ชีวิตที่พอเพียง 4416. เรียนรู้จากการไปน่านนคร ๒๒ - ๒๔ มกราคม ๒๕๖๖


 

๒๒ มกราคม ๒๕๖๖

ลงเครื่องบินสายวันที่ ๒๒ ไปจิบกาแฟ และกินอาหารสาย (brunch) ที่ร้านกาแฟ Erabica น่าน    ที่อาคารสวยงามมาก มีการปรุงกาแฟหลากหลายรส   โดยการทดลองนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นเมืองช่วยผสมกลิ่นและรส    ผมได้ทดลองกาแฟมะไฟจีน   เป็นกาแฟผสมผลไม้ (fruity coffee) ที่เขาบอกว่าเป็น signature ของที่นี่    เป็นความสร้างสรรค์หาผลิตภัณฑ์แปลกใหม่   แต่ผมชอบกาแฟแท้ไม่ผสมมากกว่า    ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ บาริสต้าสาว ที่เรียนจบปริญญาตรี กราฟิกดีไซน์ จาก มรภ. อุตรดิตถ์        

ชมวัดภูมินทร์    เจ้าสัวปั้น (เจ้าเมืองน่านเมื่อ ๖๐๐ ปีก่อน และปัจจุบัน) นำชมเอง   

 อาหารเที่ยงที่ภัตตาคารน่านนิมิต ชมบ้านพื้นถิ่นล้านนา    กินอาหารขันโตก ชมฟ้อนน่าน ที่มีท่าพิเศษคือหงายหลังจนศีรษะจรดพื้น   

วิสาหกิจชุมชนชีววิถี บ้านน้ำเกี๋ยน    ชมกิจการพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้านด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ห้าง    ทำเป็นธุรกิจชุมชน หรือธุรกิจเพื่อสังคม    ที่มีที่มายาวนานจากปราชญ์ชาวบ้าน    สู่ธุรกิจชุมชนเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว     และเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง    ได้รับรางวัลมากมาย   ดึงคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษากลับมาอยู่บ้านได้หลายคน    สร้างรายได้แก่ท้องถิ่น    และสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดน่าน   

เข้าพักที่โรงแรมน่านตรึงใจ         

ค่ำ รับเลี้ยงอาหารจากเจ้าภาพ ธนาคารกสิกรไทย โดยคุณพิพิธ เอนกนิธิ  กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เป็นเจ้าภาพ    ที่ บ้านหลวงธนานุสร (ช่วง โลหะโชติ) ที่อยู่คนละฟากถนนกับวัดภูมินทร์    ได้ชมการฟ้อนโดยทายาทของท่าน คือคุณผกาวรรณ โลหะโชติ    ได้รู้จักบ้านโบราณ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน    ได้ลิ้มรสอาหารฝรั่งที่ใช้สมุนไพรไทยท้องถิ่นปรุงรสและกลิ่น   เป็นการปรุงเพื่องานนี้โดยเฉพาะ   อร่อยมาก     

๒๓ มกราคม ๒๕๖๖

เยี่ยมชมกิจการที่อำเภอบ่อเกลือ  และรับเลี้ยงอาหารค่ำที่คุ้มพระญาผาสุริยา (ปั้น) (ชื่อคุ้มผมตั้งเอง ตามจินตนิยาย สิเนหามนตาแห่งลานนา)   โดยมีภาพ “มะไฟ” อยู่ข้างกายท่านเจ้าสัว     

นั่งรถตู้ไปที่ รพ. บ่อเกลือ    ถ่ายลงรถขับเคลื่อนสี่ล้อ (๒๐ คัน  จ้างมาจากเชียงราย) เพื่อขึ้นเขาทางลูกรัง คดเคี้ยว แคบ และชัน) ไปยังบ้านน้ำจูน หมู่บ้านชนเผ่าลัวะ    ฟังการบรรยายสรุปเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า  และโครงการปลูกป่าน่านแซนด์บ็อกซ์  โดยอดีตพระญาผาสุริยา   

ที่บ้านน้ำจูน เมื่อลงรถเราได้รับแจกไม้เท้าช่วยการเดินขึ้นเขาคนละอัน    เป็นไม้ไผ่รวกขนาดพอมือ สั้นยาวตามความสูงของแต่ละคน  มีเทปพันที่มือจับอย่างดี    หากไม่มีไม้เท้านี้ช่วย คนแก่อายุเกิน ๘๐ อย่างผมไม่มีทางเดินขึ้นได้    เราไปพบท่านอดีตเจ้าเมืองพระญาผาสุริยายืนรออยู่ตรงจุดชมวิวและฟังการบรรยายสรุป    ที่ได้บรรยากาศทิวทัศน์ของการทำลายป่า    โดยมีโดรนสองตัวถ่ายภาพคณะไปเยือนทั้งภาพตามธรรมชาติ และภาพยืนให้ถ่ายเป็นแถวเรียงหนึ่ง    

สุขศาลารวมใจบ้านน้ำจูน    ใหม่เอี่ยม สร้างแทนอาคารไม่เก่าที่ถูกไฟไหม้   สำหรับปฐมพยาบาลความเจ็บป่วยแบบบริการใกล้บ้าน ใกล้ใจ    มีสาว อสม. ชาวลัวะ ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ ทำหน้าที่เยี่ยมบ้านด้วยรถมอเตอร์ไซคล์ ที่ได้รับแจก     

กลับมาฟังการบรรยายสรุปเรื่องปัญหาสุขภาพของชาวเขา ที่ รพ. บ่อเกลือ ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากเหมือนชาวเรา     ความยากลำบากเวลาเจ็บป่วยกระทันหัน คือเดินทางมา รพ. ใช้เวลานาน และไม่มีรถ   แล้วกินอาหารเที่ยงที่ บ่อเกลือวิว รีสอร์ท ที่อยู่ใกล้ๆ     และไปชมบ่อเกลือโบราณ ที่ตัวอำเภอบ่อเกลือ   

อาหารค่ำสุดแกรนด์ ที่ “คุ้มพระญาผาสุริยา” โดยมีภาพ “มะไฟ” อยู่ข้างกายท่านพระญา    ผมได้รับเกียรตินั่งโต๊ะพิเศษที่มีท่านพระญานั่งกินและคุยด้วย มีสองสาวจากอียิปต์กับโบลิเวีย และผู้ใหญ่ในคณะกรรมการจัดประชุมนานาชาติร่วมด้วย     ทั้งอาหารและไวน์สุดอร่อย    และการสนทนาก็สุดประเทืองปัญญา   

ก่อนถึงเวลาอาหารค่ำ  เราได้รับฟังการบรรยายสรุปจากท่านเจ้าสัว    เรื่องแผนของโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์    ที่นอกจากเพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม โดยคืนป่าให้แก่เมืองน่าน ๑.๒ ล้านไร่แล้ว    ยังจะช่วยให้เกษตรกรชาวน่านมีชีวิตที่ดี ผ่านการปลูกหญ้ายาในป่าปลูก ๑.๒ ล้านไร่   สู่การผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปขั้นสูง    นำโดยการวิจัยและนวัตกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่โดยทีมงานจาก ๕ มหาวิทยาลัย

๒๔ มกราคม ๒๕๖๖  มทร. น่าน  และประชุม IOC 

หลังอาหารเช้าที่โรงแรมน่านตรึงใจ    เรานั่งรถไป มทร. ล้านนา วิทยาเขตน่าน    ไปที่สวนวนเกษตร-พฤกษเภสัช     ฟังการบรรยายสรุป น่านแซนด์บ็อกซ์  ที่มีเป้าหมายใช้พื้นที่ป่าสร้างรายได้ ๑๐๐ เท่าของการปลูกข้าวโพด    ชมนิทรรศการและฟังการบรรยายสรุปของ KAI เรื่องการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง และมูลค่าสูง    ชมแปลงทดลองปลูกหญ้ายา ในสวนยาง     และชมห้องปฏิบัติการวิจัย       

บ่ายประชุม IOC    แล้วเดินทางกลับ        

สมุนไพรพื้นบ้าน

ใบหมี่ (Litsea glutinosa) แก้ผมร่วง   ใช้ทำแชมพูสระผม ผสมกับดอกอัญชัญ   

ผักเชียงดา (mnema inodorum)  มีฤทธิ์ลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสในลำไส้    นำมาทำผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มผงเชียงดา  ผงผักเชียงดาชนิดแคปซูล   ของบริษัท ชีววิถีเฮิร์บ   และนำมาสะกัดเป็นยาของโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์

สารสกัดรังไหม   ช่วยลดความเหี่ยวย่นของผิวหนัง

สารสกัดขมิ้นชัน   มีฤทธิ์ต้านแบกทีเรีย  ต้านเชื้อรา  ต้านอนุมูลอิสระ   

ปัญจขันธ์ (Gynostemma penophyllum)    ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด   

พญายอ (Clinacanthus nutans)   ใช้ยับยั้งเชื่อแบกทีเรีย   

ไพล (Zingiber montanum)   มีฤทธิ์ต้านอักเสบ   

อัญชัน(Clitoria ternatea)   เพิ่มสุขภาพผิวหนังและผม 

กระชายดำ (Kaempferia parviflora)    เพิ่มสมรรถนะร่างกาย

 

คนต่างชาติสงสัยกันมากว่า คุณบัญฑูรมีแรงบันดาลใจอะไรจึงลงแรงลงใจลงทุนมากขนาดนี้เพื่อจังหวัดน่าน    ผมตอบว่า เพราะท่านเป็นพระญาผาสุริยา กลับชาติมาเกิด 

วิจารณ์ พานิช

๕ มี.ค. ๖๖

  

 

หมายเลขบันทึก: 711909เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2023 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2023 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท