การลดโลกร้อนกับคาร์บอนเครดิต


การลดโลกร้อนกับคาร์บอนเครดิต

24 มีนาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ความตอนที่แล้วนำเสนอเรื่อง สุดยอดกฎหมายคือ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ด้วยหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มลพิษทางอากาศได้อย่างเด็ดขาด แต่ปรากฏว่าพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนประกาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ทำให้ร่างกฎหมายที่ค้างท่อสภาอยู่ คือร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่เสนอรวม 5 ร่าง[2] ไม่สามารถไปต่อได้ ทั้งๆ ที่ร่างได้เสนอสภามาตั้งแต่ปี 2563-2564 แต่ร่างกลับไม่ไปไหน บางร่างก็ตกไป เท่ากับว่าประชาชนเสียเวลาและโอกาสไปเปล่าๆ ถึง 2-3 ปี เพราะฝุ่น PM2.5 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด[3] แม้ว่าจังหวัดต่างๆ จะรณรงค์แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็เป็นเพียงปลายเหตุเล็กน้อย เช่น ห้ามเผาหญ้าเผาขยะ โดยเฉพาะการเผาอ้อย เผาซังข้าวโพด หรือการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่มีความผิดโทษทั้งจำทั้งปรับ[4] หรือ การป้องกันไฟป่า บทความนี้ให้ลืมเรื่อง PM2.5 ตัวอันตรายไว้ก่อน แม้จะมีความสัมพันธ์กันกับ “ภาวะโลกร้อน” [5](Global Warming) ที่ประเทศที่ผูกพันตามพิธีสารเกียวโต[6] (Kyoto Protocol) ต้องช่วยการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งไทยรับรองปี 1999 และให้สัตยาบันปี 2002

 

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) กับ PM2.5 โยงเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ปัจจุบันเนื่องจากมีหลายมาตรการในการลดภาวะอากาศพิษดังกล่าว ทั้งทางตรง ทางอ้อม ไม่ว่าการลดคาร์บอนฟุตปริ้น[7] (Carbon Footprint) ที่ทุกพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำธุรกิจของมนุษย์ ล้วนสร้าง (รอยเท้า)คาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งสิ้น การลดโลกร้อนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะในการคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั้นจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[8] (Climate change) ถือเป็นมหันตภัยที่ใกล้ตัวมากขึ้น นักวิจัยสิ่งแวดล้อมพบว่า มลภาวะทางอากาศกรณีฝุ่นควัน PM2.5 มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัญหาสภาวะโลกร้อน[9] เป็นความสัมพันธ์ที่ไปด้วยกันที่จะก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนสภาพแวดล้อมที่แย่ลง (Inconvenient Truth[10] โดยรองประธานาธิบดีอัล กอร์) ทำให้เพิ่มอุณหภูมิของโลก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เช่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ[11] 

ยิ่งอากาศร้อนและแห้งแล้งจะส่งผลให้ปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรง ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศร้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่[12] อนุภาคของฝุ่นหยาบชนิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ไมครอนขึ้นไป มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณสูงกว่าที่คาดหมายถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มจะทำให้ภาวะโลกร้อนรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ปัญหาฝุ่น PM10 หรือฝุ่นหยาบทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และจากอุตสาหกรรม การจราจรบนถนน เมื่อรวมตัวกันเป็นเมฆฝุ่น มีลักษณะคล้ายก๊าซเรือนกระจกที่สามารถกักเก็บความร้อนทำให้อากาศปั่นป่วน และเร่งให้พายุกำลังแรงก่อตัวขึ้น

 

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO)[13]

เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ของประเทศ ตามพันธกรณีพิธีสารเกียวโต คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการดังกล่าวมีความเป็นเอกภาพและคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศ และได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ.2550[14] ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรองและทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจกจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรองและการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

อบก.มีบทบาทสำคัญเช่น วิเคราะห์กลั่นกรอง โครงการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ “โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด” (Clean Development Mechanism : CDM) วิเคราะห์แต่ละโครงการว่าเป็นโครงการที่เป็นไปในหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria : SD Criteria) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ และสังคมที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม แก่ชุมชน ท้องถิ่นที่โครงการตั้งอยู่ นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อ-ขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit)[15] ที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (โครงการ CDM) และการบริหารจัดการเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกรวมทั้ง การให้บริการข้อมูลที่ทันสมัยทั้งเรื่องสถานการณ์ สภาวะการตลาด Carbon Market และการเข้าถึงแหล่งทุน (Access to Fund) ที่จะมาลงทุนร่วมทั้งจากภายนอกประเทศและภายในประเทศ รวมถึงมีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนใหญ่ตามธรรมชาติในการสังเคราะห์แสงของพืช

ด้วยกระบวนการที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่สำคัญ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ ตามนโยบาย ปี 2565 “ทส. ยกกำลังเอ็กซ์” ชูนโยบายปี 2565 ป่าไม้ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ปลดล็อก ”ป่า” นำไทยสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต[16] สร้างความรู้ขายเครดิตคาร์บอน เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิต ธุรกิจสีเขียวต่างๆ 

ข้อมูลปี 2564[17] จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 1 รองลงมาสหรัฐ และญี่ปุ่น ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 20 ปล่อยวันละ 1 ตัน รวม 365 ตันต่อปี โดยมาจากภาคพลังงาน 70% รองลงมา ภาคเกษตร ตัวสำคัญนาข้าว ภาคอุตสาหกรรมเป็นปูนซิเมนต์ ถัดมาการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้พื้นที่กักเก็บก๊าซหายไป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยโชคดียังมีป่าไม้ช่วยกักเก็บก๊าซ 91 ล้านตัน ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากสุด คือ ก๊าซคาร์บอน ข้อตกลงปารีส 52 ประเทศทั่วโลกประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) โดยมีบริษัทไทยจำนวน 44 บริษัท ปี 2565 มีเอกชน เช่น บริษัทบางจาก ร่วมปลูกป่าชุมชน 2,900 ไร่[18] 

 

การขายคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบันโลกเผชิญกับวิกฤต “ภาวะโลกร้อน” ที่เป็นผลมาจากตัวการหลัก คือ “ก๊าซเรือนกระจก” (Greenhouse Gases) ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรดได้ดี[19] เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) อาจเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก[20] (Greenhouse effect) หากไม่มีก๊าซเหล่านี้ คือ ขบวนการที่รังสีความร้อนจากพื้นผิวโลกจะถูกดูดซับโดยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และแผ่รังสีออกไปอีกครั้งในทุกทิศทาง เนื่องจากการแผ่รังสีออกไปอีกครั้งถูกส่งกลับมายังพื้นผิวโลกและบรรยากาศด้านล่าง เป็นผลทำให้ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยสูงขึ้น

จึงส่งผลให้ธุรกิจหนีกระแสคาร์บอนต่ำไม่พ้น หนึ่งในวิธีที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ตัวเองปล่อยได้ คือการ “ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสสร้างธุรกิจสีเขียว แปลงคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ เนื่องจากป่าเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก การอนุรักษ์และปลูกป่าจึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ในทุกปีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565[21] กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคเอกชน ขับเคลื่อนดูแลเรื่องป่าชุมชน จัดการคาร์บอนเครดิตในป่า หวังสร้างรายได้แก่ชุมชน พร้อมองค์ความรู้ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ต่อการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 

จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีถึงปัจจุบัน[22] ราคาคาร์บอนเครดิตดีดตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ บวกกับทิศทางด้านการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก ก็ถือว่ามีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยดำเนินการโดย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก[23] คือ (1) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลผูกทางกฎหมาย หากธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษชัดเจน และการตลาดภาคบังคับจะเกี่ยวข้องกับการซื้อขายคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโตด้วยเช่นกัน (2) ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ เป็นตลาดสำหรับเอกชน หรือธุรกิจที่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ ไม่ผูกพันกับกฎหมาย และโดยสมาชิกสามารถตั้งเพดาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งมีผลดีต่อภาคธุรกิจ SMEs ที่สนใจในพลังงานสะอาด และเริ่มต้นลงทุนเพื่อมุ่งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเครดิตคาร์บอนได้ในอนาคต

โดยมีโครงการ T-VER[24]  คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งภายใต้โครงการ T-VER นี้เรียกว่า “TVER” ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ ทั้งนี้ อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการลด/ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย

 

สถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเดือน ม.ค.-ก.พ. (อบก. 7 มีนาคม 2566)

เริ่มปี พ.ศ.2566[25] ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ในรูปแบบการซื้อขายที่ไม่ผ่านตลาดทางการ หรือ Over-the-Counter (OTC) เริ่มคึกคักมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตใน 2 เดือนแรกของปี พ.ศ.2566 เติบโตมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2565 โดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 20-218 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สำหรับโครงการ T-VER ที่ผู้ซื้อให้ความสนใจและซื้อไปเพื่อใช้ชดเชยยังคงเป็นโครงการประเภทพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ ชีวมวล และชีวภาพ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถิติการรับรองคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ประเภทพลังงานทดแทนมีการรับรองคาร์บอนเครดิตเข้าสู่ตลาดคาร์บอนมากที่สุด ในจำนวนกว่า 8.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 59.57% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตที่มีการรับรองจาก อบก. ทั้งหมด 

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ OTC ผู้ซื้อและผู้ขายจะพิจารณากำหนดราคาโดยขึ้นกับปัจจัยดังนี้[26] (1) ต้นทุนส่วนเพิ่มในการทำโครงการ T-VER เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างผู้ทวนสอบ ค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตของ อบก. (2) จำนวนปริมาณการซื้อขายในแต่ละครั้ง (3) ผลประโยชน์รวม (Co-benefit) ของโครงการ

 

ความหวังในการสร้างเศรษฐกิจ

ด้วยความหวังว่า “คาร์บอนเครดิต” จะสร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย[27] โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) หรือการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  

ปัจจุบัน ผู้ที่ประสงค์จะขายคาร์บอนเครดิตสามารถลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (T-VER Registry) ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ได้ ดังนี้[28]

(1) เจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits แจ้งความประสงค์ในการขายคาร์บอนเครดิต จำนวนคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนเครดิตจากโครงการใด ไปยังเจ้าหน้าที่ อบก.

(2) อบก. พิจารณาความถูกต้อง 

(3) อบก. จะดำเนินการโอน (Transfer) หรือหักล้าง (Cancel) คาร์บอนเครดิต ตามที่ได้รับแจ้งแก่ผู้ใช้งาน ภายใน 3วัน ทำการ หลังจากตรวจสอบข้อมูล/เอกสารเรียบร้อยแล้ว

(4) อบก. จะส่งเอกสาร Transfer Notification/Cancellation Notification ไปยังอีเมลของเจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits ในการทำธุรกรรม

การซื้อคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนคือ[29]

(1) ยื่นทะเบียนการขอเปิดบัญชีกับ อบก. ในระบบ T-VER 

(2) เลือกซื้อผ่านศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Trading Platform) หรือ ซื้อในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรงไม่ผ่านตลาด

(3) อบก. ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังบัญชีผู้ซื้อ

(4) ผู้ซื้อแจ้งความประสงค์ซื้อคาร์บอนเครดิต

(5) อบก. ตรวจสอบ และบันทึกการใช้คาร์บอนเครดิต     

 

ในความเห็นต่าง ไม่ได้ว่าโลกสวย นโยบายการขายคาร์บอนเครดิตดูจะเป็นเรื่องของธุรกิจเอกชนรายใหญ่ที่มีทุน ส่วนชาวบ้านทั่วไปเข้าไม่ถึง แม้จะมีกิจกรรมการปลูกป่าที่อ้างว่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวได้ก็ตาม เพราะการปลูกป่ามิใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน หรือพื้นที่ ความหวังประชาชนจึงมีน้อย แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐมีกิจกรรมที่รณรงค์ “คาร์บอนเครดิต” เช่น ให้ทุนแผงโซลาเซล ให้ลดการเผาหญ้าเผาปา ให้ทำถังขยะเปียก ที่ประชาชนไม่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ นโยบายก็คือนโยบายแต่การปฏิบัติมันดูจะลอยเลิศ นอกจากถูกสั่งให้ทำ หรือให้ความร่วมมือไปวันๆ แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะลืมตาอ้าปาก และมีส่วนร่วมอย่างไร[30] คน อปท.สงสัยว่า การรณรงค์สร้างคาร์บอนเครดิต จนข้าราชการและชาวบ้านต้องเสียสละให้ความร่วมมืออย่างสูง อปท.และชาวบ้านจะเอาไปขายได้ไหม ขายอย่างไร เพราะทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีหลักการดูย้อนแย้ง ชาวบ้านเขาสงสัยถามมา


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 24 มีนาคม 2566, https://siamrath.co.th/n/433391 

[2]”พ.ร.บ.อากาศสะอาด” 5 ฉบับ เทียบชัดฉบับไหนให้อากาศบริสุทธิ์ได้มากที่สุด, คมชัดลึก, 5 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.komchadluek.net/news/society/542415 

[3]ฝุ่นควันPM2.5 สาเหตุโรคปอด, คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ข้อมูลโดย รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4 มีนาคม 2565, https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/pr-news/8626/#:~:text=%F0%9F%94%B8%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1,%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88

[4]ประเดิมเชือดหนัก บุกรวบชาวไร่รายแรกเมืองกาญจน์ ‘เผาป่า’ โทษอาญา-ยึดที่ทำกิน, เดลินิวส์, 13 มีนาคม 2566, https://www.dailynews.co.th/news/2092649/ 

[5]KEY MESSAGES: UN เตือน โลกอาจมีเวลาไม่ถึง 10 ปี ในการยุติไม่ให้อุณหภูมิร้อนเกินจนก่อหายนะ, TheStandardNews, 21 มีนาคม 2566, อ้างจาก World Has Less Than a Decade to Stop Catastrophic Warming, U.N. Panel Says, New York Times, Mar 20, 2023, https://www.nytimes.com/2023/03/20/climate/global-warming-ipcc-earth.html?fbclid=IwAR12vLvCIAZ-8v3o7ml_mCvc-ffOROAtSIeZiZsW5MQ1NE4iiVHTm9G2ymc

[6]พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)ต่อท้ายอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กำหนดพันธกรณีผูกพันต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก UNFCCC เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีเป้าหมายเพื่อบรรลุ "เสถียรภาพความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศที่ระดับซึ่งจะป้องกันการรบกวนอันตรายจากน้ำมือมนุษย์กับระบบภูมิอากาศ" พิธีสารเกียวโตมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 ในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และมามีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จนถึงเดือนกันยายน 2554 มี 191 รัฐลงนามและให้สัตยาบันพิธีสารฯ สหรัฐอเมริกาลงนามแต่มิได้ให้สัตยาบันพิธีสารฯ และแคนาดาถอนตัวจากพิธีสารฯ ในปี 2554รัฐสมาชิกสหประชาชาติอื่นซึ่งมิได้ให้สัตยาบันพิธีสารฯ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อันดอร์ราและเซาท์ซูดาน, วิกิพีเดีย

[7]หรือ รอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint)เป็นการวัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อมในแง่ของปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่สร้างขึ้นมาจากกิจกรรมนั้นๆ โดยวัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา รอยเท้าคาร์บอนใช้สำหรับประมาณว่าคน ประเทศ หรือองค์กรหนึ่งๆ มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยเพียงใด วิธีการหลักของรอยเท้าคาร์บอนคือ ประเมินปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและประเมินความมากน้อยในการส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดขององค์กรนั้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปลูกป่า รอยเท้าคาร์บอนเป็นส่วนย่อยของรอยเท้าระบบนิเวศ (ecological footprint) ซึ่งจะรวมเอาความต้องการของมนุษย์ทั้งหมดในระบบชีวนิเวศเข้าไปด้วย, วิกีพีเดีย

[8]การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)นิยามจากองค์การสหประชาชาติ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่ตั้งแต่ปี 1800 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่ สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 

โดยกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming) ดู 3. Climate Change คืออะไร, SPCG : บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน), 22 มิถุนายน 2560, https://www.spcg.co.th/th/knowledgeDetail/30/Alternative%20Energy%20Plan

[9]ความเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, 3 มิถุนายน 2562, http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/ความเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศ-และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-324 

[10]หรือ เรื่องจริงช็อคโลก (An Inconvenient Truth) เป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ที่ดำเนินการนำเสนอโดย อัล กอร์ ซึ่งเป็นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี พ.ศ.2550 ออกฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549, วิกิพีเดีย

[11]เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์สุดขั้วตรงข้ามของวัฏจักรการหมุนเวียนกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก(Eastern Pacific)

เป็นความแปรปรวนที่ทำให้เกิดพายุและฝนตก ปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากความผกผันของสภาวะอากาศบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้การไหลเวียนของน้ำและกระแสลมเกิดความแปรปรวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกอย่างรุนแรง สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาอาจทำให้เกิดการสูญเสียในด้านต่างๆ ตามมามากมาย ดังนั้น ในทุกภาคส่วนต้องมีการเตรียมแผนรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝน คอยติดตามสภาพอากาศ ประเมินแนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด เพราะการวางแผนการรับมือมีความสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยลดผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และมากไปกว่าการรับมือคือการหันมาร่วมมือกันและลงมือทำเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

[12]ความเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, 3 มิถุนายน 2562, อ้างแล้ว

[13]องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO), เวบสำนักนโยบายและพลังงาน กระทรวงพลังงาน, 21 กุมภาพันธ์ 2559, https://www.eppo.go.th/index.php/th/plan-policy/climatechange/thailand/tgo 

[14]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ.2550, มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2550,  https://po.opdc.go.th/file/reader/a3Z8fDQ2Nzl8fGZpbGVfdXBsb2Fk

[15]คาร์บอนเครดิต คือ สิทธิที่บุคคลหรือองค์กรได้รับจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นต์) ในแต่ละปี ซึ่งหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปริมาณคาร์บอนที่เหลือก็จะถูกนำมาตีราคา และสามารถนำไปจำหน่ายในรูปแบบคาร์บอนเครดิต ให้กับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการได้ ดู ทำความรู้จัก 'คาร์บอนเครดิต' การลงทุนกับอากาศ…สร้างรายได้, The Gen C Urban Living Solution BLOG, 20 ตุลาคม 2565, https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/คาร์บอนเครดิต-ลงทุนกับอากาศ-สร้างรายได้/ & Environman-#ENTREND: #คาร์บอนเครดิต คืออะไร ทำไมมีแต่ คนพูดถึง (เนื้อหายาวมาก), Facebook, 28 ตุลาคม 2565, https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1745027465625693/5274017982726606/?type=3 

[16]ปลดล็อค'ป่า'นำไทยสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต, ไทยโพสต์, 12 กันยายน 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/116442 

[17]อ้างแล้ว

[18]ทส.ผนึกภาคเอกชน ปลูกป่าชุมชน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต, กรุงเทพธุรกิจ, 29 สิงหาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/social/social_environment/1023621 

[19]ทำความรู้จัก 'คาร์บอนเครดิต' การลงทุนกับอากาศ…สร้างรายได้, The Gen C Urban Living Solution BLOG, 20 ตุลาคม 2565, อ้างแล้ว 

[20]หรือ ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) คือ ภาวะที่ชั้นบรรยากาศของโลกกระทำตัวเสมือนกระจก ที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านลงมายังผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ จากนั้นก็จะคายพลังงานความร้อน ให้กระจายอยู่ภายใน ชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก จึงเปรียบเสมือนกระจกที่ปกคลุมผิวโลกให้มีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิ และเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลก แต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนได้ดี พื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลกอย่างมากมาย แต่ในปัจจุบันชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณก๊าซบางชนิด มากเกินสมดุลของธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC8) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถดูดกลืนและคายรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดได้ดีมาก ดังนั้นเมื่อพื้นผิวโลกคายรังสีอินฟราเรดขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซเหล่านี้จะดูดกลืนรังสีอินฟราเรดเอาไว้ ต่อจากนั้นมันก็จะคายความร้อนสะสมอยู่บริเวณพื้นผิวโลก และชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น พื้นผิวโลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้น เราเรียกก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะแบบนี้ว่า "ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases)", กรมอุตุนิยมวิทยา

[21]ทส.ผนึกภาคเอกชน ปลูกป่าชุมชน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต, กรุงเทพธุรกิจ, bangkokbiznews, 29 สิงหาคม 2565, อ้างแล้ว

[22]ทส.ผนึกภาคเอกชน ปลูกป่าชุมชน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต, กรุงเทพธุรกิจ, bangkokbiznews, 29 สิงหาคม 2565, อ้างแล้ว 

[23]ทำความรู้จัก 'คาร์บอนเครดิต' การลงทุนกับอากาศ…สร้างรายได้, The Gen C Urban Living Solution BLOG, 20 ตุลาคม 2565, อ้างแล้ว

[24]โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) คืออะไร, โดย กลไกลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas mitigation Mechanism), 13 มิถุนายน 2559, https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/t-ver.html 

[25]สถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเดือน ม.ค.-ก.พ. โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์การมหาชน(อบก.), 7 มีนาคม 2566 ดู สถานการณ์การซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” ต้นปี 2566, เช็คสถานการณ์การซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” หรือ Carbon Credit ช่วงต้นปี 2566 หลังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดข้อมูลล่าสุดช่วงม.ค.-ก.พ., ฐานเศรษฐกิจ, 8 มีนาคม 2566, https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/558224 

[26]อ้างแล้ว

[27]‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG อย่างยั่งยืน, บมจ.ธนาคารกรุงเทพ, 13 พฤศจิกายน 2565, https://www.bangkokbanksme.com/en/11sme3-carbon-credits-create-opportunities-for-the-thai-economy

[28]‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG อย่างยั่งยืน, บมจ.ธนาคารกรุงเทพ, 13 พฤศจิกายน 2565, อ้างแล้ว

[29]Environman-#ENTREND: #คาร์บอนเครดิต คืออะไร ทำไมมีแต่ คนพูดถึง (เนื้อหายาวมาก), Facebook, 28 ตุลาคม 2565, อ้างแล้ว & ‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG อย่างยั่งยืน, บมจ.ธนาคารกรุงเทพ, 13 พฤศจิกายน 2565, อ้างแล้ว 

[30]ดู ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย (LEGAL ISSUES INVOLVING SALE OF CARBON CREDIT IN THAILAND) โดย เนติวรรณ ดวงศรี, เกรียงศักดิ์ โชติจรุงเกียรติ์, จีระศักดิ์ ดิษฐพลขันธ์, ธิติ เตชะไพโรจน์ และ จุฑามาศ นันทโพธิเดช, คณะนิติศาสตร์วิทยาลัยสันตพล, ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2564, tci-thaijo, https://so06.tci-thaijo.org/index.php/hsudru/article/download/247859/169011/889665 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท