ให้คะแนนพ่อแม่ เพื่อพัฒนาความเป็นพ่อแม่ที่ดี  และอาจปรับไปใช้กับครู


 

ดร. สุธีระ ส่งต่อข้อความต่อไปนี้มาให้   เห็นว่าน่าสนใจดี จึงนำมาบอกต่อ   

นินทาเพื่อนบ้าน

เมื่อลูกต้องมาให้คะแนนพ่อแม่ :

 

ฉันกับสามีไปเที่ยวพักผ่อนที่ประเทศเยอรมนี ก็เลยแวะไปเยี่ยมพี่สาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันที่เบอร์ลิน 

 

ตอนที่พวกเราไปถึงบ้านเขาเป็นเวลาหลังอาหารเย็นไปแล้ว เห็นพี่สาวสวมใส่หูฟังกำลังเข้าอินเตอร์เน็ตอยู่  พี่เขยนั่งอ่านหนังสือ  ส่วนลูกชายเขาตอนนี้เรียนอยู่เกรดห้ากำลังทำการบ้าน  ในบรรยากาศที่เงียบสงบแบบนี้  ทำให้พวกเราเกิดความเกรงใจไม่กล้าพูดจาเสียงดัง

 

ไค่หวุนทักทายพวกเราอย่างมีมารยาท แล้วก็หันไปง่วนกับการบ้านของเขาต่อบนแผ่นกระดาษ 

 

ฉันมองไค่หวุนด้วยความประหลาดใจ  สงสัยว่าทำไมเด็กนักเรียนเยอรมันทำการบ้านโดยไม่ใช้สมุดหรือหนังสือ

 

พี่สาวเห็นท่าทางประหลาดใจของฉันก็เลยบอกว่า "ไค่หวุ่นกำลังให้คะแนนพ่อแม่เขาอยู่"

 

"ให้คะแนนพ่อแม่....."

ฉันย้ำถามด้วยความสงสัย

 

พี่สาวผงกหัวก่อนจะเล่าให้ฟังว่า :

"ทุกๆสิ้นเดือน ไค่หวุนก็จะประเมินจากเหตุการณ์จริงในครอบครัวเรา  ให้คะแนนเกี่ยวกับพฤติกรรมของฉันกับพ่อของเขาตลอดเดือนที่ผ่านมา  เมื่อให้คะแนนเสร็จแล้ว  ไค่หวุนก็จะส่งใบคะแนนให้เราดูกัน  แล้วเซ็นชื่อรับทราบทั้งสองคน ก่อนที่ไค่หวุนจะนำไปส่งให้คุณครูที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น"

 

มันเป็นการให้คะแนนแบบไหนกันเชียว  ฉันกระหายอยากรู้ขึ้นมาจริงๆ  หลังพี่สาวและพี่เขยดูเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พี่สาวก็เลยส่งต่อให้พวกเราได้ดูกัน

 

บนใบให้คะแนนผู้ปกครอง  มีหัวข้อด้วยกันสิบข้อ  จะมีช่องคะแนนให้เลือกกาแต่ละหัวข้อ  คะแนนจะมีตั้งแต่ A+ คือยอดเยี่ยม ช่องต่อมาคือ A หมายถึงผ่าน  ส่วนช่อง B นั้น ถือว่าไม่ผ่าน 

 

ไค่หวุ่นต้องให้คะแนนทั้งสิบหัวข้อ  เมื่อประมวลทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว เราก็จะได้รู้กันว่าพ่อแม่จะสอบผ่านหรือเปล่าจากความรู้สึกของคนเป็นลูก

 

ฉันเลยต้องอ่านอย่างละเอียดถึงหัวข้อทั้งสิบด้วยความตั้งใจ :

 

1/  พ่อแม่รักใคร่สามัคคีปรองดองกันดี  ให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ไม่ใช้วาจาไม่สุภาพหรือทะเลาะกันต่อหน้าฉัน

 

2/  พ่อแม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอันเอื้อต่อการศึกษาของฉัน  ไม่เปิดทีวี โน๊ตบุ๊คหรือพูดจาเสียงดังรบกวนสมาธิต่อการศึกษาของฉัน

 

3/  พ่อแม่มุ่งมั่นและตั้งใจศึกษาความรู้ต่างๆเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อเป็น "คนรอบรู้" ในการช่วยส่งเสริมความสามารถของฉันในการศึกษา

 

4/  พ่อแม่ตั้งใจรับฟังเกี่ยวกับรายงานการศึกษาของฉัน สามารถช่วยแนะนำข้อมูลหรือหนังสือนอกตำราให้ฉันได้ศึกษาเพิ่มเติม  ช่วยชี้ทางให้ฉันรู้ถ่องแท้ยิ่งๆขึ้น

 

5/  พ่อแม่มักจะพยายามทำความเข้าใจรับฟังปัญหาหรือสิ่งที่ฉันสงสัยอย่างตั้งใจ  ไม่หยุดยั้งฉันด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวขุ่นมัว

 

6/  พ่อแม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพของฉัน  ให้ทานอาหารที่ครบหมวดหมู่  ทุกรายละเอียดของการเจริญเติบโตของฉัน  ส่งเสริมให้ฉันเล่นกีฬาฝึกฝนร่างกายอย่างเต็มที่

 

7/  พ่อแม่ให้ค่าขนมฉันเป็นประจำทุกเดือน แต่สอนฉันว่าต้องรู้จักใช้จ่ายอย่างเหมาะสม  ฝึกนิสัยให้ฉันรู้จักประหยัดอดออม

 

8/  พ่อแม่ไม่ได้รักฉันแบบตามใจเกินพอดี ฝึกและดูแลให้ฉันทำงานบ้านเท่าที่พละกำลังและความสามารถที่ฉันจะทำได้  ฝึกฝนให้ฉันมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

 

9/  พ่อแม่ใช้วิธีการฝึกฝนแก้ไขอุปนิสัยอันไม่สมควรของฉันอย่างถูกต้อง  ไม่เคยใช้การบังคับให้หยุดการกระทำนั้นๆ  แต่จะพร่ำสอนด้วยเหตุผล  เพื่อให้ฉันประพฤติตัวได้เหมาะสมยิ่งๆขึ้น

 

10/  พ่อแม่จะเชื่อมการติดต่อสื่อสารกับคุณครูอย่างไม่ขาดระยะ เพื่อช่วยกันผลักดันให้ฉันเดินอยู่บนครรลองที่ถูกต้องและเหมาะสม  อันจะนำไปสู่เส้นทางอนาคตที่สดใสของฉัน

 

หลังจากที่พี่สาวได้อ่านดูใบให้คะแนนของลูกชายแล้ว  ก็ส่งต่อให้พี่เขยดู  แล้วหันไปพูดกับไค่หวุนว่า  "เห็นลูกให้คะแนน A+ มากกว่าเดือนที่แล้วอีกหนึ่งตัว พวกเรารู้สึกขอบใจลูกที่ลูกได้เห็นความพยายามของพ่อแม่  พวกเราจะพยายามพัฒนาปรับปรุงต่อไป  แล้วลูกก็ต้องตั้งใจฝึกฝนตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นด้วยนะครับ" ไค่หวุ่นยิ้มก่อนจะก้มหัวน้อมรับคำสั่งสอนของแม่

.

.

วิธีการ "ให้คะแนนผู้ปกครอง" นี้  สร้างความประทับใจให้ฉันอย่างมาก มานั่งนึกๆดูว่าลูกสาวฉันก็เรียนชั้นประถมสามอยู่แล้ว ปกติก็มีแต่จะกำชับเร่งเร้าให้เขาพยายามสอบให้ได้ที่หนึ่งเป็นประจำ แต่ไม่เคยคิดว่าฉันก็ควรจะหาทางสนับสนันการศึกษาและความประพฤติของเขาด้วยวิธีไหน

 

ฉันจะยึดวิธีการ  "ให้คะแนนผู้ปกครอง"  นี้มาเป็นแบบอย่างจากนี้ไป  ฉันและสามีก็จะต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง  และอยู่ในสายตาของลูก เพื่อเป็นแบบอย่างบนเส้นทางการเจริญเติบโตของลูก 

 

นี่น่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยสร้างอนาคตเปี่ยมคุณภาพให้ลูกได้อย่างสดใส

 

                      🍁🌺🍁 

 

Facebook : ห้องสมุดฟลิ้นท์

“ขจรศักดิ์”

แปลและเรียบเรียง

Credit: 李晶玉  撰文/ 正能量家族

หากพ่อแม่ไทย จะนำมาเป็นตัวอย่างปรับใช้ในบริบทไทยก็น่าจะดีนะครับ     รวมทั้งหากครูนำไปปรับใช้ โดยปรับเปลี่ยนประเด็นสำคัญ ในฐานะครูกับศิษย์ ก็น่าจะยิ่งเป็นประโยชน์   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ เม.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 712697เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2023 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2023 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I think Germany is on (education) ‘enabling environment’ path. This tactic bring out understanding from both parents and children, and home situations. In other places, this could be ‘pointing finger’ and ‘blame game’ that no teachers (or schools or the department of education) want to be involved, especially as the starter of issues. Most people in Thailand and Asia would find this culturally distasteful and disrespectful - to share family issues with outsiders, even a teacher or a school. The day for this liberating activity is still a long time to come.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท