ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๗  อุปสีวปัญหา


ปัญหาเรื่อง โปรดตรัสบอกอารมณ์ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้

ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๗   

อุปสีวปัญหา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

 ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

(๖) อุปสีวปัญหา

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๖. อุปสีวมาณวกปัญหา

ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ

 

             [๑๐๗๖] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ) จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ (ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้

             [๑๐๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ) เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ‘ไม่มีอะไร’ ดังนี้แล้วก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย พิจารณาดูความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน

             [๑๐๗๘] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้) บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่น (ละสมาบัติอื่น ในที่นี้หมายถึงละสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๒)) อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง (สัญญาวิโมกข์ หมายถึงสัญญาสมาบัติ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ประการ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ)) บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ

             [๑๐๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ) บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้

             [๑๐๘๐] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานนับปีไม่ได้ไซร้ บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั่นนั้นแลหรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก

             [๑๐๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ) เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น

             [๑๐๘๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามดังนี้) มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้ พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว

             [๑๐๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ) มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น (เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม (ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น) ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว

อุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖ จบ

------------------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของ อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ

 

             [๓๘] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้) 

                          ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว

                          ไม่ได้อาศัย (ใครๆ หรือสิ่งใดๆ)

                          จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้

                          ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์

                          ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้

(๑) ผู้เดียว ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว ... ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้ อธิบายว่า ข้าพระองค์อาศัยบุคคลหรือธรรมใดข้าม ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสใหญ่ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ข้าพระองค์ไม่มีบุคคล หรือธรรมนั้นเป็นเพื่อน

 

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าสักกะ

             ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้สักกะเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ

             อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก มีทรัพย์ จึงชื่อว่าผู้สักกะ พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือสติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะหลายอย่างเหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ

             อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มีความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว ... ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้

             ไม่ได้อาศัย ในคำว่า ไม่ได้อาศัย (ใครๆ หรือสิ่งใดๆ) จึงไม่สามารถข้าม ได้แก่ ไม่ได้อาศัยบุคคล หรือธรรมเลย

             จึงไม่สามารถ ได้แก่ ไม่กล้า ไม่อาจ เป็นผู้ไม่สามารถ

             ข้าม ได้แก่ ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสใหญ่คือกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ รวมความว่า ไม่ได้อาศัย (ใครๆ หรือสิ่งใดๆ) จึงไม่สามารถข้าม

             ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์ อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ อารมณ์เครื่องยึดเหนี่ยว ที่อาศัย ที่เข้าไปอาศัย

             ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนิน ไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น

             (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)

              สิ่งไรๆ ในไตรโลกธาตุนี้ พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น ไม่มีเลย อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ ที่ควรรู้ พระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ก็ไม่มี ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่ พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่า ผู้มีสมันตจักขุ

             รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์

             ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว ในคำว่า ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้วพึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ ได้แก่ บุคคล หรือธรรม ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว

             พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ อธิบายว่า พึงข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสใหญ่คือกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ รวมความว่า ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้วพึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)

                          ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว

                          ไม่ได้อาศัย (ใครๆ หรือสิ่งใดๆ)

                          จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้

                          ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์

                          ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้

 

            [๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ

                          ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว

                          ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย

                          เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย

                          พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน

(๒) เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า พราหมณ์นั้นได้อากิญจัญญายตนสมาบัติอยู่โดยปกติ ไม่รู้ที่อาศัยว่า “สมาบัตินี้เป็นที่อาศัยของเรา” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบอกที่อาศัยและทางออกที่สูงขึ้นไปแก่พราหมณ์นั้น พระองค์ตรัสบอกว่า เธอจงมีสติเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นแล้ว เพ่งพิจารณา คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของลำบาก ฯลฯ เป็นอาพาธ ฯลฯ เป็นอย่างอื่น (บังคับไม่ได้) ฯลฯ เป็นของทรุดโทรม ฯลฯ เป็นเสนียด ฯลฯ เป็นอุปัททวะ ฯลฯ เป็นภัย ฯลฯ เป็นอุปสรรค ฯลฯ เป็นของหวั่นไหว ฯลฯ เป็นของผุพัง ฯลฯ เป็นของไม่ยั่งยืน ฯลฯ เป็นของไม่มีที่ต้านทาน ฯลฯ เป็นของไม่มีที่หลีกเร้น ฯลฯ เป็นของไม่มีที่พึ่ง ฯลฯ เป็นของไม่มีที่อาศัย ฯลฯ เป็นของว่าง ฯลฯ เป็นของเปล่า ฯลฯ เป็นของสูญ ฯลฯ เป็นอนัตตา ฯลฯ เป็นของมีโทษ ฯลฯ เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา ฯลฯ เป็นของไม่มีแก่นสาร ฯลฯ เป็นเหตุแห่งความลำบาก ฯลฯ เป็นความเจริญ ฯลฯ เป็นของปราศจากความเจริญ ฯลฯ เป็นของมีอาสวะ ฯลฯ เป็นดุจเพชฌฆาต ฯลฯ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ฯลฯ เป็นเหยื่อแห่งมาร ฯลฯ มีชาติเป็นธรรมดา ฯลฯ มีชราเป็นธรรมดา ฯลฯ มีพยาธิเป็นธรรมดา ฯลฯ มีมรณะเป็นธรรมดา ฯลฯ มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ฯลฯ เป็นเหตุเกิดทุกข์ ฯลฯ ตั้งอยู่ไม่ได้ ฯลฯ หาความแช่มชื่นไม่ได้ ฯลฯ เป็นโทษ ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป

             มีสติ อธิบายว่า สติ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะ ฯลฯ สัมมาสติ นี้ตรัสเรียกว่า มีสติ พราหมณ์นั้นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยสตินี้ พราหมณ์นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่ามีสติ รวมความว่า เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ

             ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ อธิบายว่า อากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะอรรถว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี” อากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะอรรถว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี” เพราะเหตุไร พราหมณ์นั้น มีสติ เข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ไม่ให้วิญญาณนั้นมี ไม่ให้มีโดยประการต่างๆ ให้อันตรธานไป ย่อมเห็นว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี” เพราะเหตุนั้น เธออาศัย คือ เข้าไปอาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติที่มีความหมายว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี” ทำให้เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง จงข้าม คือ จงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสคือกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะให้ได้ รวมความว่า ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้

             เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย อธิบายว่า

             กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

            ละกามทั้งหลาย อธิบายว่า กำหนดรู้วัตถุกาม ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม รวมความว่า ละกามทั้งหลาย

             เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย อธิบายว่า วิจิกิจฉาตรัสเรียกว่าความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ฯลฯ ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความติดขัดในใจเห็นปานนี้ บุคคลงด งดเว้น คือเว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระจากความสงสัยอยู่ รวมความว่า เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง บุคคลงด งดเว้น คือเว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องมีใจเป็นอิสระจากเดรัจฉานกถา ๓๒ ประการอยู่ (เดรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อถกเถียงสนทนากัน โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากันหลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม) รวมความว่า เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย อย่างนี้บ้าง รวมความว่า เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย

             พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน อธิบายว่า

             ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

             ทั้งคืน ได้แก่ ตลอดคืน

             ทั้งวัน ได้แก่ ตลอดวัน อธิบายว่า เธอจงเห็น เพ่งพิจารณา คือแลเห็น มองเห็น เพ่งพินิจ พิจารณาซึ่งความสิ้นตัณหา คือ ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ สิ้นคติ สิ้นการถือกำเนิด สิ้นปฏิสนธิ สิ้นภพ สิ้นสงสาร สิ้นวัฏฏะ ตลอดกลางคืนและกลางวันเถิด รวมความว่า พิจารณาความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ

                          ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว

                          ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย

                          เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย

                          พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน

 

             [๔๐] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)

                          บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง

                          ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ

                          น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง

                          บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก

                          ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ

(๓) ทั้งปวง ในคำว่า บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง ได้แก่ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง

             ทั้งปวงนี้เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด

             กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

             บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้คลายราคะแล้ว คือปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะในกามทั้งหลายแล้ว โดยการข่มไว้ รวมความว่าบุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง

             ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า ละ คือ สละ เสียสละ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ ได้แก่ อาศัย ติด ติดแน่น แนบแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อ อากิญจัญญายตนสมาบัติ รวมความว่า ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ

             น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง อธิบายว่า สัญญาสมาบัติ ๗ ตรัสเรียกว่า สัญญาวิโมกข์ (สัญญาวิโมกข์ คือ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ได้แก่รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ))

 

ว่าด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นวิโมกข์อันเลิศ

             บรรดาสัญญาสมาบัติเหล่านั้น อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นวิโมกข์อันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด และยอดเยี่ยม ผู้น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง เลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม ด้วยอธิมุตติวิโมกข์ ได้แก่ น้อมใจเชื่อในสัญญาวิโมกข์นั้น น้อมใจไปสู่สัญญาวิโมกข์นั้น เที่ยวไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น มากไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น หนักไปในสัญญาวิโมกข์นั้น เอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โน้มไปในสัญญาวิโมกข์นั้น มีสัญญาวิโมกข์นั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง

             ดำรงอยู่... ได้หรือ ในคำว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่าอย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ รวมความว่าดำรงอยู่... ได้หรือ

             ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ

             ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว คือ ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี ไม่อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เศร้าหมอง รวมความว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)

                          บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง

                          ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ

                          น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง

                          บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก

                          ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ

 

             [๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง

                          ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ

                          น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง

                          บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก

                          ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้

(๔) ทั้งปวง ในคำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งปวง ทุกอย่างโดยทุกประการ ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า ทั้งปวงนี้เป็นคำกล่าวรวมๆ ไว้ทั้งหมด

             ในกาม อธิบายว่า

             กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

             บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้คายราคะแล้ว คือปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้วในกามทั้งปวง โดยการข่มไว้ รวมความว่า บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง

             ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า ละ คือสละ เสียสละ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ ได้แก่ อาศัย ติด ติดแน่น แนบแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่ออากิญจัญญายตนสมาบัติ รวมความว่า ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ

             น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง อธิบายว่า สัญญาสมาบัติ ๗ ตรัสเรียกว่า สัญญาวิโมกข์

             บรรดาสัญญาสมาบัติเหล่านั้น อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นวิโมกข์อันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด และยอดเยี่ยม ผู้น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง คือ เลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม ด้วยอธิมุตติวิโมกข์ ได้แก่ น้อมใจเชื่อในสัญญาวิโมกข์นั้น น้อมใจไปสู่สัญญาวิโมกข์นั้น เที่ยวไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น มากไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น หนักไปในสัญญาวิโมกข์นั้น เอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โน้มไปในสัญญาวิโมกข์นั้น มีสัญญาวิโมกข์นั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง

             ดำรงอยู่ ในคำว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ ได้แก่ พึงดำรงอยู่ได้ ๖๐,๐๐๐ กัป

             ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ

             ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว คือ ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี ไม่อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป

             อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เสื่อมไป รวมความว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง

                          ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ

                          น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง

                          บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก

                          ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้

 

             [๔๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)

                          ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ

                          ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้

                          บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว

                          มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ

                          หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก 

(๕) ถ้าบุคคลผู้นั้น... ดำรงอยู่ ในคำว่า ถ้าบุคคนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้ ได้แก่ ถ้าผู้นั้นพึงดำรงอยู่ได้ถึง ๖๐,๐๐๐ กัปไซร้

             ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ

             ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี ไม่อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป

             อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เสื่อมไป รวมความว่าถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้

             นานปีไซร้ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ... นานปีไซร้ อธิบายว่า นานนับปีไม่ได้ คือ หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี หลายร้อยกัป หลายพันกัป หลายแสนกัป

             ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ ฯลฯ พระตถาคต จึงชื่อว่ามีสมันตจักขุ ด้วยจักษุนั้น รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ... นานปีไซร้

             บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก อธิบายว่า บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ถึงความเป็นผู้สงบเย็น คือ เที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดาในพรหมโลกนั้นนั่นเอง ได้แก่ พึงดำรงอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้ในพรหมโลกนั้นนั่นเอง

             อีกนัยหนึ่ง พราหมณ์นั้นทูลถามถึงความแน่แท้ และความขาดสูญของบุคคลผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติว่า วิญญาณของเขาพึงจุติ ขาดสูญ หาย พินาศ ไม่พึงมีหรือ หรือว่าปฏิสนธิวิญญาณในภพใหม่พึงนิพพานในกามธาตุ รูปธาตุ หรืออรูปธาตุ หรือว่าทูลถามถึงการปรินิพพาน และปฏิสนธิของบุคคลผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติว่า เขาพึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นนั่นเอง หรือว่าวิญญาณของเขาพึงจุติ ปฏิสนธิวิญญาณ พึงบังเกิด ในกามธาตุ รูปธาตุหรืออรูปธาตุอีก

             ของบุคคลนั้น ได้แก่ ของบุคคลนั้น คือ ของบุคคลผู้เช่นนั้น ดำรงอยู่ ดังนั้น มีประการดังนั้น เปรียบเทียบได้ดังนั้น ได้แก่ ผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติอยู่แล้ว รวมความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

                          ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ

                          ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้

                          บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว

                          มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ

                          หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก

 

             [๔๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป

                          ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด

                          มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป

                          กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น 

(๖) เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป ... ฉันใด อธิบายว่า เปลวแห่งไฟตรัสเรียกว่า เปลวไฟ

 

ว่าด้วยลม

             ลม ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่น ลมไม่มีฝุ่น ลมหนาว ลมร้อน ลมพัดเบา ลมพัดแรง ลมบ้าหมู ลมจากปีกนก ลมจากปีกครุฑ ลมจากใบตาล ลมจากพัด

             ถูกกำลังลมพัดไป อธิบายว่า ถูกกำลังลมพัดไป คือ พัดขึ้นไป พาไป พาไปทั่ว กระโชก กระโชกอย่างแรง รวมความว่า เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป ฉันใด

             ย่อมดับ ในคำว่า ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า ย่อมดับ คือย่อมถึงความไม่มี ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ได้แก่ ดับ สงบ ระงับไป

             กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า กำหนดไม่ได้ คือ ยกมาอ้างไม่ได้ นับไม่ได้ บัญญัติไม่ได้ว่า “เปลวไฟนั้นไปทิศชื่อโน้นแล้ว คือ ไปทิศตะวันออกแล้ว ไปทิศตะวันตกแล้ว ไปทิศเหนือแล้ว ไปทิศใต้แล้ว ไปข้างบนแล้ว ไปข้างล่างแล้ว ไปทิศขวางแล้ว ไปทิศเฉียงแล้ว” คือ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีสาเหตุที่จะเป็นเครื่องกำหนดได้ รวมความว่า ย่อมดับ กำหนดไม่ได้

             ฉันนั้น ในคำว่า มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ... ฉันนั้น เป็นคำทำการเปรียบเทียบให้สมบูรณ์

             มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ มุนีก้าวล่วงกิเลส เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี

             พ้นแล้วจากนามกาย อธิบายว่า มุนีนั้นพ้นแล้วจากรูปกายมาก่อนแล้วโดยปกติ คือ ก้าวล่วงรูปกายนั้นแล้วละเสียได้ด้วยวิกขัมภนปหาน (วิกขัมภนปหาน หมายถึงการดับกิเลสด้วยการข่มไว้ของท่านผู้บำเพ็ญปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น เป็นข้อแรกของปหาน ๕) มุนีนั้นมาถึงที่สุดภพ ได้อริยมรรค ๔ ประการแล้ว เพราะเป็นผู้ได้อริยมรรค ๔ ประการแล้ว ท่านจึงกำหนดรู้นามกาย และรูปกายได้ เพราะเป็นผู้กำหนดรู้นามกายและรูปกายได้แล้ว จึงพ้น คือ หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากนามกาย และรูปกาย ด้วยความหลุดพ้นโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างสิ้นเชิง รวมความว่า มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ... ฉันนั้น

             ย่อมดับไป ในคำว่า ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ได้แก่ ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

             กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า มุนีนั้นปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ กำหนดไม่ได้ คือ ยกมาอ้างไม่ได้ นับไม่ได้ บัญญัติไม่ได้ว่า “เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา เป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีสาเหตุที่จะเป็นเครื่องกำหนด รวมความว่า ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป

                          ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด

                          มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป

                          กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น

 

            [๔๔] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)

                          มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี

                          หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้

                          พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น

                          แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด

                          เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว

(๗) มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี อธิบายว่า มุนีนั้นถึงความสลายไปแล้ว หรือว่าไม่มี คือ มุนีนั้นดับไปแล้ว สูญไปแล้ว หายไปแล้ว รวมความว่า มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี

             หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้ อธิบายว่า หรือว่า เที่ยง คือ มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา ได้แก่ พึงดำรงอยู่อย่างนั้น เสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้ ในพรหมโลกนั้น รวมความว่า หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้

             ปัญหานั้น ในคำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ได้แก่ ปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถาม ปัญหาที่ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ

             มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ มุนีก้าวล่วงกิเลส เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี

             โปรดพยากรณ์(ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ โปรดแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด รวมความว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด

             เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว คือ ทรงรู้แล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วรวมความว่า เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

                          มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี

                          หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้

                          พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น

                          แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด

                          เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว

 

             [๔๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)

                          มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ

                          ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด

                          กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น

                          (เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว

                          แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง

                          ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน)

(๘) มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ อธิบายว่า มุนีผู้ถึงความสลายไป คือ ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ย่อมไม่มีประมาณ แห่งรูป ไม่มีประมาณแห่งเวทนา ไม่มีประมาณแห่งสัญญา ไม่มีประมาณแห่งสังขาร ไม่มีประมาณแห่งวิญญาณ คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ท่านละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ

            ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น อธิบายว่า ชนทั้งหลายที่ว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัยใดว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส” กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นท่านละได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งได้แล้ว ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวท่านโดยคติด้วยเหตุใดว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือ เป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงด้วยกิเลสใด เหตุนั้นไม่มี ปัจจัยไม่มี สาเหตุไม่มี รวมความว่า ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น

             (เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว อธิบายว่า เมื่อธรรมทั้งปวง คือ ขันธ์ทั้งปวง อายตนะทั้งปวง ธาตุทั้งปวง คติทั้งปวง อุปบัติ (การถือกำเนิด) ทั้งปวง ปฏิสนธิทั้งปวง ภพทั้งปวง สงสารทั้งปวง วัฏฏะทั้งปวง มุนีนั้นถอนแล้ว ถอนได้เด็ดขาดแล้ว ดึงขึ้น ดึงขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว เพิกขึ้น เพิกขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว ได้แก่ มุนีนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า (เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว

             แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขารตรัสเรียกว่า ครรลองแห่งวาทะ (วาทะ ครรลองแห่งวาทะ ชื่อ ครรลองแห่งชื่อ ภาษา ครรลองแห่งภาษา บัญญัติและครรลองแห่งบัญญัติ) มุนีนั้นถอนแล้ว ถอนได้เด็ดขาดแล้ว คือ ดึงขึ้น ดึงขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว เพิกขึ้น เพิกขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว ได้แก่ มุนีนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง ท่านก็ถอนได้ได้เด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

                          มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ

                          ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด

                          กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น

                          (เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว

                          แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง

                          ท่านก็ถอนได้ได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน)

             พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ อุปสีวมาณพนั่งประคองอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”

อุปสีวมาณวปัญหานิทเทสที่ ๖ จบ

-------------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 711912เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2023 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2023 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท