บทความ Facing facts : ChatGPT can be a tool for critical thinking ใน University World News ฉบับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เล่าความกังวลใจของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อการใช้ AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ChatGPT ของนักศึกษา ที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ คือใช้ทำการบ้าน หรือทำข้อสอบ
แต่เมื่อตรวจสอบเข้าจริง ในหลายกรณี ChatGPT ยังไม่ฉลาดพอ
มหาวิทยาลัย University of Calgary, Canada กำลังหาแนวทางสร้างสรรค์ในการใช้ ChatGPT คือใช้ช่วยการเรียนรู้ คือเขาเน้นส่งเสริมการใช้ในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่ห้ามใช้เพราะเกรงนักศึกษาจะใช้โกงการสอบ
อ่านความเห็นของหลากหลายศาสตราจารย์ในบทความแล้ว ผมคิดต่อว่า Chat GTP จะมาช่วยยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน หากครูอาจารย์เปลี่ยนท่าทีต่อคำตอบของนักเรียนนักศึกษา ไปใช้แนวทางของอาจารย์ญี่ปุ่นที่ลูกสาวผมไปประสบเมื่อราวๆ ๓๐ ปีก่อน
ลูกสาวคนนี้ได้รับทุน Monbusho ไปเรียนปริญญาตรีที่ญี่ปุ่น และได้เรียนที่มหาวิทยาลัยโอซากา ในสาขาที่ปัจจุบันเรียกว่า Data Science โดยเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สมัยนั้นยังไม่มีอีเมล์ วันหนึ่งเธอเขียนจดหมายมาบอกว่า เพิ่งมีการสอบเป็นครั้งแรก เมื่อเห็นข้อสอบข้อหนึ่งก็ดีใจ ว่าเตรียมมาตรงกับข้อสอบ แต่เมื่อออกจากห้องสอบก็เหี่ยวใจเพราะคำตอบผิด
อีกสองสามวันต่อมา เธอเขียนจดหมายมาบอกว่า ข้อสอบที่ตอบผิดนั้น ได้คะแนนเกือบเต็ม จึงไปถามอาจารย์ว่าทำไมให้คะแนนเกือบเต็ม อาจารย์บอกว่า เพราะคำตอบสะท้อนวิธีคิดที่ดีมาก แต่ไม่ให้คะแนนเต็มเพราะคำนวณผิด
สะท้อนว่า อาจารย์ญี่ปุ่นใช้คำตอบข้อสอบ ตรวจหา critical thinking ของผู้เรียน
ถ้ายุค Chat GPT และ AI ตัวอื่นๆ ที่จะตามมา (เช่น Bard โดย Google) กระตุ้นให้ครูอาจารย์ไทยมุ่งส่งเสริมศิษย์ให้มี critical thinking และมุ่งตรวจสอบว่าศิษย์เกิดสมรรถนะนี้หรือไม่ในข้อสอบและวิธีตรวจคำตอบ ก็จะเป็นคุณต่อการพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง
หากครูอาจารย์จัดการเรียนรู้ระดับตื้น และสอบความจำ หรือความคิดระดับตื้น ก็จะตกเป็นเหยื่อของ AI แต่หากมุ่งจัดการเรียนรู้ในระดับลึกและเชื่อมโยง (ดูหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง ที่ดาวน์โหลดได้ฟรี) AI จะกลายเป็นตัวช่วย
วิจารณ์ พานิช
๒๓ มี.ค. ๖๖
It is often enough that an approach to solve a problem is quite effective but application errors result in failures and the baby is thrown out with the bath.