วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ วันแห่งความรัก ผมไปร่วมการประชุม The 10th Prince Mahidol Award Youth Program Networking & Reunion Meeting เพื่อทำกิจกรรม mentoring แก่ PMAYP Scholars ทั้งที่เป็น senior mentoring และ peer mentoring หรือจริงๆ แล้ว เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั่นเอง โดยครั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ ใช้ห้องประชุมชั้น ๑๗ ตึก สธ เป็นสถานที่ประชุม
เมื่อเกือบ ๙ ปีก่อน ผมเล่าความฝันสร้างคุณค่าของโครงการ Prince Mahidol Award Youth Program ไว้ที่ (๑) เราดำเนินการจัดการเพื่อเป้าหมายอุดมการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยนัดใช้วันวาเลนไทน์เป็นวันสานฝัน ตามที่เล่าใน (๒) และ (๓) โดยมีคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ที่มาจากหลากหลายคณะแพทยศาสตร์ มาช่วยกันทำงานอาสาให้แก่บ้านเมือง
ดูกำหนดการของการประชุมที่ (๔)
กล่าวเปิดโดย รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิ พันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านย้ำเป้าหมายของทุนเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ว่าเพื่อส่งเสริมแพทย์จบใหม่ที่เป็นคนดีมีความสามารถที่ต้องการอุทิศชีวิตทำงานเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ โดยทำสิ่งที่ตนชอบ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ กิจกรรม Lifetime Mentoring & Networking นี้ จัดเพื่อหนุนให้ผู้ได้รับทุนแต่ละคนบรรลุเป้าหมายของตนได้ โดยให้คำแนะนำว่า ต้องพัฒนาวิชาการทั้งแนวลึกและกว้าง
ตามด้วย รศ. นพ. รัฐพล ตวงทอง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวให้โอวาทสรุปได้ว่า ผู้รับพระราชทานทุนควรมุ่งทำงานร่วมมือกัน ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน
ช่วงเช้า ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ เป็นประธาน เริ่มจาก ผู้ได้รับพระราชทานทุนรุ่น ๑๑ จำนวน ๕ คน มาเสนอแผนงานที่จะไปฝึกที่ต่างประเทศ ๑ ปี ทั้ง ๕ คน ขณะนี้ยังเป็นนิสิตแพทย์หรือนักศึกษาแพทย์ กำลังจะเรียนจบได้รับปริญญาภายในเวลาเดือนสองเดือนข้างหน้า
นส. กัลยกร ริ้วรุจา จากจุฬา จะไปศึกษาเรื่อง stem cells รักษาข้อเสื่อม ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีการป้องกันข้อเสื่อม นายทศวิทย์ ติยะรัตนาชัย จากจุฬา จะไปศึกษาเรื่องการพัฒนา AI เพื่อ early diagnosis มะเร็งตับ โดยใช้ ultrasound เข้าใจว่าทั้งสองคนนี้ได้ทำงานล่วงหน้าไปสองสามปีแล้ว
นส. พัทธ์ธีรา วงศ์ตั้งตน จากรามาธิบดี จะไปศึกษา การใช้ AI ทำ early detection ของสัญญาณฆ่าตัวตาย ใน social media นส. พรลดา ลิขสิทธิ์วัฒนกุล จากศิริราช จะไปศึกษากลไกที่เซลล์มะเร็งตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อยา นส. ศศิธร เย็นยุวดี จากศิริราช จะไปศึกษาวิธีวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่เริ่มเป็นโดยการตรวจเลือด
จะเห็นว่าทั้ง ๕ คนมีโจทย์ค้นหาความรู้ใหม่หรือวิธีการใหม่ หรือที่เรียกว่าการวิจัยขอบฟ้าใหม่ทั้งสิ้น และปีนี้ผู้รับพระราชทานทุน ๔ คนเป็นผู้หญิง มีผู้ชายคนเดียว เราเห็นแววความสนใจระดับคลั่งใคล้ในคนสาวหนุ่มเหล่านี้
หลังจากรุ่น ๑๑ เสนอทีละคนตามด้วยการกล่าวเสริมของ mentor ไทย ผู้รับทุนรุ่นก่อนๆ ที่มาร่วม รวมทั้งอาจารย์ที่มาร่วม ก็ช่วยกันให้คำแนะนำรุ่นน้อง
ตอนบ่าย ศ. นพ. สุรเดช หงส์อิง เป็นประธาน หารือวิธีจัดการประชุมวันที่ ๒๙ มิถุนายน ที่คณะทำงานจัดระบบ Lifetime Mentoring and Networking ยกร่างมา สรุปว่าจะเชิญผู้ใหญ่สามท่านมาเล่าเส้นทางเดินสู่ความสำเร็จในชีวิตการทำงานวิจัยหรืองานวิชาการสามแนวทาง และจะหาทางสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือทำงานวิจัยและนวัตกรรมข้ามสถาบัน ในลักษณะของ multicenter studies โดยยึดเอาความฝันว่าภายในเวลา ๒๐ ปีข้างหน้า ผู้ได้รับพระราชทานทุนแต่ละคนต้องการทำอะไร บรรลุผลสำเร็จอะไร จึงให้ผู้รับพระราชทานทุนแต่ละคนแชร์แผนชีวิต ๒๐ ปีของตน ได้ข้อมูลให้คณะทำงานนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางสนับสนุน mentoring & networking ลงไปในงานวิจัยและนวัตกรรม
ตกลงกันว่า ทีมจัดการโครงการจะหาทาง networking อาจารย์ mentor ไทยกับอาจารย์ mentor ต่างประเทศ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือหรือ networking ระหว่างสถาบัน
การประชุมจบลงด้วยความอิ่มเอม ผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมได้เห็นแนวทางที่จะใช้โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในการสร้าง international connection ให้แก่วงการวิจัยชีวการแพทย์ไทย
จากการประชุมวันนี้จะนำไปสู่ The 1st PMAYP Lifetime Mentoring and Networking ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ ที่สามย่านมิตรทาวน์
วิจารณ์ พานิช
๑๔ ก.พ. ๖๓