ไต้หวัน - อาลีซาน ซากุระบานฉ่ำ (4) ซีเหมินติง ฮาราจูกุแห่งไทเป


ไต้หวัน - อาลีซาน ซากุระบานฉ่ำ (4) ซีเหมินติง ฮาราจูกุแห่งไทเป

ไต้หวันเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่อง Night Market อย่างมาก เนื่องจากมีตลาดนัดให้นักท่องเที่ยวได้เดินเล่น ชม ชิม ช็อปนับร้อยแห่งกระจายอยู่ทุกย่าน ทุกเมือง แต่ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาท่องเที่ยวไต้หวันก็คือ ย่านซีเหมินติงที่อยู่ใจกลางกรุงไทเป ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ จนทำให้ถนนสายนี้คึกคักตลอดทั้งวัน

ย่านซีเหมินติง (Ximending) เป็นย่านช็อปปิ้งของวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไต้หวัน มีฉายาว่า  ฮาราจูกุแห่งไทเป (Harajuku of Taipei) ซึ่งเป็นแหล่งช็อปปิ้งชื่อดังของวัยรุ่นในโตเกียวประเทศญี่ปุ่น เป็นแหล่งกำเนิดของแฟชั่นของหนุ่มสาวชาวไต้หวัน และเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของไทเปด้วย

ย่านซีเหมินติงเริ่มขึ้นในยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่น ช่วงปี ค.ศ. 1922 มีการสร้างห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านคาราโอเกะ จนปัจจุบันที่มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ร้านขนมต่างๆ มาเปิดกันมากมาย มีสินค้าหลากหลายแบบ หลากหลายประเภท โดยเฉพาะ แฟชั่นจากญี่ปุ่น มีตรอกซอกซอยแยกออกไปมากมายให้เดินเล่นไปเรื่อยๆอย่างเพลิดเพลิน

ท่ามกลางบรรยากาศที่คึกคัก จะเห็นแกลเลอรี่บ้านอิฐแดง  (Red House Theater) อาคารสีแดงที่ตั้งโดดเด่นอยู่ในย่านซีเหมินติง เป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1908 ในยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ในอดีตจะรายล้อมไปด้วยโรงภาพยนตร์และโรงละคร มีบรรยากาศคึกคักไม่ต่างจากปัจจุบัน เพียงแต่ในปัจจุบันแกลเลอรี่บ้านอิฐแดงได้ถูกปรับปรุงให้เป็นทั้งโรงละคร และสถานที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะและสิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณ ส่วนด้านนอกมีร้านค้าขายงานศิลปะและคาเฟ่หลายแห่ง เป็นศูนย์รวมเหล่าวัยรุ่นและนักช็อปทั้งหลาย

เป้าหมายของการช็อปปิ้งที่ซีเหมินติง คือรองเท้า Onitsuka Tiger ซึ่งหากเป็นรองเท้ารุ่นเก่าจะมีราคาถูกมาก ถึงแม้รองเท้ารุ่นใหม่ๆ ก็มีราคาที่ถูกกว่าราคาขายในเมืองไทยมาก เมื่อมาถึงซีเหมินติงให้สังเกตดูเสาสองข้างทาง เสาแต่ละต้นจะมีหมายเลขกำกับ ให้เดินไปตามถนน Wuchang Street ที่มีเสาข้างทางสีแดง เดินไปถึงกลางซอยจะเห็นห้าง Eslite Store เลี้ยวซ้ายไปตามถนน 30 เมตร จะเห็นตึก Giordano และฝั่งตรงข้ามจะเป็น Shop  รองเท้า Onitsuka Tiger ร้านนี้จะเป็นแบบรุ่นใหม่ๆ ของแท้ ราคาถูกกว่าเมืองไทยมาก

ความเป็นมาของรองเท้า Onitsuka Tiger

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  คุณคิฮาชิโร โอนิซูกะ ผู้ซึ่งเป็นนายทหารผ่านศึกซึ่งมีแนวคิดต้องการช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจของวัยรุ่นญี่ปุ่นที่อยู่ในสภาพห่อเหี่ยว หดหู่ จากปัญหาสงคราม โดยใช้รองเท้าเป็นสื่อกลางระหว่างกีฬาและตัวผู้เล่น รองเท้าชนิดแรกของแบรนด์นี้เป็นรองเท้าสำหรับใส่เล่นบาสเก็ตบอล และเมื่อประสบความสำเร็จกับกีฬาบาสเก็ตบอลแล้วก็เริ่มทำรองเท้าสำหรับกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ วิ่ง คริกเก็ต มวยปล้ำ วอลเล่ย์บอล และกีฬาอื่นๆอีกหลายประเภทในสมัยปี 1950 มีรูปหน้าเสือตกแต่งบนรองเท้า และต่อมาได้กลายเป็นโลโก้ของ Onitsuka Tiger

ต่อมาในปี 1966 มีการออกแบบลวดลายเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศเม็กซิโกในปี 1968 สำหรับตัวแทนนักกีฬาชาวญี่ปุ่น ลวดลายที่ออกแบบขึ้นมาในครั้งนี้มีแนวคิดจากเกลียวคลื่นในมหาสมุทรแปซิฟิกผสมผสานกับภาพเมืองโกเบ เมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่น และลวดลายนี้ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และรองเท้าOnitsuka Tigerรุ่นนี้เรียกว่ารุ่น Maxico 66

 

นอกจากแบรนด์ Onitsuka Tiger ซีเหมินติงยังเป็นแหล่งรวมสินค้าหลากหลายแบบ หลากหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นอย่างรองเท้ากีฬาแบรนด์ดัง เช่น Adidas, Nike, Sketcher ฯลฯ ซึ่งบางรุ่นราคาถูกกว่าเมืองไทย

นอกจากสินค้าต่างๆ ซีเหมินติงยังเป็นแหล่งรวมสตรีทฟู้ดรสชาติอร่อยมากมาย รวมทั้งร้านชานมไข่มุก ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ร้านที่กำลังมาแรงในขณะนี้คือร้าน Tiger Sugar ที่ตอนนี้มีสาขาในเมืองไทยแล้ว เมนูที่ได้รับความนิยมมากคือ Brown Sugar Boba with Cream Mousse ซึ่งหวานมันกำลังพอดีและมีกลิ่นหอมของน้ำตาลทรายแดงเคี่ยว ส่วนไข่มุกก็เหนียวนุ่มเคี้ยวหนึบหนับ กว่าจะได้ลิ้มลองชานมไข่มุกของร้านนี้ ควรดูก่อนนะคะว่ารอคิวยาวเหยียดไหวหรือไม่ เพราะคิวยาวเช่นนี้ตลอดวันค่ะ

หลังจากเดินจนเมื่อยแล้ว ก็ตัดสินใจพากันเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น สั่งอาหารญี่ปุ่นเป็นมื้อเย็นและเป็นมื้อแรกในไต้หวัน หลังจากนั้นจึงเติมเต็มด้วยอาหารสตรีทฟู้ดที่มีให้ลองชิมมากมาย เช่น โรตี เต้าหู้เหม็น ไก่ทอด ฯลฯ

ขอขอบคุณ

  • I TAIWAN, Team Travel Service, Guide Louis Chaiyarat บริการอย่างดีเยี่ยมตลอดการเดินทางท่องเที่ยว
  • ภาพจากอินเทอร์เน็ต
  • น้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

 

หมายเลขบันทึก: 712057เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2023 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2023 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท