ออม..สู่... ปัญญา


ต้องได้ให้เวลา ต้องรอ รอ และรอ ให้การฟักตัวของความคิด ค่อยลำดับ ปล่อยให้ความจำของพวกเขาทำหน้าที่ของมัน ค่อย ๆ แกะรอย เขาก็สามารถทำได้

การออมทรัพย์ของกลุ่มบ้านนาดี มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ระหกระเหินเอาการ เริ่มจากการรวมกันออมได้ไม่กี่เดือน จู่ ๆ ก็มีงบมาจาก กศน. ที่มีผู้หวังดีประสานงานให้ ที่เห็นว่าน่าจะหาเงินให้กลุ่มได้ขยายงาน และเอาการพยายามออมทรัพย์ของกลุ่มไปแสดงให้ กศน. เห็นว่ากลุ่มนี้มีการรวมตัวกันและมีกองทุนของตนเอง ทำแบบคนร่ำรวยทำกันที่เรียกว่า เอาเงินไปต่อเงิน

 โดยบอกว่าเอางบมาให้เพื่อให้กลุ่มเอาเงินไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ ซึ่งผู้ที่สนใจเรื่องนี้ก็อาสาแข็งขันว่าจะเอาเงินที่ได้นี้ลงทุนทำ โต๊ะ เก้าอี้ไม้ไผ่ โดยจะถือว่าเงินนี้จะไม่หาย แต่เอา (ยืม)ไปใช้แล้วต้องเอามาคืน และให้ดอกเบี้ย ให้กับกลุ่ม  แต่เมื่อครบกำหนดแล้วก็ไม่มีการคืนเงิน คืนดอกอะไรต่าง ๆ  ตามที่เคยพูดไว้ ก็มีการทะเลาะทุ่มเถียงกัน ฝ่ายเอาเงินไปก็บอกว่าเงินไปลงทุนอยู่ในเครื่องมือต่าง ๆ แล้ว มันยังไม่ได้เงินคืน ถ้าขายได้เงินแล้วจะเอามาคืน อีกฝ่ายหนึ่ง บางคนก็ถอนเงินออกไป ไม่ออมต่อ  บางคนก็ยังทำต่อ และยังหวังว่าจะได้เงินคืน การออมก็หยุดชะงักไป ฝากกันปีละ สามสี่เดือน เป็นเวลาสองปี จึงได้พยายามตั้งขึ้นมาอีกเมื่อปลายปี ๔๙ ได้พูดคุยกันว่า ที่ตามเงินก็ตามไป ส่วนการออมของพวกเราก็พยายามทำต่อไป  ก็มีบางคนก็ได้เอ่ยปาก  เสียดายนะ ถ้าพวกเราพยายามออมกันมาต่อเนื่องก็คงได้เงินมากกว่านี้  การดูแลเงินเดิม พ่อพนิจ เป็นผู้ดำเนินการ พอกลับมาดูการบันทึกอีก ก็พบว่าการบันทึกคลาดเคลื่อนไปบ้าง จึงได้ปรับแก้ไขให้ชัดเจน และถือโอกาสปีใหม่เริ่มต้นพัฒนางานต่อ และดึงเอาผู้หญิง แม่เมิง แม่น้อย แม่แห้ง และน้องเขียว เข้ามาร่วมในการตรวจการออมแต่ละครั้ง ช่วยกันนับเงิน สรุปยอดเงิน แลให้คณะแม่ญิงเหล่านี้มาช่วยตรวจยอดเงินทั้งหมด ซึ่งในเบื้องต้นก็มีการปฏิเสธก่อนว่า โอย  ทำไม่ได้หรอก ไม่รู้เรื่อง   ก็ต้องแก้ด้วยการไม่ต้องบอกให้รับหน้าที่ แต่ให้ลองมาทำ แล้วสอนกันในขณะนั้นเลย  ลองทำดูซิ จะช่วยดู  เมื่อได้รับคำขอแกมบังคับและมีผู้ช่วยประคับประคอง ก็ขมันขมีหาปากกา กระดาษมาทำการ ขณะที่เพื่อน บางส่วนหั่นตะไคร้ หั่นข่า เตรียมตำเมี่ยง บ้างก็ตำแจ่วปลา บ้างขูดมะพร้าว บ้างตัดข้าวต้มมัด...และพ่อบ้านของแม่อ่อนที่ยังเมายืดเยื้อจากปีใหม่ พูดซ้ำไปซ้ำมา  หากับข้าวมาให้อาจารย์  มีอะไรเอามาฝากอาจารย์ .....  แล้วก็เงียบไปพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มเทปม้วนเก่าอีก 

มาช่วยกันนะ ข้อยบวกเลขไม่เก่ง   แม่เมิงเรียกเพื่อนมาช่วย  แล้วก็ตั้งตัวเลข ลอกตัวเลขก็พูดพลาง

เขียนอย่างไร เลขสาม                                        

๓,๔๘๐                                                                       

   ๖๗๐ 

........๐

เจ็ดเอาไว้ในใจ แล้วก็แปด เก้า  สิบ....ไปแบบนั้น ...  พ่อเทียมบอกเพื่อน 

อิทธิพลของการท่องจำเป็นนกแก้ว นกขุนทองมันเริ่มตั้งแต่ตอนที่พ่อเทียมเรียนหนังสือแล้ว มันยังคงตกค้างอยู่ในความทรงจำ มันสามารถบอกได้ พอตอนที่พ่อเทียมเป็นคนตรวจสอบที่เพื่อนรวมเสร็จแล้ว ยังมีตอนที่พ่อเทียมงงงันอีกหลายครั้ง ทั้งที่ปากพูดความจำนั้นได้เป็นฉาก ๆ 

หกกับสี่ เป็น ๑๐  ทด     สามชักลงมาเอ..เป็นเท่าไร  ลืมแล้ว

  ห้าบวกหนึ่งเป็นหก ใช่ไหม.... อยู่ตรงไหนนะ

 ในที่สุดก็สามารถรวมยอดเงินที่ออมทรัพย์ไว้ทั้งหมดได้ พอรวมเสร็จแล้ว มีการหักลบเพื่อดูดอกเบี้ยและเงินส่วนอื่นที่เข้ามา ก็พากันงงอีกว่ายอดไหน เป็นยอดไหน ต้องได้ให้เวลา ต้องรอ รอและรอ ให้การฟักตัวของความคิด ค่อยลำดับ ปล่อยให้ความจำของพวกเขาทำหน้าที่ของมัน  ค่อย ๆ  แกะรอย เขาก็สามารถทำได้  ซึ่งทำให้เราไม่ต้องสงสัยเลยกับการที่ชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา เพราะความคิดที่ไม่ทันเขา ในการบวกลบคูณหารและเรื่องอื่น ๆ  เหลือแต่การรับคำอย่างเดียว (ซึ่งก็คงเหมือนกับพวกเราไปกินข้าวในร้านอาหาร กินกันหลายคน พอตอนคิดเงิน นั่งฟังแม่ค้าคิดบางครั้งก็คิดไม่ทัน ก็ฟังไป แล้วก็จ่ายไป )  การไม่มีทางเลือกเหลืออยู่ จะเลือกได้อย่างไร ข้าวก็ขนไปจากเล้าแล้ว ต้องจ้างรถ ดีไม่ดีจ้างคนขนช่วย และเมื่อบรรทุกไปจนถึงโรงสีที่รับซื้อข้าว ไปเจอกับราคาที่ต่ำกว่าที่ได้รับการบอกเล่า  ก็จำเป็นต้องขายแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวินาที ชีวิตอยู่กับสิ่งนี้มาตลอด จนในที่สุดต้องยอมรับโดยปริยายว่า เป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตของตนเองก็อยู่ในสภาพนี้                                     

หมายเลขบันทึก: 71186เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องเงินส่วนรวม นี่ ปัญหาโลกแตกของชาวบ้าน

ยอมรับว่าวัฒนธรรมการออมต่างกันกับของภาคใต้

ที่มีเงินประจำจากการกรีดยาง ฯลฯ

แต่อีสานไม่มีรายได้แน่นอน ชักหน้าชักหลัง บางทีก็จำต้องชักเงินกองกลาง โดยคิดว่าจะรีบมาคืน แต่มีวิกฤตซ้อนเข้ามา ก็เลยมั่วโดยไม่เจตนา

เรื่องนี้ถ้าไม่พร้อม หันไปออมเป็นพันธุ์พืช เป็ดไก่ จะดีกว่า

ตอนนี้มหาชีวาลัยมีแม่ไข่สาวพันธุ์ไข่ พร้อมไข่ ถ้าแม่ใหญ่อยากจะเลี้ยงกินไข่ เลี้ยงสัก 10 ตัว จะได้ไข่วันละ 7 ฟอง ถ้าต้องการกินไข่วันละ 14 ฟอง เลี้ยง 20 ตัว (ย้ำเป็นไก่พันธุ์ไข่ดก) ที่สร้างพันธุ์ได้เองของคนไทยในรอบ100 ปี

อยากจะแบ่งให้แม่ใหญ่เลี้ยง ถ้าตัดสินใจเลี้ยงไก่ไข่ ให้ทำกรงไก่(แบบเป็นช่องๆละ1ตัว) มีขาสูงหน่อยกะว่าพ้นหมาหรือสุนัข ทำคอกแล้ว ให้มารับไก่วันที่ 14 ม.ค. แล้วแม่ใหญ่จะสุขภาพดี มีแฮงไปไต่กะแทนา..

ข้อดีก็คือ ถ้าเลี้ยงเอง

ก็จะนำไปสู่เขียนการเขีบนเรื่อง ออมแม่ไก่ไว้กินไข่   

ครูบาขา

๑)  ไก่ที่เลี้ยงไม่ต้องปล่อยใช่ไหม

๒) การเลี้ยงไก่ มันจะมี ไฮ ไหมคะ

๓) นิสัยของมันกะต๊าก มากไหม จริง ๆ  แล้วรอบข้างก็กำลังกะต๊าก อยู่ แต่เป็นไก่ตีทั้งน้าน

๔) แล้วหนูจะเหมาะเลี้ยงไหมเนี่ย หนูอยู่ไม่ค่อยเป็นที่เป็นทางเลย ไปนอนโน่นนอนนี่ไปเรื่อย

๕)ครูบาพูดเรื่อง ไข่วันละ ๗ ฟอง ถ้าต้องการกินไข่วันละ ๑๔ ฟอง เลี้ยง ๒๐  ตัว  ต้องการ ๒๑ ฟองเลี้ยง ๓๐ ตัว....อยากขายไข่ให้ได้วันละ  ๕๐๐ ฟอง ฟองละ ๒ บาท จะเป็นเงินวันละ ๑,๐๐๐ บาท ต้องเลี้ยง.....มันคุ้นอยู่นา ครูบา กับประสบการณ์แม่ต้อน ที่บ้านยางคำ ที่ปลูกพริก ๑๐  ต้น เก็บขายได้วันละ ๘๐  บาท... เอาเลยทีนี้ ถ้าปลูก ๑๐๐ ต้น ขายได้วันละ ๘๐๐ บาท ถ้า ๑๐๐๐  ต้นขายได้ ๘๐๐๐ บาท หลังจากคิดแล้วแกทำจริงเลยทีนี้ ทำได้ด้วย แต่ว่าผลผลิตและตอนขายมันไม่ได้แบบที่คิด แมงลงจัดการพริกของแก เจ๊งไม่เป็นขบวน

๖) อย่างไรก็ตามหนูสนใจค่า แต่เรื่องวันรับไก่นี่สิ หนูจัดสรรไม่ได้ หนูขอเลื่อนไปรวบกับวันที่ ๒  กพ. ๕๐  (ไม่อยากเขียนปีเลยค่ะ รู้สึกเวลามันน้อยลงไปเรื่อยๆ  ) และขอฟัง เคเอ็มเรื่องไก่เพิ่มอีก.....ครูจะว่าจังได๋

๗) เหลือเกินแล้วนะ ลุกขึ้นมาเขียนตอนตีสองเนี่ย...

รักและเคารพค่า

ครูบา  คะ ข่าวล่ามาเร็ว

ทางกรุงเทพ อึกอักเลย พอย้ายวันเป็นวันที่  ๒  แล้ว เนื่องจากเป็นวันราชการ ทำให้คนติด แต่แม่ใหญ่ก็ได้แจ้งวันที่เปลี่ยนเรียบร้อยแล้วค่ะ  ไม่มีการย้ายกลับวันเดิมใช่ใหมคะ  แฮ่ะ แฮ่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท