ชีวิตที่พอเพียง  4459. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๙๕. โจทย์วิจัยด้านการศึกษา


 

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ มีการประชุม Education Journey Forum ครั้งที่ 6  เรื่องครูนักขับเคลื่อนการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย    จัดโดย สกสว. และคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ  มธ. นำโดย รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี    ผมไปร่วมฟังทั้งวัน และได้เรียนรู้มากจริงๆ   

เป้าหมายของกิจกรรมชุดนี้ เพื่อทำความเข้าใจสภาพ ความเป็นมา  เป็นอยู่ และเป็นไปของระบบการศึกษา   เพื่อหาโจทย์วิจัยที่จะมีผลขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย    สำหรับสังเคราะห์ข้อมูลให้ สกสว. ใช้ประกอบการจัดสรรทุนวิจัยด้านการศึกษาให้แก่ประเทศ   

การประชุมมีพลังมาก เริ่มจากการบรรยายนำ โดย ศ. เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ เรื่อง ข้อคิดว่าด้วยความเป็นครูแห่งยุคสมัย ที่เปี่ยมพลังปัญญา    สรุปสั้นที่สุดคือ ไม่ว่าสมัยใด ครูต้องเป็นนักฟัง และเรียนรู้จากศิษย์ หรือร่วมกับศิษย์    คือเป็นนักเรียนรู้จากประสบการณ์ ผ่านทวิวัจน์ (dialogue)  และการสะท้อนคิดพินิจนึก (reflection)   ท่านที่ต้องการฟังเพื่อความหฤหรรษ์ทางปัญญา เข้าไปชมทางลิ้งค์ที่ให้ข้างล่างได้   

วรรคทองที่ท่านบอกพวกเราคือ “บ้านเมืองจะอับจน ถ้าเรียกร้องให้มีวีรบุรุษ เพราะเราต้องร่วมกันเป็นผู้นำ”    

อีกวรรคหนึ่ง “รับ เรียนรู้ และไตร่ตรอง และสร้างประสบการณ์” 

ตามด้วย เวทีเสวนา “เส้นทางสร้างครู ครูสร้างเด็ก สร้างสังคม” โดยช่วงเช้ามีการเสอนผลการวิจัย ๒ เรื่องคือ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา นำเสนอ บทสังเคราะห์ : องค์ความรู้ว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู   ตามด้วยครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล (ครูทิว) โรงเรียนราชดำริ กทม. นำเสนอบทสังเคราะห์ : บทบาทครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง    แล้วผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ ท่าน ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม (ท่านละ ๑๕ นาที) ได้แก่ : ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.,  และรศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์    ตามด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยวิทยากร ๓ ท่านคือ  ผอ. ศรีสมร สนทา (ป้าหมอน) ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน, ครูสมเกียรติแซ่เต็ง (ครูตือ) รองผู้อำนวยการโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม และ คุณฉัตรบดินทร์ อาจหาญ (มะพร้าว) Content Writer at Mutual Finding อดีตครู    

ทั้งการนำเสนอผลการวิจัย และข้อสังเกตเพิ่มเติมจากผู้อยู่หรือเคยอยู่ในระบบการศึกษา    และการพูดคุยซักถามช่วงรับประทานอาหารเที่ยง ช่วยให้ผมเข้าใจความเป็นจริงของระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นมาก    ว่าเราค่อยๆ ลื่นเสียหลักมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ยุค เบบี้บูม ที่สถานการณ์บังคับให้ประเทศไทยขยายการผลิตครูอย่างมากมายและรวดเร็ว    จนยั้งไม่อยู่     เพราะการผลิตครูกลายเป็นธุรกิจ    เมื่อยุคนั้นผ่านพ้นไป    และเข้าสู่ยุคจำนวนทารกคลอดลดลงอย่างรวดเร็ว    จำนวนการผลิตครูก็ไม่ลด ที่ลดคือคุณภาพ       

ศ. ดร. สมพงษ์ จิตระดับ บอกว่าพลาดที่สอง ของระบบการศึกษาไทยคือ การพัฒนาระบบคุณวุฒิครูขึ้นมา    ที่ผมคิดต่อว่า ที่ผิดพลาดคือ ระบบคุณวุฒิไม่ผูกติดกับผลประโยชน์ของนักเรียน  คือไม่ผูกกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    

ช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลการวิจัย “การเรียนรู้ของเยาวชนบนความแตกต่างหลากหลาย” ๒ เรื่อง   คือ ผศ.ดร.มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ คณะศึกษาศาสตร์ ม.ทักษิณ  เสนอบทสังเคราะห์ : การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน   และ ผศ.ดร. พิสิษฏ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นำเสนอบทสังเคราะห์ : ระบบการเรียนรู้พหุวัฒนธรรม    ตามด้วยผู้ทรงคุณวุฒิตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม (ท่านละ ๑๕ นาที) : ผศ.ดร.นันทิดา จันทรางศุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล และคุณทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก 

จากวงตั้งข้อสังเกตโดยผู้เข้าร่วมประชุม ผมได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้พหุวัฒนธรรมว่า มี ๒ มิติ    คือ ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปหมายถึงการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีพื้นเพมาจากต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา  ต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ    แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือมิติที่สอง การเรียนรู้ในทุกที่ทุกห้องเรียนเป็นการเรียนรู้พหุวัฒนธรรมทั้งสิ้นแม้จะใช้ภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน และเชื้อชาติเดียวกัน    ผู้เรียนต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจตนเอง และเข้าใจคนอื่น (ที่เรียกว่า empathy)    ที่คิดต่าง มีพฤติกรรมแตกต่างกัน    

ผมนั่งฟังเพื่อหาทางจับประเด็นวิจัย    เน้นงานวิจัยระบบการศึกษา    จึงได้โจทย์วิจัยข้อแรกคือ การเรียนรู้ในห้องเรียนตามปกติ หากใช้แนวทางการเรียนรู้พหุวัฒนธรรม   จะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อนักเรียนอย่างไรบ้าง   

โจทย์วิจัยข้อที่สอง    

เว็บไซต์ The Active ลงข่าวที่ (๑)    เข้าไปชมรายการย้อนหลังได้ที่ (๒) 

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.พ. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 712712เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2023 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2023 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thailand has been, is and will be a multi-cultural country. Recognition of this and more policies to harmonize people in social development of society of Thailand can be a level lifting Thailand into the 21st century.

We have over 10 million (1 in 7) non-Thai national people in Thailand. They are living, working, contributing to Thailand economy and welfare. Is it time we get to know them better?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท