ชีวิตที่พอเพียง 4426. PMAYP Networking & Reunion 2023


 

             ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ วันวาเลนไทน์ มีการประชุมเชื่อมเครือข่าย ผู้ได้รับพระราชทานทุนเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล     ตามกลยุทธ lifetime mentoring & networking     ที่ผมเล่ากิจกรรมเมื่อ ๑๐ ปีก่อนไว้ที่ gotoknow/org/posts/531599    และครั้งหลังสุดเมื่อปี ๒๕๖๓ ที่ gotoknow.org/posts/676344    เราเว้นว่างกิจกรรมนี้ไป ๒ ปี เพราะการระบาดของ โควิด ๑๙ 

ปีนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นเจ้าภาพ   เริ่มงานตั้งแต่ ๘.๓๐ น.  โดยให้ผู้ได้รับพระราชทานทุนรุ่นหลังสุด (รุ่น ๑๔) ที่กำลังหาที่ไปฝึกงานตามโครงการที่ต้องการทำ เสนอโครงการและแผนชีวิตของตน    ตามด้วยคำแนะนำจากเพื่อนๆ รุ่นพี่  และอาจารย์    เป็นการนำเสนอและคำแนะนำที่มีพลังมาก     

เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับทุนแต่ละคนได้ค้นคว้าศึกษาเรื่องที่ตนสนใจ สถานที่ที่ต้องการไปฝึก และ mentor ที่ต้องการไปฝึกด้วย   มาอย่างดีมาก   และกระบวนการสมัครไปทางอีเมล์ ก็ท้าทายมาก    เพราะนักวิจัยยักษ์ใหญ่จริงๆ มักไม่ตอบอีเมล์    เรื่องที่กำลังฮ็อทด้านโอกาสเป็นธุรกิจ นักวิจัยก็ไปรวมตัวกันตั้งบริษัท    ไม่รับคนไปฝึก เพราะเขาต้องการรักษาความลับ    ลงท้ายก็ต้องไปฝึกกับ mentor ระดับกลาง ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่    ผู้มีประสบการณ์คือ ศ. ดร. นพ. สุรเดช หงส์อิง แนะนำว่าการได้ไปฝึกกับ mentor ระดับกลางน่าจะเพียงพอ

รุ่นพี่ที่ไปกลับมาแล้วก็ให้คำแนะนำดีมาก และมีความพอดี   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โอกาส ๑ ปีที่ไปฝึกวิจัย  เพื่อหาโอกาสไปประชุมและเสนอผลงานวิจัย เพื่อแสวงหาอาจารย์ แหล่งฝึกงานต่อ และเพื่อนนักวิจัยใหม่ที่สนใจเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน สำหรับร่วมมือกันในโอกาสหน้า 

เกิดโครงการเชิงนวัตกรรมของการเป็น mentor ไทย    คือ นพ. เสฏฐนันท์ จารุเกษมกิจ จากรามา มีอาจารย์ที่ปรึกษาไทยจากจุฬา คือ อ. ดร. นพ. ชัยพัฒน์ ชุณหรัศมิ์   ทำวิจัยเรื่อง Connectomics ใน Depressive Disorders  เพื่อพัฒนาเป็น Predictive Medicine ต่อไป   

คุณหมอ เสฏฐนันท์ เตรียมตัวดีมาก    คือเตรียมโครงการวิจัย และเก็บตัวอย่างจากประเทศไทยไว้ล่วงหน้า   ไปทำงานวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และวิเคราะห์ข้อมูลที่สหรัฐอเมริกา     แล้วกลับมาทำงานต่อที่เมืองไทย    เป็นการวางแผนงานที่ฉลาดมาก   

หลายคนบอกว่าต้องการเป็น physician scientist   คือเป็นหมอดูแลผู้ป่วยด้วยทำวิจัยด้วย   ที่น่าจะเป็นแนวโน้มของการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์       

งานวิจัยที่แต่ละคนจะไปฝึกและดำเนินการต่อ ล้วนน่าสนใจและมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิ้น  เช่นการหาวิธีทำให้เซลล์สมองกลับมามีลักษณะหนุ่มสาว (rejuvenate) เพื่อแก้หรือป้องกันปัญหาสมองเสื่อม    การพัฒนาไวรัสฆ่าเซลล์มะเร็ง    การพัฒนา AI ทำนายการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง    การพัฒนา eHealth สำหรับใช้ในการดูแลแบบประคับประคอง 

การกล่าวถึงระบบสนับสนุนโดยคณบดีหรือผู้แทนของ ๓ คณะที่มีผู้ได้รับทุนปี ๒๕๖๕   นำสู่อนาคตที่ทางคณะต้นสังกัดจะให้ทุนสนับสนุนการเตรียมตัวล่วงหน้า    รวมทั้งทุนวิจัยสนับสนุนผู้กลับมาจากการฝึกในต่างประเทศให้ตั้งตัวเป็นนักวิจัยได้โดยเร็ว     

ช่วงรับประทานอาหารเที่ยง ผมได้มีโอกาสคุยกับกรรมการดำเนินการ ที่หลายท่านร่วมงานมาตั้งแต่ต้น   มีการพูดคุยเรื่องผู้รับพระราชทานทุนบางราย    ช่วยให้ได้เรียนรู้ความ wicked ของชีวิตการเป็นแพทย์นักวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ    และความ wicked ของระบบสนับสนุนการพัฒนาผู้นำทางการแพทย์และระบบสุขภาพในอนาคต   ที่คนแก่ที่ทำหน้าที่สนับสนุนอย่างผม ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นหลาน ที่จะเป็น change agent ตัวจริง   

การประชุมในวันนี้ จึงเป็นโอกาสเรียนรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผม 

ปีหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพ   

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.พ. ๖๖

1 บรรยากาศในห้องประชุม

2 ถ่ายอีกมุมหนึ่ง

คำสำคัญ (Tags): #660324#pmaf#pmac#PMAYP#PMAYP Reunion
หมายเลขบันทึก: 712053เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2023 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2023 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท