ชีวิตที่พอเพียง 4454. เตรียมจัด PMAC 2024 Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises – 11. ประชุมเตรียมการที่โตเกียว ๕. เยี่ยมชม Japanese Medical Education History Museum


 

เย็นวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๖ เราออกเดินทางไปเยี่ยมชม Japanese Medical Education History Museum     สิ่งที่เขาภูมิใจเสนอคือ ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ ดังในวิดีทัศน์ (๑) ที่ประเทศไทยเราก็ยังมีทีมเดินทางไปเรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่นเสมอมา       

ญี่ปุ่นเริ่มเรียนรู้การแพทย์ตะวันตก เมื่อ ๕ - ๖๐๐ ปีก่อน ผ่านทางประเทศปอร์ตุเกศ   และเรียนรู้การแพทย์แผนตะวันออกจากจีน   ต่อมาประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือ ฮอลแลนด์    แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเยอรมนี  อังกฤษ  และอเมริกา ตามลำดับ     

เมื่อได้ไปเยี่ยมชมสถานที่จริง ก็กลับมาชมวิดีทัศน์ (๑) เข้าใจมากขึ้น   และเห็นชัดว่าประวัติศาสตร์การแพทย์ไม่ได้แยกจากประวัติศาสตร์ของประเทศ     ที่เมื่อสองร้อยปีก่อน คือคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ญี่ปุ่นหาทางป้องกันการโดนยึดครองโดยประเทศตะวันตกอย่างเต็มที่ โดยการปิดประเทศ    แต่ด้านการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้เชิญให้หมอดัทช์ คือ Pompe van Meedervoort (1828-1908) ไปวางระบบการแพทย์สมัยใหม่ให้แก่ประเทศ   

ที่น่าสนใจคือ โรงเรียนแพทย์สมัยใหม่ (แผนดัทช์) ของญี่ปุ่นริเริ่มก่อตั้งโดยคนญี่ปุ่นที่เป็นเอกชน    ไม่ใช่ก่อตั้งโดยภาครัฐ   ทำให้ผมตั้งข้อสังเกตว่า สังคมญี่ปุ่นยอมรับ หรือเห็นความสำคัญของภาคธุรกิจเอกชนในการริเริ่มกิจการต่างๆ ของสังคม   หรือมีวัฒนธรรมของการกระจายอำนาจให้แก่เอกชนมาช้านาน   ไม่มีวัฒนธรรมรวมศูนย์ไว้ที่อำนาจรัฐอย่างสังคมไทย   

ตีความอย่างนี้ ถูกหรือผิด ก็ไม่ทราบ   

ช่วงสงคราม มีการเร่งรัดผลิตแพทย์และวิชาชีพสุขภาพ   โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง เพราะผู้ชายโดนเกณฑ์ไปรบ    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง   การแพทย์ญี่ปุ่นเปลี่ยนไปตามอย่างระบบอเมริกัน   

โรงเรียนแพทย์ในญี่ปุ่นจึงมีทั้งโรงเรียนแพทย์ของรัฐ และโรงเรียนแพทย์ของเอกชน    และยังแบ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่เป็นมหาวิทยาลัย และที่เป็นวิทยาลัยอาชีวะ   เพิ่งมามีกฎหมายให้เป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด    โดยเรียน ๖ ปี ต่อด้วยอินเทิร์น ๑ ปี    ในปี ค.ศ. 1966 นักศึกษาแพทย์เดินขบวนประท้วง จนต้องเลิกระบบอินเทิร์น    ปรับเป็นระบบเรียน ๖ ปี และสอบใบประกอบวิชาชีพ   ตามด้วยการฝึกทางคลินิกอีก ๒ ปี   

ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า (UHC – Universal Health Coverage) ของญี่ปุ่น เริ่มปี 1961    ขณะนี้วิชาชีพด้านสุขภาพของญี่ปุ่นมีถึง ๒๒ วิชาชีพ   

  ในช่วงท้ายของวิดีทัศน์ เล่าความช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆ ผ่าน JICA ให้พัฒนาระบบ UHC ถึง ๑๑๐ ประเทศ  โดยเขายกตัวอย่างประเทศมองโกเลีย      

วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 712612เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2023 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2023 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท