เราใช้สายการบินไทย ขาไป TG 950 ออกเดินทางคืนวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๖ แต่เวลาเครื่องบินออกเป็นเช้าวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑.๒๐ น. กำหนดการเดิมบอกว่าใช้เวลาบิน ๑๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ถึงโคเปนฮาเก็น ๗.๔๐ น. เวลาของเขาช้ากว่าเวลาไทย ๕ ชั่วโมง ผมได้ที่นั่ง 11J ริมทางเดินและอยู่ใกล้หน้าต่าง
ผมเริ่มเข้าโหมดเตรียมตัวเดินทางล่วงหน้าสองสามวัน โดยเข้าไปทำความรู้จักสถานที่ที่จะไปเยี่ยมชมกิจการคร่าวๆ และเตรียมเรื่องของใช้ในการเดินทาง
วันที่ ๒๒ ผมออกจากบ้านด้วยแท็กซี่เวลา ๒๐.๔๐ น. เวลา ๒๑.๓๐ น. ก็ไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา ๒๒.๐๐ น. ก็เข้าไปนั่งที่ห้องรับรองการบินไทย แล้วโทรหาคุณเปา ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ที่ไปด้วยกัน และนั่งชั้นธุรกิจด้วยกัน สักครู่เธอก็เดินมานั่งด้วยกัน
ขออวดห้องรับรองของการบินไทย ว่าบริการดีเยี่ยม มีอาหารปรุงเดี๋ยวนั้นให้สั่งด้วย คือข้าวไก่ผัดกระเพรา และเกี๊ยวน้ำ แต่ผมไม่ได้กิน กินแต่ผักกับผลไม้และไวน์กับเบียร์ ตอนเดินเข้าไปในห้อรับรองตอนสี่ทุ่มคนแน่นมาก แล้วค่อยๆ น้อยลง จนสองยามก็ค่อนข้างว่าง เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดทำงานดีมาก คอยเก็บจานและเช็ดโต๊ะวางอาหารอย่างดี อาหารก็มีเติมไม่ขาด
บริการบนเครื่องบินยิ่งให้ความประทับใจมากขึ้นไปอีก และดีกว่าตอนบินไปโตเกียวเมื่อต้นเดือนอย่างชัดเจน ทั้งด้านความเอาใจใส่ผู้โดยสารของพนักงาน และคุณภาพของอาหาร
เดิมผมตั้งใจว่าเมื่อเครื่องบินขึ้นเรียบร้อยก็จะนอนเลย แต่เมื่อเป็นว่าใช้เวลาบินตั้ง ๑๑ ชม. ๓๕ นาที ก็เปลี่ยนใจเป็นกินอาหารค่ำ (ตอนตีสาม) เสียก่อน เพราะมันไฮโซ นานๆ ได้กินที ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง โดยผมไม่กินของหวาน รีบไปแปรงฟันเตรียมนอน เจ้าหน้าที่มาเสนอบริการปูที่นอนให้ ทำให้ผมได้นอนโดยมีการปูที่นอนอย่างถูกวิธีเป็นครั้งแรกบนเครื่องบิน Boeing 777-300ER ที่บินมาจนชิน และนอนได้ ๕ ชั่วโมงโดยลุกไปฉี่ ๓ ครั้ง (ฤทธิ์ จินโทนิค ไวน์ขาว และคอนยัค)
จึงเป็นเที่ยวบินที่ให้ความสดวกสบาย และสำราญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
แต่ความหฤหรรษยิ่งกว่ามาจาก ไอแพ็ด และ คินเดิล ผมได้อ่านหนังสือ Experiential Learning : A practical guide for training, coaching and education, 4th edition (2018) , เขียนโดย Colin Beard & John P. Wilson จาก ไอแพ็ดมินิ อย่างสำราญปัญญา คุ้มกับที่จ่ายเงิน ๓๓ เหรียญซื้อมาจาก Kindle Book ที่ช่วยให้ผมเห็นลู่ทางทำความเข้าใจเรื่อง การเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) ในมิติที่ลึกซึ้งกว้างขวางขึ้นอีกมาก และคิดว่าการบวนการ เรียนรู้จากประสบการณ์ ที่ยิ่งใหญ่มีพลังที่สุดเกิดในทารก
เครื่องบินใช้เวลาบิน ๑๑ ชม. ๓๕ นาที ออกช้าไปเกือบชั่วโมง กำหนดถึงโคเปนฮาเกน ๘.๕๕ น. และอุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส ดีกว่าที่เคยคาดไว้ว่าน่าจะราวๆ ๕ องศา ทำให้การเตรียมเสื้อกันหนาวขนห่านชนิดเบาใส่กระเป๋าลากใบเล็กจิ๋วเป็นการเตรียมที่ถูกต้อง
ผมถามแอร์โอสเตสว่าผู้โดยสารเต็มใช่ไหม ได้คำตอบว่าเต็มทั้งชั้นธุรกิจและชั้นประหยัด แต่ขากลับไม่เต็ม เธออธิบายต่อว่า เพราะคนหนีร้อนไปพึ่งเย็น
จริงๆ แล้วผมใช้เวลาบนเครื่องบินเพื่อความสุขในชีวิต มากกว่าเพื่อเดินทาง คือได้อ่านหนังสือที่ประเทืองปัญญาสุดๆ ที่ผมจะตีความเขียนเป็นหนังสือเล่มใหม่ การเรียนรู้จากประสบการณ์ : การเรียนรู้แห่งชีวิต ที่เขียนไปได้ส่วนหนึ่งแล้วในช่วงสงกรานต์ ความคิดแบบนี้ ช่วยให้จิตของผมอยู่กับปัจจุบันขณะ และใช้ประสบการณ์บนเครื่องบินเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้ เปรียบเทียบกับประสบการณ์ของการเรียนรู้ตอนอยู่ที่บ้าน
ซึ่งก็บอกได้ว่าบนเครื่องบินจิตของผมโฟกัสอยู่กับการทำความเข้าใจการเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ดีกว่า เพราะสภาพแวดล้อมเอื้อกว่า
ลงจากเครื่องบินไปสองคนกับคุณเปา ผ่านตรวจตนเข้าเมือง แล้วไปเอากระเป๋า คุณเปาติดต่ออีก ๔ ท่านในคณะที่นั่งมาในชั้นประหยัดคือ ครูต้อย สุวรรณา ชีวฤกษ์ ครูใหญ่โรงเรียนนานาชาติรุ่งอรุณ ดร. วรนิษฐ์ วรพรธัญญาพัฒน์, ครูเอก ปิยสิทธิ์ เหมือนแก้ว ครูใหญ่ รร. มัธยม, และครูแบ๊งค์ ภิญโญ เสาว์วันดี หัวหน้าวิชาวิทยาศาสตร์ รร. มัธยม รวมพลกันแล้วเดินออกมาพบเจ้าหน้าที่สถานทูต ขึ้นรถแวน ๒ คัน ไปยังบ้านพักของท่านทูต
เที่ยวกลับ TG 951 ๒๕ - ๒๖ เมษายน
ผมกลับกระทันหันเพราะความเจ็บป่วย คือถ่ายปัสสาวะไม่ออกและปัสสาวะมีเลือดปน ดังจะเล่าแยกต่างหาก
เนื่องจากเป็นการเดินทางพร้อมกับเผชิญความเจ็บป่วย จึงยกไปเล่าในบันทึกเรื่องความเจ็บป่วย
วิจารณ์ พานิช
๒๖ เม.ย. ๖๖
บน TG 951 กลับกรุงเทพ
เสียดายนะคะ ที่ไม่สะบาย ขอให้อาจารย์สุขภาพดีไวไวนะคะ