จะว่าไปแล้ว วันที่ 27 มกราคม 2566 ผมมีเวลาเตรียมกระบวนการไม่มากนัก – เป็นกระบวนการปฐมนิเทศนิสิตก่อนออกไปสู่โครงการค่าย “เทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25” ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ และโรงเรียนบ้านโกทา อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
เทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25 ไม่ได้มีแค่ 5 สถาบันเหมือนครั้งก่อนๆ เพราะมีเพิ่มเข้ามาอีก 1 สถาบัน นั่นคือ มหาวิทยาลัยพะเยา รวมเป็น 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยพะเยา
ด้วยความที่มีสมาชิกเข้ามาใหม่ ปีนี้จึงจำต้องปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง เป็นต้นว่าการปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์โครงการฯ ซึ่งครั้งนี้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มอบหมายให้นายอติรุจ อัคมูล บุคลากรจากกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์
ข้อจำกัดของเวทีครั้งนี้มีหลายปัจจัย เช่น เป็นช่วงเตรียมตัวสอบกลางภาค และมีหลายประเด็นที่ต้องหารือ-มอบหมายให้ชัดเจน ดังนั้น ผมจึงแจ้งกับนิสิตว่า ขอให้ตั้งใจ หรือให้ความร่วมมือเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการบอกกล่าวว่าเป็นกระบวนการที่จะฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้แข่งกับเวลา หรือการบ่มเพาะเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปในตัว
ใจจริงผมอยากให้นิสิตนั่งเป็นวงกลมเป็นอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ผมจึงออกแบบกระบวนการง่ายๆ ตามแต่สภาพจะเอื้ออำนวย ถัดจากนั้นจึงให้โจทย์แก่นิสิต คือ “ให้นิสิตแต่ละคนสังเกตเพื่อนในเวทีแห่งนี้ หรือเลือกเพื่อนสักคนขึ้นมาในใจ แล้วสังเกตพฤติกรรม หรือลักษณะเด่นๆ ของเพื่อน จากนั้นให้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด โดยมิให้เพื่อนคนนั้นรู้ตัวว่ากำลังถูกเพ่งมอง”
ผมให้เวลากับกระบวนการดังกล่าวในราว 6-8 นาที โดยใช้เสียงเพลงจำนวน 2 เพลง เป็นตัวกำกับเวลา – โดยย้ำว่าเมื่อวาดเสร็จแล้ว ห้ามรบกวนคนอื่นๆ โดยเด็ดขาด กล่าวคือ เมื่อวาดเสร็จให้คว่ำภาพลง แล้วอยู่ในภาวะที่นิ่งสงบ
พอแต่ละคนวาดภาพเสร็จ ผมก็สื่อสารประเด็นถัดมา คือ “ให้นำภาพที่วาดไปส่งมอบให้กับเจ้าตัวคนนั้นๆ แล้วนั่งจับกลุ่มเป็นกลุ่มๆ”
เมื่อนั่งเป็นกลุ่มๆ เสร็จแล้ว ผมก็ให้แต่ละคนบอกเล่าถึงเหตุผลที่เลือกวาดภาพเพื่อนให้เพื่อนได้รับรู้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ซักถามและพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกัน เท่าที่พึงใจจะเปิดใจต่อกัน
ท้ายกระบวนการ ผมเชิญให้แต่ละคนกลับเข้านั่งเดิม จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามว่า ใครได้รับภาพวาดจากเพื่อนมากที่สุดในสามอันดับแรก แล้วเชิญออกมายืนด้านหน้าเวที เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเล็กๆ ต่อไป นั่นคือ การให้เจ้าตัวเลือกภาพสักภาพขึ้นมา เพื่อบอกเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อภาพที่ว่านั้น -
เช่นเดียวกับการเชิญให้เจ้าตัว (คนวาดภาพ) เล่าให้ฟังว่า เพราะเหตุใดถึงเลือกที่จะวาดภาพเพื่อนคนนี้ และเพราะเหตุใดถึงวาดในลักษณะเช่นนั้น
ครับ นี่คือกระบวนการละลายพฤติกรรมในมิติ “บันเทิงเริงปัญญา” หรือ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ตามแบบฉบับที่ผมมักนำมาใช้ในเวทีของการจัดการเรียนรู้ เพียงแต่ครั้งนี้ ไม่ได้จัดกระบวนการแบบละเมียดละไมนัก เพราะมีเวลาอันจำกัดจริงๆ
ในทำนองเดียวกัน ผมก็อธิบายโดยรวมๆ ให้นิสิตได้รับรู้ว่ากระบวนการดังกล่าว เชื่อมโยงไปกับเครื่องมือของการเรียนรู้ หรือแม้แต่ทักษะส่วนบุคคลอันจำเป็นที่ต้องนำไปใช้ในการอยู่ร่วมและทำงานกับสังคม หรือที่เรียกว่า Soft skills โดยเครื่องมือ หรือทักษะที่ว่านั้น ผมยกตัวอย่างให้นิสิตได้ทำความเข้าใจ ก็คือ
ใช่ครับ – ผมยืนยันว่า เครื่องมือการเรียนรู้เหล่านี้ ผมนำมาทดลองใช้ในเวทีปฐมนิเทศครั้งนี้จริง และย้ำว่า เป็นเครื่องมือที่นิสิตสามารถนำไปใช้กับโครงการ “เทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25 ได้อย่างแน่นอน - ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะเปิดใจ เห็นความสำคัญ ตื่นตัวที่จะศึกษาเพิ่มเติม และกล้าที่จะนำไปใช้หรือไม่เท่านั้นเอง
เขียน : พุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
OZD6LcyV