ไม่รู้ไม่ได้แปลว่าโง่ (Not knowing doesn't equal to foolish)


ถ้าคุณเคยเป็นวิทยากร หรือเป็นครู คุณจะพบว่าเวลาให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา หรือให้ผู้เรียนถามคำถาม หรือร่วมแสดงความคิดเห็น ทุกอย่าง ‘เงียบ’ 

ผมก็เคยเป็นแบบนั้นเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมการเรียนการสอนและสังคมไทยเป็นสังคมปิด (shut-up society) และอาวุโสนิยม ( ageism society) เราถูกสอนให้เชื่อผู้ใหญ่ เพราะเคยอาบน้ำร้อนมาก่อนเด็ก หรือเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดเป็นต้น 

และบรรยากาศในห้องเรียนก็คือ ให้ฟังครูเป็นหลัก ใครถามจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ หรือไม่ก็ตัวแสบ ชอบกวนความสงบสุขของห้อง การจัดการศึกษาในบ้านเมืองเราจึงเป็นการจัดการศึกษาแบบครูรู้ดี และเป็นสังคมแบบผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจรู้ดี ทั้งๆ ที่จริงแล้วอาจจะไม่รู้อะไร หรือรู้แบบผิดๆ ถูกๆ ก็ได้ แต่เราก็อยู่กันได้ในระบบการศึกษา และสังคมแบบนี้ครับ 

บางครั้งที่ผมเป็นวิทยากร และผมไม่รู้ว่าจะเปิดไมค์โครโฟนอย่างไร และขอให้ใครสักคนมาช่วยเปิดหน่อย ก็จะถูกสงสัยว่า ‘นี่เหรอวิทยากรที่จะอบรมพวกเขาวันนี้’ 

ผมเชื่อว่าคุณก็เคยเจอแบบนี้ หรือเคยตัดสินใจคนอื่นแบบนี้ 

แต่จริงๆ แล้ว ‘ไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าโง่ เพราะไม่รู้ก็คือไม่รู้เท่านั้น’ ถ้าจำเป็นต้องรู้เรื่องนั้น ก็หาความรู้เรื่องนั้นเสีย การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น

ส่วนคำว่า ‘โง่ หมายถึง รู้แล้วแต่ไม่นำใช้สิ่งที่รู้ให้เกิดประโยชน์’ เช่น ถ้าคุณรู้แล้วว่าการกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดที่ไม่ปรุงให้สุกจะเป็นใบไม้ตับ (เดิมเรียกว่าใบไม้ในตับ) แล้วยังไม่เลิกกิน แล้วก็ป่วยเป็นใบไม้ตับตาย เป็นต้น นั่นคือ ‘โง่' 

อีกอย่าง ‘การที่เคยรู้แล้ว แต่จำไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าโง่เช่นกันครับ’ เช่น คุณเคยจำชื่อนักเรียนได้ แต่หลายปีต่อมาคุณได้พบนักเรียนคนนั้นอีก แต่จำชื่อเขาไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณโง่นะ เพียงแต่จำไม่ได้ครับ 

ผมพูดเรื่องนี้เพราะถ้าเราเชื่อว่า  ‘ความไม่รู้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้’ เราต้องแยกความแตกต่างระหว่างความไม่รู้กับความโง่ออกจากกันให้ได้ก่อน เพราะถ้าเรานิยามว่า  ‘ไม่รู้ แปลว่าโง่แล้ว ทุกคนก็เป็นคนโง่ ต่างกันที่ใครโง่มาก หรือโง่น้อย ตามปริมาณความรู้และไม่รู้’  และคำว่าโงถูกนำใช้เป็นตัวบ่งชี้ในเชิงลบ ซึ่งไม่เป็นสิ่งที่พึงปราถนาของใคร 

แต่ถ้าเข้าใจตรงกันว่า ‘ไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าโง่’ แล้วคนเราก็น่าจะสะดวกใจและพร้อมที่จะยอมเราว่าตนเองไม่รู้ ในสิ่งที่ตนไม่รู้ และความไม่รู้ก็จะปกติวิสัยของสังคม ซึ่งก็จะทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ไม่ยาก 

ถ้าเข้าใจตรงกันแบบนี้ ประเด็นที่ต้องคิดกันต่อไปก็คือ  ‘แล้วคนเราต้องรู้อะไรจึงจะเป็นประโยชน์ และสิ่งนั้นเรารู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้สิ่งนั้น แล้วเราจะเรียนรู้ได้อย่างไร จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือด้วยกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งถ้าจะเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางการศึกษาแล้ว การจัดการศึกษาจะอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ของบุคคลในเรื่องนั้นได้อย่างไร’ นั่นเองครับ 

สมาน อัศวภูมิ

30 เมษายน 2566

ปล. ขออภัยครับ จริงๆ แล้วผมไม่ประสงค์จะ upload ซ้ำ แต่ปกติเขียนเสร็จ จะ upload  ก่อนค่อยแก้ไขแก้ไขอีกที จึงจะพบว่าผมมีการแก้ไขงานทุกคร้้ง แต่งวดนี้ทดลองอ่านและแก้ไขก่อนค่อย upload ทีเดียว แต่พบว่าเป็นการ upload  2  ครั้ง ทั้งไฟล์เดิม และไฟล์แก้ไข ครับ 

กำลังเรียนรู้ครับ ขออภัย และขอบคุณค่าติดตามอ่านครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 712589เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2023 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2023 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

May I comment on the use of ‘ageism’? As defined in Wikipedia, to convey the sense of discrimination against old people, thus ageism is not really อาวุโสนิยม. Perhaps, ‘hierarchism’ or seniority-based culture would be clearer (but tongue twisting ;-)

ขอบคุณมากครับที่แชร์ประสบการณ์ แต่ผมเคยเจอกับเหตุการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีเพื่อนร่วมงานถาม แล้วผมบอกว่าไม่ทราบ เพราะไม่แน่ใจว่าจะตอบอย่างไรก็ด้วย จึงตอบอีกครั้งว่า…ไม่ทราบจริงๆ แต่ผู้ถามไม่เชื่อเช่นนั้น เชื่อว่าผมรู้แต่ไม่ตอบ ไม่ทราบว่าจะเข้าประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ หรือมีวิธีอื่นอย่างไร ช่วยแนะนำด้วย…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท