พุทธวิธี (ลัดตรง) สร้างสุข (ที่นี่และเดี๋ยวนี้) ตอนที่ ๘ ปฏิจจสมุปบาท ห่วงโซ่ของการเกิดและดับทุกข์ โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


พุทธวิธี (ลัดตรง) สร้างสุข (ที่นี่และเดี๋ยวนี้)

ปฏิจจสมุปบาท

ห่วงโซ่ของการเกิดและดับทุกข์

 

(อ่านว่า ปะ ติด จะ สะ หมุบ ปะ บาด)

         เมื่อผมได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก ผมไม่รู้เลยว่า ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร สำคัญอย่างไร เช่นเดียวกับเมื่อได้ยินคำว่า โพชฌงค์

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อผมอายุ ๓๐ กว่า ๆ ผมตามท่านอาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ ไปกรรมฐานที่ภาคอีสาน คือที่วัดป่าบ้านตาดของท่านอาจารย์มหาบัว จังหวัดอุดรธานี เดินทางโดยรถตู้อาจารย์หมออวยเป็นผู้ขับเอง ในรถมีพระภิกษุ ๓ รูป องค์แรกเป็นพระผู้ใหญ่เรียกกันว่าเจ้าคุณจินดา ซึ่งภายหลังต่อมาท่านมีสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารอีก ๒ รูป จากวัดเดียวกัน คือ ท่านสุจินต์พระน้องชายท่านเจ้าคุณจินดา อีกรูปหนึ่งเป็นพระหนุ่มผิวขาว หน้าตาแจ่มใส มีอารมณ์ขันชอบกระเซ้าผม ชื่อพระมหาอัมพร ปัจจุบันคือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช

ที่วัดป่าบ้านตาด คณะที่ไปแยกย้ายกันพักที่กุฏิเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในป่า หรือนอนบนศาลาวัด กลางวันก็เดินจงกรมและนั่งเจริญสติ บริกรรมพุทโธ ๆ ตามแบบอย่างพระป่าสายอาจารย์มั่น กลางคืนตอนหัวค่ำก็มารวมกันที่ศาลาฟังท่านอาจารย์มหาบัวแสดงธรรม ที่ศาลาจุดตะเกียงกระป๋องดวงเล็ก ๆ จึงค่อนข้างมืดตะคุ่ม ๆ ท่านอาจารย์มหาบัวจะเริ่มโดยนั่งสมาธิครู่หนึ่ง ให้เกิดความรู้สึกว่าวันนี้จะพูดเรื่องอะไร ท่านจะเริ่มพูดเสียงเบามากพูดช้าแล้วจะค่อย ๆ ดังขึ้น

คืนวันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณจินดาอาราธนาขึ้นว่า “ท่านอาจารย์กรุณาเทศ เรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” เรื่องนี้เข้าใจยาก สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งยังพูดว่าไม่เข้าใจ”

อาจารย์มหาบัวก็แสดงอาการอิดเอื้อนไม่เต็มใจจะเทศเรื่องนี้ จะเป็นเพราะเจ้าคุณจินดาพูดว่า แม้แต่พระสังฆราชองค์หนึ่งยังไม่เข้าใจ แล้วพระป่าอย่างท่านจะมาเทศน์ให้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์อย่างเจ้าคุณจินดาฟังได้อย่างไร หรือจะเป็นเพราะเหตุใดอื่น แต่ในที่สุดท่านก็เริ่มเสียงเบามาก

“อวิชชา”

ขณะนั้นพอดีมีเสียงคนล้างเท้าที่บันไดทางขึ้นศาลา ท่านอาจารย์มหาบัวจึงว่าเสียสมาธิแล้วพูดไม่ได้ เป็นอันไม่ได้ฟังว่าปฏิจจสมุปบาทคืออะไร มีแต่คำว่าอวิชชาคำเดียว แต่ผมก็จำคำว่าปฏิจจสมุปบาทได้เรื่อยมา ภายหลังมีโอกาสศึกษาจึงรู้ว่าเป็นธรรมะที่สำคัญมาก บางท่านว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีคำอธิบายกันหลายสำนวน แต่ผมคิดว่าคำอธิบายของท่านอาจารย์พุทธทาสน่าจะถูกต้องที่สุด

ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่จะเข้าใจบางส่วนซึ่งมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติ โดยเฉพาะรู้จุดที่จะสกัดหรือ intercept ไม่ให้มันต่อไปเป็นความทุกข์

ปฏิจจสมุปบาท = สภาพที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและการเกิดขึ้น (Interdependent co-arising)

ห่วงโซ่ความทุกข์มี ๑๑ ข้อต่อ หรือองค์ ดังนี้

  1. อวิชชา ปัจจยา สังขารา                   (ความไม่รู้ ยังให้เกิด การปรุงแต่ง)
  2. สังขาระ ปัจจยา วิญญาณัง               (การปรุงแต่ง ยังให้เกิด วิญญาณ)
  3. วิญญาณ ปัจจยา นามะรูปัง              (วิญญาณ ยังให้เกิด นามรูป)
  4. นามะรูปะ ปัจจยา สฬายตนัง             (นามรูป ยังให้เกิด อายตนะหก)
  5. สฬายตนะ ปัจจยา ผัสโส                  (อายตนะหก ยังให้เกิด สัมผัส)
  6. ผัสสะ ปัจจยา เวทนา                      (สัมผัส ยังให้เกิด เวทนา)
  7. เวทนา ปัจจยา ตัณหา                     (เวทนา ยังให้เกิด ตัญหา)
  8. ตัณหา ปัจจยา อุปาทานัง                 (ตัณหา ยังให้เกิด อุปาทาน)
  9. อุปาทานะ ปัจจยา ภโว                    (อุปาทาน ยังให้เกิด ภพ)
  10. ภวะ ปัจจยา ชาติ                           (ภพ ยังให้เกิด ชาติ)
  11. ชาติ ปัจจยา ชรามรณัง                    (ชาติยั งให้เกิด ชรามรณะ)

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ   (ความโศก ร่ำไร รำพัน ทุกข์กาย 

ทุกข์ใจ คับแค้นใจ จึงเกิดขึ้นพร้อม)

ในการแปลความหมายของ ปฏิจจสมุปบาท ๑๑ ขั้นตอน มี ๒ กระแส คือ

  1. เป็นกระบวนการทางร่างกาย
  2. เป็นกระบวนการทางจิต

ส่วนใหญ่จะเป็นการแปลความหมายว่า เป็นกระบวนการทางร่างกาย รวมทั้งในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่รจนาโดยพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐ คนละองค์กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต)

กระแสนี้จะแปลว่า     อวิชชาทำให้เกิดสังขาร คือ ร่างกาย

ร่างกายทำให้ปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้น

แล้วก็เรื่อย ๆ ไปตามลำดับ

จนถึงภพทำให้เกิดชาติ ว่าไปเกิดใหม่อีกชาติหนึ่ง

แล้วก็เกิดความแก่ และความตาย

เขาเรียกว่าแปลแบบข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและไม่สมเหตุสมผล เช่นว่า ความโง่ หรืออวิชชาทำให้เกิดสังขารคือร่างกายได้อย่างไร และทำไมเหตุในชาตินี้จึงไปมีผลเอาในชาติหน้า ไม่สมกับความเป็นจริงที่มีผู้บรรลุธรรมในชาตินี้มากมาย หรือภายหลังฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว บรรลุธรรมทันทีทันใดไม่ต้องรอชาติหน้า

ท่านอาจารย์พุทธทาสศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างทะลุปรุโปร่ง และพบพระพุทธพจน์เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทในรูปต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก เกี่ยวกับการคิด (สังขาร) และวิญญาณผุดขึ้นจากฐานการคิดและเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณนั้น ไม่ใช่วิญญาณปฏิสนธิในท้องแม่แต่เป็นวิญญาณที่ปฏิสนธิในการคิด (สังขาร) สรุปว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นกระบวนการทางจิตที่เกิดขึ้นในขณะจิตเดียว ซึ่งอธิบายได้สมเหตุสมผลและตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่กระบวนการทางกายที่อธิบายกันโดยคณาจารย์ส่วนใหญ่

กระบวนการทาง จิตทั้ง ๑๑ ขั้นตอนนั้น เกิดขึ้นรวดเร็วดังสายฟ้าแลบ ทั้งนี้

คำว่า ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การเกิดขึ้นของตัวตน วันหนึ่งเกิดหลายร้อยหลายพันครั้ง ดังตัวอย่าง เรื่องนายดำที่ท้ายตอนที่ ๒ ลองทบทวนดูอีกที

เมื่อนายดำได้ยินคนตะโกนว่า “ไอ้ดำเหมือนหมา” นายดำโกรธพุ่งปรี๊ดขึ้นทันที นั่นแหละกระบวนการทางจิต ๑๑ ขั้นตอนสำเร็จลงแล้ว เราลองมาวิเคราะห์กันดู

เริ่มต้น ผัสสะ คือ เสียงตะโกนกระทบหู ซึ่งเป็นอายตนะ (๑ ใน ๖) 

เกิด เวทนา รู้สึกไม่พอใจ นี่คือที่ว่า ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

ที่ไม่พอใจเพราะรู้ว่ามันด่า “กู” เพราะมีอุปาทานว่าไอ้ดำ คือกู และจำได้หมายรู้ (สัญญา) ว่า “หมา” มีความหมายว่าไม่ดีในวัฒนธรรมไทย แต่ไม่ใช่วัฒนธรรมฝรั่ง ว่าใครเป็นหมาเขาก็ไม่โกรธ จิตของนายดำจึงมีความเชื่อทางวัฒนธรรมว่าคำว่า “หมา” ไม่ดี ขณะนั้นมีฝรั่งยืนอยู่ได้ยินเสียงตะโกนเขาก็ไม่โกรธเพราะไม่เข้าใจภาษาไทย นายสมศักดิ์ยืนอยู่ตรงนั้นก็ไม่โกรธเพราะคำว่า “ไอ้ดำ” ไม่ใช่กู

การที่นายดำโกรธ เพราะมีอุปาทานยึดมั่นใน ตัวกู-ของกู ปัจจัยทั้งหมด (มีมากกว่าที่กล่าว) มันปรุงแต่ง (สังขาร) กันขึ้นมา จากการเกิดขึ้นของ ตัวกู-ของกู

การเกิดขึ้นของ ตัวกู-ของกู นั่นแหละคือ ชาติ

ชาติ หรือการเกิดในปฏิจจสมุปบาท คือการเกิดขึ้นของความมีตัวตน หรือตัวกูของกู เมื่อมีตัวตนมันก็มีตัณหา ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ถ้าใครสนใจตรงนี้ให้ละเอียด ก็ไปหาอ่านจากหนังสือ “อิทัปปัจจยตา” ของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่ถ้าไม่สนใจเห็นว่ายากเกินไปก็ไม่เป็นไร เอาเฉพาะบางส่วนที่เข้าใจง่ายและเป็นเครื่องมือปฏิบัตินั่นคือ

 

 

                  ตัณหาเป็นเหตุให้เกิด

         ทุกข์   ความขัดแย้ง หรือบีบคั้นระหว่างความอยากกับความจริง ที่มันไม่เป็นไปตามที่อยาก

         เวทนา เป็นจุดสำคัญ เพราะนำไปสู่ความยุ่งยากทั้งปวง และเป็นจุดสกัด

คือถ้าเราไม่รู้ (อวิชชา) มันก็ปรุงแต่ง (สังขาร) กันไปเป็นความทุกข์ แต่ถ้าเรามีปัญญาหรือรู้ (วิชชา) มันก็ปรุงแต่งต่อไปไม่ได้ คือมีสติรู้เท่าทันตั้งแต่ผัสสะหรือเวทนา เมื่อรู้เท่าทันมันก็ไม่ต่อไปเป็นตัณหา และดับที่นั่นไม่ต่อไปเป็นความทุกข์

 

 

การปรุงแต่งสังขารดับ เรียกว่า วิสังขาร

วิสังขาร คือ ความสงบเย็นหรือนิพพาน

ขอย้ำว่าที่อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เราเน้นที่การปฏิบัติและการได้ผลจากการปฏิบัติ โดยมีหลักการที่ง่ายแต่เป็นแก่นและปฏิบัติได้ ซึ่งสรุปเหลือเพียง ๒ ข้อ สั้น ๆ คือ

  1. ความจริง ฝึกจิตให้สัมผัสความจริงมากที่สุด คือ
  • ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง
  • สุญญตา ความว่างจากตัวตน
  1. เจริญสติ และสมาธิด้วยวิธีที่ชอบให้รู้กายรู้ใจให้มากที่สุด ทั้ง ๒ ข้อ ก็คือ สติ – สมาธิ – ปัญญา นั่นเอง ข้อแรกความจริง ก็คือ ปัญญา ข้อสอง ก็คือ สติ - สมาธิ

อุบายวิธี อุปสรรคสำคัญของการเจริญสติ คือ จับจิตให้รู้หรือนิ่งได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับคนช่างคิดหรือคนทั่ว ๆ ไปก็มักอยู่ในการคิด หรือคิดนั่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา คิดฟุ้งซ่านบ้าง คิดเรื่องการงานบ้าง คิดถึงคนที่รัก หรือคนที่เกลียดบ้าง จับจิตให้รู้กับปัจจุบันได้ยาก มันคอยแวะไปสู่การคิดอยู่ตลอดเวลา ต้องหาอุบายวิธีจับจิตไว้ให้อยู่กับสติ หรือสมาธิ หรือจิตนิ่ง ซึ่งคณาจารย์ต่างมีอุบายวิธีต่างกัน ซึ่งใครมีอุบายวิธีอะไรก็ควรเอามาเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ผมพบว่าวิธีนับ (บาลี เรียกว่า คณนา = คะนะนา) กำกับไปด้วย ช่วยผูกจิตไว้กับสติ หรือการรู้ คือ

หายใจเข้า ๑      หายใจออก ๑

หายใจเข้า ๒      หายใจออก ๒

หายใจเข้า ๓      หายใจออก ๓

........              ........

การนับทำให้มีเป้าหมาย เช่น ได้ถึง ๕ ละนะ ถึง ๑๐ ละนะถึง ๒๐ ละนะ ถึง ๑๐๐ ละนะ

การมีเป้าหมายทำให้เกิดวิริยะ วิริยะหรือตั้งใจจริง เอาจริงเอาใจเป็นพลังดึงจิตไว้กับการรู้ พรากจากการคิด

ผมใช้หลัก ๑๐๐ จะใช้ ๑๐ ใช้ ๒๐ ก็ได้

 

บางทีใช้การบริกรรมกำกับไปด้วย คือ

หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ

เข้า พุท ออก โธ   เข้า พุท ออก โธ   เข้า พุท ออก โธ   เข้า พุท ออก โธ เรื่อยไป

หรือ    เข้า ๑ พุท ออก ๑ โธ

เข้า ๒ พุท ออก ๒ โธ

หรือ    บริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชอบ เช่น สายพระป่าอีสานใช้บริการพุทโธ ๆ ๆ อย่างที่เคยเล่าไปแล้ว หรือสายธรรมกายใช้คำบริกรรม สัมมา อาระหัง ๆ ๆ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เห็นนิมิตรเป็นดวงสีแดงในท้อง ที่สำนักนี้เรียกว่า “ธรรมกาย” นิมิตรอาจเป็นรูปอะไรก็ได้ จิตเพ่งที่นิมิตทำให้มีสมาธิลึกขึ้น เหนียวแน่นขึ้น

         การบริกรรมอะไรซ้ำ ๆ เมื่อจิตรู้อยู่กับคำบริกรรมก็เป็นสติ และเมื่อตั้งมั่นอยู่ในคำบริกรรมก็เป็นสมาธิ

การบริกรรมจึงเป็นการ เจริญสติ – สมาธิ อย่างหนึ่ง ซึ่งต่อไปพิจารณาปัญญาได้

         คำบริกรรมถ้าเกี่ยวกับธรรมหรือปัญญาได้ก็ดี เพราะจะเชื่อมสติ – สมาธิ – ปัญญา ดังกล่าวในตอนที่ ๒ เช่น 

คำว่าพุทโธ ๆ พุทโธ = พุทธะสภาวะ = ความว่างจากตัวตน

สุญญตา ความว่างจากตัวตน อาจบริกรรมว่า สุญญตา ๆ ๆ แต่ถ้าสั้นไปอาจเติมว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” ๆ ๆ

= “นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง”

ความสั้นยาวของคำบริกรรมมีผลต่อการรวมจิต เช่น ถ้าสั้นไป เช่น “ว่าง” ๆ ๆ อาจเบื่อและดึงจิตไว้ไม่อยู่ แต่ถ้ายาวไปเป็นภาระแก่การต้องจำ

ถ้ามีความยาวพอดี เช่น “นโมตัสสะ ภควะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”

หรือ “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๆ ๆ

หรือ “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” ๆ ๆ

มีคำที่เกี่ยวกับปัญญาให้เลือกมากมาย เช่น

  • อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
  • วิราโค       = การจางคลายของราคะ
  • ปฏินิสสัคโค = การสลัดคืนของกิเลสตัณหา ทำให้จิตเกลี้ยง
  • ตัณหักขโย  = การสิ้นไปของตัณหา

การบริกรรมคำที่เกี่ยวกับปัญญา เป็นการเจริญทั้ง สติ – สมาธิ - ปัญญา ความเพียรในการบริการก็เชื่อมวิริยะเข้ามาด้วย เป็นการเจริญสัมโพชฌงค์ กลับไปทบทวนเรื่องโพชฌงค์ ๗ ที่ประกอบด้วย

  1. สติ
  2. ธัมมวิจยะ = ปัญญา
  3. วิริยะ
  4. ปีติ
  5. ปัสสัทธิ
  6. สมาธิ
  7. อุเบกขา

เพราะฉะนั้น การบริกรรมจึงเป็นการเจริญโพชฌงค์ได้ เมื่อบริกรรมไปนานพอสมควรจึงเกิดปีติ ปัสสัทธิ หรือสุข ตามมา ทำให้จิตตั้งมั่น (สมาธิ) ยิ่งขึ้นต่อไปเป็นอุเบกขา ตรงสู่วิมุตได้

ฉะนั้น ถ้าเข้าใจการบริกรรมก็เป็นวิธีง่าย ๆ อย่างหนึ่ง ที่นำไปสู่สุญญตาหรือความว่างได้ ฉะนั้นควรลองดู ถ้าถูกกับจริตก็ทำให้มาก อยู่กับคำบริกรรมให้มาก กิเลสตัณหาก็ไม่ประสบช่อง ผู้บริกรรมจึงชุ่มฉ่ำอยู่ด้วยความสุขได้ นี่ก็ซ้ำกับในตอนที่ ๔ เรื่อง ศรัทธากับการสวดมนต์ แต่เอามาย้ำอีกที

การที่ปาฐกถาตอนที่ ๘ นี้ เริ่มที่ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่มาลงท้ายที่วิธีปฏิบัติง่าย ๆ ที่เข้าถึงธรรมได้ ขออธิบายว่า ปาฐกถาชุดนี้ที่ตั้งชื่อว่า

พุทธวิธี (ลัดตรง) สร้างสุข (ที่นี่และเดี๋ยวนี้)

ที่กล่าวไว้ว่า จะไม่เอาวิชาการที่ยาก ๆ และสลับซับซ้อน แต่จะลัดตรงสู่สุญญตาวิหาร นิพพานชิมลอง นั้นคือหลักการของการปาฐกถาชุดนี้

ในปาฐกถา “การเข้าถึงพุทธธรรม” ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแสดงที่พุทธสมาคม เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ครั้งท่านยังหนุ่ม ๆ อายุเพิ่ง ๓๔ ปีเอง แต่องอาจยิ่งนัก ท่านกล่าวว่า คนทั่วไปสามารถเข้าถึงพุทธธรรมได้โดยไม่ต้องอ่านพระไตรปิฎก หรือเข้ากรรมฐานอย่างเคร่งเครียด นั่นเป็นที่มาของคำว่า “ลัดตรง” “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” คือ ลัดตรงเข้าสู่ศานติภาวะ หรือความสงบเย็น ทันทีทุกขั้นตอน ไม่รอนาน หรือรอถึงชาติหน้า

การที่นำเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทมากล่าว ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องยากด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

  1. ถือกันว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ถึงไม่เข้าใจตลอดแต่มีศรัทธาในพระพุทธองค์ก็เกิดความปีติได้
  2. คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้บางส่วน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติ
  3. ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อประทับอยู่พระองค์เดียว พระพุทธองค์ “ทรงฮัมเพลง” ปฏิจจสมุปบาทด้วยความบันเทิงพระทัย ท่านอาจจะลองฮัมเพลงปฏิจจสมุปบาทเล่นดูบ้างก็ได้ ดูสิว่าจะเกิดความบันเทิงใจไหม

อนึ่ง ถ้าเข้าใจว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นกระบวนการทางจิต ไม่ใช่กระบวนการทางร่างกาย จะทำให้หายติดขัดในความสมเหตุสมผล หลายสิ่งหลายอย่างที่สอน ๆ กันมา

เราได้ยินคำว่า “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” จนชิน

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“เพราะอาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตร

คนที่เกิดก็จะไม่เกิด คนที่แก่ก็จะไม่แก่

คนที่เจ็บก็จะไม่เจ็บ คนที่ตายก็จะไม่ตาย”

ถ้าชาติเป็นการเกิดของร่างกาย และการตายเป็นการตายของร่างกาย จะเข้าใจพระดำรัสดังกล่าวได้อย่างไร เพราะคนเราทุกคนรวมทั้งพระพุทธองค์ด้วย เมื่อเกิดจากท้องแม่แล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายทั้งสิ้น พระอรหันต์ทั้งหลายก็ตายหมดทุกรูป จะว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายได้อย่างไร

แต่ถ้าคิดว่า ชาติ ชรา มรณะ ที่กล่าวถึงในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การเกิดขึ้นของจิตที่มีตัวตนเป็นคราว ๆ ก็จะเข้าใจได้ จิตตามปรกตินิ่งอยู่ยังไม่มีตัวตน ที่เรียกว่า ภวังคจิต เมื่อมีอะไรมากระทบที่เรียกว่า ผัสสะ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็เกิดมีความเป็นตัวตนเสียทีหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเสื่อม (ชรา) ไป ต้องสิ้น (ตาย) ไปเป็นธรรมดา

เสื่อมนี้ตรงกับคำบาลีว่า วยะ ที่เราเอามาเรียกว่า วัย

สิ้นไปตรงกับคำบาลีว่า ขย ที่เราเอา มาเรียกว่า ขัย เช่น อายุขัย

ขัย ก็ตรงกับคำว่า มรณะ

ในคำบาลีเราจะพบ ๒ คำนี้ ใช้ติดกันบ่อยมาก คือ

ขยวย (อ่านว่า ขยะ วยะ)

เช่น ขยวย ธัมมิโน = เสื่อมไป ตายไปเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้นที่ว่า ชาติ ปัจจยา ชรามรณัง นั้น ก็หมายถึงว่า เมื่อเกิดมีความเป็นตัวตนทีหนึ่ง ๆ มันก็ต้องแก่ และตายไปเป็นธรรมดา

ชาติ ชรา มรณะ = การเกิดทุกข์

ฉะนั้น จะเข้าใจคำตรัสของพระพุทธองค์ ที่ว่า “อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตร คนที่เกิดจะไม่เกิด คนที่แก่จะไม่แก่ คนที่เจ็บจะไม่เจ็บ คนที่ตายจะไม่ตาย” ได้ว่า

เมื่อบุคคลเข้าถึงธรรม (ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม) ก็จะไม่เกิดความมีตัวตน

เมื่อไม่มีตัวตนก็ไม่มีอะไรจะทุกข์ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย)

ส่วนร่างกายก็ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตาย เป็นธรรมดา

ทั้งหมดที่อธิบายมานี้สำหรับคนที่สงสัยความขัดแย้งมากมายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ถ้าไม่สงสัย ไม่สนใจก็แล้วไป ไม่ต้องสนใจที่กล่าวมานี้

คงปฏิบัติส่วนที่สำคัญที่สุด คือ เจริญสติ สมาธิ ปัญญา เสมอ ๆ ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ความทุกข์ก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ความสุขก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ 

 

(ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 712580เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2023 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2023 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท