คำบาลีว่า ปุปผา นอกจากจะแปลว่า ดอกไม้ แล้ว ก็ยังแปลว่า ประจำเดือน หรือ ระดูของสตรี อีกด้วย ... เรื่องนี้จะอธิบายอย่างไร ? นั่นคือปัญหาของผู้เขียนครั้งหนึ่งในฐานะครูบาลี
ในคัมภีร์มงคลัตทีปนี มีข้อความตอนหนึ่งว่า ตสฺสา อุตุสิ นหาตาย โหติ คพฺภสฺสวกฺกโม เมื่อมารดานั้น เปียกแล้วในเพราะระดู ก็ย่อมมีการหยั่งลงของสัตว์เกิดในครรภ์
คำว่ อุตุสิ ซึ่งแปลว่า ระดู นี้ ท่านอธิบายว่า อุตุสีติ ปุปเผ อุปฺปนฺเน
อุตุมฺหิ นหาตาย คำว่า อุตุสิ อธิบายว่า ครั้นเมื่อประจำเดือนเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่า เปียกแล้วในเพราะระดู
ปุปผา มาจากรากศัพท์ว่า ปุปฺผ บ่งความหมายว่า บาน เผล็ด แย้ม ...ทำนองนี้ ..
เมื่อมาพิจารณาดอกไม้... เราก็จะเข้าใจกันได้ดีว่า ดอกไม้เริ่มต้นด้วยปุ่มเล็กๆ และจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา เมื่อสมบูรณ์เต็มที่จะค่อยๆ บาน และโรยราไปตามธรรมดาของมัน ซึ่งดอกไม้ทั้งหลาย มีเพียงบางดอกเท่านั้นที่สามารถก่อตัวขึ้นอีกครั้งเป็น ผล เพื่อสืบต่อพืชพันธ์ตามชนิดนั้นๆ ได้...
เมื่อพิจารณาระดูหรือประจำเดือนแล้วจะเห็นได้ว่ามีธรรมชาติไม่ค่อยแตกต่างกัน คือจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา เมื่อสมบูรณ์เด็มที่ก็จะค่อยๆ โรยราไปตามธรรมดาของมัน ซึ่งระดูนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดลูก เพื่อสืบเผ่าพันธ์ต่อไปได้ นั่นคือมีธรรมชาติคล้ายๆ กับดอกไม้...
ดังนั้น คำว่า ปุปผา ในบาลีนอกจากแปลว่า ดอกไม้ แล้วก็ยังแปลว่า ระดู หรือ ประจำเดือน ได้อีกด้วย
หมายเหตุ
ในบาลี ศัพท์ที่แปลว่า ระดู หรือประจำเดือนมีอยู่ ๓ คำ คือ
๑. อุตุ แปลว่า มาถึงสม่ำเสมอ
๒. ปุปผา แปลว่า เผล็ดบาน
๓. รชะ แปลว่า เกิดเพราะความกำหนัด