ชีวิตที่พอเพียง 4446. เตรียมจัด PMAC 2024 Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises – 5. สุขภาพ และระบบสุขภาพในโลกยุคพหุค่าย


 

การประชุมคณะทำงานเตรียมสาระ ทาง ออนไลน์ เมื่อค่ำวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ตกลงหัวเรื่องของ Subtheme 2 ว่า   

Subtheme 2 : Health and Health Systems in a Multipolar World     โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ คนพลัดถิ่นจากสงคราม    ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รับไหว    การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ    และ การผลิตเวชภัณฑ์ในภูมิภาคเพื่อการรับมือการระบาดใหญ่   ที่ผมอ่านเอกสารแล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยกลมกลืนกันนัก     อาจเป็นเพราะผมอ่านเอกสารไม่เข้าใจถ่องแท้ก็ได้   

เรื่องคนพลัดถิ่น มีทั้งจากสงคราม และจากสาเหตุอื่น    ในเวลานี้คนพลัดถิ่นจากสงครามรุนแรงที่ประเทศยูเครน และซีเรีย    ที่เกิดสงครามตัวแทน    เป็นปัญหาสองชั้น คือสาเหตุมาจากการสู้รบระหว่างขั้วอำนาจ   และการแก้ปัญหาคนพลัดถิ่นก็ถูกจำกัดด้วยขั้วอำนาจอีก       

อ่านแล้วผมตีความว่า รากเหง้ามาจากการทำมาหากินจากสงครามของประเทศมหาอำนาจ    และการที่ประเทศต่างๆ ในโลกมีรัฐบาลเผด็จการจำนวนมากขึ้น   ทำให้คนอพยพหนีภัย   นอกจากนั้นก็มีการหนีภัยธรรมชาติ   เขาบอกว่ามีคนย้ายถิ่นถึง ๑ พันล้านคน   ที่ก่อวิกฤติความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (humanitarian crisis)

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ก็เป็นประเด็นยุ่งยากซับซ้อน  ที่ผมอ่านแล้วตีความว่า ขึ้นกับว่า จะเอาอะไรเป็นเป้าหมายหลัก หรือจะสร้างดุลยภาพอย่างไร ระหว่างการเอาสุขภาวะเป็นเป้าหมายหลัก  แล้วสร้างระบบสุขภาพเพื่อเป้าหมายนี้    หรือจะเน้นให้ระบบสุขภาพเป็นแหล่งหารายได้เข้าประเทศ    คือเอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก สุขภาพของประชาชนเป็นเป้าหมายรอง   จะเห็นว่า สองขั้วนี้ไม่ได้ขัดแย้งเชิงอำนาจด้านการสงคราม    แต่ขัดแย้งที่ผลประโยชน์ 

น่าสนใจมาก ที่ผู้ยกร่างเอกสารบอกว่า นวัตกรรมเรื่องระบบสุขภาพที่น่าตื่นเต้นคือการค้นพบว่า ระบบสุขภาพเป็นระบบสังคม    ที่ความเข้มแข็งของระบบขึ้นกับ พฤติกรรม การตัดสินใจ และปฏิสัมพันธ์ ของคนที่อยู่ภายในระบบ    ที่เขาเรียกว่าเป็น software ของระบบ    มากกว่าขึ้นกับเทคโนโลยีเชิง hardware (สิ่งของ  เงิน  ข้อมูล เครื่องมือ) เป็นหลัก อย่างที่เราเข้าใจ     

ย้ำว่า เรื่อง soft power อย่างที่เราพูดกันเกร่อในสังคมไทยปัจจุบัน    ใช้ได้ต่อเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพด้วย    ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจท่องเที่ยว  และเรื่องการหารายได้เข้าประเทศ   

พฤติกรรม  การตัดสินใจ และปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ยังขึ้นกับ software ส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปอีก จนเราไม่รู้สึก  คือ ค่านิยม (values) ที่เป็นตัวกำหนดมาตรฐาน (norms)  พลวัตเชิงอำนาจ (power dynamics)  และแรงจูงในที่ไม่เป็นทางการ (informal incentives) ในสังคม 

ค่านิยม ส่งอิทธิพลต่อระบบสุขภาพ   และในทางกลับกัน ระบบสุขภาพก็ส่งผลต่อค่านนิยมในสังคมด้วย   ประเทศไทยเราโชคดีมากที่ผู้คนมีค่านิยมที่ถูกต้องด้านสุขภาพ และต่อระบบสุขภาพ   รวมทั้งมีกลไกสร้างค่านิยมที่ถูกต้องผ่านหลายกระบวนการ เช่น การวิจัยระบบสาธารณสุข  การดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค    การมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ (เช่นจังหวัด) เป็นต้น         

การผลิตเวชภัณฑ์ในภูมิภาคเพื่อการรับมือการระบาดใหญ่ เป็นเรื่องขัดผลประโยชน์ของประเทศรวย    เขาชี้ให้เห็นว่า การที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเอื้อประโยชน์ต่อประเทศรวย    ทำให้ประเทศยากจนอ่อนแอด้านการรับมือภาวะฉุกเฉินระดับโลกด้านสุขภาพ ดังตัวอย่างการระบาดใหญ่ของ โควิด ๑๙   หากยังปล่อยระบบทรัพย์สินทางปัญญา และระบบการผลิตเวชภัณฑ์ต่างๆ ไว้อย่างเดิม    เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ครั้งใหม่    โลกก็จะโกลาหล และรับมือปัญหาได้ไม่รวดเร็วเช่นเดิม   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 712408เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2023 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2023 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท