สัญญาประชาคมกับพรรคการเมืองไทย


สัญญาประชาคมกับพรรคการเมืองไทย

7 เมษายน 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

พรรคการเมืองคือจุดเชื่อมของสัญญาประชาคม

ระบบพรรคการเมืองไทยยังไม่เป็นอุดมคติอาจมีผู้แย้งว่า ผู้พูดมีอคติ เพราะพรรคการเมืองไทยมีกฎหมายพรรคการเมืองรับรองมาแต่ปี 2498 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับแรกคือกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไปหรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปสามารถจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ยังไม่เป็นนิติบุคคล โดยต้องยื่นเรื่องกับ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายทะเบียนพรรคการเมืองศาลมีอำนาจยุบพรรคการเมืองได้ และกฎหมายพรรคการเมืองฉบับต่อๆ มาได้แก่ ฉบับปี 2511, 2517, 2541, 2550 และ 2560 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566[2] ในสังคมประชาธิปไตยนั้น นโยบายพรรคหรือสัญญาประชาคม (Social Contract) [3] สำคัญมากตามเจตจำนง (Will) [4] ของประชาชนที่จะกำหนดทิศทางของสังคม เป็นความเชื่อมต่อระหว่างพรรคการเมืองกับ ประชาชนเข้าด้วยกัน ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์หรือเผด็จการ ที่มีพรรคเดียว ไม่มีตรงนี้ ในแนวคิดประชาสังคม (Civil Society) [5] เพื่อสังคมและชุมชนที่เข้มแข็งนั้น การเมืองภาคตัวแทน (Representatives) [6] กับ การเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง (Civic political culture) [7] ที่ไม่ผ่านทางตัวแทนของพรรคการเมือง หรือหน่วยงานราชการ ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กัน ควรไปด้วยกัน ในในทางปฏิบัติความเข้มแข็งของการเมืองทั้งสองภาคล้วนอยู่ที่ระบบ และสำนึกรับผิดชอบของประชาชนท้องถิ่น ที่สังคมไทยต้องแสวงหาควานหา

หลากหลายชูนโยบายหาเสียงและการดีเบตเรื่องเดียวกันแต่อาจต่างแนวทาง[8] เช่น การจ่ายเงินคนจน นโยบายรายได้ พลังงาน การเกณฑ์ทหาร มาตรา 112 รวมทั้งนโยบาย เรียนฟรี รถไฟฟรี รักษาฟรี ไฟฟรี น้ำฟรี รถเมล์ฟรี จำนำ /ประกัน ราคาข้าว เบี้ยยังชีพ ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ฐานเงินเดือน 25,000 บาท มีที่ฝ่ายอำนาจรัฐได้หาเสียงปล่อยไปแล้วก็คือ เพิ่มเงินตอบแทน อบต.[9] และ เพิ่มค่าตอบแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน[10] ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป อย่างนี้ไม่เรียกหาเสียงล่วงหน้าได้ไง กฎหมายเลือกตั้งมีช่องโหว่ไหม อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐได้เปรียบในการหาเสียงเต็มๆ แต่การตรวจสอบการหาเสียงที่ย่อยหยุมหยิม กลับเอามาตรวจสอบฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้าม นี่เป็นผลมาจากกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้งที่เข้มงวด ผิดหลักเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด[11] แต่กลับมีการขีดคั่นขวางกั้น สร้างอุปสรรคซับซ้อน ทั้งเล็กๆ น้อยใหญ่เพื่อทำลายกระบวนการมีส่วนร่วมของประชนชนในพรรคการเมือง

 

ปัญหาทุนและสำนึกรับผิดชอบของพรรคการเมือง

สิ่งที่ฝ่ายรัฐเกรงกลัวมานานแล้วคือ ทุนหนุนของพรรคการเมืองที่เป็นทุนมหาศาลข้ามชาติจากต่างชาติ มีอิทธิพลมากสามารถล้มระบบ องค์กร สถาบันสำคัญได้ เพราะเงินทำได้ทุกอย่างทั้งการซื้อเสียง ซื้อตัว สินบน เงินรางวัล ใต้โต๊ะ ค่าจ้าง ฯลฯ ที่เห็นๆ และโจษขานกันคือ ทุนต่างชาติที่ซื้อความสะดวกต่างๆ จากราชการได้อย่างง่าย หากเป็นธุรกิจสีเทา สีดำ ย่อมหมายความว่าสังคมเต็มไปด้วยอบายมุข และสิ่งผิดกฎหมาย สังคมคงไม่น่าอยู่ รังแต่จะเสื่อมถอย เพราะเงินทุนที่สกปรก ในสังคมประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM) [12] ทุนการเมืองถือว่ามีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองมาก ทำให้พรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อรัฐบาล และต่อการตัดสินใจในเรื่องกิจการสาธารณะของประเทศ ในการตัดสินใจ การออกกฎ มติ ที่สามารถถูกโน้มน้าวชี้นำโดยระบบทุนได้

จุดทุนที่เหมาะสม[13] ไม่ว่าจะเป็นระบบระบอบใดก็ตามคือ เงินทุนนั้นต้องทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ ในกิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เช่น การคมนาคมขนส่ง ถนน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ การรักษาพยาบาล การศึกษา ธนาคาร ตลาด แหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ฯลฯ เมื่อองคาพยพเหล่านี้เข้มแข็งประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ การพัฒนาดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนกับชาติที่เจริญแล้ว หรือได้รับการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ (Grant & Donation) [14] การระดมทุน (Crowd funding) [15] จากต่างชาติ องค์กร NGO เศรษฐีนายทุน เช่น เงินช่วยเหลือกิจการ สถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ แค่นี้สังคมก็เป็นสุขได้ เพราะมีการเฉลี่ยทุนที่มีมากมายจากต่างชาติ หรือจากบุคคลองค์กรผู้ใจบุญ (Charity) [16] แต่การบริจาคหรือการให้เงินแบบให้เปล่าโดยปราศจากหัวใจแห่งการให้เพื่อการสงเคราะห์อนุเคราะห์ช่วยเหลือมีแอบแฝง คือตัวปัญหาทำให้สังคมของชาตินั้นๆ ย่ำแย่ซ้ำหนัก

สมัยก่อนมีข่าวโกงการเลือกตั้งที่อุกอาจ อิทธิพลเปิดหีบยัดบัตรปลอม เช่น การเลือกตั้งเทศบาลนครสมุทรปราการปี 2542[17] ศาลพิพากษาให้ติดคุกจริง 1 ปี 6 เดือนถือว่าโทษน้อยไป หากพิจารณาถึงสำนึกรับผิดชอบแล้ว ไม่สามารถหาเหตุผลใดมาอธิบายหักล้างได้เลย เพราะถึงขนาดเปลี่ยนหีบ ปลอมบัตร เปลี่ยนถุงบัตรได้ คงมิใช่เรื่องปกติธรรมดา นอกเสียจากคำว่า “อิทธิพล(เถื่อน)นอกกฎหมายและอำเภอใจ” แม้ว่าคนอยู่วงการเมืองล้วนมือเปื้อนทั้งสิ้น แต่หลายสิ่งอยู่ที่กฎหมาย และบางสิ่งอยู่ที่สำนึกรับผิดชอบ อยู่ที่มีพยานหลักฐานมาเล่นงานกล่าวโทษอีกฝ่ายได้หรือไม่ อย่างไร แต่ประชาชนคนสามัญชนต้องยืนว่า ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานการรับรองสิทธิประชาชน “ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ชั่วน้อยที่สุดในโลก มิได้หมายถึง ดีที่สุดในโลก” [18] เพราะแต่ละสังคม เลือกใช้เลือกปฏิบัติอย่างไรต่างกันไปตามบริบทแต่ละท้องที่

ว่ากันว่า สมัยก่อนมีการปลอมบัตรเลือกตั้งกัน งวดนี้ควรให้ปลอมยากขึ้น ต้องเอาโลโก้พรรคมาลงในบัตรเลือกตั้ง ป้องกันความสับสนด้วย เพราะแต่ละเขตเบอร์ แต่ละเขต แต่ละพรรคไม่เหมือนกันเลย หากอิทธิพลเสียอย่าง ระหว่างกระสุน กับการเปลี่ยนถุงบัตร ค่าใช้จ่ายซื้อเสียง เปลี่ยนถุงบัตรจะถูกกว่า แค่ซื้อตัวกรรมการ

แต่การนับคะแนนที่หน่วยเปลี่ยนบัตรทำได้ยาก ต้องเปลี่ยนบัตร เปลี่ยนถุง ก่อนการนับนับคะแนน การนับที่ศูนย์ทำได้ง่ายก็จริง ในระหว่างทางหากมีการเปลี่ยนถุง บัตรอาจทำได้ เพราะ เปลี่ยนบัตรก่อนนับ ยังไม่ได้นับคะแนน แต่ในการนับที่หน่วย ยังไงก็มีคนมาจดคะแนน มาดูมาสังเกตการนับคะแนน ซึ่งคะแนนตามที่นับ ตามที่อ่าน(ขาน) ตามที่ประกาศของกรรมการประจำหน่วย ต้องถูกต้องตรงกัน คะแนนจะผิดพลาด บัตรจะเขย่งไม่เท่ายอดรวมไม่ได้ เมื่อนับคะแนนที่หน่วยคะแนน[19] จะส่งคะแนนไปที่อนุ กกต.เขตแต่ละอำเภอ รวมยอดคะแนนแต่ละอำเภอ ส่งมาเขตเลือกตั้ง และรวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้ ห้ามรายงานคะแนนไม่เป็นทางการ พรรคต้องส่งคนไปติดตามดูเอง ดังนั้นคะแนน จะรอประกาศโดย กกต. ซึ่ง กกต.เขตไม่ต้องประกาศผล แต่ให้ส่งผลให้ กกต. ฉะนั้น การแก้ไขคะแนน กกต.เขต จะแก้คะแนนไม่ได้ แม้แต่บัตรเขย่ง เพียง 1-2 คะแนนก็ตาม เพราะ ฝ่ายจับผิดเขาเก็บภาพ เก็บข้อมูลมาจากหน่วยแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครเฝ้าสังเกตการอีกเป็นแสนคน[20] เนื่องจาก กกต.ไม่รายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์[21] การรายงานคะแนนโดยอาสาสมัครอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการรับทราบข่าวสาร และป้องกันการตุกติกทุจริต กระทำไม่ชอบด้วยประการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นกลาง ไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้ มีข้อสังเกตว่า การแก้ไขคะแนนไม่อาจกระทำได้ ยกเว้นเปลี่ยนถุงบัตรก่อนการนับ หรือ มีการเวียนเทียนบัตรเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายที่เวียนเทียนบัตรได้[22] มีคะแนนสูงกว่ารายอื่น ผู้สมัครและพรรคการเมืองคงต้องช่วยเหลือตนเอง 

 

การเมืองไทยสู่ระบบสองพรรคยากหรือง่าย

นโยบายส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่สองพรรคตามหลักสากลนั้น ฝ่ายอนุรักษ์ ทหาร อำนาจนิยมคงไม่ชื่นชอบ เพราะในประเทศไทยการเมืองระบบสองพรรคฝ่ายอนุรักษ์ (ฝ่ายอำนาจนิยม) จะชนะยาก ฝ่ายที่จะชนะเลือกตั้งก็คือ ฝ่ายก้าวหน้าเสรีนิยม (ประชาธิปไตย) งานนี้ พรรคทหาร โปรทหาร ทหารจำแลง ไอโอ มีงบลับ งบกลางเพียบ ที่ยังมีเงินทุนนอกระบบอื่นอีก แต่ในแนวทางกระบวนของฝ่ายอำนาจนิยมนั้นจะตรวจสอบไม่ได้ และค้านสายตาฝ่ายประชาธิปไตย เป็นแนวทางแตกต่างที่เห็นได้ก็ต้องวัดดวงกันว่า สองกระแสนี้ ประชาชนจะเลือกฝ่ายใด เพราะ มีดี ก็ต้องมีเสีย มีเสียในดี มีดีในเสีย แต่แนวคิดอนุรักษ์การเมืองไทยยังเหลืออยู่ ด้วยระบบโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ (Inequality, Disparity) [23] กลุ่มคนที่ได้เปรียบทางสังคมมีน้อย แต่กลับมีทุนทรัพยากรมากกว่า บุคคลกลุ่มนี้ต่างปกป้องตัวเองยึดตามฝ่ายอำนาจ จากผลการสำรวจโพลนักธุรกิจ CEO[24] พบว่า ยังมีแนวโน้มเลือกพรรคฝ่ายอนุรักษ์อยู่ แม้ดูจะค้านสายตาคนรุ่นใหม่ นี่คือการเมืองไทย ทั้งนี้ตามหลักการเอื้อประโยชน์กันไปมาในกลุ่มระหว่างอีลีททหาร ธุรกิจ การเมือง ราชการ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนร่วมกัน ทำให้เกิดมุมมองการทุจริตที่ต่างกัน ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เศรษฐกิจรัดตัว เขาจะอยู่อย่างไร พลังเสียงชาวบ้านจะมีมากน้อยเพียงใด เพราะเขายากจน สำนึกชาวบ้านยังไม่พร้อม พลังเสียงจึงยังไม่พอ เมื่อมาเจอการเงินทุ่มหาเสียงจากฝ่ายอำนาจนิยม ก็อาจซื้อประเทศไทยได้ เพราะด้วยสำนึกต่างและเพราะเขามีทุนหนา

เปรียบสำนึกการทำบุญในทางศาสนาจะเห็นว่า ทำบุญกับพระที่มีศีลบริสุทธิ์จะเกิดกุศลกว่า แต่หากทำบุญกับคนทุศีล อลัชชี จะไม่เกิดกุศล การกล่าวคำถวายปัจจัยไทยธรรม จึงเป็นคำกล่าวต่อสงฆ์ทั่วไปทั่วโลก ไม่ได้กล่าวต่อองค์ที่อยู่ต่อหน้า ซึ่งสื่อสารกันด้วยบทสวดมนต์ที่ไม่เข้าใจความหมายกัน การเลือกตั้งก็เช่นกัน

ดังนั้น หัวใจนักการเมืองต้องมีนโยบายต่อสาธารณะ นโยบายเปรียบเหมือนสัญญาประชาคม

พรรคที่จะทำนโยบายบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จต้องเป็นฝ่ายรัฐบาล หากมาเป็นฝ่ายค้านก็ยากที่จะสำเร็จตามนโยบายได้ ชาวบ้านผู้เลือกตั้งต้องดูว่า เมื่อเขาเป็นฝ่ายรัฐบาลแล้ว เขาได้ใช้บทบาทหน้าที่ตามสัญญาประชาคมหรือไม่ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งด้านกายภาพและด้านสังคมมากน้อยเพียงใด รวมตลอดถึงเรื่องระหว่างประเทศว่า มีความสัมพันธ์ที่เกิดประโยชน์ต่อชาติอย่างไร ที่ผ่านมา บางพรรคใช้วิธีการแบบจูเอินไหล "แมวจะสีใดก็ตาม ถ้าจับหนูได้ ถือว่าดีทั้งนั้น"[25] หมายถึงทำงานสำเร็จได้ แม้จะไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกศีลธรรมบ้าง แต่สำเร็จถือว่าดีทั้งนั้น บางพรรคใช้วิธีการแบบ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ แบบ "ประสานงาน ประสานประโยชน์"[26] เป็นต้น

ในทัศนะของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองทั้งในแบบ นอกแบบ ในกติกาการเลือกตั้ง ในพฤติกรรมของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การรณรงค์ เดินสาย ประชาสัมพันธ์ มหกรรมเกทับ การโปรโมทหาเสียงนำเสนอนโยบาย เพื่อการดึงคะแนนที่เข้มข้น เป็นสิ่งที่น่าศึกษา มีได้สองทาง[27] คือ (1) นำเสนอนโยบายแข่งขันกัน เพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้าน (2) การนำเสนอนโยบายที่ปราศจากความรับผิดชอบ เสนอแบบเอามัน เพื่อให้ได้คะแนน เกินราคาคุย โอกาสความเป็นไปได้น้อย ถือเป็นการหลอกลวง ที่มีผลต่อสัญญาประชาคมที่บอกชาวบ้าน

 

พรรคการเมืองกับกลุ่มมวลชนจิตอาสาและคนรุ่นใหม่

สังคมปัจจุบันคนเลวมักคิดว่าตนเองเป็นคนดี ในมุมมองคนท้องถิ่นไทยต้องอยู่ตรงกลาง ท่ามกลางสายการเมือง สายส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และประชาชน ปัจจุบันคนท้องถิ่นต้องไม่มองที่มุมมองของประชาชนแล้ว เพราะว่าประชาชนเขาได้ประโยชน์อะไร เขาก็จะเลือกจากตรงนั้น ซึ่งมีโอกาสที่ไม่ถูกต้องสูงมาก การมองของคนท้องถิ่นต้องมองที่ประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์โดยรวม (Public Interest) เท่านั้น แต่ถ้ามองลึกลงไปอีก จะเห็นว่า โครงสร้างไทยเป็น “รัฐราชการ” [28] ที่ต้องเหนียวแน่นกับสถาบันหลัก ที่เป็นศูนย์กลาง ความมั่นคงของประเทศ ที่ต่อสู้กับภัยคุกคามจากต่างประเทศ นักล่าอาณานิคม และลัทธิคอมมิวนิสต์มาตลอด ไทยจึงมีพัฒนาการของกลุ่มมวลชนอาสาต่างๆ[29] มาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (ลส.ชบ.) กลุ่มอาสาสมัครหมู่บ้าน อปพร. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มจิตอาสาพระราชทาน 904 กลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) กลุ่มสารพัดอาสา กู้ภัย กู้ชีพ กลุ่มอาสาปศุสัตว์ เป็นต้น ที่มีมากมายหลายกลุ่ม ทั้งเป็นกลุ่มเฉพาะทาง และเป็นกลุ่มทางการเมือง ในภาพรวมถือว่าเป็นสิ่งดีที่สามารถระดมราษฎรให้มาอยู่ในวงจรของจิตอาสาได้มาก

รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นฐานกำลังค้ำจุนราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งไม่ได้หมายความแต่จังหวัด อำเภอ แต่ยังหมายรวมถึงราชการส่วนกลางที่มีหน่วยงานออกมาตามจังหวัด อำเภออีกด้วย การช่วงชิงมวลชน สร้างฐาน สร้างความชอบธรรมค้ำจุนหน่วยงานราชการของตนเองให้คงอยู่ถาวรแล้ว ยังเป็นกลุ่มหัวคะแนนให้แก่พรรคการเมืองได้ด้วย เช่น กลุ่ม อสม. กลุ่ม กำนันผู้ใหญ่บ้าน หากนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใดสามารถเข้าถึงและผูกใจบุคคลเหล่านี้ได้ ย่อมได้เปรียบทางการเมืองในการหาเสียง หาคะแนนได้ไม่ยาก 

ย้อนมองลงไปอีกว่า กลุ่มมวลเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี คือกลุ่มจัดตั้งทั้งหลายนั้น แน่นอนว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์อื่น ใช้เงินโดยตรงจากเจ้าของพรรค เจ้าของกลุ่มผลประโยชน์นั้นๆ แต่ ณ ช่วงเวลานี้มวลชนอาจเกิดระส่ำระสาย เพราะขาดเงินทุนจากผู้สนับสนุน เช่น พรรคเคยเป็นทุนให้ เลิกส่งเงินทุนสนับสนุน หรือเปลี่ยนขั้ว หรือเพราะผู้สนับสนุนเปลี่ยนใจ รอดูท่าที เพราะทุกวันนี้ ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งพรรคการเมือง ล้วนต่างเสาะแสวงหาเงินทุนเข้าพรรค เข้ากลุ่มให้ได้มากที่สุด จนปล่อยทิ้ง กลุ่มเสื้อสีออกไป เอาใจนายทุนมาแทนคนรากหญ้า ปรากฏการณ์ตกปลาในบ่อเพื่อน งูเห่า นกแล[30] จึงเกิดขึ้นมากมาย สังเกตว่าคนที่ย้ายพรรค เขามีดีที่ฐานเสียง และทุนส่วนตัวอยู่ด้วย ทั้งสองอย่าง (เสียงดี กระสุนดี) พรรคต่างๆ จึงขยันดูดกันเข้าพรรค (พลังดูด) ปรากฏการณ์นี้มักมีมาในช่วงการเลือกตั้ง เป็นเช่นนี้มาหลายครั้งหลายรอบแล้ว ตอนนี้ พรรครอพึ่งเสียง พึ่งสีเสื้อ ไม่ทันการณ์แล้ว กลุ่มอาสาจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีค่าตอบแทน หรือมีสิทธิพิเศษ จึงเป็นเป้าหมายการสร้างฐานคะแนนเสียง ได้อีกทางเลือกหนึ่ง รวมถึงฐานเสียงจากศาสนา วัดดังๆ ที่มีผู้นิยมศรัทธา เจ้าอาวาส หรือพระผู้นำ ก็เป็นแหล่งสร้างคะแนนได้เช่นกัน ทั้งนี้ รวมทั้งศาสนาอิสลาม คริสต์ และอื่นๆ ด้วย 

เงินทุนที่พรรคการเมืองใช้ จึงมาจากธุรกิจลงทุนในไทย เช่น งานสัมปทาน ทุนผูกขาด กึ่งผูกขาด หรือทุนแข่งขัน ทั้งนี้รวมเงินที่ไหลเข้ามาจากต่างชาติมาลงทุนด้วย เพราะต้องพึ่งอำนาจรัฐ ในการออกกฎหมาย ระเบียบ นโยบาย เป้าหมาย โครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนด้วย บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ล้วนมีเป้าหมายไปสู่จุดสูงสุด ในการบริหารประเทศ เพื่อต้องการการยอมรับ หรือเสนอข้อต่อรองกับกลุ่มทุนเหล่านี้ เพื่อให้ได้ทุนมาในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนอย่างต่อเนื่องต่อไป จึงชี้ว่า ใครจะชี้นำใคร ระหว่างพรรคการเมือง กับ กลุ่มทุนนั้น คงอยู่ที่บรรยากาศการเมืองในแต่ละห้วงเวลา สำหรับคนท้องถิ่นในช่วงหลังๆ ระบบอุปถัมภ์เข้ามาครอบงำสูง ทั้งกลุ่มนักการเมืองทองถิ่น ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานจ้างท้องถิ่น ล้วนมาจากระบบอุปถัมภ์ พึ่งพิง ต่างตอบแทน และหนักถึงขั้นซื้อขาย ตำแหน่ง ก็มากมาย ดังนั้นอย่าได้หวังว่าจะเกิดการยอมรับจากสังคมทั่วไป หรือได้มีบทบาทในสังคมอย่างสง่าผ่าเผย ตราบใดที่ยังไม่ละนิสัยพฤติกรรมเดิมที่แย่เสีย

ยิ่งราชการส่วนภูมิภาค ส่วนกลางที่กลับมายิ่งใหญ่อีกในช่วง 10 ปีให้หลังนี้ เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่เขามุ่งไปมวลชนจัดตั้ง โดยราชการภูมิภาคอยู่แล้ว มวลชนคนท้องถิ่นมีหลายกลุ่ม ต่างก็ขัดแย้งแก่งแย่งกันไม่มีวันจบสิ้น ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ด้วยกันท่ามกลางความขัดแย้งแล้วใครจะมาสนใจดูแลเอาไปเห็นหัวคะแนน

ดูในเรื่องร้องเรียน คดีฟ้องร้อง การชี้มูล ป.ป.ช. ยังมีมากมาย สถานการณ์ภายใน อปท.ไม่มีนิ่ง แต่ก็ยังแอบกินเงียบแบบส่วนกลาง อปท.นับวันจึงมีแต่จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ แม้แต่ฐานเสียงนักการเมืองระดับชาติ หลายแห่งก็ยังรักษาไม่ได้ แล้วอำนาจต่อรอง มันจะมีเหลืออยู่อีกหรือ หมดสิ้นกันแล้วนฐานคะแนนจาก อปท. (คนท้องถิ่น) 

ส่วนเสียงคนรุ่นใหม่ขอยกตัวอย่างเรื่องทุนที่มาชี้นำการเลือกตั้ง ตาสีตาสาตกเป็นเหยื่อ ในขณะที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่ หรือคนกลุ่ม Gen Z อายุ 18-26 ปี มีสิทธิเลือกตั้ง 7.67 ล้านคน[31] ส่วนใหญ่จะเป็นคนหัวแข็ง เก็บกด ไม่มีจะกิน ไม่มีอาชีพที่มั่นคง แต่ต้องไปเลี้ยงดูคนสูงวัย เพราะปี 2565 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว หรือ สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) [32] แล้ว ด้วยสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

 

พรรคการเมืองและนักการเมืองน้ำดี ถือเป็นการบ้านตามนี้ เพราะพรรคการเมืองและท่านเป็นองค์กรและบุคคลสาธารณะ ที่ชาติต้องการ ให้สัญญาประชาคมแก่ชาวบ้านไว้อย่างไร ต้องรับผิดชอบ ไม่เอามันเด็ดขาด


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 15 เมษายน 2566, https://siamrath.co.th/n/439068 

[2]พัฒนาการของพรรคการเมืองไทย.. จากสถาบันต้องห้ามสู่สถาบันต้องสนับสนุน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ใน วารสารสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำปี 2563 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563), กรกฎาคม 2564, https://www.ect.go.th/ect_th/article_attach/journal2-2563.pdf & แนวทางการปฏิรูประบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองระบอบประชาธิปไตย, โดยบุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า, มีนาคม 2555, https://www.kpi.ac.th/knowledge/book/data/428 & ระบบพรรคการเมืองไทยในอุดมคติ, โดยปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 2, มิถุนายน 2524, http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/8f43bb0b123a00a98a137e47b1bbb8e5 

[3]ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social contract)เป็นการนำเสนอความคิดที่อธิบายความชอบธรรมใหม่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐ จากเดิมที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ผู้ปกครองซึ่งก็คือกษัตริย์มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจปกครองที่ได้รับมาจากพระเจ้าที่เรียกว่า อำนาจเทวสิทธิ์ (Diving Right) อำนาจจากสวรรค์นี้ผู้ปกครองได้รับผ่านมาทางศาสนจักร ตามความเชื่อแบบเดิมนี้อำนาจของอาณาจักรและอำนาจของศาสนจักรจึงเป็นอันเดียวกัน แต่อำนาจรัฐตามแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มสัญญาประชาคมเสนอขึ้นมาใหม่ อ้างที่มาของอำนาจรัฐว่าเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันของมนุษย์ในสังคมมาตกลงจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันด้วยการมอบอำนาจให้ผู้นำทำหน้าที่แทนตนในนามของส่วนรวม นักปรัชญาทั้งสามคนให้เหตุผลแตกต่างกันในการอธิบายถึงความจำเป็นที่มนุษย์ยินยอมมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและยอมมอบอำนาจให้ผู้อื่นปกครอง โดยนักทฤษฎีแต่ละคนมีคำอธิบายอ้างถึงพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่ที่มีทัศนะเหมือนกันคือธรรมชาติของมนุษย์เป็นเหตุแห่งการทำข้อตกลงยินยอมในการจัดตั้งและมอบอำนาจให้ผู้นำ

สัญญาประชาคม (Social contract) ในความหมายที่นำมาใช้ในการเมืองไทยปัจจุบัน หมายถึง ความตกลงร่วมกันของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ร่วมกันหรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการแสวงความตกลงและทางออกของปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้างซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม, วิกิพีเดีย

ที่สำคัญคือ หนังสือชื่อ “สัญญาประชาคม (The Social Contract)”เดิมชื่อ ว่าด้วยสัญญาประชาคม หรือหลักการสิทธิการเมือง (On the Social Contract; or, Principles of Political Rights, ฝรั่งเศส: Du contrat social; ou Principes du droit politique) โดย ฌอง ฌากส์ รุสโซ หรือ ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean Jacques Rousseu : 1712-1778) เป็นหนังสือในปี 1762 ซึ่งรุสโซตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับทางที่ดีที่สุดในการตั้งชุมชนการเมืองเมื่อเผชิญกับปัญหาสังคมพาณิชย์, วิกิพีเดีย

เพราะสัญญาประชาคม ช่วยบันดาลใจการปฏิรูปการเมืองหรือการปฏิวัติในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝรั่งเศส สัญญาประชาคม แย้งความคิดว่าพระมหากษัตริย์ได้รับพระราชทานอำนาจจากพระเป็นเจ้าในการออกกฎหมาย รุสโซให้เหตุผลว่ามีเพียงประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่านั้นที่เป็นผู้มีสิทธิสมบูรณ์

รุสโซถือเป็นต้นธารคนสำคัญแห่งประชาธิปไตย ผ่านแนวคิดเรื่องเจตจำนงร่วม (general will or la volonte generale) อำนาจอธิปไตยของปวงชนมีแนวคิดแกนกลางคือความชอบธรรมของอำนาจหน้าที่และกฎหมายของรัฐบาลหนึ่งๆ เขาถูกวิพากษ์ว่าเป็นนักคิดผู้สับสนย้อนแย้ง บ้างกล่าวว่าเขาคือธารน้ำสายหลักของยุคเรืองปัญญา (Enlightenment Period) และบ้างเปรียบเปรยว่าหนังสือของเขาคือ คัมภีร์ไบเบิลแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 

ดู ทฤษฎีสัญญาประชาคม โดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท, Integrated Human Development Center (IHDC) : ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.), 10 มิถุนายน 2556, http://www.thaiihdc.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=424%3A2556-06-10-05-19-41&catid=4%3A2557-06-25-06-55-40&Itemid=23 

& “สัญญาประชาคม” ของ “ฌอง-ฌากส์ รุสโซ” คัมภีร์ไบเบิลแห่งการปฏิวัติ, LIBERTÉ, ÉGALITÉ, FRATERNITÉ, โดย สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล, 12 พฤศจิกายน 2563, https://cont-reading.com/context/jean-jacques-rousseau-readvolution/

[4]เจตจำนง เป็นคำนาม หมายถึง “ความตั้งใจมุ่งหมาย ความจงใจ” ในทางปรัชญา เจตจำนง เป็นคำที่บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า will มีความหมายว่า “1. ความจงใจ 2. แรงปรารถนาซึ่งเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่างๆ”, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ในที่นี้ คือ “เจตจำนงเสรี” (Free Will) หมายถึงการกำหนดการเลือกตัดสินใจในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็นความดี และจงใจกระทำเพื่อบรรลุถึงความดีของตัวเองนั้น

เป็นการเลือกตัดสินใจและจงใจกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การเลือกและเจตนาเกิดจากตนเอง ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาบังคับหรือกำหนด คำนี้มีขึ้นในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา และคำนี้เองทำให้เกิดคำถามว่ามนุษย์มีอิสระในการเลือกหรือเปล่า 

ศาสนาคริสต์สอนว่ามนุษย์ทุกคนมี free will คือความมีอิสระในการตัดสินใจเลือกทำอะไรจากทางเลือกหลายอย่าง เช่น จะทำดีหรือทำชั่ว

มีการวิพากษ์ว่าเจตจำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา (Free Will is Exist or is it just an Illusion) สิ่งที่ไม่มีเจตจำนงเสรีจะมีลักษณะดูง่ายๆ คือ ไม่แสดงพฤติกรรมอะไร นักปรัชญาตะวันตกแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) Determinism เห็นว่ามนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี เพราะถูกตั้งโปรแกรมให้ทำไว้แล้ว เป็นแบบ Mechanism ตามแนวคิดของ Thomas Hobbes (2) Indeterminism มนุษย์มีเจตจำนงเสรีเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดๆ ก็ตาม ตามแนวคิดของ Jean-Paul Sartre ที่มีแนวคิดต่างขั้วจาก Hobbes ซึ่งในทางพุทธศาสนาว่า มนุษย์ทำตามกรรม จึงมีเจตจำนงเสรี ที่ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า เจตนา (will) คือกรรม" (I call the human will as action) กระบวนการเริ่มต้นของการกระทำทุกอย่างย่อมมีเจตนาเป็นประธานในการทำกิจกรรมของการดำเนินชีวิตของมนุษย์เรา

แต่ในทัศนะของรุสโซ เจตจำนง (Will) มีอยู่สองแบบ คือ (1) “เจตจำนงทั่วไป” หรือ “เจตจำนงร่วม” (the General will) เป็นเจตจำนงของทุกคน (Will of all) ที่ยึดถือประโยชน์ของสังคมทั้งหมด ประโยชน์ส่วนรวม ของคนทุกคน เป็นที่ตั้ง (2) “เจตจำนงเฉพาะส่วน เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล” (the Spatial Will) ที่ยึดถือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งโดยปกติ เจตจำนงทั้งสองแบบจะต้องดำรงอยู่เคียงคู่กันในสังคมการเมือง และจะขัดแย้งต่อสู้กันไปตามวิถีทาง เป็นธรรมดา

ในทางปรัชญา มีความขัดแย้งเก่าแก่ 2 เรื่อง (อ้างจากวรยุทธ, 2538) คือ (1) เจตจำนงเสรี (free will) และ (2) เหตุวิสัย (determinism) ปัจจุบันคนพูดกันในเรื่อง “เสรีภาพ” ซึ่งเมื่อกล่าวถึง “เสรีภาพ” (สิ่งที่ตรงข้ามกับการบีบบังคับ) มักใช้คำว่า “การเลือกที่เสรี” (free choice) มากกว่า “เจตจำนงเสรี (free will) ซึ่งเป็นการชนกับแนวคิด determinism โดยตรง (อ้างจาก Morton White, 1917-2016) วรยุทธได้สรุปแยกนักปรัชญาที่เห็นขัดแย้งกันนี้เป็น 5 กลุ่ม คือ (1) กลุ่ม Libertarianism (chance-free will) เห็นว่าแนวคิดกลุ่ม Determinism ผิด (2) กลุ่ม Determinism ไม่มีอะไรที่บังเอิญ (contingency) เห็นว่าแนวคิดกลุ่ม Libertarianism ผิด (3) กลุ่ม Compatibilism พยายามประนีประนอมระหว่าง free will และ determinism กลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่า soft determinism (4) กลุ่มกระบวนการที่รวม libertarianism และ determinism เข้าไว้ด้วยกันในกระบวนการเดียวกัน (5) กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายสี่กลุ่มแรก

ดู The Question of Free Will: A Holistic View, by Morton White, Princeton University Press, 1993, 137 pages, https://books.google.co.th/books/about/The_Question_of_Free_Will.html?id=hcUBtFlPpCUC&redir_esc=y 

& เจตจํานงเสรีและเหตุวิสัย : เส้นขนานที่พบกันได้, Assumption University of Thailand โดย วรยุทธ ศรีวรกุล, ในวารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2538 หน้า 145-156, 

https://repository.au.edu/bitstreams/9b0bf125-cccd-4fda-8218-8af44fcb6168/downloadhttps://repository.au.edu/server/api/core/bitstreams/9b0bf125-cccd-4fda-8218-8af44fcb6168/content

& เจตจำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา (Free Will is Exist or is it just an Illusion), Episode 1, โดย วิรุฬหก, ใน blockdit, 23 พฤษภาคม 2563, 23:35 น., https://www.blockdit.com/posts/5ec950bf3cde1825cb754ca4และ Episode 2 โดย วิรุฬหก, ใน blockdit, 25 พฤษภาคม 2563, 09:59 น., https://www.blockdit.com/posts/5ecb34ac4e20560cba88ed34

& ปีแห่งการแสวงหา เจตจำนงทั่วไป โดย ปราปต์ บุนปาน, ,ติชน, 8 มกราคม 2562, 13:00 น., https://www.matichon.co.th/columnists/news_1305654

& ทำความรู้จัก “เจตจำนงเสรี” ฉบับย่อ, The MemoLife, 1 พฤษภาคม 2564, https://www.facebook.com/memolifeCNU/photos/a.110901741059199/128537625962277/?type=3

[5]ประชาสังคม หรือ civil societyเป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยเป็นแนวคิดที่กว้าง จึงมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย โดยทั่วไปประชาสังคม หมายถึง พื้นที่หรือส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคธุรกิจเอกชนที่เน้นดำเนินงานโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรในพื้นที่ประชาสังคม ประชาชนทั่วไปเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการที่เป็นอิสระจากภาครัฐ และอยู่นอกบริบทการแข่งขันทางการเมือง, วิกิพีเดีย

[6]ในบริบททางการเมือง การเลือกตัวแทนและการมอบอำนาจนั้น เป็นปรากฏการณ์ร่วมกันของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ตั้งอยู่บนปรัชญาการเมืองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เมื่อประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยตรง ด้วยข้อจำกัดของเวลา ความรู้ ทักษะและอื่นๆ ประชาชนจึงพร้อมใจกันเลือกผู้แทน (representatives)และ “มอบหมายอำนาจ” ให้ผู้แทนเหล่านั้นตัดสินใจเชิงนโยบายและบริหารประเทศแทนตน ในความสัมพันธ์นี้ ประชาชนจึงเป็นเจ้าของอำนาจ (principal) ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน (agent) (Kiewiet and McCubbins, 1991), วิกิพีเดีย

[7]วัฒนธรรมทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย : วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง (Civic Culture) Model นี้เกิดขึ้นจากการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) ของนักวิชาการ Gabriel Almond & Sidney Verba ในประเทศซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยในระดับต่างๆ อยู่แล้วในช่วงปี ค.ศ.1959-1960 คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันตะวันตก อิตาลีและเม็กซิโก 

เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสม โดยมีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเป็นหลัก และมีวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้ากับแบบคับแคบคานอยู่ แต่มีสัดส่วนน้อยกว่าแบบมีส่วนร่วม โดยวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมโน้มนำให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความมีสิทธิมีเสียงและเรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐบาล ณ จุดนี้จึงแสดงลักษณะที่ประชาชนเป็น “พลเมือง” ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองแบบมีเหตุมีผล (Rationalist-activist) แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าก็โน้มน้าวให้ประชาชนสำนึกในความเป็น “ราษฎร” ภายใต้การปกครอง คือ ยอมรับอำนาจอันชอบธรรมของผู้ปกครองด้วย จึงไม่ดึงดันที่จะได้รับการแก้ปัญหาให้ตรงตามที่ตนต้องการทุกประการ ณ จุดนี้ ความสงบเรียบร้อยจึงไม่ถูกท้าท้ายจนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมแบบคับแคบหรือแบบท้องถิ่นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ทำให้พลเมืองไม่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมแบบอื่นๆ ของส่วนกลางเสียทั้งหมด โดยนัยนี้ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองจึงน่าจะเอื้อต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

กล่าวโดยสรุป พลเมืองในประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบ Civic Culture จะมีลักษณะร่วม 2 ประการ คือ ประการแรก มีความสามารถในการเป็นพลเมืองที่ดี คือ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีเหตุมีผล (Citizen Competence) ประการที่สอง มีความสามารถในการเป็นราษฎรที่ดี (Subject Competence) คือ เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองที่รู้จักการประนีประนอมและมีระเบียบวินัย ซึ่งก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย

ดู วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง : แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย โดย ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์, 8 กรกฎาคม 2550, 21:00 น., http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=1117

[8]คาดหมายว่าการออกสัมภาษณ์สื่อหรือขึ้นเวทีดีเบตนั้นพรรคการเมืองอาจให้ความสำคัญน้อยลง โดยเฉพาะพรรคที่กระแสเป็นรองแต่โดดเด่นที่กระสุน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป วงการสื่อมวลชนก็เปลี่ยนตาม ทุกสื่อยกระดับเวทีดีเบตหรือรูปแบบรายการสัมภาษณ์ขึ้นมาได้อย่างแหลมคม สนุก และเข้าถึงคนในวงกว้าง

“การดีเบต” จะมาจากวัฒนธรรมการเมืองสหรัฐฯ แต่วันนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองสากลไปแล้ว การดีเบตจะทำให้ประชาชนได้เห็น “กึ๋น” และ “วิสัยทัศน์” ของผู้นำแต่ละพรรค

ดู เลือกตั้ง 2566 : เจาะ 16 นโยบาย "พรรคพลังประชารัฐ" สู้ศึกเลือกตั้ง, pptvhd36, 22 มีนาคม 2566, https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/193013& เลือกตั้ง 66 : ส่อง นโยบายพรรคการเมือง 2566 เช็กเลย, TrueID, 4 เมษายน 2566, 17:24 น., https://news.trueid.net/detail/1Dz5aZxYgnxm& เลือกตั้ง 2566 : เปิด 15 นโยบาย "ก้าวไกล" พร้อมพาไทยไม่เหมือนเดิม โดย PPTV Online, 5 เมษายน 2566,11:00 น., https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/192860 & เลือกตั้ง 2566 : เวทีดีเบต มาตรฐานใหม่การเมืองไทย สะเทือน 2 ป., END GAME #8 โดย THE STANDARD TEAM, 5 เมษายน 2566, https://thestandard.co/end-game-ep8/ & การดีเบตวัดกึ๋นผู้นำประเทศ โดยลม เปลี่ยนทิศ, 6 เมษายน 2566, 05:51 น., https://www.thairath.co.th/news/politic/2672688

[9]นายกฯ ให้เพิ่มเงินตอบแทนอบต. ยกระดับขึ้นเป็นเทศบาล ยันรัฐบาลทำงานปกติไม่ได้หาเสียง, WorkpointTODAY, 2 มีนาคม 2566, https://workpointtoday.com/politic-prayut-6/& ครม. เห็นชอบเพิ่มเงินค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต. โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป (เพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหาร-สมาชิก อบต. สูงสุด 7.5 หมื่น), thaigov, 14 มีนาคม 2566, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/66124

[10]ครม. เห็นชอบเพิ่มเงินค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ, thaigov, 14 มีนาคม 2566, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/66126

[11]ผู้เขียนอ้างอิง รศ.พัฒนะ เรือนใจดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ บทสัมภาษณ์ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดู ระบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย, บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ, โดยกองบรรณาธิการ สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, จุลนิติ เดือนมีนาคม-เมษายน 2558, หน้า 1-27, http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/IN60_%20jun_12_2.pdf

[12]ปัจจุบันมีการโชว์จำนวนหนี้สินของประเทศกลุ่มอาเซียน (10 ประเทศ ไทย พม่า(เมียนมา) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน และอาเซียนเห็นชอบหลักการ ยอมรับ ติมอร์เลสเต เป็นสมาชิกชาติที่ 11 ในการประชุมสุดยอดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565) ที่เป็นหนี้จีน ปรากฏว่าทุกประเทศเป็นหนี้จีนรวม 8 ประเทศ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ และไทยที่ไม่เป็นหนี้จีน นอกจากนี้ในด้านการลงทุนได้กล่าวถึงการค้าและการลงทุนระหว่าง ประเทศของไทยใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่ง ปัจจุบัน เห็นชอบ ขยายเวลา แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทำงานในไทย ถึงวันที่ 15 พ.ค. 66 ดู ครม. เห็นชอบ ขยายเวลา แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม (การทำงานแบบ MOU ) ทำงานในไทย ถึงวันที่ 15 พ.ค. 66, ข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8 กุมภาพันธ์ 2566, https://prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/157171

[13]“จุดทุนที่เหมาะสม” ในที่นี้หมายถึง "จุดคุ้มทุน" คือ จำนวนของสินค้าที่ธุรกิจต้องสร้างและขายให้ได้เพื่อให้มีรายได้เท่าทุน หรืออีกนัยหนึ่ง จุดคุ้มทุน จุดคุ้มทุน คือ จำนวนของสินค้าที่ธุรกิจต้องสร้างและขายให้ได้เพื่อให้มีรายได้เท่าทุน หรืออีกนัยหนึ่ง จุดคุ้มทุน คือ ยอดขายต่อเดือนที่จะทำให้ธุรกิจมีรายได้ที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในแต่ละเดือน ดังนั้น รายได้ที่สูงกว่าจุดคุ้มทุนจึงหมายถึงกำไร และในทางตรงข้าม รายได้ที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนก็คือ ขาดทุนนั่นเอง เราสามารถเขียนเป็นสมการเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจุดคุ้มทุน ต้นทุน และราคาขายได้ 2 วิธี ดังนี้

(1) จุดคุ้มทุน (บาท) = จุดคุ้มทุน (หน่วย) x ราคาขายต่อหน่วย = ต้นทุนคงที่รวม + ต้นทุนแปรผันรวม

(2) จุดคุ้มทุน (หน่วย) = ต้นทุนคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย)

Economies of Scaleหรือ ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน หรือ บางทีก็แปลตรงๆ ว่า “การประหยัดต่อขนาด” เป็นแนวคิดเรื่อง “อัตราส่วนของต้นทุน ต่อ ปริมาณการผลิตสินค้า หรือ อัตราส่วนของต้นทุน ต่อ การทุ่มเททรัพยากรเชิงปริมาณเพื่องานบริการ”ในประเด็นขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน หรือ Economies of Scale ก็คือ… MES หรือ Minimum Efficient Scale หรือ สัดส่วนขั้นต่ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุนที่จะเห็นปริมาณสินค้ากับต้นทุนและกำไรสร้างผลตอบแทนอย่างสมดุลที่สุด

ดู Economies of Scale… ขนาดสัดส่วนความคุ้มทุน #SaturdayStrategy, โดย Thum Namprom, 11 กันยายน 2564, https://reder.red/economies-of-scale-11-09-2021/ & อยากรวยห้ามพลาด จุดคุ้มทุน...เท่าไหร่ถึงจะไม่ขาดทุน, By Krungsri the COACH, 2563, https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/good-life/how-to-calculate-breakeven-point

[14]Grant & Donation เป็นรูปแบบการการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น การสนับสนุนเงินให้เปล่า (Grant) เพื่อช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ในการพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ส่วนเงินบริจาค (Donation) อาจเป็นเงินให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ จากองค์กรการกุศลต่างๆ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ส่วนใหญ่เป็นเงินให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในทุกรูปแบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ผู้ประสบภัยสาธารณะ ผู้ลี้ภัย ผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาส เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น

[15]Crowdfunding คือ การระดมทุนจากคนจำนวนมากเพื่อโครงการหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยเจ้าของโครงการนั้นต้องนำเอาความคิดหรือธุรกิจของตนเองออกมาขอระดมทุนจากนักลงทุนให้ได้จำนวนเงินตามที่ต้องการ ผู้ระดมทุนได้เงิน นักลงทุนได้ผลตอบแทน ทั้งนี้ผลตอบแทนจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ตกลงกัน

[16]คำว่า Charity ในสังคมไทยเทียบกับ "การทำบุญกุศล" ซึ่งมีคำเกี่ยวกับ "การให้ทาน การสละทรัพย์ของคนพุทธ" อยู่ 2-3 คำ ที่สำคัญ คือ คำว่า donate, give, charity ที่มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน เหมือนๆ กัน โดยเฉพาะใกล้เคียงยิ่งกับคำว่า donation จึงใช้คำว่า Donation for Charity 

"การทำบุญกุศล" (Charity) เป็น "การให้" ที่เป็นการทำบุญ บริจาคเงิน สิ่งของ รวมไปถึงการไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม มีมากมาย ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 “การเรี่ยไร” หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย กฎหมายหลักคือ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2539 ดู ขอรับบริจาคอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย, โดย ทนายเจมส์ LK, ไทยรัฐออนไลน์, 6 สิงหาคม 2562, https://www.thairath.co.th/news/local/1630873 & เรื่อง ขอรับบริจาคอย่างไร ไม่ผิดกฎหมายกับพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 โดยทวียศ ศรีเกตุ วิทยากรชำนาญการ, ในจุลนิติ, 2563, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=2576 & ประเทศที่พัฒนาแล้วเค้ามองว่า Charity เกิดขึ้นเพราะความล้มเหลวของของรัฐบาลไหมครับ, เวบ pantip, 22 กรกฎาคม 2564, https://pantip.com/topic/40858119 & ว่าด้วยเงินบริจาคเงินทำบุญ : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 25 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.gotoknow.org/posts/698240 & https://siamrath.co.th/n/325468 

[17]"วินาทีที่ว่า นั่นก็คือ จู่ๆ ได้มีชาย 2 คน สวมหมวกกันน็อก วิ่งปรี่เข้าไปในคูหาเลือกตั้งที่ 7 หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ. สมุทรปราการ ในวันที่ 2 พ.ค.2542 จากนั้นได้กระทำการที่สุดจะอุกอาจเกินกว่าที่จะมีใครคาดหมาย โดยชายคนแรกตรงเข้าใช้กุญแจที่พกติดตัวมา เปิดหีบบัตรเลือกตั้งอย่างง่ายดาย ส่วนชายคนที่ 2 ได้นำถุงกระดาษที่เตรียมมาซึ่งภายในบรรจุบัตรเลือกตั้งที่มีการกาเลือกเบอร์แล้ว รวมกว่าร้อยใบ ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้ง ต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ประจำคูหาเลือกตั้ง รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งที่มารอใช้สิทธิ โดยที่ทุกคนที่เห็นการกระทำทั้งหมด และส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับการเลือกตั้ง ทำได้เพียงอ้าปากค้าง และหยุดนิ่งราวกับไม่หายใจ ปล่อยให้ชายคนดังกล่าว กระทำการอหังการ ท้าทายความกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยนี้ ตามอำเภอใจ ซึ่งช่วงวินาทีประวัติศาสตร์รอยด่างดำของประเทศนี้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่หลังจากสถานีโทรทัศน์ ITV นำเผยแพร่สู่สายตาประชาชน แทบทุกคนในชาติเวลานั้น ต่างตกตะลึงพรึงเพริด ไม่นึกฝันว่า สยามประเทศของเรา จะมีผู้ใดที่หาญกล้ากระทำการอุกอาจได้ถึงเพียงนั้น และนั่น จึงเป็นที่มาของคำว่า โคตรโกงเลือกตั้ง" ดู อาทิตย์อัสดงที่ปากน้ำ ย้อนรอย 16 ปี ปิดฉากคดี โคตรโกงเลือกตั้ง, ไทยรัฐออนไลน์, 8 สิงหาคม 2558, 05:31 น., https://www.thairath.co.th/news/local/516361

[18]วาทะ “ประชาธิปไตยไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดแต่เป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” “Democracy is the worst form of government except for all those others that have been tried.” เซอร์วินสตันเชอร์ชิลล์ปราศรัยต่อสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหราชอาณาจักร, 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1948 

ในปี 2016 ทั้งโลกมี 192 ประเทศ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย 123 ประเทศ แม้ว่าประชาธิปไตย จะเป็นรูปแบบการปกครองล่าสุด และเป็นที่นิยมมากที่สุด แต่ก็ยังก่อให้มีปัญหาต่างๆ มากมาย

ดู แนวทางประชาธิปไตยที่เหมาะสมในทัศนะผู้เขียน, โดยนพพล ชูกลิ่น, 2559, https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=9645

[19]ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 

หมวด 6 การนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง ส่วนที่ 1 การนับคะแนน (ข้อ 153-167)

ข้อ 154 การนับคะแนนให้กระทำ ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยและติดต่อกันให้เสร็จจะเลื่อนหรือประวิงเวลาการนับคะแนนไม่ได้

ในการนับคะแนนตามวรรคหนึ่ง ต้องกำหนดให้มีการนับคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมาย

“ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” ด้วย 

หมวด 7 การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ส่วนที่ 4 การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง (ข้อ 198-200)

ข้อ 198 ในการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศกำหนดสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งตามแบบ ส.ส. 3/4 ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน

ดู เลือกตั้ง 2562 : กกต.ชี้แจงตัวเลขปริศนา เลือกตั้ง' 62, thaipbs,29 มีนาคม 2562, https://www.thaipbs.or.th/news/content/278857 & “บัตรเขย่ง” ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการเลือกตั้งในระดับพื้นที่, สยามรัฐออนไลน์, 7 เมษายน 2562, 05:00 น., https://siamrath.co.th/n/73244 & ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 110 ก วันที่ 26 ธันวาคม 2561 หน้า 1-69, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20181228182205.pdf 

[20]เปิดตัวแคมเปญ vote62 ตั้งเป้าหาอาสาสมัครแสนคน จับตาและรายงานผลเลือกตั้ง ’66, โดยกองบรรณาธิการ tcijthai ทำความจริงให้ปรากฏ, 18 มีนาคม 2566, https://www.tcijthai.com/news/2023/3/scoop/12863

[21]กกต. ชี้แจง ‘เลือกตั้ง66’ ไม่มีรายงานผลแบบเรียลไทม์ แต่จะใช้ระบบ ECT Report รายงานผลการนับคะแนนแทน พร้อมจัดการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจกระบวนการเลือกตั้งที่ถูกต้อง ต่อต้านข้อมูลอันเป็นเท็จร่วมกับ TikTok ประเทศไทย

ดู กกต.รณรงค์เลือกตั้ง 66 ผ่าน TikTok ย้ำไม่รายงานผลเรียลไทม์, workpointTODAY, 24 กุมภาพันธ์ 2566, https://workpointtoday.com/news-377/#:~:text=24%20ก.พ.%202566,เท็จร่วมกับ%20TikTok%20ประเทศไทย 

[22]อดีต กกต. แฉเทคนิคโกงเลือกตั้ง-เวียนเทียนบัตร เมื่อ 30 ปีที่แล้วถูกนำกลับมาใช้ในการเลือกตั้งเทศบาล ชี้เหตุจาก กกต. เผยรูปแบบและสีบัตรเลือกตั้ง ประกาศพร้อมให้ข้อมูลทุจริต โดยการใช้บัตรเลือกตั้งจริงที่ถูกกาหมายเลขทีมผู้สมัครทีมหนึ่งเรียบร้อย และนำมาให้ประชาชนนอกหน่วย เพื่อให้ประชาชนนำเข้าไปหย่อนบัตร และลักลอบนำบัตรเปล่าออกมากาเวียนเทียนใหม่

ดู "สมชัย"แฉเทคนิคเวียนเทียนบัตร ถูกใช้ในการเลือกตั้งเทศบาล, เดลินิวส์, 19 พฤษภาคม 2564, https://www.dailynews.co.th/politics/844376

[23]ความเหลื่อมล้ำ หมายถึง ความแตกต่างความ ไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เสมอภาค (Inequality, Disparity) หรือสถานการณ์ที่กลุ่มบุคคลใน สังคมมีบางอย่างไม่เท่ากัน เช่น สถานภาพทางสังคม พื้นที่ของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิการออกเสียง และการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเสรีภาพ 

“ความเหลื่อมล้ำ" คือ ความไม่เท่าเทียมกัน หรือ inequality ซึ่งเนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันปรากฏในทุกๆ เรื่อง, ในทุกๆ พื้นที่, ในทุกๆ ภาคส่วน และในทุกๆ กาลเวลา ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะขจัดให้หมดสิ้นไปได้

ดู “ความเหลื่อมล้ำ” คืออะไร ทำความเข้าใจ “ความไม่เท่าเทียมกัน”, ประชาชาติธุรกิจ, 1 มิถุนายน 2561, 20:28 น., https://www.prachachat.net/columns/news-168380 

[24]ผลการสำรวจโพลนักธุรกิจไทยชั้นนำทั่วประเทศพบว่า มีการเลือกทั้งพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายอำนาจนิยม ล่าสุดผลนิด้าโพลสำรวจชาว กทม. พบว่า พิธา, แพทองธาร และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคล 3 อันดับแรกที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ

ดู นิด้าโพลเผยคน กทม. เลือกพิธาเป็นนายกฯ แต่เลือก ส.ส. เพื่อไทย, BBC, 26 มีนาคม 2566, https://www.bbc.com/thai/articles/c5159vnznq6o & “ซูเปอร์โพล” เปิดผลสำรวจเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 “บิ๊กตู่”คะแนนพุ่ง “ฝ่ายค้าน” ลดลง, สยามรัฐออนไลน์, 1 เมษายน 2566, https://siamrath.co.th/n/435695

[25]เป็นวลีเด็ดของเติ้งเสี่ยวผิง "ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา " “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”, ดู คมคิดเติ้งเสี่ยวผิงโดย ผู้จัดการออนไลน์, 17 สิงหาคม 2547, 17:37 น., https://mgronline.com/china/detail/9470000038281

[26]แนวทางการบริหารที่เด่นคือ การบริหารด้วยการประสานประโยชน์จาก 18 เสียง จึงต้องร่วมกับพรรคการเมืองอีก 8 พรรค ซึ่งต่อมาพัฒนามาสู่การบริหารแบบธรรมาภิบาล นอกจากนี้ที่เด่นอีก ได้แก่ “การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นการโกงชาติ”, แก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ด้วยการเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน, การพัฒนาท้องถิ่นและชนบทใช้นโยบายประชานิยมเงินผัน, การนำหลักพุทธศาสนิกชนมาใช้ในการบริหาร ดู อาจารย์คึกฤทธิ์กับการเมืองไทย โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง, มติชน, 25 เมษายน 2559, https://www.matichon.co.th/columnists/news_116744 & แนวคิดทางการเมืองแนวพุทธของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, โดย ผศ.ดร.สม หมาย จันทร์เรือง, ใน tci-thaijo, 2557, https://so02.tci-thaijo.org/index.php/cultural_approach/article/download/24870/21156

[27]อ้างจาก ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

[28]"รัฐราชการไทย" (Bureaucratic Polity)หมายถึง รัฐไทยที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่อำนาจในเชิงการกำหนดนโยบายเป็นของรัฐ โดยสังคมไทยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบอนุรักษ์นิยมมีการบริหารงานโดยเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ที่มีความสัมพันธ์ของผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์เป็นวิถีแบบไทยมีระบบราชการคอยขับเคลื่อนรัฐ มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าผสมกับการมีส่วนร่วมที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีค่านิยมของระบอบในการส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง และมีวัฒนธรรมความเป็นไทยแบบศักดินาราชูปถัมภ์ที่ทำให้ข้าราชการมีบทบาทและอำนาจมาก

ความเป็น "รัฐราชการไทย" มีความเข้มแข็งในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2523 รวม 3 สมัย และพลเอกเปรม ประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 รวมระยะเวลา 8 ปีเศษ

ดู รัฐราชการไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์: ปัญหาระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (2523-2531) (The Thai bureaucratic polity during the general Prem Tinsulanonda period:The problems of semi-democratic regime (1980 -1988)) โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ, วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ใน ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2558, http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/29420848a2dbf883b0b863b65214e37b

[29]จุดเริ่มต้นของกระแสอาสาสมัคร (Volunteer)ตาม "แนวคิดจิตอาสา" หรือ “จิตสาธารณะ” หรือ “จิตสำนึกสาธารณะ” เกิดขึ้นจริงจังและนำมาใช้กระทั่งรู้จักกันในประเทศไทยจากเหตุการณ์ประสบภัยคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในครั้งนั้นมีอาสาสมัครจำนวนมากจากทั่วประเทศและทั่วโลกเข้ามาร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อมาระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กู้ศพ ทำความสะอาดบริเวณชายทะเล 4 จังหวัดภาคใต้

[30]"เดิมไม่ได้สร้างบ่อปลาไว้ ก็ไปตกของคนอื่น..." เป็นคำกล่าวของ 'นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล (พช.) เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เหน็บลุงฉุน เล่นการเมืองน้ำเน่าตกปลาในบ่อเพื่อน เพราะทำไมเพิ่งมาคิดมีที่ปรึกษาทางการเมืองเอาปีสุดท้าย, อ้างจาก FB การเมืองไทยในกะลา, 19 เมษายน 2561

& งูเห่า คือ ส.ส.ที่โหวตสวน (ฝืน) มติพรรค, นกแล คือ สส.หน้าใหม่ ไม่มีชื่อ (โนเนม) เพราะชื่อเสียงแบรนด์เนมของพรรค จึงสอบได้ เช่น ปี 2544 เมื่อครั้ง ส.ส.พรรคไทยรักไทย และ ปี 2562 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่มี ส.ส.หน้าใหม่จำนวนมาก, เสาไฟฟ้า คือ ส่งใครลงก็ได้ เพราะคะแนนดี คนพูดคือ สส.จิรายุ ห่วงทรัพย์ พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.(ปลายปี 2555) ดู เลือกตั้ง 62 ส.ส. "งูเห่า-นกแล" คืออะไร? เลือกตั้งครั้งนี้จะมีหรือไม่ ?, Workpoint News, 27 มีนาคม 2562, https://www.youtube.com/watch?v=a-Ao2Bk3xWk

[31]คนในกลุ่ม Generation X, Y และ Z กุมสัดส่วนมากกว่า 70% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ดู วิเคราะห์ : X,Y หรือ Z Gen ไหน จะชี้ขาดผลเลือกตั้ง, BBC, 24 มีนาคม 2566, https://www.bbc.com/thai/articles/cn32zyv9nr2o & โพลชี้คน Gen Z เลือก ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล ตามด้วย “เพื่อไทย-รทสช.”, มติชน 2 เมษายน 2566, 08:28 น., https://www.matichon.co.th/election66/movement/news_3905960 & โพลนักวิชาการ สะท้อน Gen Z มุ่งเลือกพรรคเดียว 2 ใบ โน้มน้าวครอบครัวลงคะแนนตาม, กรุงเทพธุรกิจ, 2 เมษายน 2566, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1061059 & ผลสำรวจ 'นศ.Gen Z' เลือก ส.ส.เขต 'ก้าวไกล' อันดับ 1 ร้อยละ 38 กว่าครึ่งพร้อมรณรงค์ครอบครัวโหวตตาม, ประชาไท, 3 เมษายน 2566, 20:05 น., https://prachatai.com/journal/2023/04/103483 

[32]สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society)หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็น สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด



ความเห็น (1)

ขอบคุณข้อคิดเห็นทางวิชาการครับ…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท