้กลุ่มบำบัดการอยู่ในหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่มีไมตรีจิตต่อกัน 

 

1) มีไมตรีจิตต่อกัน เอื้ออาทร 

2) มีกัลยาณมิตรผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน 

3) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

4) มีเมตตาต่อกัน ให้อภัยต่อกัน 

4) ด้านปัญญา 

 

การเสริมสร้างความรู้ ความคิด ความเข้าใจเป็นนายความคิด และการหยั่งรู้ความจริง รู้เห็นเท่าทันโลกชีวิตตามจริง 

1) การสวดมนต์ 

2) การแผ่เมตตา 

3) การฝึกสมาธิ 

4) การวิปัสสนากรรมฐาน 

 

ที่มา: พระใบฎีกากิตติพงษ์ สีลสุทฺโธ (เนียมรอด) (2562: 76)

 

จากตารางข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าการสวดมนต์เป็นแนวทางที่จะส่งเสริมสุขภาพด้านปัญญาโดยตรง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังส่งเสริมด้านร่างกาย จิต และสังคมควบคู่กันไปได้ด้วย สอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องซึ่ง พบว่า เหตุผลที่ผู้สูงอายุเข้ามาสถานปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่มีความตั้งใจมาทําบุญและปฏิบัติธรรม เพราะเชื่อมั่นว่าความดีแห่งวิถีพุทธธรรมจะนําตนไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ทั้งสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจในปั้นปลายแห่งชีวิต ส่วนในด้านการประยุกต์ใช้หลักภาวนา 4 ที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ 1) ด้านร่างกาย 2) ด้านศีลหรือสังคม 3) ด้านจิตใจ 4) ด้านปัญญา ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและมีเป้าหมายสูงสุด ในการดํารงชีวิตตามหลักพุทธธรรม คือการมุ่งกําจัดโรคทางใจ อันหมายถึง การละกิเลสในใจตน ให้เบาบางตลอดชีวิต ดังนั้น ผู้สูงอายุที่นําหลักภาวนา 4 ไปปฏิบัติตลอดชีวิต ย่อมส่งผลให้มีความสุข ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพราะเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมวิถีพุทธที่ยั่งยืน [12]  แต่เมื่อจะต้องนำวิธีการสวดมนต์มาเป็นหลักปฏิบัติตนอย่างหนึ่งเพื่อสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมนั้น ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องเข้าใจวิธีการและเป้าหมายของการสวดมนต์ โดยประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลควบคู่กันไปด้วย

รูปแบบและคุณค่าของการสวดมนต์ 

 

จากการศึกษางานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ สามารถจำแนกวิธีการสวดมนต์และคุณค่าของการสวดมนต์ได้ดังนี้

1. การสวดมนต์ด้วยตนเอง เป็นวิธีการที่ดีที่สุด เป็นการเหนี่ยวนำตนเองที่สะท้อนถึงการมีความปรารถนาดีต่อตนเอง และการสวดมนต์ด้วยตนเองจะทำให้เกิดพลังการสั่นสะเทือนที่จะช่วยรักษาความเจ็บป่วยได้ [13] 

2. การฟังผู้อื่นสวดมนต์ เป็นการเหนี่ยวนำโดยการใช้คลื่นเสียงจากผู้อื่น เช่นการฟังเสียงพระสวดมนต์ เสียงผู้นำสวดในศาสนาต่างๆ หากผู้สวดมีสมาธิดี เสียงสวดมนต์นั้นจะนุ่ม ทุ้ม ทำให้เกิดคลื่นที่ช่วยเยียวยาแก่ผู้ฟัง [14] รวมถึงการฟังบทสวดมนต์จากสื่อเสียง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสื่อเสียงที่เป็นการผสมผสานระหว่างบทสวดมนต์และดนตรีเป็นเพลงธรรมะใช้ในการเผยแผ่แก่ประชาชนกันอย่างกว้างขวาง [15]

3. การสวดมนต์ให้ผู้อื่น เป็นการสวดมนต์เพื่ออ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การขอพรให้กับผู้อื่น โดยผู้รับการสวดมนต์ไม่จำเป็นต้องได้ยินเสียงสวดมนต์ แต่จะได้รับโดยอาศัยคลื่นเสียงสวดมนต์เป็นคลื่นบวก เพราะเกิดจากจิตใจที่ดีงาน ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและเมื่อใดก็ตามที่เราคิด เมื่อนั้นตอนที่เราคิดจะส่งสัญญาณนี้ออกไปสู่ที่ไกล ๆ [16] สัญญาณนี้จะเดินทางไปในรูปของคลื่นไฟฟ้า ซึ่งมนุษย์มีเซลล์สมองที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าและสารเคมีได้ถึง สิบยกกำลังสิบ คลื่นนี้จึงเดินทางไปได้ไกลๆ [17]

4. การสวดมนต์เป็นกลุ่ม เป็นการเข้าร่วมกลุ่มสวดมนต์ตามความสนใจของบุคคลนั้นๆ อาทิเช่น การร่วมกันสวดมนต์ตามโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ งานพิธีต่างๆ สถานที่สำคัญๆ ทางศาสนา เช่น วัด สถานที่ปฏิบัติธรรม หอประชุมหรือโรงแรมต่างๆ เป็นต้น 

การสวดมนต์นอกจากจะทำให้จิตเป็นสมาธิแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งนี้ ในส่วนคุณค่าของการสวดมนต์นั้น อาจพิจารณาจากผลของการสวดมนต์ที่มีต่อชีวิตหรือต่อผู้สวดมนต์ จากการศึกษางานวิจัยของ อารี นุ้ยบ้านด่าน [18] ศึกษาผลของการสวดมนต์ต่อความเครียดของนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นการวิจัยกึ่งทดลองในกลุ่มนักศึกษาพยาบาลปีที่ 2 พบว่า ระดับความเครียดก่อนเข้าร่วมโครงการวิจัยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างกัน และหลังการทดลองสวดมนต์พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) โดยพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มทดลองระดับสมาธิสูงขึ้น ชี้ให้เห็นว่าผลการวิจัยนี้สามารถช่วยลดความเครียดในนักศึกษาพยาบาลได้ สอดคล้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับการสวดมนต์บำบัด ศึกษาผลของการสวดมนต์บำบัดต่อความวิตกกังวลและความผาสุกทางจิตวิญญาณในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะรับการรักษาของพรทิพย์ และทิตยา [19] โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะรับการรักษาของหน่วยรักษ์ปทุม โรงพยาบาลศรีนครินทร์จำนวน 10 ราย ผลการวิจัยพบว่า การสวดมนต์ช่วยลดความวิตกกังวลและเพิ่มความผาสุกทางจิตวิญญาณในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

Thomas & Rao [20] ได้อธิบายว่า การฟังบทสวดมนต์เป็นการฟังวลีหรือบทสวดมนต์ซ้ำๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปล่อยวาง และบทสวดมนต์ที่นำมาใช้ก็มักจะเกี่ยวข้องในเรื่องของศาสนาซึ่งบทสวดมนต์ดังกล่าวคือมีลักษณะน้ำเสียงค่อนข้างเรียบ ไม่เสียงดัง หรือเบาเกินไป เพื่อดึงความสนใจมายังขณะปัจจุบัน นอกจากนั้นงานวิจัยของ Agency for Healthcare Research and Quality กล่าวว่า การฟังบทสวดมนต์เป็นการฝึกสมาธิโดยใช้บทสวดมนต์เป็นหลักและได้นำเทคนิคต่างๆ มาใช้ร่วมด้วย การฟังบทสวดมนต์หรือคำสวด เพื่อช่วยสร้างความใส่ใจและการผ่อนคลายให้เกิดขึ้นระหว่างการซึมซับความหมายจากเสียงบทสวดมนต์ [21]  สอดคล้องกับ ค่าเฉลี่ยความเครียดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มฟังเสียงสวดมนต์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 5.59, p < .05) [22] ทั้งนี้ การสวดมนต์เป็นภาษาบาลี มีฐานเสียงที่แตกต่างกัน การออกเสียงแต่ละคำจะสร้างความสะเทือนไม่เท่ากันตามฐานที่เกิดของเสียงหรือตามวิธีเปล่งเสียง ส่งผลไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดพลังสั่นสะเทือน เพื่อเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเยียวยา หากสวดมนต์ด้วยความสำรวมจิตใจให้สงบ มีสติจดจ่ออยู่กับบทสวดนั้นอย่างต่อเนื่อง ผลทางสรีระที่เกิดขึ้นก็คือ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆที่เป็นกลไกสำคัญในการหายใจและการเปล่งเสียงแข็งแรงขึ้น เพราะผู้สวดออกแรงเปล่งเสียงออกมาสารอาหารที่ร่างกายสะสมไว้ถูกเผาผลาญ และหากสวดจนเกิดสมาธิจิตใจก็สงบลง เมื่อจิตสงบสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นและเป็นคุณต่อสุขภาพก็หลั่งออกมามาก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานดีขึ้น กลไกการจำกัดโรคทำงานได้ดี สุขภาพก็ดีขึ้น [23]

นอกจากนี้ Somporn Kantharadusdee Triamchaisri [24] อดีตหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้กล่าวว่า การสวดมนต์ช่วยบำบัดสภาวะจิตใจได้ เป็นการบำบัดด้วยคลื่นเสียงแผ่วเบา ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง โดยการผลิตสารเคมี สารไฟฟ้า สารสื่อประสาท และโปรตีนบางตัว ช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย หลักการทำงานคือ เมื่อคลื่นเสียงเข้าไปในส่วนของสมองกรองสัญญาณที่เรียกว่า “ทาลามัส” ช่วยสร้างสารสื่อประสาทกันไม่ให้สมองชัก กันไม่ให้คนก้าวร้าว กันไม่ให้คนคิดโน่นคิดนี่ หรือไม่ให้สมองวุ่นวายสับสน ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจดี และระบบทางเดินอาหารดีด้วย ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง แนะนำให้สวดช้า ๆ เบาๆ เป็นจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งจะเข้าสู่สมองซีกขวา ช่วยเยียวยาจิตใจ แต่ถ้าสวดเร็วจะเข้าสมองซีกซ้ายที่ไม่ถึงกับเยียวยา แต่จะได้เพียงสารปีติเท่านั้น แนะนำสวดรอบละ 12-15 นาที ในคนปกติที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพ วันละ 1 รอบแต่ถ้าในคนป่วยแนะนำวันละ 2 รอบ ผลสรุปของการสวดมนต์บำบัด จะช่วยบำบัดจิตใจให้เกิดความสบายใจ แก้ปัญหาความสับสนวุ่นวาย ลดความกังวลใจ และลดความก้าวร้าวทางอารมณ์ได้ นอกจากนี้หากต้องการสารต้านอนุมูลอิสระแนะนำให้หลับตาขณะสวด จะได้สารตัวนี้ออกมาอีกด้วย การสวดมนต์ นับเป็นวิธีหนึ่งของการปฏิบัติสมาธิ ที่ได้เป็นการปฏิบัติสมาธิโดยการใช้เสียงที่ได้กระตุ้นการทำงานของตัวรับสัญญาณของร่างกายให้ผลิตสารเคมี สารไฟฟ้า สารสื่อประสาทและโปรตีนบางตัวที่การสั่นสะเทือนของเสียงที่ได้เป็นจังหวะที่ดีได้ควบคุมใจกับร่างกายให้สมดุล

จะเห็นได้ว่า การสวดมนต์และการฟังบทสวดมนต์ เป็นการกระทำสิ่งที่ดี ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจของผู้สวดมนต์ แต่ต้องสวดหรือฟังด้วยความศรัทธา[25]  ที่สำคัญถ้าผู้สวดมนต์ สวดมนต์อย่างมีเป้าหมายที่ถูกต้องบนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่าการสวดมนต์มีคุณค่าทางด้านจิตใจจะเกิดเป็นผลที่ดีต่อชีวิต  ผู้สวดก็จะต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่น มุ่งมั่นในการสวดมนต์แบบมีเป้าหมายให้เกิดคุณค่าต่อชีวิต เช่น ต้องเชื่อมั่นว่าเสียงสวดมนต์เป็นคลื่นเสียงแห่งบุญ แห่งความดี คือแสงสว่าง คือคลื่นแห่งการเยียวยา ทำให้เกิดคลื่นเสียงที่มีความสม่ำเสมอ เข้าไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเยียวยา เมื่อหูของเราได้ยินเสียงบทสวด ก็จะส่งสัญญาณต่อไปยังศูนย์การได้ยินที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับ ก่อนส่งไปบริเวณก้านสมอง ซึ่งเมื่อได้รับคลื่นเสียงช้า ๆ สม่ำเสมอประมาณ 15 นาที ก็จะหลั่งสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์มากมาย อีกทั้งการได้ฟังบทสวดมนต์ ฟังซ้ำ ๆ ฟังบ่อย ๆ ก็เป็นการเจริญสมาธิ เจริญภาวนา เจริญปัญญา เจริญศรัทธาไปในทางที่ดีงาม ก่อเกิดบุญกุศล เกิดการพัฒนาภูมิธรรมให้สูงขึ้น นอกจากนี้ตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า การสวดมนต์มีคุณค่าที่สูงขึ้นไปอีก กล่าวคือ ผู้สวดมนต์สามารถยกระดับภพภูมิได้ในชาติปัจจุบัน ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เคยไม่รู้ ได้ฟังสิ่งอันเป็นประโยชน์กับชีวิต เกิดแสงสว่างแห่งปัญญาญาน และเป็นปัจจัยสู่พระนิพพานในที่สุด

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทความได้ที่นี่

ทำใจให้เบา แล้วเราจะสุข

https://www.gotoknow.org/posts/715070

สวดมนต์จะรวยได้อย่างไร

https://www.gotoknow.org/posts/715069

เมื่อชีวิตฉันออกจากเลข 66

https://www.gotoknow.org/posts/714786

ยานอนหลับชั้นดี หลับง่าย หลับสบาย หลับเร็ว

https://www.gotoknow.org/posts/714373

ชีวิตนี้มีประโยชน์ เพลงเพราะมาก แก้โรคซึมเศร้า

https://www.gotoknow.org/posts/715073

การใช้แอปพลิเคชันสำหรับสวดมนต์พระคาถามหาจักรพรรดิ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ

https://www.gotoknow.org/posts/714353

การสวดมนต์ด้วยพระคาถามหาจักรพรรดิ

https://www.gotoknow.org/posts/714355

หลักธรรมและคำสอนของหลวงตาม้า

https://www.gotoknow.org/posts/714359

วิธีการสวดมนต์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพด้วยพระคาถามหาจักรพรรดิตามแนวทางพระอาจารย์วรงคต วิริยะธโร (หลวงตาม้า)

https://www.gotoknow.org/posts/714356

การเสริมสร้างสุขภาพด้วยการสวดมนต์พระคาถามหาจักรพรรดิ ตามแนวทางของพระวรงคต วิริยะธโร (หลวงตาม้า)

https://www.gotoknow.org/posts/714354

การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยการสวดมนต์พระคาถามหาจักรพรรดิ

https://www.gotoknow.org/posts/714350

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยการสวดมนต์

https://www.gotoknow.org/posts/714351

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

[9] Phrakrū Sukhetpacharakuṇ Guṇakaro (Mingkuan). (2019). A Study of the Power of Chanting Resulting in the Enhancement of Happiness in Life. Master's Degree Thesis, Buddhist Studies, Mahachulalongkornrajavidyalaya University. (In Thai)

[10] Phrakhruwibunchetiyaphirom (Tawee Meesuk). (2018). The Process of Readiness Preparation of Temples in Promoting Elderly’s Well-being in Nakhonpathom Province. Doctor of Philosophy Thesis, Social Development, Mahachulalongkornrajavidyalaya University. (In Thai)

[11] Prapatsorn Jiambunsri. (2015). Praying and meditation therapy for the treatment of disease. Bangkok: V Indy Design Co., Ltd.

[12] Supaporn Kanyatip. (2017). The Buddhist Doctrine and Elderly health Promotion: A Case Study in The Buddhist Meditation Center. Master of Public Health, Health Promotion Management, Thammasat University. (In Thai)

[13] Sineenart Tipmusik. (2003). The effects of brief counseling and pray meditation on preoperation anxiety of patients. Master of Science Thesis, Counseling Psychology, Burapha University. (In Thai)

[14] Boelens, P. A., Reeves, R. R., Replogle, W. H., & Koeng, H. G. (2009). A randomized trial of the effective of prayer on depression and anxiety. Internal Journal Psychiatry Medicine, 39 (4) (2009): 377 – 392.

[15] Nantawan Mayacheal. (2009). The effect of listening to dharma music on sleep quality among hospitalized elderly patients. Master of Nursing Thesis. Adult Nursing Program, Prince of Songkla University. (In Thai)

[16] Aviles, J. M., Whelan, S. E., Hernke, D. A., Williams, B. A., Kenny, K. E., O’Fallon, W.M., & Kopecky, S. J., (2001). Intercessory prayer and cardiovascular disease progression in a coronary care unit population: A randomized controlled trial. Maya foundation for Medical Education and Research, 76 (2001): 1192 – 1198.

[17] Somporn Katradusadee – Triamchaisri. (2009). The practice of meditation for healing health. 9th edition. Bangkok: Office of the Veteran Welfare Organization.

[18] Aree Nuibandan et al. (2009). The effect of prayer on stress among nursing students at Prince of Songkla University. Songkhla: Prince of Songkhla University. (In Thai)

[19] Pornthip Pukahuta and Thittaya Phutthikhamin (2012). The Effects of Therapeutic Prayer on Anxiety and Spiritual Well-being in Breast Cancer Patients in Diagnostic Phase. Journal of Nursing and Health Care, 30 (2) (2012): 122-130.

[20] Thomas, S., & Rao, S. L. (2016). Effect of Gayatri mantra meditation on meditation naive subjects: an EEG and fMRI pilot study. The international journal of indian psychology, 3(2) (2016): 14 – 18.

[21] Brown, R. P. (2003). Measuring individual differences in the tendency to forgive: construct validity and links with depression. Personality & social psychology bulletin, 29(6) (2003): 759.

[22] Passamon Khumtaweeporn, Puttawan Chucherd, Suchitra Sutthipong. (2014). Comparison Between Praying and Listening to the Pray on Stress and Quality of Sleep in Breast Cancer Patients. Journal of The Royal Thai Army Nurses, 15 (12) (2014): 386 – 394.

[23] Wisit Sriphiboon. (2010). Law of Vibration. 5th printing. Bangkok: Banana Sweet Publishing House.

[24] Somporn Kantharadusdee Triamchaisri (2016). Let's pray and heal. Prevent aggression. A list of Dr. Rama's encounters. Retrieved from https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/สวดมนต์บำบัด

[25] Panee Wongek. (2015). What did the three age groups gain from prayer? Bangkok: October Printing Company Limited.

 

แพรภัทรา เขียวชะอุ่ม. 2566. การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยการสวดมนต์พระคาถามหาจักรพรรดิ .  ในการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ครั้งที่ 15 วันที่ 13 กรกฎาคม 2566. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

https://rdi.npru.ac.th/conference15/viewabstract.php?id_sub=0312&id_branch=18

หมายเลขบันทึก: 714351เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2023 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2023 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท