มูลปริยายสูตร


พราหมณ์ ๕๐๐ คนผู้เรียนจบไตรเพท ออกบวชอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะอาศัยการศึกษาเล่าเรียน จึงเกิดมานะขึ้นว่า พวกเรารู้พระพุทธพจน์ที่พระผู้มีภาคเจ้าตรัสไว้พลันทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวารจิตนั้นของภิกษุเหล่านั้น จึงเริ่มการแสดงธรรมบทนี้เพื่อจะหักเสียซึ่งมานะ (ของภิกษุเหล่านั้น)

มูลปริยายสูตร

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            พราหมณ์ ๕๐๐ คนผู้เรียนจบไตรเพท ออกบวชอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อกาลไม่นานเลยก็เรียนเอาพระพุทธพจน์ทั้งหมด เพราะอาศัยการศึกษาเล่าเรียน จึงเกิดมานะขึ้นว่า พวกเรารู้พระพุทธพจน์ที่พระผู้มีภาคเจ้าตรัสไว้พลันทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวารจิตนั้นของภิกษุเหล่านั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ยังถอนตะปูคือมานะไม่ได้ ก็ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งมรรคหรือผล จึงเริ่มการแสดงธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ฉลาดในการแสดงมูลปริยายสูตรแห่งธรรมทั้งปวง เพื่อจะหักเสียซึ่งมานะ (ของภิกษุเหล่านั้น)

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

____________

๑. มูลปริยายวรรค

หมวดว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม

๑. มูลปริยายสูตร

ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม

 

            [๑] ข้าพเจ้า (ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่นๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์) ได้สดับมาอย่างนี้

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้รังใหญ่ในสุภควัน เขตเมืองอุกกัฏฐา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า

            “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง (มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง หมายถึงเทศนาว่าด้วยเหตุให้เกิดสภาวะทั้งปวง) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

            ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน

            [๒] “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน (ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนานานัปการ ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ (๑) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต (๒) กัลยาณปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว) ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย (พระอริยะ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก ที่ชื่อว่าพระอริยะเพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปแต่ในทางเจริญ เป็นผู้ที่ชาวโลกและเทวโลกควรดำเนินตาม) ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย (สัตบุรุษ โดยทั่วไป หมายถึงคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีความภักดีมั่นคง กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความเต็มใจ แต่ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก) ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ หมายรู้ปฐวี (ดิน) (ปฐวี มี ๔ ชนิด คือ (๑) ลักขณปฐวี เป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง หยาบเฉพาะตนในตัวมันเอง (๒) สสัมภารปฐวี เป็นส่วนแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น (๓) อารัมมณปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่นำมากำหนดเป็นอารมณ์ของปฐวีกสิณ นิมิตตปฐวี ก็เรียก (๔) สัมมติปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่ปฐวีเทวดามาเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจปฐวีกสิณและฌานในที่นี้ ปฐวี หมายถึงทั้ง ๔ ชนิด) โดยความเป็นปฐวี ครั้นหมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว (หมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวี ในที่นี้หมายถึงหมายรู้แผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริตคือกำหนดให้ต่างออกไปจากความเป็นจริงโดยประการต่างๆ ด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะและทิฏฐิ ที่มีกำลัง) กำหนดหมายซึ่งปฐวี (กำหนดหมายซึ่งปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า 'เราเป็นดิน ดินเป็นของเรา, คนอื่นเป็นดิน ดินเป็นของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจตัณหาให้เกิดฉันทราคะ ติดใจในผมเป็นต้นจนถึงตั้งความปรารถนาว่า 'ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ ขอให้เรามีผมนุ่มดำสนิทดี, กำหนดหมายด้วยอำนาจมานะว่า 'เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือเราด้อยกว่า' และกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ยึดมั่นว่าผมเป็นชีวะ โดยนัยว่า 'ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น') กำหนดหมายในปฐวี กำหนดหมายนอกปฐวี (กำหนดหมายในปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า "มีเราอยู่ในดิน หรือเรามีปลิโพธิในดิน มีผู้อื่นอยู่ในดิน หรือผู้อื่นมีปลิโพธในดิน" ตามนัยที่ว่า 'พิจารณาเห็นอัตตาในรูปเป็นต้น กำหนดหมายนอกปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า ตนหรือคนอื่นพร้อมทั้งสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากดินแต่มิใช่ดินตามลัทธิพรหมัณฑวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกเกิดจากพรหม) ลัทธิอณุกวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยอณู) หรือลัทธิอิสสรวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก) แล้วเกิดตัณหา มานะในตน และบุคคลอื่นตลอดถึงสรรพสิ่งนั้น) กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ยินดีปฐวี (ยินดีปฐวี หมายถึงเพลิดเพลินยินดีติดใจปฐวีด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ความยินดีปฐวีนั่นเองชื่อว่ายินดีทุกข์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุ ผู้นั้นยินดีทุกข์ ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์')

             ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้ (ไม่ได้กำหนดรู้ หมายถึงไม่ได้กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ประการ คือ (๑) ญาตปริญญา ได้แก่ รู้ว่า ‘นี้เป็นปฐวีธาตุภายใน นี้เป็นปฐวีธาตุภายนอก นี้เป็นลักษณะ กิจ เหตุเกิด และที่เกิดแห่งปฐวีธาตุ’ หรือได้แก่กำหนดนามและรูป (๒) ตีรณปริญญา ได้แก่ พิจารณาเห็นว่า ‘ปฐวีธาตุมีอาการ ๔๐ คือ อาการไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค’ เป็นต้น หรือได้แก่ พิจารณากลาปะ (ความเป็นกลุ่มก้อน) เป็นต้น พิจารณาอนุโลมญาณเป็นที่สุด (๓) ปหานปริญญา ได้แก่ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว จึงละฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) ในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตผล หรือได้แก่ ญาณในอริยมรรค เพราะปริญญา ๓ ประการนี้ไม่มีแก่ปุถุชน เขาจึงกำหนดหมายและยินดีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ)’

            หมายรู้อาโป(น้ำ)โดยความเป็นอาโป ครั้นหมายรู้อาโปโดยความเป็นอาโปแล้วกำหนดหมายซึ่งอาโป กำหนดหมายในอาโป กำหนดหมายนอกอาโป กำหนดหมายอาโปว่าเป็นของเรา ยินดีอาโป

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้เตโช(ไฟ)โดยความเป็นเตโช ครั้นหมายรู้เตโชโดยความเป็นเตโชแล้ว กำหนดหมายซึ่งเตโช กำหนดหมายในเตโช กำหนดหมายนอกเตโช กำหนดหมายเตโชว่าเป็นของเรา ยินดีเตโช

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้วาโย(ลม)โดยความเป็นวาโย ครั้นหมายรู้วาโยโดยความเป็นวาโยแล้ว กำหนดหมายซึ่งวาโย กำหนดหมายในวาโย กำหนดหมายนอกวาโย กำหนดหมายวาโยว่าเป็นของเรา ยินดีวาโย

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

             [๓] หมายรู้ภูต (ภูต หมายถึงขันธ์ ๕ อมนุษย์ ธาตุ สิ่งที่มีอยู่ พระขีณาสพ สัตว์ และต้นไม้เป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ต่ำกว่าชั้นจาตุมหาราช) โดยความเป็นภูต ครั้นหมายรู้ภูตโดยความเป็นภูตแล้ว กำหนดหมายซึ่งภูต กำหนดหมายในภูต กำหนดหมายนอกภูต กำหนดหมายภูตว่าเป็นของเรา ยินดีภูต

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดา ครั้นหมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดาแล้ว กำหนดหมายซึ่งเทวดา กำหนดหมายในเทวดา กำหนดหมายนอกเทวดา กำหนดหมายเทวดาว่าเป็นของเรา ยินดีเทวดา

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้ปชาบดี (ปชาบดี หมายถึงผู้ยิ่งใหญ่กว่าปชาคือหมู่สัตว์ ได้แก่ มารชื่อว่า ปชาบดี เพราะปกครองเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี) โดยความเป็นปชาบดี ครั้นหมายรู้ปชาบดีโดยความเป็นปชาบดีแล้ว กำหนดหมายซึ่งปชาบดี กำหนดหมายในปชาบดี กำหนดหมายนอกปชาบดี กำหนดหมายปชาบดีว่าเป็นของเรา ยินดีปชาบดี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหม ครั้นหมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งพรหม กำหนดหมายในพรหม กำหนดหมายนอกพรหม กำหนดหมายพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

             หมายรู้อาภัสสรพรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหม ครั้นหมายรู้อาภัสสรพรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอาภัสสรพรหม กำหนดหมายในอาภัสสรพรหม กำหนดหมายนอกอาภัสสรพรหม กำหนดหมายอาภัสสรพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอาภัสสรพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้สุภกิณหพรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหม ครั้นหมายรู้สุภกิณหพรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งสุภกิณหพรหม กำหนดหมายในสุภกิณหพรหม กำหนดหมายนอกสุภกิณหพรหม กำหนดหมายสุภกิณหพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีสุภกิณหพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้เวหัปผลพรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหม ครั้นหมายรู้เวหัปผลพรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเวหัปผลพรหม กำหนดหมายในเวหัปผลพรหม กำหนดหมายนอกเวหัปผลพรหม กำหนดหมายเวหัปผลพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีเวหัปผลพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้อภิภูสัตว์ (อภิภูสัตว์ กับ อสัญญีสัตว์ เป็นไวพจน์ของกันและกัน หมายถึงสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา สถิตอยู่ในชั้นเดียวกับเวหัปผลพรหม บังเกิดด้วยอิริยาบถใดก็สถิตอยู่ด้วยอิริยาบถนั้นตราบสิ้นอายุขัย) โดยความเป็นอภิภูสัตว์ ครั้นหมายรู้อภิภูสัตว์โดยความเป็นอภิภูสัตว์แล้ว กำหนดหมายซึ่งอภิภูสัตว์ กำหนดหมายในอภิภูสัตว์ กำหนดหมายนอกอภิภูสัตว์ กำหนดหมายอภิภูสัตว์ว่าเป็นของเรา ยินดีอภิภูสัตว์

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้

             [๔] หมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตนพรหม ครั้นหมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายในอากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายนอกอากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายอากาสานัญจายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอากาสานัญจายตนพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'

            หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหม ครั้นหมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายนอกวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายวิญญาณัญจายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีวิญญาณัญจายตนพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'

            หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหม ครั้นหมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายในอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายนอกอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายอากิญจัญญายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอากิญจัญญายตนพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'

            หมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ครั้นหมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายนอกเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            [๕] หมายรู้รูปที่ตนเห็น (รูปที่ตนเห็น หมายถึงสิ่งที่ตนเห็นทางมังสจักขุ หรือทิพพจักขุ คำนี้เป็นชื่อแห่งรูปายตนะ) โดยความเป็นรูปที่ตนเห็น ครั้นหมายรู้รูปที่ตนเห็นโดยความเป็นรูปที่ตนเห็นแล้ว กำหนดหมายซึ่งรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายในรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายนอกรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายรูปที่ตนเห็นว่าเป็นของเรายินดีรูปที่ตนเห็น

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้เสียงที่ตนได้ยิน (เสียงที่ตนได้ยิน หมายถึงสิ่งที่ตนฟังทางมังสโสตะ หรือทิพพโสตะ คำนี้เป็นชื่อแห่งสัททายตนะ) โดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยิน ครั้นหมายรู้เสียงที่ตนได้ยินโดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยินแล้ว กำหนดหมายซึ่งเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายในเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายนอกเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายเสียงที่ตนได้ยินว่าเป็นของเรา ยินดีเสียงที่ตนได้ยิน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้อารมณ์ที่ตนทราบ (อารมณ์ที่ตนทราบ หมายถึงอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว และรู้แล้วจึงรับเอา คือ เข้าไปกระทบรับเอา มีคำอธิบายว่า ที่ตนรู้แจ้งแล้วเพราะการกระทบกันและกันระหว่างอินทรีย์กับอารมณ์ทั้งหลาย คำนี้เป็นชื่อแห่งคันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะ) โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบ ครั้นหมายรู้อารมณ์ที่ตนทราบโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์ที่ตนทราบ กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนทราบ กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตนทราบ กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนทราบว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนทราบ

             ข้อนั้นเพราะเหตุไร

             เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง (อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง หมายถึงอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งทางใจ คำนี้เป็นชื่อแห่งอายตนะที่เหลือ อีกอย่างหนึ่งเป็นชื่อแห่งธรรมารมณ์ แต่ในที่นี้ได้เฉพาะอารมณ์ที่นับเนื่องในกายของตน) โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ครั้นหมายรู้อารมณ์ที่ตนรู้แจ้งโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            [๖] หมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอันเดียวกัน ครั้นหมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอันเดียวกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายในความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายนอกความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้ความที่กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกัน ครั้นหมายรู้ความที่กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่กามจิตต่างกัน กำหนดหมายในความที่กามจิตต่างกัน กำหนดหมายนอกความที่กามจิตต่างกัน กำหนดหมายความที่กามจิตต่างกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่กามจิตต่างกัน

             ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้สักกายะ (สักกายะ หมายถึงอุปาทานขันธ์ ๕ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)) ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวง ครั้นหมายรู้สักกายะทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวงแล้ว กำหนดหมายซึ่งสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายในสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายนอกสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายสักกายะทั้งปวงว่าเป็นของเรา ยินดีสักกายะทั้งปวง

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

            หมายรู้นิพพาน (นิพพาน ในที่นี้หมายถึงนิพพานที่ปุถุชนเข้าใจผิด ด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิ คือ เข้าใจว่า‘อัตตาที่พรั่งพร้อม เพียบพร้อม บำเรอด้วยกามคุณ ๕ เป็นนิพพานในปัจจุบัน, นิพพานเป็นอัตตา อัตตาเป็นอย่างอื่นจากนิพพาน ความสุขเป็นนิพพาน หรือนิพพานเป็นของเรา’) โดยความเป็นนิพพาน ครั้นหมายรู้นิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว กำหนดหมายซึ่งนิพพาน กำหนดหมายในนิพพาน กำหนดหมายนอกนิพพาน กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน จบ

-----------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล

            [๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดยังเป็นเสขบุคคล (เสขบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ที่ยังต้องศึกษา ๓ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีผู้ยังต้องฝึกอบรมในไตรสิกขา คือ (๑) อธิสีลสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องศีล (๒) อธิจิตตสิกขาฝึกอบรมในเรื่องจิต (สมาธิ) (๓) อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา) ไม่ได้บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวี โดยความเป็นปฐวี (รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี หมายถึงรู้ด้วยสัญญาที่แตกต่างจากปุถุชน หรือรู้ด้วยญาณอันพิเศษยิ่ง กล่าวคือญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา มีคำอธิบายว่า เมื่อปล่อยวางความเป็นปฐวีอย่างนี้ ย่อมรู้ยิ่งปฐวีนั้นว่า ‘ไม่เที่ยง’ บ้าง ว่า ‘เป็นทุกข์’ บ้าง ว่า ‘เป็นอนัตตา’ บ้าง) ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งปฐวี อย่ากำหนดหมายในปฐวี อย่ากำหนดหมายนอกปฐวี อย่ากำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา อย่ายินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ...พรหม ... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ... อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งนิพพาน อย่ากำหนดหมายในนิพพาน อย่ากำหนดหมายนอกนิพพาน อย่ากำหนดหมายนิพพานว่าเป็น ของเรา อย่ายินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล จบ

--------------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ

            [๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว (อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงอยู่จบธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกับครูบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมคืออริยมรรคบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ ๑๐ ประการบ้าง) ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว (สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ (๑) กามราคะ (๒) ปฏิฆะ (๓) มานะ (๔) ทิฏฐิ (๕) วิจิกิจฉา (๖) สีลัพพตปรามาส (๗) ภวราคะ (๘) อิสสา (๙) มัจฉริยะ (๑๐) อวิชชา สังโยชน์เหล่านี้ เรียกว่า ภวสังโยชน์ เพราะผูกพันหมู่สัตว์ไว้ในภพน้อยภพใหญ่) หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนดหมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

-------------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ

            [๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม ...เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนดหมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

---------------------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ

            [๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนดหมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

----------------------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ

            [๑๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

             เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนดหมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

--------------------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต

(ตถาคต ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค บัณฑิตเรียกว่า ‘ตถาคต’ เพราะเหตุ ๘ ประการ คือ (๑) เพราะเสด็จมาแล้วอย่างนั้น (๒) เพราะเสด็จไปแล้วอย่างนั้น (๓) เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะอันแท้จริง (๔) เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้ตามความเป็นจริง (๕) เพราะทรงเห็นจริง (๖) เพราะตรัสวาจาจริง (๗) เพราะทรงทำจริง (๘) เพราะทรงครอบงำ (ผู้ที่ยึดถือลัทธิอื่นทั้งหมดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก))

            [๑๒] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

             เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้ปฐวีนั้นแล้ว’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม… อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม… เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน… ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนดหมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้นิพพานนั้นแล้ว’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต จบ

--------------------

 

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต

            [๑๓] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี สัตว์ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา สลัดทิ้งตัณหาโดยประการทั้งปวง’

            ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนดหมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีนิพพาน

            ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมีสัตว์ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา สลัดทิ้งตัณหาโดยประการทั้งปวง”

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต จบ

---------------------------------

            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมิได้มีใจยินดีชื่นชม (มิได้มีใจยินดีชื่นชม หมายถึงภิกษุเหล่านั้นไม่รู้คือไม่เข้าใจเนื้อความของพระสูตรนี้ เหตุยังมีมานะทิฏฐิมาก เพราะมัวเมาในปริยัติ และเพราะพระภาษิตนั้นลึกซึ้งด้วยนัยที่ ๑ คือ ปุถุชน จนถึงนัยที่ ๘ คือพระตถาคต ท่านเหล่านั้นจึงไม่รู้แจ้งอรรถแห่งพระพุทธพจน์ จึงมิได้มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตนั้น ภายหลังได้สดับโคตมกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสที่โคตมกเจดีย์แล้ว จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย) พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มูลปริยายสูตรที่ ๑ จบ

---------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค

มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง

               อรรถกถามูลปริยายสูตร               

                          

               ที่มาของชื่อเมืองอุกกัฏฐา               

               เมืองนั้นเขาเรียกว่า อุกกัฏฐา เพราะชาวเมืองพากันชูคบเพลิง สร้างแม้ในเวลากลางคืนด้วยหวังว่า วันมงคล ขณะดี ฤกษ์ดี อย่าเลยไปเสีย. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพราะเมืองนั้นพวกชาวเมืองจุดประทีปมีด้ามส่องให้สร้าง. ใกล้เมืองชื่ออุกกัฏฐานั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนก็ดี เสด็จดำเนินก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี ก็พึงทราบว่า ประทับอยู่ ทั้งนั้น.
               
                ที่มาของป่าสุภควัน               

               ป่าชื่อว่าสุภคะ เพราะถึงความงาม. อธิบายว่า เพราะสง่างาม และเพราะมีสิ่งที่พึงประสงค์สวยงาม.
               ก็เพราะความสวยงามของป่านั้น ผู้คนทั้งหลายจึงพากันถือเอาข้าวและน้ำเป็นต้น ไปดื่มกินเที่ยวเล่นสนุกสนานอยู่ในป่านั้นนั่นแลตลอดทั้งวัน และปรารถนาสิ่งที่เขาปรารถนาดีๆ ในที่นั้นว่า ขอเราทั้งหลายจงได้ลูกชายลูกหญิงเถิด และสิ่งที่พึงปรารถนานั้นเขาก็ได้สมปรารถนาทีเดียว ป่านั้นชื่อว่า สุภคะ เพราะสง่างาม และเพราะมีสิ่งที่พึงประสงค์สวยงามดังพรรณนามานี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สุภคะ แม้เพราะคนส่วนมากติดใจ. ชื่อว่า วนะ (ป่า) เพราะอรรถว่าสัตว์ทั้งหลายชอบใจ คือทำให้สัตว์ทั้งหลายรักใคร่ด้วยคุณสมบัติของตัวมันเอง. อธิบายว่า ให้เกิดความน่ารักในตัวเอง ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนะ (ป่า) เพราะเรียกหา. อธิบายว่า เหมือนเรียกร้องปวงสัตว์ด้วยเสียงร้องของนกมีนกโกกิลาเป็นต้น ที่เพลิดเพลินอยู่กับกลิ่นดอกไม้นานาพรรณ และด้วยกิ่งก้านค่าคบใบแก่ใบอ่อนของต้นไม้ที่สั่นไหว เพราะต้องลมอ่อนว่า มาเถิด มากินมาใช้ฉันเถิด.
               ป่านั้นด้วย ถึงความงามด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า สุภควัน. ในป่าสุภควันนั้น.

 

                   มานะเกิดเพราะปริยัติ               

               ดังได้สดับมา พราหมณ์ ๕๐๐ คนเรียนจบไตรเพท ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกบวช จึงออกบวชอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อกาลไม่นานเลยก็เรียนเอาพระพุทธพจน์ทั้งหมด เพราะอาศัยการศึกษาเล่าเรียน จึงเกิดมานะขึ้นว่า พวกเรารู้พระพุทธพจน์ที่พระผู้มีภาคเจ้าตรัสไว้พลันทีเดียว เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ตรัสเรื่องอะไรๆ นอกเหนือจากลิงค์ ๓ บท ๔ และวิภัตติ ๗ ก็เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าบทที่เป็นเงื่อนงำ (ไม่เข้าใจ) สำหรับพวกเราย่อมไม่มี ดังนี้.
               ภิกษุเหล่านั้นไม่มีความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า จำเดิมแต่นั้น ก็ไม่ไปอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง ไม่ไปฟังธรรมเป็นประจำบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวารจิตนั้นของภิกษุเหล่านั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ยังถอนตะปูคือมานะไม่ได้ ก็ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งมรรคหรือผล ทรงกระทำมานะที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยการเล่าเรียนสุตะของภิกษุเหล่านั้นให้เป็นต้นเหตุเกิดเรื่อง จึงเริ่มการแสดงธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ฉลาดในการแสดงมูลปริยายสูตรแห่งธรรมทั้งปวง เพื่อจะหักเสียซึ่งมานะ (ของภิกษุเหล่านั้น) ดังนี้.


               ความหมายของปุถุชน               

                ปุถุชน ชื่อว่าเญยยะ เพราะไม่มีอาคม ชื่อว่าอัสสุตวา เพราะไม่มีอธิคม.
               อธิบายว่า ปุถุชนใด ชื่อว่าไม่มีอาคมที่ขจัดความไม่รู้ เพราะไม่รู้เหตุที่เว้นจากการเรียน การสอบถามและการวินิจฉัยในขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ ปัจจยาการและสติปัฏฐานเป็นต้น. ชื่อว่าไม่มีอธิคม เพราะไม่ได้บรรลุธรรมที่จะพึงบรรลุด้วยการปฏิบัติ. ปุถุชนนั้นจึงชื่อว่าเญยยะ เพราะไม่มีอาคม ชื่อว่าอัสสุตวา เพราะไม่มีอธิคม.
               ชนนี้นั้น ชื่อว่า ปุถุชน เพราะเหตุทั้งหลายมีการยังกิเลสหนาให้เกิดเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ชนนี้ชื่อว่า หนา (ปุถุ) เพราะหยั่งลงภายในกิเลสที่หนา.
               จริงอยู่ ชนนั้น ชื่อว่าปุถุชน เพราะเหตุทั้งหลายมีอาทิคือ ยังกิเลสเป็นต้นที่หนามีประการต่างๆ ให้เกิด. สมดังพระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ชนทั้งหลาย ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ายังกิเลสหนาให้เกิด, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าถูกสักกายทิฏฐิเบียดเบียนมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าต้องคอยมองดูศาสดาบ่อยๆ, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ายังไม่หลุดพ้นไปจากคติทั้งปวงที่หนาแน่น, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าปรุงแต่งเครื่องปรุงแต่งต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าถูกโอฆะต่างๆ เป็นอันมากพัดพาไป, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ากำหนัด ติดใจ สยบ ลุ่มหลง ติดขัด ขัดข้อง พัวพันในกามคุณ ๕ เป็นอันมาก. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าถูกนิวรณ์ ๕ ร้อยรัดไว้ ปกคลุม ปิดบัง ครอบงำไว้เป็นอันมาก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะอยู่ในหมู่ชนผู้มีธรรมจริยาต่ำ ผู้หันหลังให้กับอริยธรรม. จำนวนมาก คือนับไม่ถ้วน ซึ่งหันหลังให้อริยธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่า ชนนี้ถึงการนับว่าแยกอยู่ต่างหาก คือไม่เกี่ยวข้องกับพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้น.
               


               อริยะ-สัตบุรุษ               

               คำว่า อริยะ  ท่านกล่าวหมายเอาพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปในทางเจริญ และอันชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก พึงดำเนินตาม.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอริยะในที่นี้ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง. สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต ท่านเรียกว่า อริยะ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ.
               อนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของพระตถาคตเจ้า พึงทราบว่า สัตบุรุษ ในคำว่า สปฺปุริสา นี้ จริงอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า โสภณบุรุษ. เพราะประกอบด้วยคุณอันเป็นโลกุตตระ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสัตบุรุษ.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตบุรุษเหล่านั้นทั้งหมดเทียว ท่านกล่าวแยกออกเป็น ๒ พวก. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าและพุทธสาวกก็ดี เป็นทั้งพระอริยะและสัตบุรุษ.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         บุคคลใดแล เป็นนักปราชญ์ ผู้กตัญญูกตเวที เป็นกัลยาณมิตร มีความภักดีมั่น กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยความเต็มใจ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้เช่นนั้นว่า สัตบุรุษ ดังนี้.
               
              ปฐวี ๔ อย่าง               

               ปฐวีมี ๔ อย่าง คือ ลักขณปฐวี ๑ สสัมภารปฐวี ๑ อารัมมณปฐวี ๑ และสัมมติปฐวี ๑.
               ในปฐวี ๔ อย่างนั้น ปฐวีธาตุที่ท่านกล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน? ได้แก่สิ่งที่แข้นแข็ง (เป็นลักษณะ) เฉพาะตนอยู่ในตัวมันเอง ชื่อว่าลักขณปฐวี.
               ปฐวีธาตุที่ท่านกล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า ภิกษุขุดเองก็ดี ให้คนอื่นขุดก็ดีซึ่งแผ่นดิน ดังนี้ ชื่อว่าสสัมภารปฐวี. อนึ่ง ปฐวีธาตุ คือโกฏฐาสะ (ส่วน) ๒๐ มีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีเหล็กและโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น รวมเรียกว่าสสัมภารปฐวี.
               ส่วนปฐวีธาตุ มาในประโยคเป็นต้นว่า คนหนึ่งรู้ชัดปฐวีกสิณ เรียกว่าอารัมมณปฐวี. บางท่านเรียกว่านิมิตตปฐวี.
               ปฐวีธาตุที่ว่า บุคคลได้ฌานมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ เกิดในเทวโลก ย่อมได้นามว่า ปฐวีเทวดา ด้วยอำนาจปฐวีกสิณเป็นเหตุให้มา (เกิด) นี้ พึงทราบว่า สัมมติปฐวี.
               ในอธิการนี้ ย่อมได้ปฐวีแม้ทั้งหมดนั้น. ปุถุชนนี้ย่อมหมายรู้ปฐวีอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาปฐวีเหล่านั้นโดยเป็นปฐวี ย่อมหมายรู้ว่าเป็นปฐวี ย่อมรู้โดยส่วนแห่งปฐวี ครั้นถือเอาตามโวหารโลกแล้ว ย่อมหมายเอาด้วยสัญญาวิปัลลาสว่า เป็นปฐวี เมื่อปล่อยวางส่วนแห่งปฐวีไม่ได้อย่างนี้แหละ ย่อมหมายรู้เอาส่วนแห่งปฐวีนั่นโดยนัยเป็นต้นว่า สัตว์หรือว่าของสัตว์. เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ควรกล่าวไว้ว่า เอวํ สญฺชานาติ เพราะว่าปุถุชนเป็นเหมือนคนบ้า เขาย่อมยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง เหตุอันต่างด้วยความเป็นผู้ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นต้นนั่นแหละ จัดเป็นตัวการในการกำหนดหมายนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสว่า อปริญฺญาตํ ตสฺส ข้างหน้าก็เป็นอันตรัสไว้แล้ว.
               ปุถุชนนั้นกำหนดหมายแผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริตอย่างนี้แล้ว ต่อมาย่อมสำคัญ คือกำหนดให้ต่างออกไป ได้แก่ยึดถือโดยประการต่างๆ คือโดยประการอื่นด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า คือตัณหามานะและทิฏฐิที่มีกำลัง ซึ่งท่านกล่าวไว้ด้วยนาม (รวม) ว่ามัญญนาในที่นี้ ตามพระบาลีว่า ก็ส่วนแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มีสัญญาเป็นต้นเหตุ ดังนี้. 
               ก็เพื่อจะทรงแสดงความสำคัญเหล่านั้นของเขาผู้สำคัญอยู่เช่นนี้โดยนัยอันพิสดาร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสปฐวีในภายใน ๒๐ ประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า เกสา โลมา.
               ตรัสปฐวีในคัมภีร์วิภังค์อย่างนี้ว่า บรรดาปฐวีธาตุ ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุภายนอกเป็นไฉน? คือ วัตถุภายนอกที่แข้นแข็งหยาบกระด้าง ไม่มีใจครอง เช่นเหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำ แร่เงิน มุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินตรา ทองรูปพรรณ แก้วแดง (ทับทิม) เพชรตาแมว หญ้า ท่อนไม้ ก้อนกรวด ทราย กระเบื้อง แผ่นดิน หิน ภูเขา,
               และตรัสนิมิตแผ่นดินในวัตถุอารมณ์ภายใน ท่านหมายเอาปฐวีนั้นๆ กล่าวการประกอบความนี้ไว้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญว่าเราเป็นดิน ว่าดินเป็นของเรา ว่าคนอื่นเป็นดิน ว่าดินของคนอื่น ดังนี้ ด้วยความสำคัญ ๓ อย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายในด้วยความสำคัญ ด้วยอำนาจตัณหา มานะและทิฏฐิ.
               สำคัญอย่างไร?
               จริงอยู่ ปุถุชนนี้ยังฉันทราคะให้เกิดในผมเป็นต้น คือยินดีเพลิดเพลิน พร่ำเพ้อ หลงใหล ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็หรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง, ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีภายในด้วยความสำคัญอันเกิดจากอำนาจแห่งตัณหาอย่างนี้.
               ก็หรือว่า เกิดความทะยานอยากในผมเป็นต้นนั้น โดยนัยเป็นต้นว่า ผมของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ขอขนของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ก็หรือว่า ตั้งจิตไว้เพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้โดยนัยเป็นต้น ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์อันนี้ เราจักมีผมดำสนิทอ่อนนุ่ม ดังนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายใน ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา แม้ดังอธิบายมานี้.
               อนึ่ง ปุถุชนอาศัยสมบัติ (ความถึงพร้อม) หรือวิบัติของผมเป็นต้นแห่งตน แล้วยังมานะให้เกิดขึ้นว่า เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือว่าเราเลวกว่า ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า สำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจมานะ.
               อนึ่ง ย่อมยึดมั่นผมว่าเป็น ชีวะ โดยนัยที่มาแล้วว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ดังนี้. (แม้) ในขนเป็นต้นก็นัยนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (แผ่นดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิดังกล่าวมา.
               อีกอย่างหนึ่ง ปุถุชนย่อมยึดมั่นซึ่งปฐวีอันต่างด้วยผมเป็นต้น โดยนัยอันเป็นข้าศึกต่อพฤติกรรมนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ก็ปฐวีธาตุภายในอันใดแล และปฐวีธาตุภายนอกอันใด ก็ปฐวีธาตุ (ทั้ง ๒) นั้น ชื่อว่าปฐวีธาตุเหมือนกัน อันนี้นั่นไม่ใช่ของเราว่า ของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิแม้อย่างนี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีภายในด้วยความสำคัญ ๓ อย่าง ดังพรรณนามานี้ก่อน. พึงทราบว่า ย่อมสำคัญปฐวีภายนอกเหมือนอย่างปฐวีภายใน.
               อย่างไร?
               จริงอยู่ ปุถุชนนี้ยังฉันทราคะให้เกิดขึ้นในเหล็กและโลหะเป็นต้น เพลิดเพลิน พร่ำเพ้อ หลงใหล เหล็กและโลหะเป็นต้น ย่อมหวงแหนรักษา คุ้มครอง เหล็กเป็นต้นไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เหล็กของเรา โลหะของเรา ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาด้วยประการฉะนี้.
               ก็หรือว่าปุถุชนย่อมทะยานอยากในปฐวีภายนอกนี้ว่า ขอเหล็กและโลหะเป็นต้นของเรา พึงมีอยู่อย่างนี้ตลอดไป หรือตั้งจิตไว้ เพื่อจะได้สิ่งที่ยังไม่ได้ว่า ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นผู้มีอุปกรณ์ มีเหล็กและโลหะเป็นต้นที่ถึงพร้อมแล้วอย่างนี้. ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจตัณหาแม้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ปุถุชนอาศัยสมบัติหรือวิบัติแห่งเหล็กและโลหะเป็นต้นของตนแล้ว เกิดมานะขึ้นว่า ด้วยอุปกรณ์นี้ เราจึงดีกว่าเขา เสมอเขาหรือเลวกว่าเขา. ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอกด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจมานะอย่างนี้.
               ก็ปุถุชนเป็นผู้มีความสำคัญในเหล็กว่าชีวะ ย่อมยึดมั่นว่านี้เป็นชีวะ. นัยในโลหะเป็นต้นก็มีนัยนี้. ปุถุชนชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิด้วยประการฉะนี้.
               อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้พิจารณาเห็นปฐวีกสิณโดยเป็นอัตตา คือว่าย่อมยึดมั่นนิมิตปฐวีว่า อัตตา โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทานั่นแลว่า ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นเนื้อความทั้ง ๒ คือ ปฐวีกสิณและองคาพยพว่า ปฐวีกสิณอันใด เราก็อันนั้น เราอันใด ปฐวีกสิณก็อันนั้น ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญปฐวีภายนอก ด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิด้วยประการฉะนี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีแม้ภายนอกด้วยความสำคัญ ๓ อย่างดังอธิบายมานี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญว่า เรามีอยู่ในปฐวี, ย่อมสำคัญว่า ความกังวลผูกพันของเรามีอยู่ในปฐวี, ย่อมสำคัญว่า บุคคลอื่นมีอยู่ในปฐวี, ย่อมสำคัญว่า ความกังวลผูกพันของบุคคลอื่นในปฐวีมีอยู่ ดังนี้
               อีกอย่างหนึ่ง นัยแห่งเนื้อความของสัตตมีวิภัตตินั้น ที่ใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นอัตตาในรูปอย่างไร? คือปุถุชนบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตา เขาย่อมพิจารณาเห็นอัตตาในรูปอย่างนี้ว่า ก็นี้แหละเป็นอัตตาของเรา อัตตาของเรานี้นั้นแลมีอยู่ในรูปนี้ ดังนี้.
               โดยนัยนั้นนั่นแล ปุถุชนจึงถือเอาเวทนาธรรมเป็นต้น.
               ต่อแต่นี้ก็กำหนดเอาปฐวีชนิดใดชนิดหนึ่งในบรรดาปฐวีทั้งภายในและภายนอก โดยความเป็นโอกาสแห่งอัตตานั้น สำคัญอยู่ว่า ก็อัตตาของเรานี้นั้นแลมีอยู่ในปฐวีนี้ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญในปฐวี.
               นี้ชื่อว่าความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนี้.
               ก็เมื่อปุถุชนนั้นยังความสิเนหาในอัตตา และมานะ อันมีอัตตาเป็นที่ตั้งให้เกิดขึ้นในรูปนั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะ.
               แต่ในกาลใด ปุถุชนย่อมสำคัญโดยนัยนั้นนั่นแลว่า ก็อัตตาของคนอื่นนั้นนั่นแล มีอยู่ในปฐวี ในกาลนั้น ความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจแห่งทิฏฐินั่นแล ย่อมถูก. ส่วนความสำคัญแม้นอกจากนี้ ท่านก็ปรารถนา (เอาเหมือนกัน).
               ปุถุชน เมื่อสำคัญการเกิดขึ้น หรือการจากไปจากปฐวีมีประเภทตามที่กล่าวแล้วแห่งตนหรือแห่งบุคคลอื่น พร้อมทั้งทรัพย์ศฤงคาร หรือสำคัญว่า อัตตาอื่นจากปฐวี พึงทราบว่า ชื่อว่าสำคัญจากปฐวี. นี้เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนั้น.
               ก็เมื่อปุถุชนนั้นยังความสิเนหาและมานะให้เกิดในวัตถุที่สำคัญกัน ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐินั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาและมานะ. อาจารย์พวกอื่นกล่าวไว้ว่า ปุถุชนเจริญปฐวีกสิณอันเป็นปริตตารมณ์ และต่อจากนั้น ยึดเอาอัตตาอันไม่มีประมาณอื่นแล้วสำคัญอยู่ว่า อัตตาของเรา (มี) แม้ในภายนอกจากปฐวี ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญจากปฐวี.
               ก็ความสำคัญอันหนึ่งที่เป็นไปโดยนัยนี้ว่า ปุถุชนย่อมยึดถือมหาปฐวีอย่างเดียว.
               ก็ความสำคัญที่เป็นไปโดยนัยนี้ว่า ย่อมหวงแหนมหาปฐวีด้วยอำนาจตัณหาถ่ายเดียว พึงทราบว่า ได้แก่ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน. ก็ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหานี้นั้น ควรประกอบเข้าในปฐวีทั้งภายในและภายนอกแม้ทั้งหมดมีประเภทตามที่กล่าวไว้แล้ว อย่างนี้ว่า ผมของเรา ขนของเรา เหล็กของเรา ดังนี้.
               ปุถุชนย่อมเพลิดเพลิน. อธิบายว่า ยินดี ติดใจปฐวี มีประการตามที่กล่าวแล้วนั่นแลด้วยกิเลสมีตัณหาเป็นต้น.
               หากมีคำถามว่า เมื่อใจความนี้สำเร็จแล้ว ด้วย ๒ บทนี้นั่นแลว่า เพราะเหตุไรจึงกล่าวไว้อย่างนี้.
               ตอบว่า คำนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายไม่ได้เก็บมาวิจารณ์ ก็มตินี้เป็นส่วนตัวของเรา จากลีลาการแสดง หรือจากการเห็นโทษเพราะท่านถึงพร้อมด้วยลีลาแห่งการแสดงอันวิจิตรด้วยนัยต่างๆ เพราะแทงตลอดธรรมธาตุอันใด ธรรมธาตุอันนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแทงตลอดด้วยดีแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านครั้นแสดงความเกิดขึ้นแห่งกิเลสด้วยอำนาจความสำคัญในเบื้องต้นแล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงด้วยอำนาจความยินดีเป็นต้น จึงกล่าวคำนี้ไว้เพราะลีลาแห่งการแสดงบ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ปุถุชนใดสำคัญปฐวี สำคัญในปฐวี สำคัญจากปฐวี สำคัญว่าปฐวีของเรา ปุถุชนนี้ เพราะเหตุที่ตนไม่อาจจะละตัณหา หรือทิฎฐิที่อาศัยปฐวีได้ ฉะนั้น จึงยินดีปฐวีโดยส่วนเดียว.
               อนึ่ง ปุถุชนใดยินดีปฐวี ปุถุชนนั้นย่อมยินดีทุกข์ และทุกข์เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ แม้เพราะการเห็นโทษ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวว่า ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุ ผู้นั้นยินดีทุกข์ ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความสำคัญและความยินดีอันมีปฐวีเป็นที่ตั้งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงนำเหตุที่เป็นเหตุสำคัญ และยินดีของปุถุชนนั้น จึงตรัสว่า เรากล่าวว่า ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร, ความไม่รู้รอบเป็นเหตุแห่งข้อนั้น ดังนี้.
               ข้อนั้น มีเนื้อความดังต่อไปนี้
               ถ้าว่ามีคำถามสอดเข้ามาว่า ปุถุชนนั้นย่อมสำคัญปฐวีนั้น เพราะเหตุอะไร คือว่า เพราะเหตุไรจึงสำคัญยินดีปฐวีนั้น ดังนี้ไซร้.
               ตอบว่า (เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) เราตถาคตกล่าวว่า ข้อนั้นอันปุถุชนนั้นมิได้กำหนดรู้แล้ว. มีอธิบายว่า เพราะเหตุที่ข้อนั้น อันปุถุชนนั้นมิได้กำหนดรู้แล้ว.
               จริงอยู่ ปุถุชนใดย่อมกำหนดรู้ปฐวี ปุถุชนนั้นย่อมกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา.
               ในปริญญา ๓ อย่างนั้น ญาตปริญญาเป็นไฉน? คือปุถุชนย่อมรู้ปฐวีธาตุว่า ปฐวีธาตุนี้เป็นไปในภายใน ปฐวีธาตุนี้เป็นไปในภายนอก นี้เป็นลักษณะของปฐวีธาตุนั้น เหล่านี้เป็นกิจ เป็นปัจจุปัฏฐาน และเป็นปทัฏฐานของปฐวีธาตุนั้น ดังกล่าวมานี้ เรียกว่าญาตปริญญา.
               ตีรณปริญญาเป็นไฉน? คือปุถุชนพิจารณาปฐวีธาตุ กระทำให้เป็นสิ่งที่ตนรู้แล้วอย่างนี้ ด้วยอาการ ๔๐ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรคเป็นต้น ดังกล่าวมานี้ เรียกว่าตีรณปริญญา.
               ปหานปริญญาเป็นไฉน? คือบุคคลพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละฉันทราคะในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตมรรค ดังกล่าวมานี้ เรียกว่าปหานปริญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง การกำหนดนามและรูป ชื่อว่าญาตปริญญา. การกำหนดรู้มีการพิจารณากลาปะเป็นเบื้องต้น และอนุโลมญาณเป็นที่สุด ชื่อว่าตีรณปริญญา. ญาณในอริยมรรค ชื่อว่าปหานปริญญา.
               ปุถุชนใดย่อมกำหนดรู้ปฐวี ปุถุชนนั้นย่อมกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้. ก็ปริญญาเหล่านั้นไม่มีแก่ปุถุชนนั้น เพราะฉะนั้น ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญ ย่อมยินดีปฐวี เพราะไม่กำหนดรู้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ไม่ได้สดับ ฯลฯ ย่อมสำคัญปฐวี ย่อมสำคัญในปฐวี ย่อมสำคัญจากปฐวี ย่อมสำคัญว่า ปฐวีของเรา ชื่อว่าย่อมยินดีปฐวี ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เราตถาคตกล่าวว่า (เพราะ) ข้อนั้นอันปุถุชนนั้นมิได้กำหนดรู้แล้ว.

               จบปฐวีวาร               
               ---------------------------------------------               


               พึงทราบอาโป ๔ อย่างคือ ลักษณอาโป สสัมภารอาโป อารัมมณอาโป และสมมติอาโป.
               บรรดาอาโป ๔ อย่างนั้น อาโปที่กล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า บรรดาอาโปธาตุ ๒ อย่างเหล่านั้น อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นไฉน? ได้แก่ สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบ เชื่อมประสาน (เป็นลักษณะ) เฉพาะตนอยู่ภายในตัวเอง คืออาโปธาตุที่มีใจครองในภายในรูป ชื่อว่าลักษณอาโป.
               อาโปกล่าวไว้ในประโยคเป็นต้นว่า บุคคลเรียนเอาอาโปกสิณ ย่อมถือเอานิมิตในอาโป ดังนี้ ชื่อว่าสสัมภารอาโป.
               คำที่เหลือทั้งหมดเช่นเดียวกับที่ท่านกล่าวไว้ในปฐวี (แผ่นดิน) นั้นแล.
               แต่เมื่อว่าโดยนัยแห่งการประกอบความล้วนๆ อาโปธาตุที่เป็นไปในภายใน ๑๒ อย่างที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยว่า ดี เสมหะ ดังนี้เป็นต้น พึงทราบว่า อาโปธาตุภายใน และอาโปธาตุที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               บรรดาอาโปธาตุ ๒ อย่าง อาโปธาตุที่เป็นไปในภายนอกเป็นไฉน? คือสิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบ เชื่อมประสาน อยู่ภายนอก ได้แก่ความเอิบอาบสิ่งที่ถึงความเอิบอาบ อาโปธาตุที่ไม่มีใจครองภายนอกรูป คือรสเกิดจากรากเหง้า รสเกิดจากลำต้น รสเกิดจากเปลือก รสเกิดจากใบ รสเกิดจากดอก รสเกิดจากผล นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง นํ้าอ้อย นํ้าที่แผ่นดินหรือนํ้าในอากาศ พึงทราบว่า อาโปธาตุภายนอก.
               เมื่อว่าโดยนัยแห่งการขยายความ เตโชธาตุ ๔ อย่าง ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า เตโชธาตุที่เป็นเหตุให้ร่างกายอบอุ่น ทรุดโทรม กระวนกระวาย และที่เป็นเหตุเผาอาหารให้ย่อย พึงทราบว่า เตโชธาตุภายใน.
               และเตโชธาตุที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               บรรดาเตโชธาตุ ๒ อย่างนั้น เตโชธาตุที่เป็นไปในภายนอกเป็นไฉน? คือ สิ่งที่ร้อน อบอุ่นในภายนอก คือเตโชธาตุที่ไม่มีใจครองในภายนอก ได้แก่ไฟเกิดจากไม้ ไฟเกิดจากสะเก็ดไม้ ไฟเกิดจากหญ้า ไฟเกิดจากขี้วัว ไฟเกิดจากแกลบ ไฟเกิดจากกองขยะ ไฟเกิดจากเชื้อ ความร้อนเกิดจากไฟ ความร้อนเกิดจากแสงพระอาทิตย์ ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งท่อนไม้ ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งหญ้า ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งข้าวเปลือก ความร้อนเกิดจากการทับถมแห่งสิ่งของ ดังนี้ พึงทราบว่า เตโชธาตุภายนอก.
               วาโยธาตุที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมที่แผ่ไปซ่านไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมมีพิษดุจศาสตรา ลมมีพิษดุจคมมีด ลมมีพิษดุจก้านบัว ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า พึงทราบว่า วาโยธาตุภายใน.
               และลมที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               บรรดาวาโยธาตุ ๒ อย่างนั้น วาโยธาตุในภายนอกเป็นไฉน? คือสิ่งที่กระพือพัดเคลื่อนไหวในภายนอก ได้แก่ วาโยธาตุภายนอกของรูปไม่มีใจครอง คือลมทิศตะวันออก ลมทิศตะวันตก ลมทิศเหนือ ลมทิศใต้ ลมฝุ่น ลมไม่มีฝุ่น ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมหัวด้วน ลมที่เกิดจากนกบิน ลมที่เกิดจากครุฑบิน ลมงวง ลมเกิดจากการพัดวี พึงทราบว่า วาโยธาตุภายนอก.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               หารนัยที่ชื่อว่า ลักษณะนี้ใด (ที่มีมา) ในเนตติปกรณ์อย่างนี้ว่า เมื่อกล่าวถึงธรรมอย่างหนึ่งแล้ว ด้วยธรรมอย่างหนึ่งนั้น ก็เป็นอันกล่าวถึงธรรมทุกอย่างที่มีลักษณะอย่างเดียวกันด้วยลักษณะหารนัย ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ดังนี้ เป็นอันท่านกล่าวไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ด้วยอำนาจแห่งหารนัยนั้น เพราะเหตุที่เมื่อถือเอามหาภูตรูปทั้ง ๔ ก็ย่อมเป็นอันถือเอาอุปาทายรูปไว้ด้วย เพราะอุปาทายรูปไม่ล่วงพ้นลักษณะรูปไปได้ มหาภูตรูปและอุปาทายรูปอันใดอันนั้นเป็นรูปขันธ์ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมสำคัญปฐวี อาโป เตโช วาโย ก็ย่อมเป็นอันตรัสว่า เขาย่อมพิจารณาเห็นรูปว่าเป็นอัตตาด้วย.
               เมื่อตรัสว่า ปุถุชนย่อมสําคัญในปฐวี อาโป เตโช วาโย ย่อมเป็นอันตรัสว่า ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ดังนี้. เมื่อตรัสว่า ย่อมสำคัญจากปฐวี อาโป เตโช วาโย ย่อมเป็นอันตรัสว่า ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาอันมีรูป และรูปในอัตตา เพราะสำเร็จความว่า อัตตาเป็นอื่นจากรูป ดังนี้.
               พึงทราบความสำคัญด้วยอำนาจแห่งสักกายทิฏฐิอันมีรูปเป็นที่ตั้ง ๔ ประการเหล่านี้ ดังกล่าวมานี้.
               ในข้อนี้พึงทราบความแตกต่างกันแม้นี้ว่า
               บรรดาทิฏฐิ ๔ ประการนั้น เป็นอุจเฉททิฏฐิ ๑ เป็นสัสสตทิฏฐิ ๓ ดังนั้น ทิฏฐิจึงมี ๒ อย่าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสความสำคัญซึ่งมีสังขารเป็นที่ตั้ง โดยมีรูปเป็นประธานอย่างนี้แล้ว บัดนี้ สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดถูกบัญญัติขึ้น เพราะอาศัยสังขารทั้งหลาย เพราะเหตุที่ปุถุชนกระทำความสำคัญแม้ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ฉะนั้น เมื่อชี้แสดงสัตว์เหล่านั้นอยู่ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญภูตทั้งหลายโดยความเป็นภูต ดังนี้.


               ความหมายของ ภูตศัพท์               

               ในข้อนั้น ภูตศัพท์ ใช้ในอรรถเป็นต้นว่า ขันธ์ ๕, อมนุษย์, ธาตุ, มีอยู่, พระขีณาสพ, สัตว์ และต้นไม้.
               จริงอยู่ ภูตศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า ขันธ์ ๕ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาดูว่า นี้เป็นภูต.
               ใช้ในอรรถว่า อมนุษย์ ดังในประโยคนี้ว่า ภูตทั้งหลายเหล่าใดมาประชุมพร้อมกันแล้วในที่นี้ ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า ธาตุ ๔ ดังในประโยคนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แลเป็นเหตุ... ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า มีอยู่ ดังในประโยคเป็นต้นว่า เป็นปาจิตตีย์ในเพราะภูต ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า พระขีณาสพ ดังในประโยคนี้ว่า ก็ภูตใดเป็นผู้กินกาละ ดังนี้
               ใช้ในอรรถว่า สัตว์ ดังในประโยคนี้ว่า ภูตทั้งหลายทั้งปวงแลจักทิ้งร่างกายไว้ในโลก ดังนี้
               ใช้ในอรรถเป็นต้นว่า ต้นไม้ ในประโยคนี้ว่า ภูตคามปาตพฺยตาย (พรากภูตคาม) ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ ภูตศัพท์นี้ ย่อมใช้ในสัตว์ทั้งหลาย.
               ก็แล ภูตศัพท์จะเป็นไปโดยไม่แตกต่างกันเลยก็หามิได้ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตํ่ากว่าชั้นจาตุมมหาราช ท่านประสงค์เอาว่า ภูต ในที่นี้ ดังนี้.
               
                ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ               

               จริงอยู่ ปุถุชนนี้ยึดเอาภูตทั้งหลายว่า งาม มีความสุขโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วว่า เขาเห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ผู้เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ดังนี้ ย่อมกำหนัด คือย่อมกำหนัดภูตเหล่านั้นแม้เพราะเห็น และย่อมกำหนัดแม้เพราะได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ถูกต้องและได้ทราบ ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาดังพรรณนามาฉะนี้.
               ย่อมตั้งจิตไว้เพื่อได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้โดยนัยเป็นต้นว่า ทำไฉนหนอ เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลทั้งหลาย. ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา แม้ด้วยประการฉะนี้.
               แต่เพราะอาศัยสมบัติและวิบัติของตนและของภูตทั้งหลาย ปุถุชนย่อมถือตัวว่าดีกว่าเขา ปุถุชนย่อมสำคัญภูตชนิดใดชนิดหนึ่งในภูตทั้งหลายว่า เลวกว่าตน หรือย่อมสําคัญตนว่าเลวกว่าภูตชนิดใดชนิดหนึ่ง ย่อมสำคัญภูตชนิดใดชนิดหนึ่งว่าดีกว่าตน (หรือย่อมสำคัญตนว่าดีกว่าภูตชนิดใดชนิดหนึ่ง) ย่อมสำคัญตนว่าเสมอกันกับภูต หรือย่อมสำคัญภูตว่าเสมอกันกับตน.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อก่อนถือว่าตนเสมอกันกับคนอื่น โดยชาติ ฯลฯ หรือโดยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมากลับสำคัญตนว่าดีกว่าเขา กลับสำคัญคนอื่นว่าเลวกว่าตน มานะเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า มานาติมานะ.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ปุถุชนสำคัญอยู่ว่า ก็ภูตทั้งหลายเที่ยง ยั่งยืน แน่นอน มีธรรมดาไม่แปรปรวน หรือว่า สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผู้น้อมไปสู่ภาวะการประสบโชคร้าย โชคดี ย่อมเสวยสุขทุกข์ในอภิชาติ ๖ ชาตินั้นแล ชื่อว่าย่อมสำคัญด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญ ๓ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายอย่างไร? คือ หวังความเกิดขึ้นแห่งตน หรือการเกิดความสุขแก่ตนในภูตทั้งหลายเหล่านั้นๆ ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาดังพรรณนามานี้ก่อน. หรือเมื่อความหวังความเกิดขึ้นในภูตทั้งหลาย จึงให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม, ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา แม้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ปุถุชนยึดเอาภูตทั้งหลายโดยการถือเอารวมกัน ย่อมสำคัญภูตทั้งหลายบางพวกในบรรดาภูตเหล่านั้นว่าดีกว่า หรือว่าสำคัญสัตว์บางพวกว่าเสมอกัน หรือเลวกว่า. ปุถุชนย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               อนึ่ง ปุถุชนย่อมสำคัญภูตบางพวกว่าเที่ยง ยั่งยืน ย่อมสำคัญภูตบางพวกว่าไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หรือย่อมสำคัญว่า แม้เราย่อมเป็นภูตประเภทหนึ่งในบรรดาภูตทั้งหลาย ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญในภูตทั้งหลายด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ปุถุชนเมื่อสำคัญความเกิดขึ้นแห่งตนหรือบุคคลอื่น พร้อมทั้งทรัพย์ศฤงคารจากภูตชนิดใดชนิดหนึ่ง พึงทราบว่า ย่อมสำคัญจากภูตดังนี้. นี้เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนั้น. ก็เมื่อปุถุชนนั้นยังความสิเนหาและมานะให้เกิดขึ้นในวัตถุที่สำคัญหมาย ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐินั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะด้วย.
               ก็ความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหานี้นั้น พึงทราบว่าย่อมเป็นไปโดยความยึดถือว่าเป็นของเรา โดยนัยเป็นต้นว่า บุตรของเรา ธิดาของเรา แพะและแกะของเรา ไก่และสุกรของเรา ช้าง โค กระต่ายและแมวของเรา ดังนี้.
               การบัญญัติภูตทั้งหลาย เพราะอาศัยสังขารเหล่าใด เพราะไม่กำหนดรู้สังขารเหล่านั้น ภูตทั้งหลายพึงทราบว่า ย่อมเป็นอันปุถุชนไม่กำหนดรู้ดังนี้. ส่วนการประกอบความ (ส่องความ) พึงทำไว้โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.


               เทพ ๓               

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแสดงที่ตั้งแห่งความสำคัญด้วยอำนาจแห่งสังขาร และด้วยอำนาจแห่งสัตว์โดยย่ออย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงที่ตั้งนั้นแม้โดยพิสดารโดยประเภทเป็นต้นว่า ภูมิพิเศษ จึงตรัสคำมีอาทิว่า เทเว เทวโต ดังนี้.
               ในคำนั้นมีรูปวิเคราะห์ดังนี้
               ที่ชื่อว่าเทพ เพราะอรรถว่าย่อมเล่น. อธิบายว่า สนุกสนาน และรุ่งเรืองด้วยกามคุณ ๕ หรือด้วยฤทธิ์ของตน.
               เทพเหล่านั้นมี ๓ จำพวก คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ.
               พระราชา พระมเหสี และพระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ. เทพที่สูงกว่านั้น เริ่มตั้งแต่เทพชั้นจาตุมมหาราช ชื่อว่าอุปปัตติเทพ. พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.
               แต่ในที่นี้พึงเห็นว่า ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพ.
               ก็อุปปัตติเทพเหล่านั้น จะเห็นว่าไม่แตกต่างกันก็หามิได้ คือเว้นมารพร้อมบริษัทในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเสีย เทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้นที่เหลือ ท่านประสงค์เอาว่า เทพ ในที่นี้. การพรรณนาเนื้อความทั้งหมดในข้อนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในภูตวาระนั่นแล.


               ท้าวปชาบดีคือพญามาร               

               มาร พึงทราบว่า ปชาบดี. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่า ปชาปติ นี้เป็นชื่อของท้าวมหาราชเป็นต้นผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาเหล่านั้นๆ. คำนั้นท่านปฎิเสธไว้ในมหาอรรถกถาว่า ไม่ถูก เพราะว่า มหาราชเป็นต้นเหล่านั้น ท่านถือเอาด้วย เทว ศัพท์นั่นเอง ส่วนพญามารนั่นแล ท่านประสงค์เอาว่า ปชาบดี ในที่นี้ โดยความเป็นใหญ่กว่า ปชา กล่าวคือหมู่สัตว์.
               ถามว่า พญามารนั้นย่อมอยู่ ณ ที่ไหน?
               ตอบว่า ย่อมอยู่ในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี.
               จริงอยู่ พญามารวสวัตตีครองราชย์อยู่ในเทวโลกนั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พญามารประทับครองความยิ่งใหญ่ในบริษัทของตน ณ ส่วนหนึ่ง (ของเทวโลกนั้น) ดุจราชโอรสของพระราชาผู้เรืองนาม ประทับอยู่ ณ ปลายแดนราชอาณาจักรฉะนั้น. ก็ในข้อนี้ พึงทราบว่า ท่านจัดเอาบริษัทมารเข้าไว้ด้วย มาร ศัพท์นั่นเอง.
               ส่วนในข้อนี้ ในนัยแห่งการขยายความมีอธิบายดังนี้.
               ปุถุชนได้เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ซึ่งปชาบดีผู้มีผิวพรรณงาม มีอายุยืน มีความสุขมาก ย่อมใฝ่ฝันราชสมบัติด้วยอำนาจแห่งตัณหา. ก็หรือว่า แม้ตั้งใจไว้เพื่อจะได้ในสิ่งที่ตนยังไม่ได้โดยนัยเป็นต้นว่า ทำไฉนหนอ เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งปชาบดี ชื่อว่าย่อมสำคัญปชาบดีด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา.
               แต่เมื่อปุถุชนถึงความเป็นปชาบดีแล้ว ยังมานะให้เกิดขึ้นว่า เราย่อมเป็นใหญ่ เป็นอธิบดีกว่าปชาทั้งหลาย พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญปชาบดีด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ.
               แต่เมื่อปุถุชนสำคัญอยู่ว่า ปชาบดีเที่ยง ยั่งยืน หรือขาดสูญพินาศ หรือว่าไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร น้อมไปสู่ความประสบโชคดี โชคร้าย ย่อมเสวยสุขทุกข์ในอภิชาติ ๖ ชาตินั่นแล พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญปชาบดีด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               แต่ในคำว่า ในปชาบดี นี้ ความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิชนิดหนึ่งนั่นแล ย่อมถูก. พึงทราบความเป็นไปแห่งความสำคัญนั้นอย่างนี้. บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมสำคัญว่า ธรรมเหล่าใดมีอยู่ในปชาบดี ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเที่ยง ยั่งยืน แน่นอน ไม่มีการแปรผันเป็นธรรมดา.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำคัญว่า บาปย่อมไม่มีในปชาบดี กรรมอันลามกทั้งหลายย่อมหาไม่ได้ในปชาบดีนั้น.
               คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมสำคัญข้อที่ตนหรือคนอื่น พร้อมทั้งทรัพย์ศฤงคารเกิดขึ้น หรือจากไปจากปชาบดี นี้เรียกว่าความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของบุคคลนั้น.
               ก็เมื่อบุคคลนั้นยังความเสน่หาและมานะให้เกิดขึ้นในวัตถุที่สำคัญ ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐินั้นนั่นแล พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะ.
               และความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหานี้นั้น พึงทราบว่า ย่อมเป็นไปแก่บุคคลผู้ยึดถือว่าของเรา โดยนัยเป็นต้นว่า ปชาบดีเป็นครูของเรา เป็นนายของเรา ดังนี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.


               ความหมายของพรหม               

               ชื่อว่า พรหม เพราะอรรถว่าเจริญแล้วด้วยคุณวิเศษนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่งท้าวมหาพรหมก็ดี พระตถาคตก็ดี พราหมณ์ก็ดี มารดาบิดาก็ดี สิ่งที่ประเสริฐที่สุดก็ดี ท่านก็เรียกว่า พรหม.
               จริงอยู่ ท้าวมหาพรหม ท่านเรียกว่า พรหม (ดัง) ในประโยคเป็นต้นว่า พรหม ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐.
               พระตถาคต ท่านก็เรียกว่าพรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหมนี้ เป็นชื่อของพระตถาคตนั่นแล.
               พราหมณ์ ท่านเรียกว่า พรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า
               พระพุทธเจ้า ผู้บรรเทาความมืด ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ผู้ถึงที่สุดแห่งโลก ผู้ก้าวล่วงภพทั้งปวง ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้ละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ผู้กล่าวสัจจะ ผู้อันพรหมบำเรอแล้ว ดังนี้.
               มารดาบิดา ท่านเรียกว่า พรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า มารดาบิดา ท่านเรียกว่าพรหม, มารดาบิดา ท่านเรียกว่าบุพพาจารย์. สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ท่านเรียกว่าพรหม (ดัง) ในประโยคนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังจักรอันประเสริฐให้เป็นไป ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาพรหมที่เกิดขึ้นต้นกัลป. อนึ่ง แม้พรหมปุโรหิตและพรหมปาริสัชชะ พึงทราบว่า ท่านถือเอาด้วยพรหมศัพท์นั้นนั่นแล. แต่การพรรณนาเนื้อความในข้อนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในปชาบดีวาระนั่นแล.


               อธิบายอาภัสสรพรหม               

               ในวาระว่าด้วยอาภัสสรพรหม พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               รัศมีแผ่ซ่านออกจากร่างกายของพรหมเหล่านั้นเหมือนกับขาดตกไป คล้ายเปลวไฟขาดตกไปจากคบเพลิงฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พรหมเหล่านั้นจึงชื่อว่าอาภัสสรา. ด้วยการกำหนดอาภัสสรพรหมเหล่านั้น (เป็นเกณฑ์) จึงเป็นอันท่านกำหนดเอาภูมิของทุติยฌานแม้ทั้งหมดด้วย. ก็พรหมที่สถิตอยู่ในชั้นเดียวกันแม้ทั้งหมดนั่นแล พึงทราบว่า (ได้แก่) ปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม (และ) อาภัสสรพรหม.


               อธิบายสุภกิณหพรหม               

               ในวาระว่าด้วยสุภกิณหพรหม พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พรหมที่ชื่อว่า สุภกิณหา เพราะหมายความว่า แพรวพราวไปด้วยสีที่สวยงามคือด้วยรัศมีกายอันโสภา จึงสง่างามดังทองแท่ง เปล่งแสงประกายอันเขาเก็บไว้ในหีบทองแท่งทึบ. ด้วยการกำหนดเอาสุภกิณหพรหมเหล่านั้น (เป็นเกณฑ์) เป็นอันท่านกำหนดเอาภูมิของตติยฌานแม้ทั้งหมดด้วย. ก็พรหมที่สถิตอยู่ในชั้นเดียวกันแม้ทั้งหมดนั่นแล พึงทราบว่า (ได้แก่) ปริตตสุภพรหม อัปปมาณสุภพรหม สุภกิณหพรหม.


               อธิบายเวหัปผลพรหม               

               ในวาระว่าด้วยเวหัปผลพรหม พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พรหมที่ชื่อว่า เวหัปผลา เพราะหมายความว่ามีผลอันไพบูลย์ ท่านกล่าวว่าได้แก่พรหมชั้นจตุตถฌาน. ส่วนการอธิบายขยายความประกอบในวาระทั้ง ๓ นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในภูตวาระนั่นแล.

               อธิบายอภิภูพรหม               

               ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะหมายความว่า ครอบงำ.
               ถามว่า ครอบงำซึ่งอะไร?
               ตอบว่า ครอบงำซึ่งอรูปขันธ์ ๔.
               คำว่า อภิภู นั่นเป็นชื่อของอสัญญีภพ. เหล่าเทพ (พรหม) อสัญญีสัตว์สถิตอยู่ในชั้นเดียวกับเวหัปผลพรหม (แต่ว่าแยก) สถิตอยู่ในโอกาสแห่งหนึ่ง (และ) ท่านบังเกิด (ตายจากโลกมนุษย์) ด้วยอิริยาบถใด ก็สถิตอยู่ด้วยอิริยาบถนั้นนั่นแล ตราบอายุขัยคล้ายภาพจิตรกรรม ในที่นี้ท่านหมายถึงเวหัปผลพรหม และอสัญญีสัตว์แม้ทั้งหมดนั้นด้วยคำว่า อภิภู.
               อาจารย์บางพวกยกย่องพรหมผู้เป็นใหญ่ในชั้นนั้นๆ (ว่าอภิภู) โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า พรหม ๑,๐๐๐ ชื่อว่า อภิภู. แต่พึงทราบว่า คำกล่าวของอาจารย์บางพวกนั้นไม่ถูก เพราะพรหมผู้เป็นใหญ่นั้น ท่านระบุถือเอาด้วยศัพท์ว่า "พรหม" แล้วนั่นแล.
               อนึ่ง ในวาระนี้พึงทราบนัยแห่งการอธิบายขยายความว่า ปุถุชนได้สดับแล้วว่า พรหมอภิภูมีวรรณะ (สวยงาม) มีอายุยืน ดังนี้ แล้วเกิดความยินดีพอใจในพรหมอภิภูนั้น ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภู ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา. ก็หรือว่า แม้ตั้งจิต (ปรารถนา) เพื่อให้ได้ (เกิดในพรหมอภิภู) ที่ตนยังไม่ได้โดยนัยมีอาทิว่า ทำไฉนหนอ เราจะพึงเข้าถึงความเป็นสหายของพรหมอภิภู ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภูด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา.
               อนึ่ง เมื่อสำคัญตนว่าเลวกว่า (พรหมอภิภู) หรือสำคัญว่าพรหมอภิภู ดีกว่าตน ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภู ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจมานะ เมื่อยึดถือโดยนัยมีอาทิว่า พรหมอภิภูเที่ยง ยั่งยืน ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภูด้วยความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐิ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในปชาบดีวาระนั่นแล.


               สุทธาวาสภูมิ               

               พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อทรงแสดงเทวโลกโดยลำดับอย่างนี้ ครั้นทรงแสดงอสัญญีภพด้วยคำว่า อภิภู บัดนี้ เพราะเหตุที่กถาว่าด้วยวัฏฏกัปและเทวดา คือพระอนาคามีและพระขีณาสพชั้นสุทธาวาสผู้ดำรงอยู่ในฝ่ายวิวัฏฏกัป หรือเพราะเหตุที่เทวดาเหล่านั้น มีอายุตั้ง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กัลป ย่อมมีเฉพาะในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นเท่านั้น.
               ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นแม้ตลอดอสงไขยกัลป ในกาลนั้น ภูมินั้นว่างเปล่า ภพชั้นสุทธาวาสย่อมมีเฉพาะ (กาลที่) พระพุทธเจ้าทั้งหลาย (อุบัติเท่านั้น) ดุจที่ประทับแรมมีไว้สำหรับพระราชาฉะนั้น และด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ภูมินั้น ท่านจึงมิได้จัดเป็นวิญญาณฐิติ ทั้งมิได้จัดเป็นสัตตาวาส แต่ความสำคัญเหล่านี้มีอยู่ทุกเมื่อ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงภูมิของความสำคัญเหล่านั้น ซึ่งมีอยู่ในกาลทุกเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงละชั้นสุทธาวาส
               บรรดาบทเหล่านั้น ขันธ์ ๔ ที่เป็นกุศลวิบากและกิริยาอันเป็นไปในอากาสานัญจายตนภูมินั้น. และขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น พึงเห็นว่า เกิดขึ้นในภูมินั้นนั่นแหละ เพราะเหตุว่า กถานี้เป็นการกล่าวถึงกำหนดภพ.
               ในวิญญาณัญจายตนะเป็นต้นก็นัยนี้.
               ก็ในบรรดาวาระ ๔ วาระนั่นแล การขยายความพึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในอภิภูวาระ และความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ ในข้อนี้ย่อมใช้ได้แม้โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในปชาบดีวาระ.

               

               เสขบุคคล               

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเแสดงความเป็นไปของปุถุชนซึ่งมีธรรม คือสักกายทิฏฐิทั้งหมดเป็นมูลในวัตถุธาตุมีปฐวีเป็นต้นดังพรรณนามาฉะนี้ บัดนี้ เมื่อจะแสดงความเป็นไปของพระเสขบุคคลในวัตถุธาตุเหล่านั้นเหมือนกัน 

ที่ชื่อว่าเสขะ เพราะอรรถว่ากระไร?
               ตอบว่า ที่ชื่อว่าเสขะ เพราะได้เสขธรรม.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ชื่อว่าเป็นเสขะ ด้วยธรรมมีประมาณเท่าใด.
               พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบ ด้วยสัมมาทิฏฐิอันเป็นเสขะ ฯลฯ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสมาธิอันเป็นเสขะ ภิกษุ ชื่อว่าเป็นเสขะด้วยธรรมมีประมาณเท่านี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคล ชื่อว่าเสขะ เพราะอรรถว่ายังศึกษาอยู่ดังนี้บ้าง.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุศึกษาอยู่อย่างนี้แล ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เสขะ
               ถามว่า พระเสขบุคคลย่อมศึกษาอะไร?
               ตอบว่า ย่อมศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง ภิกษุย่อมศึกษาอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เสขะ.
               บุคคลแม้ใดเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ด้วยอนุโลมปฏิปทา มีศีลสมบูรณ์ มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภคโภชนะ ตามประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ตามประกอบภาวนานุโยคซึ่งโพธิปักขิยธรรมตลอดราตรีต้นและราตรีปลายอยู่ ด้วยความคิดว่า เราจักบรรลุสามัญญผลอย่างใดอย่างหนึ่งในวันนี้หรือพรุ่งนี้ บุคคลนั้นท่านเรียกว่า เสขะ เพราะกำลังศึกษา.
               แต่ในเนื้อความนี้ บุคคลผู้บรรลุปฏิเวธเท่านั้น ท่านประสงค์เอาว่า เสขะ หาใช่ประสงค์เอาปุถุชนไม่.


               จบกถาว่าด้วยนัยที่ ๒ ด้วยอำนาจเสขบุคคล.               

-------------------------
               

อธิบายพระอริยบุคคล               

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความเป็นไปของพระเสขะในวัตถุธาตุมีปฐวีเป็นต้น ดังพรรณนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความเป็นไปของพระขีณาสพ 

พระเสขะ ชื่อว่าเป็นผู้เสมอด้วยพระขีณาสพ เพราะความเป็นพระอริยบุคคล ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้ความเสมอกันโดยบุคคล.
               ส่วนความเป็นผู้เสมอกันโดยทางอารมณ์ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               ผู้มีกิเลสห่างไกล คือมีกิเลสอันท่านละได้แล้ว.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นอรหันต์ได้อย่างไร คือ อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก เศร้าหมอง อันเป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ มีความเร่าร้อน มีผลเป็นทุกข์ เพื่อชาติ ชราและมรณะต่อไปของท่านผู้ห่างไกลจากกิเลส ย่อมไม่มี.
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นพระอรหันต์อย่างนี้แล.
               อาสวะมี ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ. อาสวะทั้ง ๔ เหล่านี้ของพระอรหันต์สิ้นแล้ว คือท่านละได้ ถอนขึ้นได้ สงบระงับ เป็นของไม่ควรเกิดขึ้นอีก อันท่านเผาแล้วด้วยไฟคือญาณ ด้วยเหตุนั้น พระอรหันต์นั้น ท่านจึงเรียกว่า พระขีณาสพ.
               พระอรหันต์นั้นอยู่แล้ว คืออยู่จบแล้วในธรรมเครื่องอยู่ของครูบ้าง ในธรรมเครื่องอยู่คืออริยมรรคบ้าง ในธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะ ๑๐ ประการบ้าง พระอรหันต์นั้นอยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว ได้แก่มีธรรมเครื่องอยู่อันจบแล้ว มีจรณะอันประพฤติแล้ว ฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้อยู่จบแล้ว.
               พระเสขะทั้ง ๗ จนกระทั่งกัลยาณปุถุชน ชื่อว่า ย่อมทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ กิจที่จะพึงทำทุกอย่าง พระขีณาสพทำแล้ว ทำเสร็จสิ้นแล้ว กิจที่จะพึงทำอันยิ่งของพระขีณาสพนั้น เพื่อการบรรลุความสิ้นไปแห่งทุกข์ ย่อมไม่มีฉะนั้น พระอรหันต์นั้น จึงชื่อว่าผู้มีกิจที่จะต้องทำอันทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               การสั่งสมกิจที่ต้องทำอันทำเรียบร้อยแล้ว ของภิกษุผู้มีจิตสงบ หลุดพ้นแล้วโดยชอบนั้น ย่อมไม่มี (และ) กิจที่พึงทำอีกก็ไม่มี ดังนี้.
               ขันธภาระ กิเลสภาระ อภิสังขารภาระ. ภาระ ๓ เหล่านี้ พระอรหันต์นั้นปลงลงแล้ว ยกลงแล้ว วางแล้ว ทำให้ตกไปแล้ว ด้วยเหตุนี้นั้น พระอรหันต์นั้น ท่านจึงเรียกว่า ผู้มีภาระอันปลงลงแล้ว.
               สังโยชน์ ๑๐ คือ กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ภวราคะ อิสสา มัจฉริยะ และอวิชชา เรียกว่า สังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เพราะสังโยชน์เหล่านี้ย่อมผูก คือตามผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมเชื่อมภพไว้ด้วยภพ สังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพเหล่านี้ของพระอรหันต์สิ้นรอบแล้ว อันท่านละได้แล้ว อันท่านเผาแล้วด้วยไฟคือญาณ ด้วยเหตุนั้น พระขีณาสพนั้น ท่านจึงเรียกว่าผู้มีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพอันสิ้นรอบแล้ว.
               เพราะรู้ คือทราบ ได้แก่พิจารณา ตรวจตรา เปิดเผย กระทำให้แจ้งซึ่งอรรถแห่งขันธ์ว่าเป็นขันธ์ อรรถแห่งอายตนะว่าเป็นอายตนะ อรรถแห่งธาตุว่าเป็นธาตุ อรรถแห่งทุกข์ว่าเป็นการบีบคั้น อรรถแห่งสมุทัยว่าเป็นบ่อเกิดทุกข์ อรรถแห่งนิโรธว่าเป็นความสงบ อรรถแห่งมรรคว่าเป็นทัสสนะ มีประเภทอย่างนี้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้ โดยชอบคือตามความเป็นจริง.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่สำคัญด้วยเหตุ ๒ ประการ เพราะความที่วัตถุท่านกำหนดได้แล้ว และเพราะอกุศลมูลท่านถอนขึ้นได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงแสดงการกำหนดรู้วัตถุของพระอรหันต์นั้นด้วยวาระแห่งปริญญา และแสดงการถอนขึ้นซึ่งอกุศลมูลด้วยวาระนอกนี้ ฉะนี้แล.
               ในบรรดาวาระเหล่านั้น พึงทราบความแปลกกันในวาระ ๓ ข้อข้างปลายดังต่อไปนี้.
               พระอรหันต์นั้น ท่านเห็นโทษในความกำหนัดในวาระทั้ง ๓ นั้นแล้ว พิจารณาเห็นทุกข์อยู่ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ย่อมมีราคะปราศจากไป เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ. ท่านเห็นโทษในโทสะ พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ย่อมเป็นผู้มีโทสะปราศไป เพราะความสิ้นโทสะ. ท่านเห็นโทษในโมหะ พิจารณาโดยความเป็นอนัตตาอยู่ หลุดพ้นแล้วด้วยสุญญตวิโมกข์ ย่อมเป็นผู้ปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน พระอรหันต์ทุกรูป เมื่อกิเลสมีราคะเป็นต้นสิ้นไป ท่านก็เรียกว่าผู้มีราคะไปปราศ เพราะราคะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้วิปริณามทุกข์. ท่านเรียกว่าผู้ปราศจากโทสะ เพราะโทสะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้ทุกข์ในทุกข์. ชื่อว่าผู้ปราศจากโมหะ เพราะโมหะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้สังขารทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านชื่อว่าปราศจากราคะ เพราะราคะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้อิฏฐารมณ์. ชื่อว่าปราศจากโทสะ เพราะโทสะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้อนิฏฐารมณ์. ชื่อว่าปราศจากโมหะ เพราะโมหะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้มัชฌัตตารมณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านชื่อว่าปราศจากราคะ เพราะราคะสิ้นไป เหตุที่ท่านถอนราคานุสัยในสุขเวทนาเสียได้ ชื่อว่าปราศจากโทสะและปราศจากโมหะ ท่านถอนปฏิฆานุสัยและโมหานุสัยในทุกขเวทนาและอุเบกขาเวทนาเสียได้ ฉะนี้แล 
                     จบกถาว่าด้วยนัยที่ ๓-๔-๕-๖ ด้วยอำนาจพระขีณาสพ.               

 

อธิบายคำว่า ตถาคต               

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความเป็นไปของพระขีณาสพในวัตถุธาตุทั้งหลายมีปฐวีเป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความเป็นไปของพระองค์เอง ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเรียกว่า ตถาคต ด้วยเหตุ ๘ อย่างคือ
               (๑) เรียกว่าตถาคต เพราะอรรถว่าเสด็จมาแล้วอย่างนั้น,
               (๒) เรียกว่าตถาคต เพราะอรรถว่าเสด็จไปแล้วอย่างนั้น,
               (๓) เรียกว่าตถาคต เพราะอรรถว่าเสด็จมาสู่ลักษณะอันแท้,
               (๔) เรียกว่าตถาคต เพราะอรรถว่าตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งธรรมอันแท้ตามเป็นจริง,
               (๕) เรียกว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแท้จริง,
               (๖) เรียกว่าตถาคต เพราะตรัสวาจาจริง,
               (๗) เรียกว่าตถาคต เพราะทรงทำจริง,
               (๘) เรียกว่าตถาคต เพราะอรรถว่าครอบงำ.


               ตถาคตผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะอรรถว่าเสด็จมาแล้วอย่างนั้น อย่างไร?
               ตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงถึงการขวนขวายเสด็จมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวงโดยประการใด เหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ๑ ทรงพระนามว่า สิขี ๑ ทรงพระนามว่า เวสสภู ๑ ทรงพระนามว่า กกุสันธะ ๑ ทรงพระนามว่า โกนาคมนะ ๑ ทรงพระนามว่า กัสสปะ ๑ เสด็จมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกฉันใด (พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานี้ ก็เสด็จมาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกฉันนั้นเหมือนกัน).
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นเสด็จมาด้วยอภินิหารใด พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายก็เสด็จมาด้วยอภินิหารนั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ทรงบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศนี้ คือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทั้งได้ทรงบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ อย่างเหล่านี้ คือ ทรงบริจาคอวัยวะ ดวงพระเนตร พระราชทรัพย์ ราชสมบัติ โอรสและมเหสี ทรงบำเพ็ญบุพพประโยค บุพพจริยา การสอนธรรมและญาตัตถจริยาเป็นต้น มาจนถึงที่สุดด้วยพุทธจริยาฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเรา ก็เสด็จมาฉันนั้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ เสด็จมาบำเพ็ญเพิ่มพูนสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายก็เสด็จมาฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้วโดยประการนั้น อย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า พระตถาคต.
                         พระมุนีทั้งหลายมีวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นต้น ได้เสด็จมาถึงความเป็นพระสัพพัญญูในโลกนี้ โดยประการใด แม้พระศากยมุนีก็เสด็จมาโดยประการนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจักษุ ท่านจึงเรียกว่าพระตถาคต ดังนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้วโดยประการนั้น ดังพรรณนามาอย่างนี้ ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า พระตถาคต.


               ตถาคตผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้นามว่าตถาคต เพราะเสด็จไปแล้วอย่างนั้น อย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ประสูติได้ครู่เดียวก็เสด็จดำเนินไปได้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราก็เสด็จดำเนินไปได้ฉันนั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้น เสด็จดำเนินไปได้อย่างไร?
               (อย่างนี้คือ) ประสูติได้ครู่เดียว ประทับยืนอยู่บนพื้นปฐพี ด้วยพระบาทอันเรียบเสมอ ผินพระพักตร์ตรงต่อทิศอุดร ย่างพระบาทดำเนินไปได้ ๗ ก้าว เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า อานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่เดียว ประทับยืนบนปฐพีอยู่ด้วยพระบาทอันเรียบเสมอ ผินพระพักตร์ต่อทิศอุดร ย่างพระบาทดำเนินไปได้ ๗ ก้าว โดยมีเทวดากั้นเศวตฉัตรติดตามไป ทรงตรวจดูรอบทิศ เปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว ดังนี้.
               ก็การเสด็จไปนั้นของพระองค์นั้น เป็นอย่างนั้น ไม่ผิดจากนั้นโดยเป็นบุพพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษอย่างมากมาย.
               ก็ข้อที่พระองค์ประสูติได้ครู่หนึ่ง และประทับยืนอยู่บนพื้นปฐพีด้วยพระบาทอันเรียบเสมอนี้นั้น เป็นบุพพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔.
               ข้อที่พระองค์หันพระพักตร์ไปทางทิศอุดรนั้น เป็นบุพพนิมิตแห่งความที่พระองค์เป็นผู้ข้ามพ้นโลกทั้งหมด.
               การย่างพระบาทดำเนินได้ ๗ ก้าว เป็นบุพพนิมิตแห่งการได้รัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ.
               การยกจามรที่กล่าวไว้ในบทว่า จามรมีด้ามเป็นทองผ่านไปดังนี้ขึ้น เป็นบุพพนิมิตแห่งการย่ำยีพวกเดียรถีย์ทั้งหมด.
               การที่ทรงเศวตฉัตร เป็นบุพพนิมิตแห่งการได้เศวตฉัตรอันประเสริฐวิเศษ ปราศจากมลทิน คือการหลุดพ้นด้วยอำนาจความเป็นพระอรหันต์.
               การที่ทรงตรวจดูไปทั่วทิศนั้น เป็นบุพพนิมิตแห่งการได้ญาณอันประเสริฐ คือพระสัพพัญญุตญาณ.
               การที่ทรงเปล่งอาสภิวาจา เป็นบุพพนิมิตแห่งการประกาศธรรมจักรอันประเสริฐไม่มีใครคัดค้านได้.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เสด็จไปโดยประการนั้น และการเสด็จไปของพระองค์นั้น เป็นอย่างนั้น ไม่ผิดจากนั้น โดยเป็นบุพพนิมิตแห่งการได้บรรลุคุณวิเศษมากมาย.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า :-
                พระโคดมนั้นพอประสูติแล้วได้ครู่เดียวเท่านั้น ก็เหยียบพื้นพสุธาด้วยพระบาทอันเรียบเสมอ แล้วเสด็จดำเนินไปได้ ๗ ก้าว เหมือนโคผู้นำฝูงเดินนำหน้าฝูงโคไปฉะนั้น และหมู่เทวดาทั้งหลาย ก็ได้กางกั้นเศวตฉัตรถวายพระโคดมนั้น ครั้นย่างพระบาทไปได้ ๗ ก้าวแล้ว ทรงตรวจดูทั่วทุกทิศอย่างสม่ำเสมอโดยรอบ ได้เปล่งพระสุรเสียงอันประกอบด้วยองค์ ๘ เหมือนพญาราชสีห์ยืนอยู่บนยอดภูเขาเปล่งสีหนาทฉะนั้น ดังนี้.
                  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วโดยประการนั้น ดังพรรณนามาอย่างนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่าตถาคต.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ เป็นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราแม้นี้ก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน
               คือพระองค์ทรงละกามฉันท์ด้วยเนกขัมมะเสด็จไปแล้ว, ทรงละพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ทรงละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ทรงละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ทรงละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรมเสด็จไปแล้ว, ทรงทำลายอวิชชาด้วยญาณเสด็จไปแล้ว, ทรงบรรเทาความไม่ยินดีด้วยความปราโมทย์ ทรงเพิกถอนเครื่องกั้นคือนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ยังความมืดคือวิตกวิจารให้สงบระงับด้วยทุติยฌาน ทรงสำรอกปีติด้วยตติยฌาน ทรงละสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ทรงล่วงพ้นรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตตสัญญาด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงล่วงพ้นอากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงล่วงพ้นวิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงล่วงพ้นอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเสด็จไปแล้ว, ทรงละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสสนาญาณ ทรงละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนาญาณ ทรงละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสสนาญาณ ทรงละความเพลิดเพลินด้วยนิพพิทานุปัสสนาญาณ ทรงละราคะด้วยวิราคานุปัสสนาญาณ ทรงละสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสสนาญาณ ทรงละการถือมั่นด้วยปฏินิสัคคานุปัสสนาญาณ ทรงละฆนสัญญาด้วยขยานุปัสสนาญาณ ทรงละการประมวลมาด้วยวยานุปัสสนาญาณ ทรงละธุวสัญญาด้วยวิปริณามานุปัสสนาญาณ ทรงละนิมิตตสัญญาด้วยอนิมิตตานุปัสสนาญาณ ทรงละความปรารถนาด้วยอัปปณิหิตานุปัสสนาญาณ ทรงละอภินิเวสด้วยสุญญานุปัสสนาญาณ ทรงละการยึดถือโดยเป็นสาระด้วยอธิปัญญาธัมมวิปัสสนาญาณ ทรงละการยึดมั่นเพราะความหลงด้วยยถาภูตญาณทัสสนญาณ ทรงละความยึดถือด้วยความอาลัยด้วยอาทีนวานุปัสสนาญาณ ทรงละการไม่พิจารณาด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ทรงละการยึดมั่นด้วยอำนาจสังโยชน์ด้วยวิวัฏฏานุปัสสนาญาณ ทรงหักรานกิเลสในปัจจุบันด้วยโสดาปัตติมรรค ทรงละกิเลสอย่างหยาบด้วยสกทาคามิมรรค ทรงเพิกถอนกิเลสซึ่งยังเหลืออยู่เล็กน้อยด้วยอนาคามิมรรค ทรงตัดขาดกิเลสทุกอย่างด้วยอรหัตตมรรค เสด็จไปแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วอย่างนั้น ด้วยอาการดังพรรณนามาอย่างนี้ ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.


               ตถาคตผู้เสด็จมาสู่ลักษณะอันแท้จริง               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะอันแท้จริงนั้น อย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว คือถึงโดยไม่ผิด ได้แก่บรรลุโดยลำดับ ซึ่งลักษณะแห่งปฐวีธาตุว่าเป็นความแข้นแข็งอย่างถูกต้องไม่ผิด ซึ่งลักษณะแห่งอาโปธาตุว่าเป็นเครื่องไหล ลักษณะแห่งเตโชธาตุว่าเป็นของร้อน ลักษณะแห่งวาโยธาตุว่าเคลื่อนไหว ลักษณะอากาสธาตุว่าถูกต้องไม่ได้ ลักษณะแห่งวิญญาณธาตุว่าเป็นเครื่องรู้ ลักษณะแห่งรูปว่าการย่อยยับไป ลักษณะแห่งเวทนาว่าการเสวยอารมณ์ ลักษณะสัญญาว่าความจำได้ ลักษณะแห่งสังขารว่าเป็นเครื่องปรุงแต่ง ลักษณะแห่งวิญญาณว่าความรู้แจ้ง ลักษณะของวิตกว่าการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ลักษณะของวิจารว่าการเคล้าอารมณ์ ลักษณะปีติว่าการแผ่ซ่านไป ลักษณะแห่งสุขว่าความยินดี ลักษณะแห่งจิตเอกัคคตาว่าความไม่ฟุ้งซ่าน ลักษณะแห่งผัสสะว่าการถูกต้อง ลักษณะของสัทธินทรีย์ว่าการน้อมใจเชื่อ ลักษณะของวิริยินทรีย์ว่าการประคองจิต ลักษณะของสตินทรีย์ว่าความปรากฏชัด ลักษณะแห่งสมาธินทรีย์ว่าความที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน ลักษณะของปัญญินทรีย์ว่าการที่จิตรู้ชัด
               ลักษณะของสัทธาพละว่าความที่จิตไม่หวั่นไหวในเพราะสิ่งไม่ควรเชื่อ ลักษณะแห่งวิริยพละว่าความที่จิตไม่หวั่นไหวในเพราะความเกียจคร้าน ลักษณะแห่งสติพละว่าความที่จิตไม่หวั่นไหวในเพราะความหลงลืมสติ ลักษณะแห่งสมาธิพละว่าความที่จิตไม่หวั่นไหวในเพราะอุทธัจจะ ลักษณะแห่งปัญญาพละว่าความที่จิตไม่หวั่นไหวในเพราะอวิชชา
               ลักษณะของสติสัมโพชฌงค์ว่าความปรากฏชัด ลักษณะแห่งธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ว่าการพิจารณา ลักษณะของวิริยสัมโพชฌงค์ว่าการประคองจิตไว้ ลักษณะของปีติสัมโพชฌงค์ว่าการแผ่จิตไป ลักษณะของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ว่าการสงบจิต ลักษณะของสมาธิสัมโพชฌงค์ว่าความไม่ฟุ้งซ่านของจิต ลักษณะของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ว่าการพิจารณา
               ลักษณะของสัมมาทิฏฐิว่าการเห็น ลักษณะของสัมมาสังกัปปะว่าการยกจิตขึ้น ลักษณะของสัมมาวาจาว่าการกำหนดจิต ลักษณะของสัมมากัมมันตะว่าความขยันหมั่นเพียร ลักษณะของสัมมาอาชีวะว่าความผ่องแผ้วของจิต ลักษณะของสัมมาวายามะว่าการประคองจิต ลักษณะของสัมมาสติว่าความปรากฏชัด ลักษณะของสัมมาสมาธิว่าการที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน
               ลักษณะของอวิชชาว่าความไม่รู้ ลักษณะของสังขารว่าเจตนา ลักษณะของวิญญาณว่าความรู้ชัด ลักษณะของนามว่าการน้อมจิตไป ลักษณะของรูปว่าความย่อยยับไป ลักษณะของอายตนะ ๖ ว่าบ่อเกิด ลักษณะของผัสสะว่าการถูกต้อง ลักษณะของเวทนาว่าการเสวยอารมณ์ ลักษณะของตัณหาว่าเหตุแห่งทุกข์ ลักษณะของอุปาทานว่าความยึดถือ ลักษณะของภพว่าการประมวลไว้ ลักษณะของชาติว่าการเกิด ลักษณะของชราว่าความแก่ ลักษณะของมรณะว่าจุติ
               ลักษณะของธาตุว่าความว่างเปล่า ลักษณะของอายตนะว่าบ่อเกิด ลักษณะของสติปัฏฐานว่าความปรากฏชัด ลักษณะของสัมมัปปธานว่าการตั้งความเพียร ลักษณะของอิทธิบาทว่าความสำเร็จ ลักษณะของอินทรีย์ว่าความเป็นใหญ่ ลักษณะของพละว่าการไม่หวั่นไหว ลักษณะของโพชฌงค์ว่าธรรมเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ ลักษณะของมรรคว่าเป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ลักษณะของสัจจะว่าความจริง ลักษณะของสมถะว่าความไม่ฟุ้งซ่าน ลักษณะของวิปัสสนาว่าพิจารณาเห็น ลักษณะของสมถะและวิปัสสนาว่ามีกิจอย่างเดียวกัน ลักษณะของสิ่งที่เป็นคู่กันว่าไม่ละกัน
               ลักษณะของศีลวิสุทธิว่าการระวังรักษา ลักษณะของจิตตวิสุทธิว่าความไม่ฟุ้งซ่าน ลักษณะของทิฏฐิวิสุทธิว่าการเห็น ลักษณะของญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปว่าสมุจเฉท ลักษณะของญาณในธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นว่าความสงบ ลักษณะของฉันทะว่ามูลเหตุ ลักษณะของมนสิการว่าความขยันหมั่นเพียร ลักษณะของผัสสะว่าที่รวม ลักษณะของเวทนาว่าที่ประชุม ลักษณะของสมาธิว่าธรรมที่เป็นประธาน ลักษณะของสติว่าความเป็นใหญ่ ลักษณะของปัญญาว่าสูงกว่าธรรมทั้งหมด ลักษณะของวิมุติว่าแก่น ลักษณะของนิพพานที่หยั่งลงสู่อมตะว่าที่สิ้นสุด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง คือถึงได้แก่บรรลุซึ่งลักษณะที่เป็นจริงอย่างนี้ อย่างแท้จริงคือไม่ผิด ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึงลักษณะอันแท้จริงอย่างนี้ ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.


               ตถาคตผู้ตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งธรรมที่แท้จริงตามความเป็นจริงอย่างไร?
               ตอบว่า ที่ชื่อว่าธรรมที่จริงแท้ ได้แก่อริยสัจ ๔.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น.
               อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า นี้ทุกข์ นั่นเป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น ดังนี้เป็นต้น.
               ความพิสดาร (นักศึกษาพึงตรวจดูเอาเอง).
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอริยสัจ ๔ เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่าตถาคต เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะอริยสัจทั้งหลายที่จริงแท้.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาวะที่ชราและมรณะเกิดมีเพราะมีชาติเป็นปัจจัย เป็นสภาวะที่แท้จริง ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น ฯลฯ สภาวะที่สังขารทั้งหลายเกิดมีเพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นสภาวะที่จริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น.
               อนึ่ง สภาวะที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่ง (ให้เกิด) สังขารทั้งหลาย สภาวะที่สังขารทั้งหลายเป็นปัจจัยแห่ง (ให้เกิด) วิญญาณ ฯลฯ สภาวะที่ชาติเป็นปัจจัยแห่ง (ให้เกิด) ชราและมรณะเป็นสภาวะที่จริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสภาวะนั้นทั้งหมด แม้เพราะเหตุนั้น จึงได้รับขนานนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งธรรมที่จริงแท้ตามความเป็นจริง ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.


               ตถาคตผู้ปกติเห็นอารมณ์ที่จริงแท้               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะทรงมีปกติเห็นอารมณ์ที่จริงแท้ อย่างไร?
               ตอบว่า อารมณ์ใดที่ชื่อว่า รูปารมณ์ (อารมณ์คือรูป) ซึ่งมาปรากฏในจักษุทวารของสัตว์ทั้งหลายไม่มีปริมาณ มีอยู่ทั้งในโลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์กับทั้งเทวดาและมนุษย์ (และ) ในโลกธาตุไม่มีปริมาณ (กำหนดนับไม่ได้) อารมณ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ คือทรงเห็นโดยอาการทั้งหมด.
               อารมณ์นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงรู้และทรงเห็นอยู่อย่างนี้ จำแนกออกไปตามชื่อเป็นอเนก ตามวาระ ๑๓ วาระ (และ) ตามนัย ๕๒ นัย โดยนัยมีอาทิว่า
               รูป คือรูปายตนะนั้นเป็นไฉน? รูปใดที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นรูปที่มีวรรณะ (สี) มองเห็นได้ ถูกต้องได้ เป็นรูปสีเขียว เป็นรูปสีเหลือง (นี้แหละเรียกว่ารูป) ด้วยอำนาจเป็นรูปที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาเป็นต้นบ้าง ด้วยอำนาจที่จะได้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่ได้รู้แจ้งบ้าง ย่อมเป็นของจริงแท้ทีเดียว ไม่มีแปรผัน.
               ในบรรดาอารมณ์มีเสียงเป็นต้นที่มาปรากฏในโสตทวารเป็นต้นก็นัยนี้.
               สมจริงด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารมณ์ใดที่โลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ที่หมู่สัตว์กับทั้งเทวดาและมนุษย์ได้เห็น ได้สดับ ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ ได้แสวงหา ได้คิดค้น ตถาคตรู้อารมณ์ ตถาคตรู้อย่างแท้จริงซึ่งอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นตถาคตรู้ อารมณ์นั้นปรากฏแล้วในตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะทรงมีปกติเห็นอารมณ์ที่แท้จริงด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               ในบทว่า ตถาคโต นั้น นักศึกษาพึงทราบการใช้บทว่า ตถาคโต ลงในความหมายว่า ผู้มีปกติเห็นอารมณ์ที่จริงแท้.


               ตถาคตผู้มีปกติตรัสวาทะที่จริงแท้               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะทรงมีปกติตรัสวาทะที่จริงแท้ อย่างไร?
               ตอบว่า การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ (บัลลังก์ที่มารไม่สามารถทำให้พ่ายแพ้ได้, บัลลังก์ของผู้ชนะ) ภายใต้ควงไม้โพธิ์ ทรงบั่นเศียรมารทั้ง ๓ แล้วตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณก็ดี การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ในตอนกลางคืนก็ดี ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี ในระหว่างนี้ (ช่วงหลังตรัสรู้และก่อนปรินิพพาน) คือในระยะเวลาครั้งปฐมโพธิกาลบ้าง ครั้งมัชฌิมโพธิกาลบ้าง ครั้งปัจฉิมโพธิกาลบ้าง พระพุทธพจน์ใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ จะเป็นสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละก็ตาม พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดอันวิญญูชนกล่าวตำหนิไม่ได้ทั้งโดยอรรถ (ความหมาย, เนื้อหาสาระ) ทั้งโดยพยัญชนะ (ตัวหนังสือ) ไม่ขาดไม่เกิน บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ยํ่ายีความเมาด้วยราคะ ยํ่ายีความเมาด้วยโทสะและโมหะ ความผิดพลาดในพระพุทธพจน์นั้นแม้เพียงปลายขนทรายก็ไม่มีก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ราวกับประทับตราด้วยพระราชลัญจกรอันเดียวกัน ราวกับว่าตวงด้วยทะนานเดียวกัน และราวกับว่าชั่งด้วยตาชั่งคันเดียวกันฉะนั้น.
               เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า การที่พระตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในตอนกลางคืนก็ดี การที่พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในตอนกลางคืนก็ดี การที่พระตถาคตตรัสสนทนาชี้แจงในระหว่างนี้ก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นของจริงแท้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงมีปกติตรัสวาทะที่จริงแท้ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               การตรัสของพระตถาคตนั้นจริงแท้ คือไม่วิปริต เพราะเหตุนั้นจึงได้รับขนานพระนามว่า ตถาคต เพราะแปลง ท อักษรให้เป็น ต อักษร และนักศึกษาพึงทราบบทสำเร็จรูปในความหมายนี้ดังพรรณนามาฉะนี้.


               ตถาคต-ผู้มีปกติทำจริง               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะทรงเป็นผู้มีปกติทำจริงอย่างไร?
               ตอบว่า ก็กายกรรมของพระผู้มีภาคเจ้าย่อมคล้อยตามวจีกรรม ทั้งวจีกรรมก็คล้อยตามกายกรรม เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีปกติตรัสอย่างใด จึงทรงมีปกติทำอย่างนั้น และมีปกติทำอย่างใด ก็ทรงมีปกติตรัสอย่างนั้น.
               อธิบายว่า วจีกรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นผู้ทรงเป็นอย่างนี้เป็นฉันใด แม้กายกรรมก็เป็นไปฉันนั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีปกติพูดอย่างใด ก็มีปกติทำอย่างนั้น มีปกติทำอย่างใด ก็มีปกติพูดอย่างนั้น เพราะเหตุที่มีปกติพูดอย่างใด จึงมีปกติทำอย่างนั้น มีปกติทำอย่างใด จึงมีปกติพูดอย่างนั้น ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะเป็นผู้มีปกติทำจริงดังพรรณนามาฉะนี้.


               ตถาคต-ผู้ครอบงำ               

               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะหมายความว่าครอบงำอย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมครอบงำ (มีอำนาจเหนือ) ในเบื้องบนตั้งแต่ภวัคคพรหมลงมา ในเบื้องล่างตั้งแต่อเวจีมหานรกขึ้นไป ในด้านขวางย่อมครอบงำ (มีอำนาจเหนือ) สรรพสัตว์ในโลกธาตุอันหาปริมาณมิได้ด้วยศีลบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง วิมุติบ้าง วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง การชั่งหรือการกำหนดวัด (พระคุณมีศีลเป็นต้น) ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่มี พระองค์มีพระคุณอันใครๆ ชั่งไม่ได้ กะประมาณไม่ได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นราชาของราชา เป็นเทวดาของเทวดา เป็นท้าวสักกะเหนือท้าวสักกะทั้งหลาย เป็นพรหมเหนือพรหมทั้งหลาย.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ครอบงำ (แต่) ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นอย่างถ่องแท้ เป็นผู้แผ่อำนาจได้ในโลกกับทั้งเทวโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์กับทั้งเทวดาและมนุษย์. เพราะเหตุนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ตถาคต. ในบทว่า ตถาคต นั้น พึงทราบบทสำเร็จรูปอย่างนี้.
               สิ่งที่เป็นเหมือนโอสถ ชื่อว่า อคทะ. ก็โอสถนั้นคืออะไร? คือ การยักย้ายเทศนา (ตามอุปนิสัยของผู้ฟัง) และการเพิ่มพูนแห่งบุญ. ก็เพราะโอสถนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นจึงเป็นหมอที่มีอานุภาพมาก ทรงครอบงำผู้ที่ยึดถือลัทธิอื่นทั้งหมดและโลกกับทั้งเทวโลก เหมือนกับปราบงู (พิษ) ด้วยทิพโอสถฉะนั้น. โอสถในการครอบงำโลกทั้งหมดของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อันสำเร็จมาจากการยักย้ายเทศนา และสำเร็จมาจากบุญเป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับขนานพระนามว่า ตถาคต เพราะแปลง ท อักษร เป็น ต อักษร ด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่าครอบงำ ดังพรรณนามาฉะนี้.


               ตถาคต-ผู้ถึงด้วยความจริงแท้               

               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมายความว่า ทรง (เข้า) ถึงด้วยความจริงแท้บ้าง ทรง (เข้า) ถึงความจริงแท้บ้าง.
               บทว่า คโต หมายความว่า หยั่งถึง พ้นแล้ว บรรลุแล้ว ดำเนินไปถึงแล้ว.
               ในคำเหล่านั้นพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงแล้ว คือหยั่งถึงแล้วซึ่งโลกทั้งหมด ด้วยความจริงแท้ คือตีรณปริญญา เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงแล้ว คือพ้นแล้วซึ่งเหตุเกิดของโลกด้วยความจริงแท้ คือปหานปริญญา เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงแล้ว คือบรรลุแล้วซึ่งความดับของโลกด้วยความจริงแท้ คือการกระทำให้แจ้ง เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงแล้ว คือ ดำเนินไปถึงแล้วซึ่งความจริงแท้ คือข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้ถึงความดับโลก เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               เพราะเหตุนั้น คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกอันตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตหลุดพ้นไปแล้วจากโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดของโลกอันตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตละเหตุเกิดของโลกได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดับโลกอันตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตทำให้แจ้งความดับโลกได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเหตุให้ถึงความดับโลกอันตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตเจริญข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเหตุให้ถึงความดับโลกได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด (มีอยู่) แก่โลกกับทั้งเทวโลก สิ่งนั้นทั้งหมดอันตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ตถาคต.
               ความหมายแห่งคำนั้น นักศึกษาพึงทราบแม้อย่างนี้.
               และแม้ถ้อยคำดังว่ามานี้ ก็เป็นเพียงมุขกถาในการแสดงถึงภาวะที่พระตถาคตเป็นผู้เข้าถึงความจริงแท้เท่านั้น. ก็พระตถาคตเท่านั้นพึงพรรณนาภาวะที่พระตถาคตเป็นผู้เข้าถึงความจริงได้โดยอาการทุกอย่าง.


               อธิบาย อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ               

               ส่วนใน ๒ บทว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               อันดับแรก พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทราบว่าเป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุเหล่านี้คือ
                         ๑. เพราะทรงไกล (จากกิเลส)
                         ๒. เพราะทรงกำจัดข้าศึกทั้งหลาย
                         ๓. เพราะทรงหักซี่กำ (แห่งสังสารจักร) ทั้งหลาย
                         ๔. เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น
                         ๕. เพราะไม่มีความลับในการทำบาป
               ส่วนที่ชื่อว่า สัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง ความย่อในที่นี้มีเท่านี้. 


              อธิบายปฏิจจสมุปบาท               

               ถามว่า ก็ปฏิจจสมุปบาททั้งหมดนั่น ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยคำเพียงเท่านี้อย่างไร?
               ในปฏิจจสมุปบาทนั้น นันทิเป็นอตีตัทธา (กาลที่เป็นอดีต) ชาติ ชราและมรณะ เป็นอนาคตัทธา (กาลที่เป็นอนาคต) ทุกข์และภพ เป็นปัจจุปันนัทธา (กาลที่เป็นปัจจุบัน) พึงทราบอัทธา ๓ ดังพรรณนามาฉะนี้แล.
               อนึ่ง ในอตีตัทธา ในบรรดาอาการ ๕ ด้วยคำว่า นันทิ ตัณหา จึงมาแล้วหนึ่ง แม้ตัณหานั้น จะยังไม่มา (อาการ ๔ คือ) อวิชชา สังขาร อุปาทาน และภพก็เป็นอันจัดเข้าแล้วทีเดียว ด้วยลักษณะที่เป็นปัจจัย. อนึ่ง ด้วยคำว่า ชาติ ชราและมรณะ เพราะเหตุที่อธิบายไว้ว่า ขันธ์เหล่าใดมีชาติ ชราและมรณะนั้น ขันธ์เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้แล้วทีเดียวในอนาคตัทธา จึงเป็นอันรวมเอาวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนาเข้าไว้ด้วยเช่นกัน.
               ในกรรมภพซึ่งเป็นภพแรกมีธรรม ๕ ประการนี้ คือ โมหะได้แก่อวิชชา การประมวลมาได้แก่สังขาร ความใคร่ได้แก่ตัณหา การเข้าไปยึดถือได้แก่อุปาทาน เจตนาได้แก่ภพ เป็นปัจจัยของปฏิสนธิในปัจจุปันนัทธา ในเพราะกรรมภพซึ่งเป็นภพแรก.
               ในปัจจุปันนัทธามีธรรม ๕ ประการนี้คือ ปฏิสนธิ คือวิญญาณ สิ่งที่ก้าวลงคือนามรูป ปสาทรูปคืออายตนะ. อาการที่ถูกต้องคือผัสสะ อาการที่เสวยอารมณ์คือเวทนา เป็นปัจจัยของกรรมที่ทำไว้ก่อน ในเพราะอุปปัตติภพในปัจจุปันนัทธา.
               แต่เพราะในปัจจุปันนัทธา อายตนะทั้งหลายเจริญได้ที่แล้วจึงมีธรรม ๕ ประการเหล่านี้คือ โมหะคืออวิชชา การประมวลมาคือสังขาร ความใคร่คือตัณหา การเข้าไปยึดถือคืออุปาทาน เจตนาคือกรรมภพ เป็นปัจจัยของปฏิสนธิในอนาคตัทธา ในเพราะกรรมภพในปัจจุปันนัทธา.
               ในอนาคตัทธามีธรรม ๕ ประการนี้คือ ปฏิสนธิคือวิญญาณ สิ่งที่ก้าวลง (เกิดขึ้น) คือนามรูป ปสาทรูปคืออายตนะ อาการที่ถูกต้องคือผัสสะ อาการที่เสวยอารมณ์คือเวทนา เป็นปัจจัยของกรรมที่ทำไว้แล้วในปัจจุปันนัทธา ในเพราะอุปปัตติภพในอนาคตัทธา.
               พึงทราบอาการ ๒๐ เหล่านี้ ในปฏิจจสมุปบาทนี้ ซึ่งมีลักษณะดังแสดงไว้แล้วอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ปฏิจจสมุปบาทซึ่งมีสังเขป ๔ มีสนธิ ๓ มีอัทธา ๓ (และ) มีอาการ ๒๐ แม้ทั้งหมดพึงทราบว่า ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ว่า เพราะทราบอย่างนี้ว่า นันทิ (ความเพลิดเพลิน, ยินดี) เป็นรากเหง้าของทุกข์ จึงทราบต่อไปว่า เพราะภพจึงมีชาติ สัตว์ที่เกิดมาแล้วย่อมมีชราและมรณะ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

               

               ความหมายของคำว่า โพธิ               

               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่พระตถาคตทรงรู้แจ้งปฏิจจสมุปบาทโดยนัยมีอาทิว่า นันทิเป็นรากเหง้าของทุกข์ จึงทรงถึงความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจึงกล่าวว่า พระตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ ฯลฯ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง เพราะได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะอย่างนี้ พระตถาคตจึงไม่สำคัญปฐวีธาตุ ฯลฯ ไม่ยินดี.


               เหตุผลที่พระไม่ชื่นชมภาษิตของพระพุทธเจ้า               

               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระสัพพัญญุตญาณอันลึกซึ้งอย่างยิ่ง มีการหยั่งถึง ไม่พึงได้ด้วยปัญญาของคนเหล่าอื่น (ปัญญาคนเหล่าอื่นหยั่งรู้ไม่ถึง) จึงทรงประดับด้วยวาระของปุถุชน ๑ วาระ ด้วยวาระของเสขบุคคล ๑ วาระด้วยวาระของพระขีณาสพ ๔ วาระ (และ) ด้วยวาระของพระตถาคต ๒ วาระ รวมเป็นประดับด้วยวาระใหญ่ (สำคัญ) ๘ วาระ และในวาระ (ใหญ่) แต่ละวาระทรงประดับด้วยวาระในระหว่าง (วาระย่อย) ๒๔ วาระ มีวาระว่าด้วยปฐวีธาตุเป็นต้น แล้วได้ตรัสพระสูตรทั้งหมด

               ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะตรัสพระสูตรนี้อันประกอบด้วยนัยอันวิจิตร และความวิลาสแห่งเทศนาด้วยพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ซึ่งไพเราะดุจเสียงของนกการเวก (และ) เป็นเช่นกับได้ทรงราดรดหทัยของชนด้วยน้ำอมฤต เพราะระรื่นหูอยู่อย่างนี้ (ภิกษุเหล่านั้นก็ยังมิได้ชื่นชมพระภาษิต).
               ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นมิได้อนุโมทนาพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้เลย.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะไม่เข้าใจ.
               ว่ากันว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่เข้าใจเนื้อหาของสูตรนี้ ฉะนั้นจึงไม่ชื่นชม.
               จริงอยู่ ในสมัยนั้นพระสูตรนั่นแม้จะประกอบด้วยนัยอันวิจิตร และความวิลาสแห่งเทศนาอย่างนี้ สำหรับภิกษุเหล่านั้นได้เป็นเหมือนคนที่เขาเอาผืนผ้าหนาๆ ผูกปากไว้แล้วเอาของกินที่ถูกใจมาวางตรงหน้า (ไม่สามารถจะกินได้) ฉะนั้น.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๔ อสงไขย แล้วได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณก็เพื่อสอนคนอื่นให้เข้าใจธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมิใช่หรือ ไฉนพระองค์จึงทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยที่ภิกษุเหล่านั้นไม่เข้าใจ (เนื้อหา) เล่า?
               ตอบว่า คำตอบนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในการวิจารณ์บทตั้งของสูตรนี้ว่า ก็เพื่อหักรานมานะ (ของภิกษุเหล่านั้น) ฉะนั้น ในที่นี้จึงไม่มีอะไรที่ต้องกล่าวซํ้าอีก.
               ก็แล ครั้นได้ฟังสูตรนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เพื่อหักรานมานะอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงคิดกันว่า ได้ยินว่า ปุถุชนมี (มิจฉาทิฏฐิ) ทิฏฐิเป็นแนวดำเนิน ย่อมหมายรู้ปฐวีนั้นนั่นแล ฝ่ายพระเสขะ พระอรหันต์ และพระตถาคตย่อมทราบอย่างแน่ชัดว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้เป็นอย่างไร ดังนี้ เป็นผู้หมดมานะ เหมือนอสรพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้วฉะนั้น ด้วยระลึกได้ว่า เมื่อก่อนพวกเราย่อมรู้ทั่วถึงพระดำรัสอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างเร็วพลันทีเดียว แต่มาบัดนี้กลับไม่รู้ไม่เห็นที่สุดหรือเงื่อนแห่งมูลปริยายสูตรนี้เลย น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง (มีพระปัญญา) ที่ใครๆ ประมาณไม่ได้ ทรง (มีพระปัญญาที่ใครๆ ชั่งไม่ได้) ดังนี้แล้วได้พากันไปสู่ที่บำรุงพระพุทธเจ้า และไปฟังธรรมโดยเคารพ.


               ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้บรรลุอรหัตตผล               

               ก็แลสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในธรรมสภาสนทนากันถึงเรื่องนี้ว่า น่าอัศจรรย์จริง อานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พราหมณ์บรรพชิตเหล่านั้นมัวเมาแล้วด้วยความเมาในมานะ ยังถูกทำให้หมดมานะได้ด้วยมูลปริยายเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า. และบัดนี้ภิกษุเหล่านั้นยังพูดคุยกันค้างอยู่.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎีไปประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ในธรรมสภาด้วยปาฏิหาริย์ที่เหมาะสมกับขณะนั้น แล้วได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ. ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลบอกเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เราตถาคตก็ได้ทำภิกษุเหล่านี้ซึ่งเที่ยวลำพองอยู่ด้วยมานะให้หมดมานะแล้วเหมือนกัน.
               จากนั้น เพราะเกิดเรื่องนี้เป็นเหตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงนำอดีตนิทานนี้มาเล่าว่า :-
               ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พราหมณ์ทิศาปาโมกข์คนหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี เรียนจบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ และประเภทอักษรสมัยมีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์ไวยากรณ์และมหาปุริสลักษณะ ในคัมภีร์โลกายัติ.
               พราหมณ์นั้นได้สอนมนต์ให้มาณพ ๕๐๐ คน. พวกมาณพที่เป็นคนฉลาดย่อมเรียนได้มาก จำได้เร็วและแม่นยำ มนต์ที่มาณพเหล่านั้นเรียนแล้วไม่เลอะเลือนเลย.
               แม้พราหมณ์นั้นก็มิได้หวงแหนวิชาเป็นเหมือนเทนํ้าลงไปในหม้อในมาณพเหล่านั้นเรียนศิลปะจนหมดแล้ว ได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นดังนี้ว่า ศิลปะนี้เพียงเท่านี้ ก็เป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า.
               มาณพเหล่านั้นก็เกิดมานะขึ้นมาว่า อาจารย์ของพวกเราย่อมรู้สิ่งใด แม้พวกเราก็รู้สิ่งนั้น บัดนี้ แม้พวกเราก็เป็นอาจารย์ได้แล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ขาดความเคารพทอดทิ้งวัตรในอาจารย์อยู่.
               อาจารย์ทราบแล้วคิดว่า เราจักทำการข่มมานะของมาณพเหล่านั้น.
               วันหนึ่ง ท่านอาจารย์ได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นผู้มายังสถานที่บำรุงไหว้แล้วนั่งอยู่ว่า พ่อคุณทั้งหลายเอ๋ย อาจารย์จักถามปัญหากะพวกพ่อ (สักข้อหนึ่ง) พวกพ่อจะสามารถกล่าวแก้ได้ไหม? มาณพเหล่านั้นก็พากันรีบเรียนอย่างคนที่เมาการศึกษาว่า ถามเลย ท่านอาจารย์ ถามเลย ท่านอาจารย์.
               อาจารย์จึงกล่าวว่า
               กาโล ฆสติ ภูตานิ          สพฺพาเนว สหตฺตนา             โย จ กาลฆโส ภูโต        ส ภูตปจนึ ปจี     

(กาลย่อมกินสรรพสัตว์กับทั้งตัวมันเอง แต่ว่าสัตว์ใดเล่าที่กินกาล ได้เผาไหม้ตัณหาที่เผาไหม้สัตว์ไปด้วยได้?)
               แล้วกล่าวต่อไปว่า พ่อคุณทั้งหลาย พวกพ่อจงแก้ปัญหานี้ซิ.
               มาณพเหล่านั้นคิดแล้วแต่ไม่รู้ (คำตอบ) จึงได้พากันนิ่งเงียบ.
               อาจารย์จึงกล่าวว่า เอาละพ่อทั้งหลาย วันนี้กลับไปก่อน พรุ่งนี้ค่อย (มา) กล่าวแก้ ดังนี้แล้วส่งมาณพเหล่านั้นกลับไป.
               มาณพเหล่านั้น (จากอาจารย์มาแล้ว) จับกลุ่มกัน ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง (พิจารณาปัญหา) ก็ยังมองไม่เห็นเบื้องต้น ไม่เห็นเบื้องปลายแห่งปัญหานั้น. พวกเขาจึงได้พากันมาบอกอาจารย์ว่า พวกผมไม่เข้าใจความหมายของปัญหานี้เลย.
               เพื่อต้องการข่มมาณพเหล่านั้น อาจารย์จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า 

พหูนิ นรสีสานิ      โลมสานิ พฺรหานิ จ      คีวาสุ ปฏิมุกฺกานิ      โกจิเทเวตฺถ กณฺณวา

(ศีรษะของคนจำนวนมากมีผมดกและใหญ่อยู่บนคอ ในเขาเหล่านี้ใครเล่าเป็นผู้มีหู)
               คาถานี้มีอธิบายว่า ศีรษะของคนจำนวนมากปรากฏอยู่ และศีรษะเหล่านั้นทั้งหมดก็มีผม ทั้งหมดเป็นศีรษะใหญ่ตั้งอยู่บนคอ ฉะนั้น ศีรษะเหล่านั้นกับศีรษะเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างกัน. ผู้มีปัญญา. ก็ใครกันเล่าที่ไม่มีรูหู?
               มาณพเหล่านั้นได้ฟังคาถานั้นแล้ว เป็นผู้เก้อเขิน คอตก (นั่ง) ก้มหน้านิ่งเอานิ้วมือขีดดิน. ลำดับนั้น อาจารย์เห็นว่ามาณพเหล่านั้นมีความละอายใจ แล้วจึงกล่าวว่า พ่อคุณทั้งหลาย พวกพ่อจงเรียนเอาปัญหาเถิด ดังนี้แล้ว ได้แก้ปัญหา (ให้มาณพเหล่านั้นฟัง).
               บทว่า กาล ได้แก่ กาลมีอาทิอย่างนี้คือ เวลาก่อนอาหารบ้าง เวลาหลังอาหารบ้าง. คำว่า ภูตานิ นั่นเป็นชื่อเรียกสัตว์. กาลหาได้เคี้ยวกินเนื้อและหนังเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลายไม่. ที่แท้แลกลับทำให้อายุ วรรณะ และพละของสัตว์เหล่านั้นสิ้นไป ยํ่ายีความเป็นหนุ่มความเป็นสาว ทำความเป็นผู้ไม่มีโรคให้พินาศไป จึงเรียกว่า กิน คือเคี้ยวกิน.
               บทว่า สพฺพาเนว สหตฺตนา ความว่า และกาลเมื่อกินอยู่อย่างนั้น ย่อมไม่เว้นอะไรๆ ย่อมกินทั้งหมดทีเดียว และใช่ว่าจะกินแต่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ที่แท้แลยังกินตัวมันเองไปพร้อมกับตัวมันเอง (อีก) ด้วย (คือ) เวลาก่อนอาหาร (ผ่านไป) จะมาเป็นเวลาหลังอาหาร (อีก) ไม่ได้. ในเวลาหลังอาหารเป็นต้นก็มีนัยแบบนี้.
               บทว่า โย จ กาลฆโส ภูโต นั่น เป็นชื่อเรียกพระขีณาสพ. ก็พระขีณาสพนั้นเรียกว่า ผู้กินกาล เพราะท่านกินปฏิสนธิกาลในภพต่อไปจนหมดสิ้นแล้วดำรงอยู่.
               บทว่า สภูตปจนึ ปจิ ความว่า ตัณหานี้ใดย่อมเผาสัตว์ทั้งหลายในอบายทั้งหลาย พระขีณาสพนั้นเผาตัณหานั้นด้วยไฟคือญาณ ได้แก่ ทำให้เป็นเถ้าถ่านไปแล้ว. 
               ลำดับนั้น มาณพเหล่านั้นเห็นเนื้อความของปัญหาปรากฏชัดตามคำแก้ของอาจารย์ เหมือนคนเห็นที่เรียบและที่ขรุขระในตอนกลางคืนด้วยแสงสว่างของประทีปพันดวง จึงคิดว่า บัดนี้พวกเราจักอยู่ร่วมกับอาจารย์ จนตลอดชีวิต ขึ้นชื่อว่าอาจารย์แล้ว เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ก็พวกเราเกิดความถือตัวว่า ได้ศึกษามามากจึงไม่รู้ความหมายของคาถาแม้เพียง ๔ บาท ขจัดมานะได้แล้ว (หันกลับ) มาทำวัตรปฏิบัติแก่อาจารย์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นเราตถาคตได้เป็นอาจารย์ ภิกษุเหล่านี้ได้เป็นมาณพ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ได้ทำภิกษุเหล่านี้ซึ่งมีมานะจัดท่องเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ให้หมดมานะ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ภิกษุเหล่านั้นได้ฟังชาดกนี้แล้วคิดได้ว่า แม้เมื่อก่อนพวกเราก็ถูกมานะครอบงำแล้ว จึงขจัดมานะออกให้ยิ่งขึ้นไปอีกได้ เป็นผู้มุ่งหน้า (ปฏิบัติ) กรรมฐานที่เป็นอุปการะแก่ตน.
               ต่อมาคราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบทถึงเมืองไพศาลี แล้วประทับอยู่ที่โคตมกเจดีย์ ทรงทราบว่าภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นมีญาณแก่กล้าแล้ว จึงตรัสโคตมสูตร นี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง เราตถาคตแสดงธรรมมีเหตุ ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตนั้นแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง ฯลฯ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ โอวาทจึงเป็นสิ่งที่ควรทำตาม อนุสาสนีเป็นสิ่งที่ควรทำตาม
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลเธอทั้งหลายควรที่จะยินดี ควรที่จะชื่นชม ควรที่จะโสมนัสว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อย่างถูกต้องด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์ (สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ปฏิบัติดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณ์นี้อยู่ หมื่นโลกธาตุก็ได้หวั่นไหวแล้ว.
               ก็ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นได้สดับพระสูตรนี้แล้ว ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายในเวลาจบ (พระสูตร) นั้นเอง.
               เทศนานี้ได้จบลงในที่นั่นด้วยอาการอย่างนี้แล.


               จบอรรถกถามูลปริยายสูตร               
               ในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนี.               
               จบพระสูตรที่ ๑               

               -----------------------------------------------------            

 

 

หมายเลขบันทึก: 712256เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2023 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท