เอาจริงได้ แต่ไม่ควรเอาเป็นเอาตาย (​​Can be serious, but no stress)


เมื่อวานขณะไปมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมประชุมกรรมการสาขาฯ และมีนัดกับนักศึกษา ซึ่งจะมาปรึกษางานวิทยานิพนธ์ ลูกศิษย์บ่นว่าช่วงนี้ใกล้ปิดเทอม มีงานต้องเคลียร์เยอะ นอกนั้นยังมีปัญหาชีวิตต้องเผชิญ และคงอยากบ่นด้วยว่างานวิทยานิพนธ์ก็เพิ่มความยุ่งเยิงของชีวิตด้วย 

หลังจากฟังเขาบ่นเสร็จผมก็เลยพูดว่า ​ ‘ผอ. ถ้างานบริหารไม่ยาก เขาก็คงไม่จ้างคนมาทำหน้าที่บริหารน้อ’ ผมหมายความต่อว่าก็เพราะงานมันยากนี่แหละเราจึงมีงาน และที่เราได้งานนี้ก็แปลว่าเรามีความสามารถที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ 

จริงๆ แล้วการดำรงชีวิต การทำงาน และทุกอย่างในชีวิตมันไม่มีอะไรง่ายครับ ถ้าเราเป็นคนรับผิดชอบต่อชีวิต และการงาน แต่การทำงานมาก และทุ่มเทในการทำงาน ก็ไม่หมายความยว่ายุ่งยาก 

และการเอาจริงเอาจังกับชีวิตและการทำงาน ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเครียด ผมจึงบอกว่าเอาจริงเอาจังได้ แต่ไม่ต้องเครียด 

ด้วยที่ผมเกิดมาในครอบครัวชาวนา และพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เรียนอยู่ มศ. 1 (มัธยมศึกษาปีที่ 2 ในปัจจุบัน) แม่อยากให้ออกโรงเรียนเพราะไม่มีเงินพอจะส่งเรียน แต่ด้วยความอยากเรียน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ยกเว้นว่าอายสาวๆ และชาวบ้านว่าเรียนไม่จบ) ก็เลยบอกแม่ว่าจะหาเงินเรียนเอง (ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะหาอย่างไร) แต่นั่นคือมหากาพย์ชีวิตการต่อสู้ของผมจนถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องเรียน สุขภาพ ชีวิต และการงาน ผมจึงเป็นคนเอาจริงเอาจังในชีวิตและการงานอย่างยิ่ง แต่แบ่งของเป็นสองระยะ 

คือ เอาจริงเอาจังและเครียด กับเอาจริงเอาจังแต่ไม่เครียด

ครึ่งหนึ่งของชีวิตของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ‘งานไม่เสร็จ คนเสร็จ (คือยอมตายดีกว่างานไม่เสร็จ) แต่ครึ่งหลัง ซึ่งเริ่มประมาณปี 2536 ขณะที่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังเขียนไว้ในบทเขียนก่อน ๆ ว่าผมค้นพบสัจธรรม และปรัชญาชีวิตใหม่ได้อย่างไร 

ปรัชญาชีวิตและการทำงานใหม่ของผมคือ ​'Do your best, and let it go'

 นั่นคือ ไม่ว่าจะทำอะไรผมจะอย่างเต็มที่ สุดลิ่มทิ่มประตูตามสติปัญญา ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เสร็จแล้วผลจะออกมาอย่างไร ก็ยอมรับและปล่อยวางได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และพร้อมจะเดินต่อ 

ผมจึงไม่เครียดทั้งระหว่างทำงาน และหลังผลที่เกิดแล้ว 

ผมจึงบอกลูกศิษย์ที่คุยกันเมื่อวานว่า เราก็ทำงานตามศักยภาพที่เรามีและเวลาที่เรามี ได้เท่าไหรก็ต้องยอมรับสภาพที่มันจะเกิดขึ้น อะไรที่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ก็ขอ อะไรไม่มีขอแสวงหา หากไม่ได้ก็ทำเท่าที่เรามี และอย่าเสียเวลาไปเครียด เพราะนอกจากจะเสียเวลากับความเครียดแล้ว ความเครียดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเราอย่างยิ่ง 

ลูกศิษย์ก็บอกว่า ‘แต่เราทำใจไม่ได้ที่จะไม่เครียด’ ผมก็บอกว่าทุกอย่างฝึกฝนได้ ปัจจัยต้นของการกระทำทุกเรื่องอยู่ที่ ‘ความเชื่อ และศรัทธา’ สิ่งแรกที่ต้องถามตนเองว่า เราเชื่อในสิ่งที่ผมแนะนำไหม และศรัทธาว่ามันจะเป็นทางออกในการทำงานไหม 

ถ้าเชื่อและศรัทธา เราก็ไม่มีอะไรต้องสงสัยและกังวลอีกแล้ว ก็ลงมือทำ ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร. บุญชม ศรีสะอาด (อาจารย์ของผม) เคยบอกผมว่า ความสำเร็จทุกอย่างอยู่ที่ 3ท หรือ ททท คือ ทำทันที 

เมื่อเราเชื่อและศรัทธาแล้ว ก็ ททท ไม่ต้องสงสัย เท่านี้ก็สำเร็จทุกอย่างครับ 

โชคดีครับ 

สมาน อัศวภูมิ

24 มีนาคม 2566

 

หมายเลขบันทึก: 712063เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2023 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2023 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท