จากวัฒนธรรมบ้านใหญ่สู่พัฒนาการเมืองท้องถิ่นไทย


จากวัฒนธรรมบ้านใหญ่สู่พัฒนาการเมืองท้องถิ่นไทย

10 มีนาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

วัฒนธรรมบ้านใหญ่ของไทยเป็น soft power ได้หรือไม่

มีประเด็นฮอตโซเชียลในช่วงที่บ้านเมืองสับสนในตัวตนมาว่ากัน เพราะมีสงครามย่อยทางความคิดเกิดขึ้น ไม่ได้ค่อนขอดขอเริ่มด้วย “วัฒนธรรมบ้านใหญ่”อาจถือเป็น “Soft Power” [2] ได้ แต่เป็น soft power ด้านลบ เทียบกับอดีตเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้(จีน) เจ้าพ่ออัลคาโปน มาเฟีย (อิตาลี) ยากูซ่า (ญี่ปุ่น) อั้งยี่ (ไทยสมัยร.3-5) ปัจจุบันมีแก๊งกุมารจีน จีนเทา (5 แก๊ง) คอลเซนเตอร์ (แก๊งจีนกักขังหน่วงเหนี่ยวเรียกค่าไถ่ตัดนิ้ว) แก๊งรัสเซีย(พัทยา) แก๊งเยอรมัน รวมซุ้มมือปืนรับจ้าง(ไทย) เป็นต้น ที่เดิมเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น

ลองไปค้นหาคำศัพท์สากลมาเทียบเคียงคำว่า บ้านใหญ่ ไม่รู้ว่าฝรั่งเขาใช้คำว่าอย่างไร คงไม่ใช่ Big House[3] ของฝรั่งที่หมายถึง “คุก” (Prison) แต่เดิมนั้น คำว่าบ้านใหญ่ในความหมายของคนไทย ก็คือ “บ้านเมียหลวง” [4] อ้าวงั้น บ้านน้อย บ้านเล็กก็คือบ้านเมียน้อย บ้านกิ๊ก ต่อๆ มาไหงกลายเป็นว่า “บ้านใหญ่” หรือ “การเมืองบ้านใหญ่” [5] เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่หมายถึง นักการเมืองคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่มาอย่างยาวนาน ประมาณว่า ในวงการเมืองใครๆ ก็รู้จักกันในพื้นที่ เพราะ ครองพื้นที่ ครองใจประชาชนประจำจังหวัดมาอย่างยาวนาน เป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น แบบกลุ่มก๊วนที่มีฐานเสียงแน่น “กระแส” ใดๆ ไม่มีผล ของกลุ่มตระกูลผู้นำทางการเมืองในระดับพื้นที่หรือระดับท้องถิ่น ซึ่งมีศักยภาพมักสอบผ่านเลือกตั้ง ส.ส.ในทุกรอบ คำนี้มีนักวิชาการไทยเริ่มใช้กันมาแพร่หลายน่าจะไม่ถึง 20 ปี เพราะเป็นภาพที่สามารถมองย้อนหลังได้จนถึงช่วงสมัยก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 หรือในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ระยะหลังๆ เริ่มใช้คำนี้ในความหมายที่คนปัจจุบันเข้าใจความหมายกันหนักๆ มีความหมายที่ซับซ้อนขึ้น (complexity) โดยเฉพาะ ในยุค ปี 2553 สงครามความคิดการแบ่งสีเสื้อ [6] เป็นพวกๆ สีแดง สีเหลือง กปปส. และ สลิ่ม การ “เกี๊ยะเซียะ” [7] (การสมยอมกัน การประสานประโยชน์กันลงตัว) ในสมัยนั้นเชื่อกันว่า ไม่มีพวกกลาง หรือพวกที่ไม่เอียงข้าง แน่นอนว่าสังคมไทยตั้งแต่ยุคสีเสื้อตกผลึกมาถึงปัจจุบันจึงเหลือเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น เป็น “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า เสรีนิยม” ที่อีกฝ่ายสุดแท้แต่จะเรียกว่าเป็นฝ่ายสามนิ้วบ้าง ฝ่ายล้มเจ้าบ้าง ฝ่ายซ้ายดัดจริตบ้าง ซึ่งเป็นไปตามวาทกรรม “ชังชาติ” (Hate Speech) [8] ที่พยายามปลูกฝังกันโดยอีกฝ่ายที่ขาดตรรกะมาอธิบายเชิงเหตุผลที่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันว่าเป็น “ตรรกะวิบัติ” (Logical Fallacy) [9] นั่นเอง

 

นิยามคำว่าบ้านใหญ่ในทัศนะของผู้เขียน

ขอสรุปว่า “บ้านใหญ่” คือ คนที่ทำอาชีพนักการเมืองแล้วสืบทอดกันเป็นอาชีพต่อๆ กันภายในกลุ่มเครือญาติ จนชาวบ้านรู้จักเป็นการทั่วไป เช่น ส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มาก่อน แล้วพี่น้องลูกหลานก็ขยับขยายมาเล่นการเมืองระดับจังหวัด นานเข้าก็ถูกทาบทามจากพรรคการเมืองให้ลง ส.ส. กลายเป็น บ้านใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีเหลือน้อยลง ด้วยกระแสโลกโซเซียลของคนรุ่นใหม่ และคนหัวก้าวหน้า ทำให้กลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่สะเทือน แต่อย่างไรก็ตามความเป็นบ้านใหญ่ ด้วยทรัพย์สินเงินทองที่มากมาย ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ยังคงอำนาจได้ เพราะตราบใดที่สังคมไทยยังถือเงินเป็นพระเจ้า ด้วยความเหลื่อมล้ำในชนชั้น ตราบนั้น เงินยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ความคิดในการสร้างรัฐสวัสดิการสังคมยังห่างไกล เพราะรัฐไทยไม่มีทุนพอ ด้วยระบบการผูกขาดสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนระดับล่างได้ลืมตาอ้าปาก 

อีกคำที่คู่กันคือคำว่า “อิทธิพล” นั้น หากหมายถึง ผู้มีอิทธิพล ก็คือ เหล่าพวกพ่อค้าสีเทาในพื้นที่ (ไทยเทา) ส่วนใหญ่จะเป็นพวกบ่อน หวย ร้านเหล้า ของเถื่อน และยาเสพติด โดยอาจมีบางคนก็สร้างอิทธิพลจากการทำมาหากินแบบเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่บางกลุ่มในเขตนั้นๆ คนพวกนี้มักเป็นนายทุนให้กับนักการเมืองเพื่อแลกกับความคุ้มครองและผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน เงินทอน เงินใต้โต๊ะ เรื่องนี้ว่ากันว่า ลามลึกไปถึงท้องถิ่น ธุรกิจเงินทอนเป็นทุนเลี้ยงตัวของบรรดาเหล่านักการเมืองเหล่านี้ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ก็มีบางส่วนที่ ผู้มีอิทธิพล ผันตัวมาเล่นการเมืองเสียเองเพื่อปกป้องธุรกิจของตน นานวันเข้า ต่อๆ ไปอาจแปรสภาพกลายเป็น “บ้านใหญ่” ก็ได้ ซึ่งแบบนี้อาจมีคนเรียกว่า “เจ้าพ่อ” เพราะมีทั้งทุนทั้งอิทธิพล มันเป็น Soft Power เอกลักษณ์เชิงลบ ที่แน่ๆ ก็คือ กลายเป็นคนใหญ่คับบ้านคับเมืองที่อะไรก็มาต้านไม่อยู่ สังคมไทยเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ลองหันมาคิดกัน มันเป็น negative soft power ที่ผู้คนไม่แยแส เป็นได้เพียงตำนานนิยายปรัมปรา (The myth) ในความหมายของตำนาน ทางลบ มิใช่ตำนานเล่าขานเชิดชู (The legend) ในความหมายของตำนาน ทางบวก 

 

การเมืองบ้านใหญ่ยังมีอยู่ คะแนนเสียงเลือกตั้งรอบปี 2566 จะออกมาแนวใด จากคน Genใด

ทำไมต้องมาหาคำนิยามความหมายของคำว่าบ้านใหญ่กัน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าน่าจะยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566[10] นี้ แม้ว่าแต่เดิมนั้นมีข่าวลือว่าอย่าช้าที่สุดนายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาอย่างช้างในราวต้นเดือนมีนาคม 2566 เพราะคาดหมายวันเลือกตั้งไว้ที่วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566[11] การเลื่อนวันยุบสภาออกไปทำให้วันเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปถึงวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2566 เพราะในการเตรียมการเลือกตั้งทำให้เหล่าบรรดานักการเมืองต้องวิ่งหาสังกัดพรรคให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณียุบสภา ระยะเวลาลดลงเหลือ 30 วัน ตามเงื่อนไขแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561[12] จากเงื่อนไขระยะเวลาเป็นสมาชิกพรรคดังกล่าว คอการเมืองไทยคงพอนึกอะไรออกได้บ้างว่า มันเป็นเกมการเมืองเพื่อชิงความได้เปรียบโดยแท้ โดยอาศัย “พลังดูด” นักการเมือง “ตัวเก็ง” จากค่ายต่างๆ ให้มาอยู่ในสังกัดให้ได้มากที่สุด ที่น่าจับตามองก็คือ “บรรดานักการเมืองบ้านใหญ่” เพราะการยุบสภา จะทำให้ระยะเวลาสมาชิกสังกัดพรรคการเมืองเพียง 30 วันก็พอ 

ท่ามกลางการหาเสียงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในช่วงค้างสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ผลพวงจากความเหลื่อมล้ำที่ฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่ได้คิดแก้ไขปัญหาในในระดับโครงสร้างในระยะยาวๆ ชักจะไปกันใหญ่ในอีกทัศนะหนึ่ง รัฐทำบัตรคนจน[13] (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ภายใต้โครงการประชารัฐสวัสดิการ เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง ประมาณ 14.6 ล้านคน ในสมัยรัฐบาล คสช. ที่เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ณ ปัจจุบันมีจำนวนที่สูงถึง 19 ล้านคน คิดเป็น 1/3 ของประชากร ซึ่งรวมถึงนักศึกษาด้วย เพราะนักศึกษาไม่มีรายได้ พรรคการเมืองต่างชิงเสนอนโยบาย เช่น สวัสดิการคนสูงวัย 3,000 บาท เพราะไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยแล้ว (Aged Society) ด้วยจำนวนคนไทย 1/4 ของประชากร (25%) คนอายุ 65 ปีขึ้นไป[14] จำนวนถึง 14% ในขณะที่ญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 28.2% อินเดียมีเพียง 6% (ต่ำกว่าไทย 7-8%) นอกจากนี้จากสถิติชีพพบว่า ไทยมีอัตราการเกิดที่ 9 ต่อ 1000[15] ต่อไปจะลดลงเป็น 7.6 ต่อ 1000 แต่เดิมอัตราเกิดของไทยสูงถึงปีละ 1 ล้านเศษ ต่อมาการคุมกำเนิดได้ผลลดลงเหลือปีละ 7-8 แสนคน และพบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของเด็กไทยเหลือเพียงปีละ 4-5 แสนซึ่งมีผลว่า คนรุ่นใหม่ (Generation Z) ก็จะมีน้อยลง น้อยกว่าคน Gen X Gen Y ปัจจุบันมีข้อมูลว่า คน Gen Y หรือ คนยุค Millenniums เกิดระหว่างปี 2523–2543 เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนสูงถึง 32% จากประชากร 66 ล้านคน หรือราว 21 ล้านคน[16] แน่นอนว่าเสียงของคนรุ่นใหม่ Gen Z โดยเฉพาะคนที่จะลงคะแนนเสียงครั้งแรก (New Voters) [17] ในรอบการเลือกตั้งปี 2566 นี้ ด้วยอัตราเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยในช่วงปี 2544-2547 (อายุปัจจุบัน 18-22 ปี) เฉลี่ยปีละ 7-8 แสนคน รวมกันในช่วงอายุ 4 ปี จำนวน 2.8-3.2 ล้านคน[18] ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย พลังน้อย เพราะคน Gen Baby Boomer ยังมีจำนวนที่มากกว่า กระแสพลังเปลี่ยนสังคมแบบกลับยังไม่มากพอที่จะไปกลบลบกันได้ ฉะนั้นพลังสังคมปัจจุบันจึงอยู่ที่คน Gen Y ที่จะชี้ขาดการเลือกตั้งในครั้งนี้ 

 

ความร่อยหรอหมดไปของทรัพยากรท้องถิ่น สังคมต้องหันมาหาธรรมชาติ

พลังงานของโลกกำลังหมดลดลง ต้นตอแห่งสงครามก็คือ การแย่งชิงแหล่งพลังงาน และอาหารของโลก[19]ทั้งสิ้น การหวังครอบครองพื้นที่ของฝ่ายอำนาจล้วนมุ่งไปที่ทรัพยากรเอาไว้มาบริโภคทั้งสิ้น เกิดสัญญาณเชิงบวกเชิงลบที่น่าศึกษา ย้อนไปดูเรื่องนวัตกรรมไทย Life Style คำที่ติดหน้าห้างโรบินสันไทย[20] เมื่อเกือบสองปีผ่านมา น่าจะหมายถึงการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์เรียบง่าย เทียบเมืองไทยก็เหมือนฝรั่ง เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยี ภาคการผลิตกันมาก เมื่อมาถึงจุดอิ่มตัว ผู้คนก็หันไปในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสุขภาพ ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่คนรุ่นหลังๆ ต้องมีภาระในการดูแลคนสูงวัยที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นด้วย หลักสูตรการศึกษาการบริบาลดูแลสุขภาพ (Care Giver) [21] ผู้สูงวัยจึงจำเป็น การโหยหาสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ป่า ภูเขา ทะเล รวมศาสนสถาน ศิลปกรรมสิ่งปลูกสร้าง สวนสาธารณะ จึงเป็นที่หมายปองของมนุษย์ทุกชาติ ด้วยงบประมาณจัดสรรให้หน่วยงานที่มากขึ้น บรรดาหน่วยงานราชการไทย เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่ก็มีข่าวมีเหตุทุจริตเช่นกัน การใช้งบประมาณก่อสร้างสวนสาธารณะ หรือแหล่งรวมมรดกโลก ก็มีข่าวส่อไปในทางทุจริต เอกชนในภาคอีสานจึงมีอาชีพล้อมต้นไม้ (บอนต้นไม้) ขุดขนไปขาย เป็นล่ำเป็นสัน

 

รัฐรวมศูนย์ที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้กลุ่มอีลีทผู้ครองอำนาจ

อำนาจรวมศูนย์รัฐไทยที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้กลุ่มอีลีทผู้ครองอำนาจ (Elite) [22]ด้วยไทยเป็นสังคมครอบครัวขยาย[23] (Extended or Joint Family) เป็นครอบครัวใหญ่ คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก ครอบครัว 3 รุ่นขึ้นไป คือ พ่อ แม่บุตร และปู่ย่า ตา ยาย หรืออาจมีญาติคนอื่นอาศัยอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ครอบครัวเดี่ยว[24] (Single Family or Nuclear Family) เป็นครอบครัวของคนในสังคมเมืองหลวงมีขนาดที่เล็กลงกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวซึ่งประกอบด้วยสามีภรรยาและบุตร เป็นครอบครัวขนาดเล็กประกอบด้วยพ่อแม่ลูก หรือพี่น้องหรือญาติไม่เกินสองรุ่นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เช่นดังสังคมญี่ปุ่น ทำสังคมไทยให้เอื้อต่อ “วัฒนธรรมแบบบ้านใหญ่” 

ในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมามีข้อเสนอจากกลุ่มหัวก้าวหน้า และคนรุ่นใหม่ชูประเด็น อปท. ให้เป็นรูปแบบ “จังหวัดปกครองตนเอง” [25] ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยมีความจำเป็นต้องลดบทบาทของส่วนกลางลง ซึ่งรวมถึงการลดบทบาทของ “ภูมิภาค” ลงด้วย มี อปท.ใน 2 ระดับ (Tier) [26] คือ (1) อปท. ระดับบน และ (2) อปท.ระดับล่าง เพราะ ตามหลักการบริหารถือว่า “ภูมิภาค” ก็คือติ่งหนึ่งของส่วนกลางนั่นเอง โดยการลดบทบาทให้เป็นไปในรูปของหน่วยงาน “ที่ปรึกษา” (Staff) หรือเป็น “พี่เลี้ยง” “ผู้ประสานงาน” มิใช่ “หน่วยงานหลัก” (Line) ในการดำเนินงาน โดยเปลี่ยนเน้นบทบาทในการดำเนินงานให้แก่ ท้องถิ่น หรือ อปท. ดำเนินการแทน ซึ่งไม่จำเป็นต้องยุบภูมิภาคหรือยุบภูมิภาคก็ได้ ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งในระยะหลังๆ เช่นประเทศญี่ปุ่น กลับเห็นดีว่าท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีขนาดเล็ก[27] ท้องถิ่นอาจไม่จำเป็นต้อง “ยุบรวม หรือควบรวมกัน” (Merging or Amalgamation) ก็ได้[28] เพราะยังมีราชการส่วนกลางเหลืออยู่ และการยุบภูมิภาคทั้งหมดอาจไปกระทบต่อฐานอำนาจของ “การปกครองท้องที่” ที่ฝ่ายอำนาจรัฐยังเห็นว่าจำเป็น และการบริหารจัดการพัฒนาท้องถิ่น (Development Administration) [29] ก็ไม่จำต้องเป็นแบบ “เสื้อโหลสำเร็จรูป” (One size fits all) [30] เพราะท้องถิ่นมีความหลากหลาย มีบริบท มีทรัพยากร มีต้นทุน มีประวัติศาสตร์ มีนวัตกรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในการจัดบริการสาธารณะ (Public Service) และกิจกรรมสาธารณะ เพื่อให้บริการแก่ประชาชน หรืออาจกล่าวได้ว่า แต่ละท้องถิ่น แต่ละท้องที่มี Soft Power ของตนเองที่หลากหลายนั่นเอง

อย่างไรก็ตามในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทิศทางการกระจายอำนาจหาได้คืบหน้าไม่ ยังคงวนลูปเดิม ด้วยกระแสความเห็นต่างแบบเดิมๆ โดยมีฝ่ายอำนาจรัฐเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยปล่อยข่าวการขึ้นเงินค่าตอบแทนสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) [31] พร้อมทั้งมีนโยบายให้ยกฐานะ “อบต.ให้เป็นเทศบาล” ข่าวนี้ทำให้คู่ปรับท้องถิ่น คือกลุ่มสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านเรียกร้องเสนอขอขึ้นเงินค่าตอบแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วยเช่นกัน[32] (ข่าว 3 มีนาคม 2566)

นโยบายผ้าไทย[33] ภายใต้การส่งเสริมโดยระบบรัฐราชการ ก็สั่งมาจากส่วนกลาง แทนที่ท้องถิ่นจะมีเอกภาพที่ดำเนินการได้เองอย่างอิสระ ไม่เกี่ยวกับส่วนกลาง เมื่อครั้งสมเด็จพระราชินี ร.9 ผ้าไหม ผ้าไทย ยังมีการสนับสนุนส่งเสริมในกลุ่มได้ดี ต่อมางานแผ่วจึงตกไปเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐ การกำหนดให้ราชการส่งเสริมผ้าไทย แต่งกายด้วยผ้าไทย จากสัปดาห์ละ 1 วัน ก็กลายเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน ล้วนมาจากกรอบแนวคิดของส่วนกลาง ที่จริงในทัศนะของท้องถิ่นจะผ้าอะไร ก็ล้วนผลิตในไทยทั้งสิ้น ขอให้เป็นนวัตกรรมของท้องถิ่นก็เพียงพอ และใช้ได้แล้ว ผ้าทอมือที่รัฐให้ซื้อสวมใส่ ล้วนราคาแพง การรักษาดูแลยุ่งยาก กลับเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอีกต่างหาก แนวคิดประหยัด เรียบง่ายจึงใช้ไม่ได้ในข้าราชการท้องถิ่น ที่ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในสังคมมากขึ้นตามภารกิจนโยบายส่วนกลางกำหนด ทำไมราชการไทย จึงมากำหนด บังคับให้คนท้องถิ่นต้องแต่งกาย เป็นเงินส่วนตัวทั้งนั้น ที่ไม่ใช่ ชุดทหาร ตำรวจ ที่ยังพอใช้เงินแผ่นดินซื้อได้

มองในมุมกลับ รำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย[34] การดูหนังไทย[35] อาหารไทย มันเป็นเรื่องปกติ (New normal) ไม่น่าจะยุ่งยากปานนั้นเลยหรือ ที่ต้องมาช่วยกันอุดหนุน สร้างภาพเอกลักษณ์ไทย สร้างอีเว้นต์ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วในเบื้องลึกๆ ของความเป็นไทยๆ เหล่านี้มันก็คือ Soft Power ดีๆ นี่แหละ มิใช่การมาส่งเสริมรณรงค์กันเพียงฉาบหน้า มิใช่เนื้อแท้ อยู่ที่สำนึกมากกว่า เพราะหากผู้นำ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่ทำตัวอย่างที่ไปสั่งระดับล่างทำกันแบบนี้ มันจะพัฒนาเจริญได้อย่างไร เช่น คนระดับบนยังมีสำนึกตรงข้ามกับที่สั่งการระดับล่าง ยังบินไปเที่ยวดื่มกินของนอกต่างประเทศด้วยเงินหลวงกันอยู่ 

 

ข่าวการยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล เพ้อฝันไปหรือไม่ 

ที่เพ้อฝัน หมายถึง การทำไม่ได้ เหมือนคนเพ้อที่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เพ้อ เพราะการยกฐานะ อบต. มันมีปัจจัยเหตุผลหลายๆ อย่าง มีทั้งคนดึง คนดัน คนห้าม คนต่อต้าน คนสนับสนุน มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่หลากหลายกลุ่ม และที่มีกระบานการขั้นตอน[36] ไม่ได้ยกฐานะกันเฉยๆ เช่น การตรวจสอบแนวเขต การขอความเห็นชาวบ้าน (ประชาพิจารณ์) เพราะหากว่ายกฐานะ อบต.กันง่ายจริงตามดังว่า ทำไมไม่ยกฐานะ โดยทยอยยกฐานะไปเรื่อยๆ ตามที่ สปช.และ สปท.เคยเสนอไว้เมื่อปี 2559-2560[37] ก็ได้ แต่ฝ่ายอำนาจกลับไปยกเลิกข้อเสนอของ สปท.ทิ้งเสีย แล้วเพิ่งกลับมาคิดได้เมื่อหมดสมัยรัฐบาลที่เหลือเวลาอีกเพียงสองเดือนเศษ ไม่เข้าใจ แน่ใจหรือว่า จะยกฐานะ อบต.ทันทั้งหมด 5,300 แห่งได้อย่างไร หรือเป็นราคาคุยหาเสียง 

ในอดีตการจัดตั้ง อปท.จัดตั้งขึ้น ก็เพื่อจัดการสุขาภิบาลให้ดี เช่น การตั้งสุขาภิบาลและเทศบาล มีการเก็บกวาดสิ่งโสโครก ขยะ และต่อๆ มางานอื่นก็ตามมา เช่นงานเบ๊ (รับใช้หน่วยเหนือ) ที่หน่วยงานรัฐส่วนกลางเขาไม่ทำกัน เปรียบเหมือนผลไม้หกเสียเรี่ยราดล้นจากมือคนส่วนกลางจึงหล่นมาหาท้องถิ่นประมาณนั้น มีผู้นำท้องถิ่นจำนวนน้อย ที่จะส่งผ่านงานหรือภารกิจท้องถิ่นให้ไปถึงมือประชาชนจริงๆ ตามหลักการหรือปรัชญาการปกครองท้องถิ่น ส่วนใหญ่แค่เพียงคำกล่าวอ้าง หรือเฉพาะในประชาชนบางกลุ่มที่กล่าวถึง วงศ์วาน ย่านเครือเถาญาติของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

 

จากเรื่องจับฉ่ายสัพเพเหระก็เอามาผูกเป็นเรื่องให้อ่านกันก็ยังได้นะ ลองอ่าน หวังว่าคงไม่มั่วนะ สังคมไทยยังตามหลังสังคมโลกอยู่หลายขุม ที่สามัญชนต้องทำใจ


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 10 มีนาคม 2566, https://siamrath.co.th/n/429526 

[2]soft power ของไทย? ความหมาย ความจริงและความฝัน, โดยนิติราษฎร์ บุญโย, กรุงเทพธุรกิจ, 19 เมษายน 2565, 22:22 น., https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/999871

[3]อ้างจาก Big house, Urban Dictionary

a high security prison. The big house also indicates the home of an Antebellum plantation owner, suggesting that prisons are a form a slavery for many innocent African Americans.

Big house : US slang. : a building where people are kept as punishment for a crime : prison.

[4]พจนานุกรมแปล ไทย ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร: บ้านใหญ่ 1.น. บ้านเมียหลวง, ภรรยาหลวง. 2.น. บ้านเมียหลวง

[5]ดู “การเมืองบ้านใหญ่” คืออะไร ในสายตาของ “บ้านใหญ่ศรีสะเกษ”, โดยพันธวิศย์ เทพจันทร์, Thairath Plus, 15 กันยายน 2565, https://plus.thairath.co.th/topic/spark/102110 

[6]การสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนเสื้อแดงและกลุ่มมวลชนเสื้อเหลือง ที่แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากอารมณ์ความรู้สึกขัดแย้งหรือต่อต้านที่พวกเขามีต่อกันและกันโดยตรง หากแต่เกิดขึ้นจากมุมมองที่มีความแตกต่างกันในเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ฝ่ายหนึ่งชูธงประชาธิปไตยแบบสากล ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งชูธงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี 

ดู การเมืองเสื้อสีกับการศึกษาขบวนการโต้กลับ ตามจารีตการศึกษาขบวนการทางสังคมและการเมือง โดยเอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ (E Natthaphatthanunth), อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1/2558 (มกราคม-มิถุนายน), tci-thaijo, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/download/171492/123166/483053

[7]เกี๊ยะเซียะ : วิกิพจนานุกรม (ภาษาปาก, อกรรม) เจรจาประนอมความ, รอมชอม ตัวอย่าง ลูกพรรคทะเลาะกัน หัวหน้าต้องลงไปเกี๊ยะเซียะทุกที

[8]Hate Speech (เฮทสปีช) ในภาพรวมคือ ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง เป็นการแสดงออกซึ่งความเกลียดชัง มีเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีงานวิจัยไทยเกี่ยวกับ Hate Speech มาตั้งแต่ราวปี 2556 เช่น งานวิจัยคำพูดที่เกลียดชังออนไลน์ (thainetizen.org, 2013/07), จำแนกสื่อออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สื่อออนไลน์ วิทยุและโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ (Jul 30, 2013), การสื่อสารประทุษวาจาทางการเมืองไทยบนเฟซบุ๊ก การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (dpu.ac.th, thesis, Jul 31, 2021) เป็นต้น

ดู วาทกรรม หรือ ข้อกล่าวหา "ชังชาติ" หมายถึงอะไร ในมุมมองของคนสองขั้วการเมือง, YouTube, Official Matichon TV, จากเวที เสวนาวิชาการ รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, 30 พฤศจิกายน 2562, https://www.youtube.com/watch?v=_eyLrDlD0FI 

& ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง (Hate speech) กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, โดยประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ประชาไท, 27 ธันวาคม 2556, https://prachatai.com/journal/2013/12/50732 

[9]ตรรกะวิบัติ หรือ เหตุผลวิบัติ (Fallacy) หมายถึง การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนในข้อสรุป การให้เหตุผลวิบัติมีความแตกต่างจากการให้เหตุผลแบบอื่นๆ เนื่องจากหลายคนมักจะพบว่าการให้เหตุผลนั้นมีความน่าเชื่อถือในทางจิตวิทยา ซึ่งจะส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดและยกเหตุผลอย่างผิดๆ โดยใช้เป็นเหตุผลที่จะเชื่อในข้อสรุปนั้น, วิกิพีเดีย

[10]"วิษณุ" ไม่ยืนยันยุบสภาฯ 20 มี.ค. คาดนายกฯนัดหารือหลังแขนหายดี, THAI PBS, การเมือง, 7 มีนาคม 2566, 14:32 น., https://www.thaipbs.or.th/news/content/325294 

[11]แผนแรก กกต.ได้ประมาณการ timeline ห้วงเวลาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ดู นายกฯ ประกาศยุบสภาต้นมีนาคม เลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566, ฐานเศรษฐกิจ, 21 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.thansettakij.com/politics/556825 & “บิ๊กตู่” ประกาศ ยุบสภา ต้นเดือนมีนาคม วันกาบัตร 7 พฤษภาคม 2566 (คลิป), ไทยรัฐ, 22 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.thairath.co.th/news/politic/2635786 & เลือกตั้ง 2566 : นายกฯ ประกาศยุบสภาต้น มี.ค. คาดจัดการเลือกตั้งตามปฏิทิน กกต. 7 พ.ค., BBC Thai, 21 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.bbc.com/thai/thailand-64714775 

[12]ตามมาตรา 41 และมาตรา 42 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ดู แนะนำกฎหมายใหม่และกฎหมายที่น่าสนใจ โดย นางสาวสุทธิมาตร จันทร์แดง นิติกร สำนักกฎหมาย 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ให้ไว้ ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 กันยายน 2561 เล่ม 135 ตอนที่ 68 ก หน้า 40, http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/new/new88.pdf

[13]บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โดยอรรถสิทธิ์ พานแก้ว, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

[14]สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน  อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป

"สังคมสูงวัย" คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง. ประเทศต่างๆ รอบข้างเราได้มีปัญหาเรื่องนี้แล้ว เช่น ที่สิงคโปร์มีสัดส่วนของผู้สูงอายุใกล้เคียงกับไทย และเป็นสังคมผู้สูงอายุ , เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ดังนั้น สำหรับประเทศเราเอง ก็กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเร็วๆ นี้ เช่นกัน โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคนแล้ว และมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ.2564 สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 เปอร์เซ็นต์

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก ตามมาด้วยอิตาลีที่มีผู้สูงอายุราว 24.1% ส่วนอันดับที่ 3 เป็นของฟินแลนด์ที่มีผู้สูงอายุคิดเป็น 23.3% ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุญี่ปุ่นสูงถึง 36.27 ล้านคน แยกเป็นผู้ชาย 15.74 ล้านคน และผู้หญิง 20.53 ล้านคน หากแบ่งจำนวนผู้สูงอายุตามอายุจะพบว่า มีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 75 ปีถึง 19.37 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ส่วนประชากรที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีประมาณ 12.35 ล้านคน คิดเป็น 9.9% ของประชากรทั้งหมด ด้านประชากรที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป มีประมาณ 2.65 ล้านคน คิดเป็น 2.1% คาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุในญี่ปุ่น จะมีสัดส่วนคิดเป็น 35.3% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2583

ดู สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ, 21 มิถุนายน 2564, https://www.dop.go.th/th/know/15/926 & โครงสร้างประชากร “ญี่ปุ่น” วิกฤติ! หลังสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก, โดยกฤตพล สุธีภัทรกุล, กรุงเทพธุรกิจ, 30 กันยายน 2565, 9:09 น., https://www.bangkokbiznews.com/health/labour/1029733 

[15]อัตราเกิดมีชีพ (Crude Birth Rates) ปี 2557-2560 = 11.0, 10.4, 10.2, 10.1 ต่อประชากร 1,000 คน ปี 2561-2564 = 9.6, 9.1, 8.7, 8.8 ต่อประชากร 1,000 คน ดู สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2564 (Public Health Statistics A.D.2021), โดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ตุลาคม 2565, http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/statistic64.pdf 

[16]ดู Where Y? สัดส่วน Gen Y ในประเทศไทย, terrabkk, บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด, 27 มีนาคม 2562, https://www.terrabkk.com/articles/191968/where-y-สัดส่วน-gen-y-ในประเทศไทย#:~:text=หลังจากที่ได้หาข้อมูล,ประชากร%20Gen%20Y%20มากกว่า%2030%25 

[17]New Voters หรือ First Time Voters หมายถึงหมายถึง คนที่เพิ่งจะได้สิทธิมีอายุถึงเกณฑ์ที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก คือ ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีในวันเลือกตั้ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะตัดสินอนาคตชาติ เพราะเป็นคนรุ่นใหม่

จากข้อมูลปี 2560 ประชากรไทย 67 ล้านคน มีสัดส่วนโครงสร้างประชากรกลุ่ม Baby Boomer (15 ล้านคน) Gen X (16.6 ล้านคน) Gen Y (ปี 2560 = 19 ล้านคน 28% ของประชากรรวม ปี 2562 เพิ่มสัดส่วนเป็น = 32% ของประชากรรวม) Gen Z (10.6 ล้านคน) คาดว่าปี 2563 คนกลุ่ม Gen X มีจำนวนมากที่สุดในโลก มากกว่า 1.4 พันล้านคน ทั่วโลก

MI Group (2566) มีเดียเอเยนซี ได้สรุปพฤติกรรมและรูปแบบการเสพสื่อ 6 Generations คือ (1) The Giver (Silent Gen) อายุ 77-94 ปี (2) The Loyalist (Baby Boomer) อายุ 58-76 ปี (3) The Life Maker (Gen X) อายุ 42-57 ปี (4) The New Driver (Gen Y) อายุ 26-41 ปี (5) The Digital Native (Gen Z) อายุ 12-25 ปี (6) The AI Kids (Gen Alpha) อายุน้อยกว่า 12 ปี

ข้อมูลล่าสุด วิเคราะห์จำนวนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) ผู้มีสัญชาติไทย จำนวน 64,867,433 คน คือ Generation Z ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 หรือมีช่วงอายุ 11-26 ปี นับเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 18-26 ปี จำนวน 7,670,354 คน Generation Y ผู้ที่เกิดปี 2524-2539 หรือมีช่วงอายุ 27-42 ปี จำนวน 15,144,468 คน Generation X ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 หรือมีช่วงอายุ 43-58 ปี จำนวน 16,091,150 คน Baby Boomer ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 หรือมีช่วงอายุ 59-77 ปี จำนวน 11,153,133 คน

ดู อัพเดท 6 Generations ในสังคมไทย มีพฤติกรรมอย่างไร, brandbuffet.in.th, 9 มกราคม 2566, https://www.brandbuffet.in.th/2023/01/mi-group-report-6-generations-of-consumer-behaviour-in-2023/ 

& Gen Y/Gen Me กลุ่มผู้กุมชะตาโลก, กรมสุขภาพจิต, 24 กันยายน 2563, https://dmh.go.th/news/view.asp?id=1251 

& ประชากรไทย GenY ใหญ่สุด พฤติกรรมสร้างโอกาส-ความเสี่ยง(1), ฐานเศรษฐกิจ, 24 พฤศจิกายน 2560, https://www.thansettakij.com/columnist/234315  

[18]รวมช่วงอายุ 4 ปี คิดเฉพาะปีเกิด 2544-2547 (New Voters อายุ 18-22 ปี) จำนวน 3,138,914 คน (ซึ่งยังไม่ได้หักยอดคนตายของกลุ่มบุคคลในช่วงอายุนี้) จากยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง Gen Z ทั้งหมดอายุ 18-26 ปี = 7,670,354 คน คิดสัดส่วน Gen Z เป็นจำนวนถึง 40.92%

ข้อมูลปัจจุบันปี 2562-2564 คิดที่ฐานประชากร 65 ล้านคน สถิติการตายทุกช่วงอายุเฉลี่ย ปีละประมาณ 7-8 ต่อพัน หรือประมาณ ปีละ 4.55-5.2 แสนคน (คือตายประมาณปีละ 7-8 ต่อพัน) จากประชากร 65 ล้านคน เช่น หากคิดตายอัตรา 8 ต่อ 1,000 = [8/1,000] * 65,000,000 = 520,000 คน 

ปี 2562-2564 ยอดคนตายกลุ่มอายุ 15-24 ปีต่ำมาก เฉลี่ยเพียงปีละ 1.1-1.2 ต่อพัน ฉะนั้น คนหนุ่มสาวช่วงอายุ 18-22 ปี ที่ตายน่าจะมียอดเพียง 3,767 คน [(3,138,914/1,000)*1.2 = 3,766.69]

ดู จำนวนประชากร การเกิด และการตาย ทั่วราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2536-2562 รายปี รายละเอียดปรับปรุงข้อมูล 24 มกราคม 2563, ระบบฐานข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, http://social.nesdc.go.th/SocialStat/StatReport_Final.aspx?reportid=68&template=2R1C&yeartype=M&subcatid=1

& ข้อมูลและสถิติประชากรไทย, โดยมูลนิธิชุมชนสงขลา, https://communeinfo.com/paper/15

& สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2564, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ตุลาคม 2565, http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/statistic64.pdf 

[19]จึงเกิดแนวคิด แผนควบคุมมนุษย์โลก Agenda 21 ปี 1992 Rio (Earth Summit) 192 ประเทศ เป้าหมาย 3 เสาหลัก AGENDA 21 คือ เศรษฐกิจ นิเวศน์ ความเสมอภาคทางสังคม ( “three major points of view: economic, social, and ecological” & (Sustainable development is based on three fundamental pillars: social, economic and environmental)

[20]ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน (Robinson Department Store)เป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ.2522 และขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ใน พ.ศ.2562 กลุ่มเซ็นทรัลได้ตัดสินใจยื่นคำร้องขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของโรบินสัน เพื่อเปิดทางให้ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชัน เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แทน ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 48 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 สาขา และต่างจังหวัด 37 สาขา อีกทั้งบริษัทฯ มีสาขาที่เปิดให้บริการในเวียดนามจำนวน 2 แห่ง (อ้างจากวิกิพีเดีย) 

& “ห้างเซ็นทรัล-โรบินสัน และศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์” พร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบทุกสาขาทั่วไทย วันที่ 1 ก.ย. 64 เข้มคัดกรอง!! เพื่อให้ช้อปอุ่นใจ เสมือนอยู่บ้าน, marketingoops, 1 กันยายน 2564, https://www.marketingoops.com/pr-news/central-robinson-clean-and-safe/

[21]ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver : CG)หมายความว่า บุคคลที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตร ที่คณะ อนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีภาวะพึ่งพิง หรือคณะอนุกรรมการอื่นภายใต้ คณะ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสำนักงานหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบ (การอบรมตามหลักสูตร 70 ชั่วโมง) Caregiver ในระบบ Long Term Care: LTC เป็น CG ภายใต้กองทุน LTC ของ สปสช.

ดู Caregiver ในระบบ Long Term Care เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน, สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.), มูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program – IHPP), 30 พฤศจิกายน 2562, https://hrdo.org/caregiver-ในระบบ-long-term-care-เขาเป็นใครหนอ/

[22]กลุ่มคน Elite จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่บน Top ของ Pyramid ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคม ในรายงาน The Great British Class Survey (2013) พบว่าชนชั้นในอังกฤษมีโครงสร้างแบ่งได้เป็น 7 รูปแบบชนชั้น จากชนชั้นนำหรืออีลีท (Elite) ซึ่งอยูู่สูงสุด ไปจนถึงกลุ่มผู้ที่ขาดความมั่นคงในชีวิตหรือพรีคาเรียท (Precariat) ซึ่งอยู่ต่ำสุด

ชนชั้นนำ หรือ Elite Group ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด หรือเป็นผู้นำทางความคิด เป็นผู้สร้างกระแสความคิดที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นกลุ่มคนหรือหลายกลุ่มที่ต่อต้าน ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำในสังคมมักจะอยู่ในกลุ่มที่สืบทอดฐานะทางสังคมของตนในด้านชนชั้น เช่น สืบทอดมาจากวงศ์ตระกูลที่เคยมียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นผู้อยู่ในแวดวงผู้ปกครองมาก่อน เคยเป็นผู้นำทางสังคมในวงราชการ หรือการทหาร หรือธุรกิจการค้า ขณะเดียวกันก็เป็นปัญญาชนผ่านทางการที่มีโอกาสได้รับการศึกษาอบรมสูงกว่าผู้อื่นๆ สำหรับสังคมไทยต้องเป็นนักเรียนนอกด้วย

ดู 7 ชนชั้นยุคใหม่ในอังกฤษ จากการสำรวจของนักสังคมศาสตร์และ BBC, ประชาไท, 5 เมษายน 2556, https://prachatai.com/journal/2013/04/46114 & ชนชั้นนำ, มติชน, 11 มกราคม 2561, 11:30 น., https://www.matichon.co.th/columnists/news_796124

[23]ดู นิยามและประเภทครอบครัว, กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, พฤศจิกายน 2562, http://intranet.dop.go.th/intranet_older/fls/fls_uploads/52747/นิยามและประเภทครอบครัว.pdf 

& https://infocenter.nationalhealth.or.th/sites/default/files/นิยามและประเภทครอบครัว.pdf & ประเภทของครอบครัว, https://docs.google.com/document/d/1d7hLcDkDJvkOMWRpnRkpZuaf3aDJjp_l3OcAkAq5eJI/edit &ประเภทของครอบครัวไทย, โดย Kanlaya Pauudomcharean, 17 กันยายน 2556, https://goodluck123foryou.wordpress.com/2013/09/17/ประเภทของครอบครัวไทย/

[24]อ้างแล้ว

[25]ข้อเสนอการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน คือ
(1) สภาจังหวัดปกครองตนเอง มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและร่างข้อบัญญัติการควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง และการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความร่วมมือกับสภาพลเมือง สมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี การกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดปกครองตนเองต้องคำนึงถึงเขตพื้นที่และจำนวนประชาชน
(2) ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พิจารณาและออกประกาศ ประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดปกครองตนเอง เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของจังหวัดปกครองตนเอง
(3) สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วยบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ และภาควิชาการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ การตัดสินใจทางการเมือง การจัดทำบริการสาธารณะ จัดประชุมสมัชชาพลเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเองมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี 
ดู จังหวัดจัดการตนเอง : แนวคิดในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยศรันยา สีมา นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ, https://peaceresourcecollaborative.org/wp-content/uploads/2020/05/hi2558-042.pdf 

[26]แนวคิดการปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย มี อปท. 2 ระดับ (เทียร์ Tier) คือ (1) อปท. ระดับบน คือ อบจ. รับผิดชอบภารกิจใหญ่ อาทิ สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น (2) อปท.ระดับล่าง ให้มีรูปแบบเดียวคือ รูปแบบเทศบาล ที่มี “ฝ่ายบริหารและสภา” โดยมีการยกฐานะ อบต. เป็น “เทศบาล” และควบรวม อปท. ที่มีขนาดเล็กตามที่กำหนด ให้เป็น อปท.ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้จำนวน อปท. มีลดน้อยลง ไม่เป็นภาระด้านการคลังแก่รัฐบาล

[27]แนวคิดการควบรวมหน่วยการปกครองท้องถิ่นไทย (Merging, Merger) เริ่มมาจากข้อแนะนำของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปี 2012 เช่น ถ้าองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กมีจำนวนมากเกินไปอาจส่งผลให้ขาด ศักยภาพทางด้านงบประมาณเมื่อควบรวมแล้วอาจเป็นการประหยัดงบประมาณลงได้การใช้งบประมาณของรัฐเป็นไป ตามระเบียบและกฎหมายมิให้เกิดการทับซ้อนกันและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ ซึ่งในระยะแรกๆ ในช่วงต้นๆ คสช. ในปี 2557-2560 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช., 6 ตุลาคม 2557-6 กันยายน 2558) จำนวน 250 คน และ สภาปฏิรูปประเทศ (สปท., 13 ตุลาคม 2558-3 สิงหาคม 2560) จำนวน 200 คน ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่กลับเข้ามาอยู่ใน สปท. 61 คน หรือร้อยละ 30.5 ของสมาชิกทั้งหมด 

กมธ.การปกครองท้องถิ่น สนช. ได้เสนอแผนการควบรวม อปท. ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดทำ “รายงานผลการพิจารณาศึกษาระบบการบริหารงาน ระบบบริหารงบประมาณ ระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และระบบการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2558

ดู บทที่ 3 ข้อเสนอการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นด้วยการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2563, https://ird01.stou.ac.th/researchlib/uploads/2563_037/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%203.pdf

& การประหยัดจากขนาดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิเคราะห์ศักยภาพการควบรวมท้องถิ่นขนาดเล็ก, โดยดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, จัดพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า, 9 กันยายน 2563, https://kpi.ac.th/uploads/pdf/ipXT0QrNwLDehOhnYNnPi6XVeTDwNINOKCoyw9LS.pdf & ผลกระทบจากร่างกฎหมายการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Impact of the draft law on the merger of Local Administrative Organizations) โดย พิชิต กันยาวรรณ, สนุก สิงห์มาตร และ พิกุล มีมานะ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในวารสารมณีเชษฐาราม วัดจอมมณี (Journal of Mani Chettha Ram Wat Chommani) ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2562), https://so07.tci-thaijo.org/index.php/JMCR/article/download/157/131/762 & สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่งมอบผลงานให้กับนายกรัฐมนตรี, สำนักงาน ก.พ., 31 กรกฎาคม 2560, https://www.ocsc.go.th/node/3696 & ปฏิรูป-ควบรวม "อปท."ขนาดเล็ก เรื่องร้อนๆ ของ "ท้องถิ่น" ปี 2560, สัมภาษณ์ ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ, พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง และธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ โดยสุรยุทธ ยงชัยยุทธ, มติชน, https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/news/0101_1.pdf & สรุปข้อเสนอแนวคิดการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 31 ธันวาคม 2558, ใน อบรมกับ 9NPU9, 3 มกราคม 2559,  https://www.facebook.com/9npu9/posts/806964806081870/ 

[28]การควบรวม (ยุบ) อบต. ตามร่างประมวลกฎหมาย อปท.เป็นเหตุให้ อบต.อันเป็น อปท.ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดต้องยุติบทบาทลง อาจเกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักการกระจายอำนาจ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยลง การบริหารงานของ อปท.ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำได้ยากขึ้น เป็นต้น และปัญหาทางปฏิบัติ เช่น การแข่งขันระหว่างผู้บริหาร อปท.รุนแรงขึ้น ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เรื่องค่าตำแหน่งงาน เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นได้ทุกๆ อปท.ที่มีการควบรวมกัน ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบรวม อปท.ที่มีขนาดเล็กดังกล่าวเพียงเพื่อให้เห็นว่ามีการปฏิรูป

ดู ปัญหากรณีการควบรวม (ยุบ) อบต. ตามร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Problems of Merging Tambon Administrative Organizations According to the Local Government Code), โดย ผศ.ขวัญกมล ทิพย์มโนสิงห์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ในวารสารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2560, http://utcc2.utcc.ac.th/lawjournal/91/104_121.pdf 

[29]การพัฒนาการบริหาร หรือ การบริหารการพัฒนา (Administrative Development or Development of Administration) หมายถึงความสามารถในการลงมือปฏิบัติ ตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาจริงๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตามที่ได้วางแผนไว้ ล่วงหน้า ซึ่งเน้นความเจริญเติบโตทางการบริหาร องค์ประกอบของการบริหารการพัฒนา

[30]เปรียบเหมือนระบบการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ที่ออกแบบมาสำหรับทุกคน ไม่ได้สนใจความต้องการของใครเป็นพิเศษ

ดู One-Size-Fits-All : เมื่อเสื้อโหล ไม่ได้สวยสำหรับทุกคน ฟินแลนด์ กับความไว้วางใจครู สู่คุณภาพการศึกษาที่ก้าวไกล, อ้างจากเฟซบุ๊ก TEP - Thailand Education Partnership ภาคีเพื่อการศึกษาไทย, 30 มิถุนายน 2562, https://www.facebook.com/TEPThaiEDU/posts/826544771080034/

[31]รายงานหน้า2 : วิพากษ์รบ.เพิ่มเงิน‘อบต.’ ตกเขียวหาเสียงเลือกตั้ง, มติชน, 4 มีนาคม 2566, 09:00 น., https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_3854853 & “บิ๊กตู่”บุกเมืองหลวงเสื้อแดงพบอบต.ทั่วประเทศยันเพิ่มค่าตอบแทนให้, เนชั่นออนไลน์, 2 มีนาคม 2566, https://www.nationtv.tv/news/region/378906039 

[32]“นายกสมาคมกำนัน-ผญบ.ฯ” จี้ “รัฐบาล” เพิ่มค่าตอบแทน “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน”, เนชั่นทีวี, 3 มีนาคม 2566, https://www.nationtv.tv/politic/378906164 & "พปชร." ค้าน "รทสช." ขึ้นค่าตอบแทน นายกอบต. ชี้ ควรเพิ่มให้ กำนัน-ผญบ. มากกว่า, กรุงเทพธุรกิจ, 9 กุมภาพันธ์ 2566, 13:11 น., https://www.bangkokbiznews.com/politics/1052269 

[33]มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย มาตรการของกระทรวงมหาดไทย (กรมพัฒนาชุมชน) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยเน้นการใช้สีจากธรรมชาติตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น การแต่งกายด้วยผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อเป็นอนุรักษ์ผ้าไทยและสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป 

ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนนำเสนอ

[34]เริ่มมาจากการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (เดือนตุลาคม 2565) ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS)ให้แก่ผู้บริหารฯ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 สรุป โดยให้ทุกหน่วยงานและทุกจังหวัดมีการจัดกิจกรรมประกวดร้องเพลงรำวงมหาดไทย แบ่งเป็นทีมทีมละ 14 คน เพื่อหาผู้ชนะเลิศของแต่ละหน่วยงานและจังหวัด

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.4/ว 610 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง นโยบายของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการส่งเสริม "รำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย" ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสถานศึกษาระดับปฐมวัยสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2023/2/28859_1_1676004249076.pdf?time=1676005238606

[35]โขนภาพยนตร์ "หนุมาน" white monkey movie มท.ส่งหนังสือถึงโรงเรียนในท้องถิ่นให้ใช้งบการเรียนการสอนพาเด็กดูภาพยนตร์ หนุมาน ศิลปะประจำชาติ 
ดู ทำไมมหาดไทยไปอุดหนุนการฉายหนัง แล้วทำไมอุดหนุนอยู่เรื่องเดียว, ไทยรัฐพลัส, 19 ธันวาคม 2565, https://plus.thairath.co.th/topic/spark/102556 

[36]ยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลตำบลทั่วประเทศ ผลกระทบและข้อพึงระวัง, สถาบันพระปกเกล้า, 20 กันยายน 2555, https://kpi.ac.th/knowledge/seminar/data/797?page=7 

& การจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/templateOrganize/menu/2014/10/1413194928266.pdf 

& ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... (ฉบับที่เผยแพร่แสดงความคิดเห็น ฉบับคงรูปแบบ อบต.โดยกองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น (กง.กม.1) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 และวันที่ 25 ตุลาคม 2561), http://www.dla.go.th/pub/256005_1.pdf & http://www.dla.go.th/pub/256005_2.pdf 

& แบบสอบถามความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (แบบสอบถามนี้ ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566 ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการของ สถ.), http://www.dla.go.th/pub/survey256005.jsp 

[37]การจัดทำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการทั้งสามคณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) (2) คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (3) คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปในหลายด้าน ทั้งข้อเสนอให้มีการยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อเสนอให้ควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบล และข้อเสนอให้มีการยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลให้กลายเป็นเทศบาลตำบล ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ล้วนแล้วแต่สร้างความวิตกกังวลต่อนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นอย่างมาก เนื่องด้วยมองว่าข้อเสนอต่างๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างการปกครองและตำแหน่งทางการเมืองและการบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก ดังนั้น จึงมีความเคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้รัฐเห็นว่าผู้มีที่ส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่นจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

โดยเฉพาะ สนช. ได้จัดทำ “รายงานผลการพิจารณาศึกษาระบบการบริหารงาน ระบบบริหารงบประมาณ ระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และระบบการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2558

มท.ได้ชี้แจงเป็นหนังสือ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 กรณีข่าวสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น เรื่อง "โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมาย อปท. พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมาย อปท." เพื่อให้มีการยกฐานะ อบต.ทั้งหมดเป็นเทศบาล และควบรวม อปท.ขนาดเล็กให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี

ดู บทที่ 3 ข้อเสนอการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นด้วยการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2563, อ้างแล้ว

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0890.2/ว 4815 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 เรื่อง ขอให้ชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER0/DRAWER076/GENERAL/DATA0000/00000742.PDF



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท