ชีวิตที่พอเพียง 4453. เตรียมจัด PMAC 2024 Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises – 10. ประชุมเตรียมการที่โตเกียว ๔. การประชุมวันที่สาม  ๕ เมษายน ๒๕๖๖


 

วันนี้ประชุมเพียงครึ่งวัน    เพื่อทำความชัดเจนเรื่อง PL (Plenary Session)   PS (Parallel Session) ของแต่ละ Subtheme   และทำความเข้าใจงานข้างหน้า  ที่จะประชุมที่ มงเทรอซ์ วันที่ ๑๗ - ๑๙ พฤษภาคม   

เช้าตรู่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ ผมนั่งใคร่ครวญกับตนเองว่า    การประชุมเตรียมการ PMAC 2024 นี้   เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดเชิงภาพใหญ่ (macro)    กับความคิดเฉพาะด้าน (micro) ในกลุ่ม co-host    โดยที่ผู้ยกร่าง concept note มองภาพใหญ่เชิงทฤษฎีหรือหลักการ    แต่ทีมยกร่างรายละเอียดแต่ละคนต่างก็มีเป้าหมายของตน    จึงต้องมีเวทีทำความเข้าใจและตกลงกัน    โดยเราโชคดีที่มี นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการ Global Health    และเป็นที่ยอมรับนับถือว่ามีทั้งทุนปัญญา และทุนความดี    คอยทำหน้าที่ตะล่อมให้ไม่หลงเข้าไปในรายละเอียด หรือลงลึก จนมองไม่เห็นเป้าหมายหลักของ PMAC   ที่ต้องการทำ “เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์”   และประโยชน์ในที่นี้คือสุขภาวะ  (well-being) 

PMAC จึงเป็นเวทีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสามชั้น    ชั้นในสุดคือทีมไทย ที่เริ่มเข้มแข็งขึ้น    มี รศ. ดร. นพ. บวรศม แห่งรามาธิบดี เป็นดาวเด่นที่สุดในด้านวิชาการ    การประชุม TOC อย่างสม่ำเสมอ  โดยมี นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็น lead mentor เป็นกลไกการเรียนรู้ร่วมกันที่เป็นประโยชน์มากสำหรับทีมไทย  

ตอนนี้ระบบงาน Preparatory Meeting ประชุม ๔ ครั้งต่อปี   คือในเดือนมกราคม ประชุมที่กรุงเทพ (หรือกรณี PMAC 2024 ที่จังหวัดน่าน)    ในเดือนเมษายนที่โตเกียว มี JICA เป็นเจ้าภาพ    ในเดือนพฤษภาคม ที่สวิส มี WHO เป็นเจ้าภาพ    และในเดือนตุลาคม ที่ประเทศที่ อาสาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสำหรับ PMAC 2024 ขยับเป็นเดือนกันยายนที่ นิวยอร์ก เพราะ RF อาสาเป็นเจ้าภาพ 

ทั้งหมดนั้น กลับสู่ภาวะปกติ หลังรวนเร ซวนเซ เพราะการระบาดของโควิด ๑๙ ไป ๓ ปี   

โดยที่ PMAC 2024 ต้องการสื่อต่อโลกว่า โลกจะมีสุขภาวะได้ ต้องเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการเมืองโลก (geopolitics)  อย่างน้อยใน ๓ ด้านใหญ่ๆ คือ (๑) ระบบอภิบาลโลกเพื่อสุขภาพ (global governance for health)   (๒) ปัจจัยกำหนดสุขภาพ (determinants of health)  และ (๓) ขจัดการครอบงำในรูปแบบใหม่ๆ (decolonization)      

จุดแข็งของ PMAC คือ เราไม่เข้าใครออกใคร   ไม่เล่นการเมืองโลกเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใด    แต่เพื่อสันติและสุขภาวะของคนทั้งโลก    หวังเป้าหมายความเท่าเทียมกัน     เราจึงอยู่ในฐานะที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา    โดยต้องหาทางสื่อสารด้วยเรื่องราวของตัวอย่าง    เน้นตัวอย่างเชิงบวก    ซึ่งผมคิดว่าเป็นความท้าทาย     เพราะทีมร่วมจัดการประชุมดูจะเป็นนักทฤษฎีหรือนักอุดมการณ์มากกว่านักปฏิบัติ   

ผมไปร่วมประชุมในฐานะนักเรียน (แก่)    หวังทำความเข้าใจเรื่องที่เป็น wicked problem ยิ่งนี้   มาที่โตเกียวยังงงๆ   หวังว่าการประชุมในเดือนหน้าที่ มงเทรอซ์ สวิตเซอร์แลนด์    และในเดือนกันยายน ที่นครนิวยอร์ก จะช่วยให้ผมกระจ่างมากขึ้น   ว่าจะใช้ PMAC 2024 ขับเคลื่อนการเปลี่ยนขาดระบบการเมืองโลกได้อย่างไรบ้าง      

 PMAC 2024 เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนขาดระบบการเมืองโลก    โดยใช้ soft power ... พลังปัญญา และพลังของความเชื่อถือไว้วางใจต่อกันและกัน   

ข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม     ในการประชุม มีการทำความตกลงแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน ของ ๓ Subtheme ที่ไปตกลงกันหลังการประชุมเมื่อวาน    แล้วทำความเข้าใจรายละเอียดของแต่ละ Subtheme    และรับฟังผลการประเมิน PMAC 2023   เลิกก่อนเที่ยงเล็กน้อย  

กลับมาสะท้อนคิดที่บ้านว่า ผมเป็นประธานการประชุมที่แปลกมาก    คือ เป็นประธานที่ไม่ต้องทำหน้าที่ประธาน   มีคนอื่นช่วยกันทำหน้าที่อย่างกุลีกุจอ  เพราะรู้กันว่าประธานมาเรียนมากกว่ามาทำหน้าที่ประธาน    แต่ละช่วงของการประชุม จึงมีประธานจากต่าง Co-host   ผมไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากมอบของขวัญแก่หน่วยงานเจ้าภาพ    คือเป็นงานที่ไม่ต้องใช้สมอง     เขารู้ว่าสมองของประธานอายุเลย ๘๐ ทำอะไรไม่ได้มากแล้ว   

การได้ทำหน้าที่ประธานที่ทำหน้าที่ฟัง จด ซักถามนอกเวที และทำความเข้าใจภาพใหญ่ ร่วมกับทำความเข้าใจประเด็นย่อย หรือรายละเอียด    ตีความสู่ “วาระซ่อนเร้น” (hidden agenda) ที่แสดงออกในวงประชุม     ให้โอกาสดำรงชีวิตที่มีคุณค่าของผู้สูงอายุ เลย ๘๐  

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๖๖ 

ห้อง ๗๐๔  โรงแรม Grand Hill Ichigaya   นครโตเกียว    และห้องรับรอง ANA  ที่สนามบินนาริตะ    และที่บ้านปากเกร็ด 

 

 

1 การประชุมวันสุดท้ายที่คนยังแน่นเต็มห้อง

2 ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง

3 ภาพคุณหมอสุวิทย์ทำหน้าที่ตะล่อมให้การประชุมเชื่อมสู่ภาพใหญ่ ในทุกช่วงของการประชุม

4 ภาพกลุ่ม

หมายเลขบันทึก: 712601เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2023 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2023 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท