ประชานิยมไทยๆ ที่เหนื่อยหน่าย


ประชานิยมไทยๆ ที่เหนื่อยหน่าย

21 เมษายน 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1] 

 

พักนี้คำว่า "ประชานิยม" มาแรง อะไรๆ ก็บอกว่าเป็นนโยบายประชานิยมไปเสียหมด ทั้งๆ ที่ในกฎหมายก็ไม่ได้มีการนิยามคำว่า "ประชานิยม" ไว้แต่อย่างใด เพียงแต่คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้มานานแล้ว มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Populism"[2]ที่คำนี้สามารถสืบสาวไปถึงขบวนการนักศึกษารัสเซียก่อนการปฏิวัติที่เรียกว่า "นารอดนิก" (Narodichestvo) ในรัสเซียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งในยุคสมัยใหม่มีการนำแนวทางนโยบายแบบนี้มาใช้ในละตินอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 จนโด่งดัง ต่อๆ มามีการใช้นโยบายนี้มากมายในประเทศกำลังพัฒนา อ้างว่าเพื่อกระจายเม็ดเงิน สงเคราะห์คนยากจน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นการให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ทั่วไปหรือชนชั้นล่าง (รากหญ้า) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อดึงคนรากหญ้าให้มีความนิยมในพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในช่วงนั้นๆ ในความเห็นต่างทางวิชาการเห็นว่า นโยบายประชานิยมมิใช่นโยบายที่ดี แต่เป็นนโยบายที่ทำลายกลไกปกติของตลาด ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่า นโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจ (value added) [3] ขึ้นจากการหมุนเงินเข้าใช้จ่ายในตลาดหลายรอบ เหมาะแก่การกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายของประชาชนภาพรวมดีขึ้น

สังคมไทยแปลกตรงที่ไม่ค่อยยอมรับความเห็นต่าง ยิ่งสมัยก่อนๆ เป็นสิ่งต้องห้าม ดังคำสอนคำพังเพยไทยหลายๆ คำ เช่น เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด เป็นผู้น้อยต้องเชื่อฟังและเคารพผู้ใหญ่ ไม่เถียงผู้ใหญ่ เป็นต้น คำสอนคำพังเพยให้เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ครูอาจารย์ ไม่ฝ่าฝืนจารีตธรรมเนียมโบราณ ไม่ดื้อรั้น หัวแข็ง ต้องเป็นเด็กดี ขยันเรียน แม้จะมีการแหกกฎ จริยธรรมบ้างก็ยังยาก ด้วยข้อหาจาบจ้วง มิบังควร สุดท้ายอาจถูกกล่าวหาด้วยคำว่า “ชังชาติ” (hate speech)[4] ไม่รักดี อันเป็นบรรทัดฐานของสังคม (norm) มานานแต่ก่อน ซึ่งจะถูกผู้ใหญ่และสังคมตราหน้าลงโทษได้ แม้จะมีผู้ยกคติจริยธรรมว่าต้อง “เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” “เป็นคนตรงในประเทศคด” [5] สรุปว่า คนรุ่นเก่าก่อนเขากลัวอะไรกัน หรือว่ามันเป็น “generation gap” [6] ด้วยปัจจุบันโลกยุคโซเซียลมัน disrupt ไปไกลเกินที่จะมามัวพะวงห้ามปรามความเห็นต่างได้ โดยเฉพาะความเห็นต่าง แตกต่างระหว่างวัยมันต้องมีจนได้ ตามทฤษฎีขัดแย้ง หยินหยาง มีดีมีชั่ว ที่ต้องมีของคู่กัน ตรงข้ามกันเสมอ การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้คนได้เรียนรู้ในมุมมองก็ยังกลัว โดยเฉพาะนักการเมืองต้องตระหนัก รับฟังเสียงนกเสียงกาบ้าง อย่าฟังแต่คำอวย คำเยินยอ จนหลง คำติชม ทักท้วง ย่อมเป็นสิ่งดี เพื่อการแก้ไขปรับปรุง จะมากจะน้อยก็ควรรับฟัง อย่าได้เกรงกลัว จนปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกของเขา (free speech)[7] แน่ใจหรือการตกอยู่ในภวังค์ในห้อง “เสียงสะท้อน” (echo chamber)[8] ฟังแต่คำโป้ปดมดเท็จ โกหกหลอกลวง อวยไส้แตก ชมเยินยอเกิน ที่หลงอวย ชอบฟังแต่เสียงตนเองว่าดี เพราะเป็นสถานการณ์ที่ได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกันเท่านั้น ทำให้โลกของตนแคบไป รังแต่จะเป็นผลร้ายเป็นกับดักความคิดที่ไม่ดีเลย นอกจากนี้โพลชี้นำ (โพลจัดตั้ง) กับโพลสำรวจ (ตามหลักการ) ยังไงผลมันก็ต้องต่างกัน และในทางกลับกัน การถ่อมตัวมากเกิน ก็หาใช่สิ่งดีเช่นกัน 

ท่ามกลางหลากหลายปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ในเวลานี้และที่จะเผชิญในอนาคต ดร.วิรไท สันติประภพ เสนอว่า[9] นโยบายเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับคำสามคำ คือ (1) productivity (ผลิตภาพ) ธุรกิจไทยต้องเก่งขึ้น (2) immunity (การสร้างภูมิคุ้มกัน) เพราะโลกมีความผันผวนไม่แน่นอนมาก การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเครื่องมือหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง และ (3) inclusivity (การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง) ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจไทยที่สูงขึ้นเรื่อย เพราะทั้งสามเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และแก้ไขยากขึ้นมากถ้าเราปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ไหลลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบจัดการ ทำให้ปัญหาสะสมมากขึ้น 

ดร.วิรไท เห็นว่า[10] ประชานิยม (populism) หรือ นโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบทางการคลัง โดยชี้ให้เห็นถึง 2 ปัญหาหลักคือ (1) นโยบายประชานิยมอาจก่อให้เกิดภาระการคลังของรัฐบาล ทั้งภาระการคลังเฉพาะหน้าและภาระผูกพันในอนาคตที่เกิดจากการกู้ยืม ซึ่งเงินงบประมาณที่ต้องนามาใช้เพื่อปฏิบัตินโยบายประชานิยมดังกล่าวมีมูลค่ามหาศาล (2) ความสามารถของระบบราชการในการนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติได้อย่างเท่าเทียม และ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้กับนโยบายประชานิยมที่มีงบประมาณมหาศาลอีกด้วย

ประชาชน ประชานิยม และประชารัฐ

ที่จริงกลุ่มคำประชานิยมที่เป็นศัพท์บัญญัติ (technical term) มีใช้กันมานานแล้ว ในภาษาไทยก็เพิ่งใช้กันมาเมื่อราว 20 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ที่นักการเมืองต้องมี Accountability หรือ “ความรับผิดชอบ” ต่อสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชน ปัจจุบันนโยบายประชานิยมได้กลายเป็นกระแสหลักของการเมืองในระดับโลกไปแล้ว เหมือนการติดสินบน เอาใจชาวบ้านผู้เลือกตั้ง (voter) ในปัญหาต่างๆ ที่คิดว่าจะต้องแก้ไขให้ดีขึ้นได้

หลายปีก่อน มีความพยายามรีไร้ท์ทบทวนที่มา ความหมาย และบทบาทของคำว่า “ประชานิยม” กันใหม่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะทั้งขึ้นทั้งล่อง “คำว่าประชานิยมได้กลายเป็นทั้งคำด่าและคำชม (โดยอัตโนมัติ) ไปในขณะเดียวกัน” [11] มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ฝ่ายรัฐขึ้นมาอีกตัวใช้คำว่า “ประชารัฐ” โดยอ้างฐานมาจากคำว่า “ประชาชน” (people) เช่นกัน นัยยะก็คือการพยายามหาคำใหม่ที่คิดว่าดีกว่ามาทดแทนคำเดิม เพื่อจะใช้คำใหม่ น่าแปลกก็คือกลับไปด้อยค่าคำว่า “ประชานิยม” คำเดิมที่บรรดาเหล่านักวิชาการได้นิยามไว้แล้วถึง 5 นิยามความหมาย (โดยเอนก เหล่าธรรมทัศน์) มีตั้งแต่นิยามอย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่ อย่างทั่วไป เพราะ มีถึงขนาดว่า การโปรยเงินแจกจากเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Money) เป็นทั้งความหมายอ้างอิงจากบริบทต่างประเทศ หรือในบริบทแบบไทย เห็นว่าคำใหม่ “ประชารัฐ” หรือแม้แต่คำว่า “ไทยนิยม” (2561)[12] นี้มันก็คือ ศัพท์ใหม่บริบทใหม่ของ “ประชานิยม” นั่นเอง ไม่แตกต่างกันเลย

สฤณี อาชวานันทกุล (2559) สรุปว่า[13]“นโยบายประชานิยม” ไม่ได้มีความหมายด้านบวกหรือลบในตัวมันเองแต่อย่างใด มีเพียงความหมายกลางๆ ว่า เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็หมายถึงคนจนและชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศกำลังพัฒนา การตัดสินว่านโยบายประชานิยมนโยบายใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” จึงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น นโยบายนี้พุ่งเป้าไปที่คนจนจริงหรือไม่ ประโยชน์ตกถึงมือกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่เพียงใด บิดเบือนกลไกตลาดอย่างรุนแรงจนส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวหรือไม่ รัฐใช้เงินมือเติบจนส่งผลเสียต่อสถานะการคลังอย่างรุนแรงหรือไม่ ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์ยิ่ง “ขวาตกขอบ” ยิ่งมีแนวโน้มตีขลุมเหมารวมนโยบายประชานิยมว่า “เลว” คือ ไม่คุ้มค่า บ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว[14] การเกทับนโยบายกันไปมา ไม่สนใจปัญหาอื่นที่จะตามมา ทำให้นักลงทุนหนีได้ นักธุรกิจบางคนถึงขนาดกล่าวว่า ให้พวกนักเลือกตั้งสัตว์การเมือง หาเสียงโดยใช้ประชานิยมนี้ ทำได้เฉพาะกับ พวกคนโง่เขลาเท่านั้น[15] ตัวอย่างที่ผ่านมาประชานิยมล้มชาติ คืออาร์เจนตินาจากประเทศที่รุ่งเรืองสู่หายนะทางเศรษฐกิจ[16]ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ยิ่ง “ซ้ายตกขอบ” ยิ่งมีแนวโน้มชอบนโยบายประชานิยม จะชื่นชมเชิดชูนโยบายประชานิยมว่า “ดี” ไร้ที่ติ ไม่ใส่ใจว่ามันตรงจุดหรือไม่ ก่อผลข้างเคียงหรือผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ สรุปรวมว่า เราพูดไม่ได้ว่านโยบายไหน “ไม่ดี” หรือ “ดี” ทันทีที่เราตัดสินว่ามันเข้าข่าย “ประชานิยม”

ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช (2564) มองว่า[17] มีคำนิยาม “ประชานิยม” ใน 2 รูปแบบ (แนวทาง) ที่จำเป็นต้องแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ (1) ประชานิยมแบบต่อต้านอำนาจชนชั้นนำ (Populism in opposition) ซึ่งมักจะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตย เช่น การต่อสู้ของขบวนการนารอดนิก (Narodichestvo) ในรัสเซีย กลุ่มเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1850-1890 ในลาตินอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ให้ความสำคัญกับคนรากหญ้าและชนชั้นแรงงาน (2) ประชานิยมในทางอำนาจ (Populism in power) ซึ่งอาจลดทอนความเป็นสังคมพหุนิยมที่ยอมรับความหลากหลายและเป็นพื้นฐานของประบอบประชาธิปไตย เพราะการถือเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ตามนิยามของคำว่าประชานิยม อาจเป็นการปกป้องเสียงข้างมากแบบสุดโต่ง โดยไม่รับฟังเสียงส่วนน้อย และกระทบต่อสถาบันอิสระที่มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน และนำไปสู่การปกครองแบบ “อำนาจนิยม” เพราะมีการยึดติดในตัวผู้นำมากจนเกินไป เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรืออัลเบร์โต ฟูจิโมริ (เปรู) เป็นต้น

 

ประชานิยมในความหมายไทย

เพื่อความสมประโยชน์ของสังคมแน่นอนความเกรงกลัวว่า จะมีการผลาญเงินงบประมาณเพื่อมาใช้ในการดำเนินการนโยบาย “แบบประชานิยม” ทำให้การพัฒนาประเทศเสียหาย ไม่ต่อเนื่อง เพราะมุ่งหาเสียงโดยใช้งบประมาณรัฐ รัฐบาลยุค คสช. จึงได้ตรากฎหมายเพื่อการควบคุม “นโยบายประชานิยม” นี้ไว้ในกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง คือ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560[18] พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560[19] และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561[20] โดยเฉพาะ มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

กฎหมายไทยบัญญัติความหมายคำว่า “นโยบายประชานิยม เป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” โยงไปถึงกฎหมายกฎหมายเลือกตั้ง[21] และพรรคการเมือง[22] โดยเฉพาะการหาเสียงโดยสัญญาว่าจะให้[23] หรือ การหาเสียงโดยหลอกลวง[24] ที่พูดแล้วทำไม่ได้ ด้วยเหตุ “ความเป็นไปได้” “เพ้อฝัน” “เกินจริง” ที่กำลังมีปัญหาวิพากษ์กันอยู่มาก ณ เวลานี้ เป็นปัญหาเรื่องบรรทัดฐานว่าอยู่ตรงไหน จะต้องให้ใครมาวินิจฉัยตัดสิน เพราะว่า เมื่อได้หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล นโยบายหาเสียงที่พูดไว้ก็ไม่สามารถบรรลุผลได้ กกต.มิได้มีองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มากนัก การโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญไกลเกิน เพราะอาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง 

ประชานิยมในความหมายแบบบ้านๆ ที่คนเข้าใจง่ายคือ นโยบายที่ฝ่ายการเมืองเอาใจคน ผูกใจคนให้รัก ให้ชอบ ให้นิยม เอามาเป็นหัวคะแนน มาเป็นฐานเสียงในการค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของตน และฝ่ายตน ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป และตลอดไป แต่ก่อนการผูกใจคนก็โดยการซื้อ การจ้าง การแจกเงิน แจกสิ่งของ (แจกจริง) ต่อมา มีกติกาห้ามแจก เพราะเป็นการจูงใจคนที่ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบกัน เป็นการทุจริต คนมีเงินก็จ่ายได้หมด แต่คนไม่มีเงิน หรือ คนมีเงินน้อยจะทำไม่ได้ ต่อๆ มาก็มีเทคนิคต่างๆ อีกเยอะ โดยไม่ต้องจ่ายเงิน เช่น การอุปถัมภ์ลูกหลานญาติให้เข้าทำงานในส่วนราชการที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจอยู่ก่อนที่จะหมดวาระอำนาจ การสัญญาว่าจะให้ฯ การช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ต่างๆ ต่อกลุ่มคน โดยใช้งบประมาณของรัฐ ในทางอ้อมประชานิยมทำให้คนไทยประมาท ราคาสินค้าขึ้นเร็ว คนต้องจ่ายต้องใช้ พลังงาน ไฟฟ้า แก๊ส สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ขึ้นราคาบาน น้ำมันปั๊มเล็กก็แพงลิบลิ่ว ค่ารถเมล์ รถไฟ ฟรี น้ำฟรี ไฟฟรี ก็คงจะขายไม่ได้แล้ว เพราะมันน้อยไป

 

วัฒนธรรมการเมืองไทย (political culture)[25] ยังอ่อนแอ

ฝ่ายก้าวหน้ามองระบบตุลาการอ่อนต่ออำนาจนิยม สังคมมีแต่เรื่องแก้ตัว (ไม่แก้ไข) ไปวันๆ กฎหมายเอาผิดคนลอยนวลไม่ได้ เลยไม่มามองเห็นประโยชน์คุณค่าของนโยบายประชานิยม ที่มันอาจไปแทงใจดำอีกฝ่ายในคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ลองย้อนไปเมื่อคราวการหาเสียงของพรรคการเมืองครั้งที่แล้ว[26] (2562) เพราะเอาเข้าจริง นโยบายที่ฝ่ายอำนาจได้หาเสียงไว้มันทำตรงกันข้ามไปเลย 

การไปด้อยค่า (bullying)[27] คือปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย ที่ไม่สร้างสรรค์ สาด ค้น รื้อ ประจาน สาวไส้ความไม่ดีของฝั่งตรงข้าม รวมทั้งการหลอกล่อ สร้างสถานการณ์ การวิเคราะห์เทียม สร้างภาพในโซเชียลทั้งของจริงของปลอมมั่วไปหมด นักเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องแยกแยะ ไม่หาเสียงด้อยค่า เอามัน สะใจแล้วได้อะไร คนเรามีดีกับเสีย มันปนกันอยู่ ถ้าตนแยกไม่ออก แล้วจะปล่อยให้คนอีกแยกแยะออกคงยาก การเสพข่าวโซเซียลง่ายมาก แต่การแยกแยะกรองข่าวปลอม ข่าวเท็จ เฟคนิวส์แสนยาก ยิ่งปัจจุบันที่โลก AI มีมากขึ้น การแยกข่าวจริงข่าวปลอมจึงแสนยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไป การตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ง่ายก็เท่ากับมีการเสพข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ง่าย ส่งผลให้การตัดสินใจการรับรู้ทางการเมืองที่ผิดพลาดไปหมด อันตรายยิ่ง

ปัจจัยแนวโน้มใดที่ทำให้ผู้เลือกตั้ง (voter) แต่ละกลุ่มตัดสินใจเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองใดๆ เช่น กลุ่มผู้เลือกตั้งที่ไม่ค่อยศึกษาติดตามข้อมูลเรื่องการบริหารบ้านเมือง หรือ ศึกษาผลงานของ ส.ส.รอบที่ผ่านมา เขาจะยังคงเลือกผู้ที่ตนคุ้นเคยเป็นหลัก รองลงไป ก็คือ นโยบายที่ตรงใจ จึงน่าเป็นห่วงในวัฒนธรรมทางการเมืองไทยว่า ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก และเปิดโอกาสให้เขาได้แสวงหาข้อมูลข่าวสารได้โดยเสรีหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่าย แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยฝ่ายอำนาจรัฐไม่ปิดกั้น ไม่เลือกปฏิบัติให้แตกต่าง ยิ่งการทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ ยากไว้ก่อน แม้เรื่องเพียงเล็กน้อยของฝ่ายอำนาจ (เช่น กกต.) ยิ่งทวีคูณสร้างปัญหา การไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของการเมืองระบบพรรค ก็คืออุปสรรคสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะการไม่ส่งเสริมระบบพรรค และการปิดกั้นสิทธิทางการเมืองใดๆ ย่อมหมายถึงปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนไปด้วยนั่นเอง เพราะแม้ว่ากระบวนการการเลือกตั้งจะมีกฎหมายบัญญัติกติกาไว้แล้วก็ตาม มันยังไม่เพียงพอต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของโลกเสรีที่ไร้พรมแดน สื่อโซเซียลออนไลน์มีอิทธิพลมากทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวีทเตอร์ อินสตราแกรม ติ๊กต๊อก ไลน์ มีหมด ที่คนรุ่นใหม่ใช้สื่อสารกัน ว่ากันว่า มีผลต่อการโน้มน้าวในรุ่นลูก ร่นพ่อรุ่นแม่ เช่น คนรุ่นลูกจะโน้มน้าวคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้มาลงคะแนนตามด้วย แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะโน้มน้าวให้คนร่นลูกมาลงคะแนนตามไม่ได้ ในสัดส่วนคนรุ่นใหม่นิวโหวตเตอร์ (New&First Voter) 4 ล้าน (7.67%) กับคนรุ่นเก่า baby boomer 14 ล้าน (27.48%)[28] ที่เสียงคนรุ่นใหม่ไม่สามารถชนะเสียงคนรุ่นเก่าได้ และสัดส่วนฝ่ายเสรีนิยมต่ออนุรักษนิยม 60:40[29]

 

หากต่างฝ่ายต่างไม่หันหน้ามาทำความเข้าใจกัน พูดกันคนละที คนละเรื่องเหนื่อยจังประชานิยมไทย

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 28 เมษายน 2566, https://siamrath.co.th/n/442535 

[2]คำว่านโยบาย “ Populism” หรือ “ประชานิยม” เป็นภาษาเขียนครั้งแรกในบทความที่เขียนโดยเกษียร เตชะพีระ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544

สถาบันพระปกเกล้า นิยามว่า ประชานิยม (Populist)หมายถึง การบริหารงานที่มุ่งมีจุดหมายให้ได้รับความนิยมจากประชาชนเพื่อสนับสนุนการดำรงอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำการเมือง หรืออาจหมายถึงเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการทำให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยมีการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการที่ไปตรงกับความต้องการของประชาชน

อ้างอิงดู นโยบายประชานิยม, โดยชาติชาย มุกสง, สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title= & อเนก เหล่าธรรมทัศน์, ทักษิณา-ประชานิยม, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549

& ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ประชารัฐ ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ (1), พลวัตเศรษฐกิจ bangkokbiznews, 9 ตุลาคม 2558, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635795 & ประชารัฐ ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ (2), พลวัตเศรษฐกิจ bangkokbiznews, 12 ตุลาคม 2558, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635821 

& ชาญชัย คุ้มปัญญา, ความหมายและต้นเหตุ “ประชานิยม” (Populism), 19 กุมภาพันธ์ 2559, ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7408 วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.chanchaivision.com/2017/02/Populism-Definition-170219.html 

& ประชานิยมในยุโรป: อเสรีนิยม VS เสรีนิยม(ใหม่)ที่ไร้ประชาธิปไตย, โดย Jittipat Poonkham, the101.world, 31 มีนาคม 2560, https://www.the101.world/populism-in-europe/ 

& “ทรัมป์”อันตราย: บทเรียนจาก”นักประชานิยม”ทั้งอดีตและปัจจุบัน โดย: อัลเฟรด ดับเบิลยู แมคคอย, ผู้จัดการออนไลน์, 20 เมษายน 2560, https://mgronline.com/around/detail/9600000040160 

& ประชานิยม-ชาตินิยม “ภัยคุกคาม” สหภาพยุโรป, ประชาชาติธุรกิจ prachachat, 5 พฤศจิกายน 2561, https://www.prachachat.net/world-news/news-245261

& Populism : ประชานิยม ความรู้ฉบับพกพา โดย Cas Mudde และ Cristobal Rovira Kaltwasser เขียน, เกษียร เตชะพีระ แปล, สำนักพิมพ์ BookScape, 2018 

[3]มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ หรือ Economic Value Added: EVAเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดผลการดำเนินงานของธุรกิจในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยคำนวณได้จากการนำต้นทุนเงินทุนที่ใช้ไป (Capital Charge) หรือต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินทุนที่ถูกนำมาใช้ในกิจการ มาหักออกจากกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี (NOPAT) ที่ได้มีการดึงเอารายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนดำเนินงานปกติออกจากกำไรสุทธิ และเมื่อองค์กรสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (EVA > 0) หรือสร้างรายได้เหนือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แสดงว่าองค์กรมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ และทำให้คาดหวังการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน 

ในการวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานมีตัวชี้วัด (KPI)ตัวหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับนำมาใช้กันคือ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added: EVA) ซึ่งแสดงถึงกำไรทางเศรษฐศาสตร์ที่องค์กรได้รับเปรียบเทียบกับต้นทุนของเงินทุนที่ใช้ไป EVA เกิดจากแนวคิดว่านอกเหนือจากกำไรแล้วองค์กรควรให้ความสำคัญต่อการสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นให้แก่ผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเงินทุนอีกด้วย EVA ถือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ผู้บริหารตระหนักถึงการบริหารจัดการเงินทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และกระตุ้นให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เกิดการปรับปรุงพัฒนางานเพื่อให้ทรัพยากรที่ใช้ไปสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่องค์กรอย่างคุ้มค่าที่สุด

ด มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added: EVATM) KPI ที่บ่งชี้ผลงานได้อย่างเหมาะสม EVATM: A Suitable KPI, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐชา วัฒนวิไล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ใน Executive Journal , 2553, https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/july_sep_11/pdf/aw26.pdf

[4]ในการแสดงออกทางคำพูดนั้นมีด้วยกันหลากหลายประเภท แต่ในที่นี้เราจะยกมาอธิบายเพียงแค่ 2 ประเภทหลักๆ ที่เรามักจะพบเจอกันบ่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน คือ (1) Hate Speech หากแปลเป็นภาษาสวยๆ ในภาษาไทยก็คือ ประทุษวาจา แต่หากพูดกันภาษาบ้านๆ ก็คือ คำพูดที่แสดงออกถึงความเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยาม ในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ (2) Fighting Wordsหรือในภาษาไทยคือ คำพูดที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรง หากพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ มันเป็นคำพูดที่ทำให้คนเราทะเลาะกันนั่นเอง

ชังชาติ (Hate Speech) เป็นวาทกรรม หรือ "การสื่อสารประทุษวาจาทางการเมือง" ในข้อกล่าวหาด้วยวลีว่า "ชังชาติ" มีการนิยามความหมายในหลายรูปแบบ ตามมุมมองของคน เป็น "คำพูดที่แสดงความเกลียดชังสร้างความเกลียดชัง" เช่น ด้วยภาษาหรือถ้อยคำที่หยาบคาย แม้ว่าบางบริบทจะดูตลกขบขัน ไม่จริงจังก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเพ่งเล็งต่อ “กลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง" โดยมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2562 เพราะ แท้จริงแล้ว แม้มนุษย์จะมี "สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ถ้าการแสดงออก" นั้นไปสร้างความเกลียดชังกัน ก็คงมิใช่สิ่งดี การแสดงความคิดเห็นต้องไม่ใส่ร้ายกัน ในสังคมที่แตกแยก มักมีความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการเมือง เช่น การแบ่งแยกสีเสื้อ การแบ่งขั้วการเมือง โดยปกติ Hate Speech หมายถึงวาจาที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบของถ้อยคำเท่านั้น แต่อาจมาจากภาพวาดการ์ตูนล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ บทกวี คำให้สัมภาษณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ถูกตัดทอนเนื้อหามาอย่างจงใจ ฯลฯ แทนที่จะถนอมใจกันและกัน เพื่อสร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนในสังคม ทั้งที่เป็น การแสดงออกโดยตรง และแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ตลอดจนการส่งต่อ หรือการแชร์เนื้อหาเหล่านั้นผ่านสื่อออนไลน์ ปัจจุบันมีคำพูดเกลียดชังออนไลน์มาก เช่น บนเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผลวิจัยปี 2556 ที่น่าศึกษา เช่นวลีว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และงานวิจัยปี 2564 เรื่อง “การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง”

ดู ทำไมถึงต้องมี Free Speech ในสังคม โดย S.sirada, ใน FB Future Trends, 25 มิถุนายน 2562, https://www.facebook.com/futuretrends.th/photos/ทำไมถึงต้องมี-free-speech-ในสังคมการแสดงออก-คือ-การที่เราเปิดเผยความรู้สึกนึกคิด/867144306985349/ 

[5]เป็นทัศนะของอ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในหลากหลายนิยามไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน บุคคลที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้ รวมไปถึง คนตรงในประเทศคด เป็นแนวคิดคนตรงแบบอาจารย์ป๋วย ทั้งแนวคิดทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเมื่อต้องอยู่ในสภาพบ้านเมืองที่ปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ

ดู 101 in Focus EP.30 : ป๋วย อึ๊งภากรณ์ – คนตรงในประเทศคด, โดยกองบรรณาธิการ, 13 มีนาคม 2563, https://www.the101.world/101-in-focus-ep30/ & ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดย ส.ศิวรักษ์, พิมพ์ครั้งแรก มูลนิธิโกมลคีมทอง 9 มีนาคม 2522, http://www.puey-ungpakorn.org/phocadownloadpap/library01/4.1.10.pdf

[6]Generation Gap หรือ ช่องว่างระหว่างรุ่น คือ ความแตกต่างของความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยมหรือทัศนคติระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ช่องว่างระหว่างคนหนุ่มสาวกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของพวกเขา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและการสื่อสารที่ซับซ้อนจนทำให้เกิด "Gap หรือ ช่องว่าง", สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

[7]Free Speech ในภาษาไทยคือ การแสดงออกอย่างเสรี เป็นสิทธิที่เราสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ผ่านทางคำพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ผ่านทางกระดาษหรือบนโลกออนไลน์ หรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวหรือภาพกราฟฟิก อีกทั้งยังรวมไปถึงสิทธิในการค้นคว้าหรือเข้าถึงข้อมูลต่อความคิดเห็นอีกด้วย ดูS.sirada, ใน FB Future Trends, 25 มิถุนายน 2562, อ้างแล้ว

[8]Echo Chamber อธิบายถึงสถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่ผู้คนอยู่ในพื้นที่ที่พบเจอแต่ความคิดเห็นคล้ายกัน จึงเป็นสถานการณ์ที่คนคนหนึ่ง ได้รับข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น ความเชื่อ ที่ตอกย้ำกับความคิดที่คนคนนั้นคิดอยู่ เสมือนกับเป็นสถานการณ์ที่ยืนยันความคิดที่มีในใจว่า เป็นความคิดที่ถูกต้อง หรือ ทำให้รู้สึกว่าเป็นความคิดที่ผู้คนมากมายก็คิดเหมือนๆ กัน

ในสื่อข่าวสาร คำว่า “ห้องเสียงสะท้อน” (Echo chamber)หรือ “ห้องสะท้อนเสียงตัวเอง” เป็นคำเปรียบเทียบถึงห้องที่ออกแบบให้มีการสะท้อนเสียงกลับไปมา หมายถึงสถานการณ์ที่ข้อมูล ความคิด ความเชื่อหนึ่งๆ ถูกขยายหรือถูกสนับสนุนผ่านการสื่อสารและการทำซ้ำภายในระบบหนึ่งๆ ใน "ห้อง" นี้ แหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ มักไม่ถูกตั้งคำถาม, วิกิพีเดีย

ดู Echo Chamber คืออะไร จะเป็นอย่างไร ถ้าใครๆ ก็คิดเหมือนกัน, โดยลงทุนศาสตร์ : Investerest.co, อัพเดท(update) ล่าสุดเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565, https://www.investerest.co/society/echo-chamber/

[9]ประชานิยมไทยกับความเป็นไปได้ และอนาคตภายใต้ความเสี่ยง, thairath, 11 เมษายน 2566, https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2676786 

[10]ประชานิยม: ช่วยประชา หรือสร้างภาระ?, ข้อดี VS ข้อเสียนโยบายประชานิยม, โดย supatra, ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ssru.ac.th, 2555, http://elsd.ssru.ac.th/supatra_to/pluginfile.php/33/course/summary/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1.doc

[11]ประชาชน ประชานิยม และประชารัฐ (1), โดยสฤณี อาชวานันทกุล, thaipublica.org, 18 มกราคม 2559, https://thaipublica.org/2016/01/populism-pracharat/ 

[12]เจาะรายละเอียด "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" คืออะไร ใครได้ประโยชน์, เวบkapook, 6 กุมภาพันธ์ 2561, https://money.kapook.com/view189009.html

[13]สฤณี, 18 มกราคม 2559, อ้างแล้ว

[14]ดู สาระสังเขปประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยด้านนโยบายประชานิยมที่จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะและการเพิ่มบทบัญญัติต่อความรับผิดชอบในโครงการประชานิยม, สำนักวิชาการ และสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558, https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-issue13-abst01.pdf & ประชานิยมเหมือนยาพิษสำหรับเสรีนิยมทั่วโลก, voicetv, 12 กุมภาพันธ์ 2561, https://voicetv.co.th/read/r15IjlJDf 

[15]อ้างจากคำกล่าวของวิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจและนักเขียนชาวไทย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร คสช.ราวปี 2554 เคยถูกกล่าวถึงในแวดวงการเมืองและหมอดูทำนายว่าเขาอาจจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

[16]"อาร์เจนตินา"จากชาติที่รุ่งเรือง ดำดิ่งสู่หายนะเศรษฐกิจ โดย PPTV Online, 21 ธันวาคม 2565, 20:33น., https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/186976 & ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย, Esbuy.net, 9 มิถุนายน 2555, http://www.esbuy.net/site/download-file.php?doc_id=4496 

[17]“ประชานิยม” คืออะไร พร้อมหาคำตอบอนาคตคนไทยกับนโยบายประชานิยมจากอดีตสู่ปัจจุบัน, ประชาไท, prachatai, 31 สิงหาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2021/08/94738 

[18]พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 หน้า 1-12, https://www.nesdc.go.th/article_attach/article_file_20170802145027.PDF 

[19]พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 หน้า 13-23, https://www.nesdc.go.th/article_attach/article_file_20170802145143.PDF 

[20]พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 27 ก วันที่ 19 เมษายน 2561 หน้า 1-23, http://audit.obec.go.th/images/docs/Finance/1.PDF 

[21]ดู พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561 หน้า 40-97, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20180913155522.pdf

& พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 7 ก วันที่ 28 มกราคม 2566 หน้า 1-12, https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=19193

[22]ดู พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 105 ก วันที่ 7 มกราคม 2560 หน้า 1-41, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf

& พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 7 ก วันที่ 28 มกราคม 2566 หน้า 13-19, https://party.ect.go.th/storage/app/media/280166.pdf

[23]ดู เลือกตั้ง 66 : เช็คลิสต์ข้อห้ามของผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงเลือกตั้ง อะไรทำได้-ไม่ได้, โดย iLaw, 13 มีนาคม 2566, https://ilaw.or.th/node/6417 

& พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด

(3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ

(4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ความใน (3) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ

ความผิดตาม (1) หรือ (2) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้

[24]ดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินการประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ

(2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย

(3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 74 การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

นโยบายของพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมาตรา 74 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดว่าในการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองนั้นต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

อ้างอิงดู เตือนพรรคการเมืองหาเสียงขอให้อยู่ในกรอบนโยบายหากเกินจะผิดกฎหมาย มีเรื่องร้องเรียนแล้ว 32 เรื่อง, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 18 เมษายน 2566, https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230418142345042

[25]วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมการเมืองกับสังคมการเมืองในเชิงจิตวิทยา โดยวัฒนธรรมทางการเมืองใดที่สังคมการเมืองต้องการก็มักถูกปลูกฝังให้เป็นความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ ของสมาชิกในสังคมการเมืองนั้นๆ ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ ที่ขึ้นตรงกับกระบวนการสร้างความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ จากสถาบันในทางการเมืองต่างๆ ที่แปรผันต่างกันไปตามแต่ละสังคมการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญในสาขาวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาวิชาในทางรัฐศาสตร์, วิกิพีเดีย

[26]หมายถึง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 

[27]“การบูลลี่” (Bullying) คือ การกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกผู้อื่น ให้เสียหาย อับอาย และเป็นทุกข์ โดยการกระทำ คำพูด การกีดกันทางสังคม หรือผ่านทางไซเบอร์ แยกเป็น 4 ประเภท คือ (1) การบูลลี่ทางร่างกาย (Physical Bullying) (2) การบูลลี่ทางคำพูด (Verbal Bullying) (3) การบูลลี่ทางสังคม (Social Bullying) (4) การบูลลี่ทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

การกลั่นแกล้ง (Bullying)หมายถึง พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยพฤติกรรมนั้นเป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวด เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจ หรือมีพลังเหนือกว่าผู้อื่น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลายาวนาน

การ Bully or Bullying เป็นความรุนแรงในสังคม เช่น ในโรงเรียนส่วนใหญ่เกิดจากการดึงเอาจุดด้อยหรือความแตกต่าง เช่น หน้าตา สีผิว รูปร่าง หรือเพศ ขึ้นมาเป็นประเด็นทำให้เด็กอีกคนรู้สึกอับอายหรือมีปมด้อย ปัจจุบัน การบูลลี่ทางโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) เป็นการกลั่นแกล้งในวงกว้างที่รุนแรงมากกว่าในรั้วโรงเรียน หรือในกลุ่มเพื่อน

ดู การบูลลี่ Bullying โดย นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น, ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม, พฤษภาคม 2565, https://www.happyhomeclinic.com/mh11-bullying.html

& การกลั่นแกล้ง (Bullying) ความรุนแรงในสังคม, มูลนิธิยุวพัฒน์, yuvabadhanafoundation.org, 10 พฤษภาคม 2562, https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/ข่าวสาร/บทความทั่วไป/การกลั่นแกล้ง-bullying-วัยรุ่น/

[28]เจนไหนไฟแรงเฟร่อ: เปิดข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ’66 เจเนอเรชั่นไหน อยู่แห่งหนใดกันบ้าง, ข่าวประชาไท, 23 กุมภาพันธ์ 2566, 17:33 น., https://prachatai.com/journal/2023/02/102902

[29]อ้างจาก ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ดู วิเคราะห์ : X,Y หรือ Z Gen ไหน จะชี้ขาดผลเลือกตั้ง,วัชชิรานนท์ ทองเทพ, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, 24 มีนาคม 2566, https://www.bbc.com/thai/articles/cn32zyv9nr2o

หมายเลขบันทึก: 712410เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2023 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2023 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Let me add a few points.1) [Wordweb] populism     n : the political doctrine that supports the rights and powers          of the common people in their struggle with the          privileged elite 2) [Royal Institute Thai Dictionary] นิยม ( แบบ ) น. การกำหนด. ( ป. , ส. ).ก. ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ถ้าใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำมีความหมายว่า ลัทธิ เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม.3) [Royal Institute Thai Dictionary] นิยมนิยาย ( ปาก ) น. ความแน่นอน, ใช้ในความปฏิเสธว่า เอานิยมนิยายไม่ได้ หมายความว่า หาความแน่นอนจริงจังอะไรไม่ได้.

Yes ประชานิยมไทย means ‘votes buying policy’ (like in other countries). The word is not listed in Royal Institute Thai Dictionary (shame on them for not including words that are commonly used for decades, and yet making and updating special lists for modern Thai words). And yes ประชานิยม really means ประชา + นิยม(ชอบ) ;-)

ผมไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการรักชาติหรือชังชาติอย่างที่มัก bully กันเสมอ แต่เห็นว่าบทความท่ี่รวบรวมความคิดของคนที่มีความรู้ทางด้านต่างๆ ได้มากพอสมควรในยุคนี้ (ที่ดูเหมือนจะกล่าวหากันได้ง่ายโดยอ้างข้อกฎหมายที่ตัวเองทราบมาหรือปฏิบัติอยู่ก็ตาม เป็นโจทย์กล่าวหากันและกัน รวมทั้งฟ้องกลับเพื่อแก้เกี้ยวก็มี) และน่าจะเป็นหนทางอย่างหนึ่งของการปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่เห็นชอบด้วยแบบไม่ใช่ bully ว่า…จะต้องประนีประนอมกันเสมอไป เพื่อให้การดำรงชีวิต สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ ต่อไปจนหมดอายุขัย แล้วรอไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ปรับตัวก็ไม่น่าจะดีที่สุดนะครับ….วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท