มายาคติและการถอดบทเรียนท้องถิ่นปี 2565


มายาคติและการถอดบทเรียนท้องถิ่นปี 2565

6 มกราคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

เป็นที่คาดหมายของฝ่ายอนุรักษ์มาแต่แรกแล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าผ่านรัฐสภายาก ซึ่งปรากฏผลเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565[2] ว่าไม่สามารถผ่านวาระแรกไปได้ เพราะฝ่ายอนุรักษ์เห็นว่าเป็นการปลดล็อกท้องถิ่นดังกล่าวมีเงื่อนไขที่ “สุดโต่ง” [3] ด้วยจำนวนสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 361 เสียง (จาก 722 เสียง) มีเสียงสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยเพียง 254 เสียง และ ส.ว.ที่เห็นด้วยเพียง 6 เสียงไม่ครบเกณฑ์กว่า 83 เสียง (1 ใน 3) แม้จะรู้ผลแต่แรกก็ตาม ประชาชนผู้เสนอที่มีจำนวนถึงเจ็ดหมื่นเศษก็ไม่ท้อ เพราะหากไม่มีการเริ่มต้นไฉนเลยการปลดล็อกท้องถิ่นถึงจะเป็นได้ 

ท้องถิ่นได้ผ่าน “ยุคทองของการกระจายอำนาจ” [4] นับแต่ปี 2544-2545 นับเวลามาได้ร่วม 20 ปี ถือว่าเพียงเริ่มต้น เพราะการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่า พัฒนาการปกครองท้องถิ่นต้องใช้เวลาถึง 100 ปี[5] จึงจะตกผลึกเหมือนอย่างอารยสากลต่างประเทศ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่า ตามข้อเท็จจริงนั้นพัฒนาการต้องคิดจากพัฒนาการความก้าวหน้าของโลก ต้องวิ่งตามทันโลก มิใช่คิดเพียงจากจิตสำนึกของคน หากยิ่งมีกรอบความคิดว่าจิตสำนึกของประชาชนชาวไทยมีน้อย ยิ่งต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปีเป็นแน่แท้ เพราะหลักการกระจายอำนาจนั้นมิใช่เรื่องของการแบ่งแยกประเทศ หรือมีหลักการที่ทำลาย “รัฐเดี่ยว” (Unitary State) แต่อย่างใด[6]

ฝ่ายแนวคิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมเห็นว่า เพราะสังคมไทยยังไม่พร้อมในการกระจายอำนาจ เห็นได้จากความพยายามกระจายอำนาจไม่ว่าจะด้วยการตรากฎหมาย หรือการถ่ายโอนภารกิจไม่คืบหน้า เพราะติดขัดนี่นั่น ที่สำคัญคือความจริงของรัฐที่ถืออำนาจ เรียกว่า เป็นที่มีโครงสร้างแบบ “รัฐราชการรวมศูนย์” [7] (Centralized) นำโดยชั้นนำ (Elite) และกลุ่มข้าราชการที่มีกรอบความคิดอนุรักษ์นิยมและ “อำนาจนิยม” (Authoritarianism) ฝ่ายอำนาจรัฐมีแนวโน้มหย่อนหลักนิติธรรมหลักนิติรัฐ[8] (Rule of Law, Legal State, Due Process of Law) ตามหลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ที่บิดเบี้ยว ไม่สมดุลกัน หลายกรณีชี้ให้เห็นว่า กรอบการใช้อำนาจรัฐ มีข้อจำกัด ขาดหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล ความโปร่งใสเป็นธรรม 

เพราะหลักนิติธรรมนั้นใช้ถ่วงดุลการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก (Free Speech) มักมีข้อจำกัดด้วยเรื่องหยุมหยิม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมจากกฎหมาย และความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มของการใช้อำนาจรัฐแบบ “อำเภอใจ” จนเป็น “รัฐตำรวจ” [9] (Police State) เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไปจนถึงการใช้อำนาจกดขี่ (arbitrary power, capricious power, despotic) มักเกิดปัญหาเส้นแบ่งการใช้อำนาจ[10] ที่มิใช่อำนาจบารมี คือระหว่างการใช้ดุลพินิจและอำเภอใจ 

 

มายาคติท้องถิ่นแย่คือปัญหาของพัฒนาการกระจายอำนาจ

หลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกคว่ำ นักวิชาการต่างดาหน้าออกมาเสนอวาทกรรมการกระจายอำนาจ ตามเวทีสัมมนา รวมสื่อข่าวต่างๆ มันช่างเหลวไหลสิ้นดี คงมิใช่เพราะเพียงการหาเสียงใกล้เลือกตั้ง ในที่นี้ ในวงการท้องถิ่นมีบทเรียนหลายบทที่ควรถอดบทเรียนเพื่อค้นหา “นวัตกรรม” (Innovation) หรือองค์ความรู้ในบริบทของท้องถิ่น เพราะหลายๆ บทเรียนเกิดซ้ำซากวนเวียน โดยมิได้แก้ไข หรือมีสูตรสำเร็จที่เหมาะสมในการปฏิบัติ ทำให้ท้องถิ่นเกิดความสับสน ไม่มั่นใจการบริหารจัดการ เพราะหากดำเนินการผิดพลาดย่อมถูกตรวจสอบชี้มูลความผิดและลงโทษจาก สตง. หรือ ป.ป.ช. (รวมทั้ง ป.ป.ท.) 

มีความเคลื่อนไหวทางวิชาการที่น่าสนใจ ในเวทีสัมมนาว่าด้วยการกระจายอำนาจในหัวข้อ The Nest Station อนาคตก้าวที่ 26 (ปี) ของการกระจายอำนาจ[11] ณ สถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ชี้ว่าปัญหาอุปสรรคกระจายอำนาจ 25 ปี คือมายาคติ “ท้องถิ่นเลว” ขวางการกระจายอำนาจ จึงถูกขวางทั้งจากอำนาจส่วนกลางและบั่นทอนจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพราะการพัฒนาท้องถิ่นคือการพัฒนาประเทศ และต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นเพื่อสร้างสมรรถนะในการใช้ต้นทุนของตนเองพัฒนา เตือนประชาชนเริ่มขานรับการกระจายอำนาจแล้ว เสนอแนะให้ อปท.ทบทวนตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การกระจายอำนาจในอนาคต 5 ข้อ คือ (1) การมีสติ รู้ว่าหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่นต้องทำอะไร สัญญากับประชาชนว่าอย่างไร (2) ความไม่ประมาท องค์กรท้องถิ่นต้องหมั่นตรวจสอบสิ่งที่ทำนั้นตรงกับการแก้ปัญหาหรือไม่ หมั่นตรวจสอบว่า มีอะไรใหม่ๆ อีกที่จะต้องลงมือทำ และปล่อยปละละเลยจนเวลาล่วงเลยให้เสียโอกาส (3) ต้องระมัดระวัง ขององค์กรท้องถิ่น คือการตรวจสอบระเบียบ ข้อกฎหมาย สิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่เราจะต้องทำ (4) มองโลกในแง่ดี ให้มองทุกอย่างที่ก้าวมาถึงวันนี้โอกาส กลับมาถามตัวเองว่าเราทำเต็มที่หรือยัง กลับมาถามตัวเองว่างบประมาณที่มีอยู่นี้ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ ต้องทำอย่างไร เลิกบอกว่าขอความเห็นใจจากรัฐบาล เพราะเขาไม่ชอบการกระจายอำนาจ ฉะนั้นโอกาสที่จะสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นอย่างจริงจังเป็นไปได้น้อย อย่ามองอุปสรรคเป็นเครื่องกีดขวางแต่ให้มองว่าเป็นโอกาสที่ท้าทาย และข้อสุดท้าย (5) ให้หมั่นทำบุญ คือการทำความดี สูงสุดขององค์กรท้องถิ่นคือ การทำให้ประชาชนมีความสุขได้รับประโยชน์สูงสุด การทำให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข การยกระดับประชาชนที่ขาดโอกาสขึ้นมาให้เป็นผู้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

และในวันเดียวกันนี้มีสัมมนาต่อในหัวข้อ “จับตาอนาคตการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย” ประกอบด้วย 4 มิติ คือ (1) มิติด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (2) มิติด้านโครงสร้าง อำนาจ หน้าที่ และการกำกับดูแล (3) มิติด้านการหารายได้ และ (4) มิติด้านการจัดบริการสาธารณะ 

 

ข้อเสนอการกระจายอำนาจ 2566 ของพรรคพลังท้องถิ่นไท 5 ข้อ[12] 

เป็นข้อเสนอเดิมๆ ที่มีการเรียกร้องกันมาตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ครั้งนี้หากไม่มองว่าเป็นการฉวยโอกาสขายนโยบายเตรียมการเลือกตั้ง ก็ถือเป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ดี

1) เพิ่มเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ 35% ในปีงบประมาณ 2567 (2) ปรับปรุงกฎหมายเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับส่วนราชการ และหามาตรการงดหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค (3) เร่งรัดกฎหมายองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มเติมที่เสนอรัฐบาลแล้ว เช่น ร่างกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแม่สอด, นครเกาะสมุย และนครแหลมฉบัง (4) เร่งรัดร่างกฎหมายระเบียบบุคคลของข้าราชการและพนักงานท้องถิ่น พ.ศ.... เพื่อยกระดับบุคลากรและพนักงานท้องถิ่น ให้มีศักดิ์ศรี เทียบเท่าข้าราชการส่วนอื่น และ (5) ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งรวมศูนย์อำนาจการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น เช่น การสอบและเลื่อนระดับข้าราชการส่วนท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่นไว้ที่ส่วนกลาง โดยเสนอเห็นควรมอบอำนาจไว้ ก. จังหวัด หรือ ก. กลุ่มจังหวัด เป็นผู้จัดสอบและสอบเลื่อนระดับแทน

อย่างก็ตาม ในเรื่องรายได้ท้องถิ่นปี 2566 นี้ถือเป็นการจัดเก็บภาษีเป็นปีแรกนโยบายรัฐบาลให้ลดภาษีที่ดิน 15% กลายเป็นท้องถิ่นต้องแบกรับภาระ[13] ที่คนรวยได้ประโยชน์ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด เงินภาษีที่ท้องถิ่น 7.8 พันแห่ง ที่จัดเก็บเองหายไปถึงสองหมื่นล้านบาท[14] แต่รัฐบาลมิได้ชดเชยให้ ส่งผลกระทบต่องบประมาณในการลงทุนลดลง การจัดซื้อจัดจ้าง แผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานถูกพับ 

 

ย้อนรอยถอดบทเรียนท้องถิ่นในรอบปีที่ผ่านมา 

มาดูก่อนที่การปกครองมหานคร กทม.ทางรถไฟลอยฟ้า สีต่างๆ ไม่ก้าวหน้า และต้องจ่ายค่าสัมปทานนอกระบบจำนวนมาก วกมาที่ประเด็นนักการเมืองท้องถิ่น กับการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ ที่มีสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอดในช่วง 8 ปี มีการมอบอำนาจด้านการบริหารงบประมาณ และการจัดทำแผนพัฒนาให้แก่นายก อปท.เห็นกันจะๆ ลองมาเปรียบเทียบ อดีต ปัจจุบัน เห็นพัฒนาการได้ชัดว่า เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า เป็นแนวคิดตามแนวทางกระจายอำนาจแบบประชาธิปไตยตรงๆ แม้จะเป็นการสร้างคุณค่าในตัว แต่ยากที่จะสู้อิทธิพลรวมศูนย์ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจไทยได้ 

เรื่องการจัดการขยะ เรื่องประปา ไม่ได้ยากเกินกว่าที่ อปท.จะทำได้ หากคนท้องถิ่นมีใจ และใส่ใจจะทำ การแสวงหาความร่วมมือทำได้ แต่อำนาจรวมศูนย์ของส่วนกลางหลายอย่างกลับเป็นอุปสรรค ด้อยค่าภารกิจท้องถิ่นลง การขอรับการสนับสนุน ขอความร่วมมือท้องถิ่นจากผู้กำกับดูแลอยู่เนืองๆ เสมือนการถูกรีดไถ ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเม็ดเงินงบประมาณของ อปท.มีแต่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการบริหาร การพัฒนาโดยตรง เห็นได้จาก งานพัฒนาในรอบปีที่ผ่านมาของ อปท.ไม่เด่น น่าจะมาจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ (1) เจ้าหน้าที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกันมาก (2) โรคระบาดโควิดและสาธารณภัยต่างๆ เช่น อุทกภัย (3) เป็นยุคของการรวมศูนย์ที่มากขึ้น (4) เงินงบประมาณที่จัดสรรลดลงในอัตราส่วนที่ควรจะได้เพิ่ม (5) ราชการส่วนกลาง ออกระเบียบ ใช้คน อปท.ไปทำงานแทน เช่น นายช่าง อปท.ไปช่วยงานช่างอำเภอ หลายรายก็โดนชี้มูลวินัยและอาญาจาก ป.ป.ช. เป็นต้น

มีการอ้างปัญหาบริหารงานภายในของ อปท.เช่นว่า คนท้องถิ่นไม่สามัคคีกัน เพราะมีทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายประจำ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานจ้างเหมา ที่อาจประสบปัญหาการประสานงานการทำงาน ด้วยระบบอุปถัมภ์แบ่งพรรคแบ่งพวก สูญเสียการบังคับบัญชา เช่น เพราะเด็กเส้น และในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่หลายๆ คนต้องถูกตรวจสอบและชี้มูลความผิดโดย สตง. ป.ป.ช. ปัญหานี้เป็นแทบทุก อปท. คือ ความอยุติธรรมของการบริหารงานภายในนั่นเอง 

 

ต่อจากนี้ไปพื้นที่เป้าหมายของพรรคการเมืองคือ อปท.

สมควรเริ่มดำเนินการปลดล็อกท้องถิ่นได้แล้ว ปัญหามีว่าประชาชนคนท้องถิ่นจะเลือกพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองคนใดที่มีแนวนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป (เลือกตั้งใหญ่) ในปี 2566 คน อปท.จะเป็นหัวคะแนนให้ใครดี ให้ฝ่ายไหนดี ฝ่ายเผด็จการ (ฝ่ายรวมศูนย์อำนาจปัจจุบัน) หรือฝ่ายประชาธิปไตยดี

เสียงจากคนรุ่นใหม่และผู้เลือกตั้งนิวโหวตเตอร์[15] (New Voter) ที่อายุไม่เกิน 25 ปี ที่มีจำนวนเพิ่มถึงปีละ 7 แสนคน[16] รวม 4 ปี คิดเป็นจำนวน 2.8 ล้านคนถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร เพราะคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ที่รวมทุกช่วงอายุบวกกับเสียงของ New Voter ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนเป็นเสียงชี้ขาดการเลือกตั้งแน่นอนว่าคะแนนเสียงเหล่านี้จะเทไปพรรคใด กลุ่มใด

รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารต้องมีนโยบายเร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดการกระจุกตัวการพัฒนา เพื่อปลดล็อกท้องถิ่นไปตามขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะท้องถิ่นถูกดอง ถูกตัดตอนพัฒนาการกระจายอำนาจมานานร่วม 8-9 ปี[17] เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้ง อปท.มาตั้งแต่ปี 2553-2562 ส่งผลต่อพัฒนาการการปกครองท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ที่ส่งผลกระทบการการบริหารงานภายในของ อปท.ในเรื่องการบริหารงานบุคคลเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางความก้าวหน้าอาชีพ (Career Path) [18] ของข้าราชการท้องถิ่นสะดุด อัตรากำลังตามโครงสร้างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามกรอบโครงสร้าง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนบุคคล ประกอบกับข่าวการทุจริตการสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่นปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และภาพลักษณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้ตำแหน่งเช่น นายช่างโยธา และข้าราชการในสายงานผู้บริหารต้น ขาดจำนวนมาก โดยเฉพาะ อบต. จึงมีข้าราชการสายงานวิชาการและสายงานทั่วไปจำนวนมากที่ต้องรักษาราชการแทนในตำแหน่งสายงานผู้บริหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งแทบจะไม่เป็นผลดีต่อระบบการบริหารงานท้องถิ่นเลย เพราะ อปท.มีงบประมาณตั้งเงินเดือนไว้รองรับอัตราที่ว่างแล้ว

ยังมีข้อกังขาในช่วง คสช.ที่ไม่มีการเลือกตั้ง อปท.นั้น ผลงานของนายกอปท.ในช่วงนั้นคือ หัวคิวจากเม็ดเงินโครงการต่างๆ และการเปิดช่องอำนาจในการบริหารงานงบประมาณต่างๆ ให้แก่นายก อปท. ได้ง่ายขึ้น แต่ในส่วนของประชาชนชาวบ้านทั่วไปถือว่าปกติไม่มีโครงการพิเศษอะไร โควิดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้โครงการมีจำนวนจำกัด งบประมาณที่ได้มีน้อย 

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าสำคัญมาก กฎหมายให้นักการเมืองท้องถิ่นสามารถหาเสียงช่วย ส.ส.ได้[19] แบบนี้สบายแน่ เพราะนายก อปท. และสมาชิกสภาต้องมีนักการเมือง พรรคการเมืองในหัวใจแน่นอน ผลงานของพรรคการเมืองและนักการเมืองระดับชาติ (ส.ส.) ต้องปรากฏในพื้นที่ อปท.ด้วย ตามกำลังพลชาวบ้านหัวคะแนนที่แต่ละพรรค ที่แต่ละนักการเมืองมีอยู่รวมในท้องถิ่นพื้นที่นั้นๆ ระบบการเมืองระดับชาติกำลังจะลงไประดับท้องถิ่นเต็มๆ ก็ตอนนี้แหละ ยิ่งเขตเลือกตั้งใดมีการเมืองแบบ “บ้านใหญ่” ยิ่งสบาย อำนาจพลังประชาชนโดยเฉพาะ New Voter ต้องปะทะกับการเมืองบ้านใหญ่แน่นอน สรุปว่าการเมืองท้องถิ่นจะเข้มข้น เพราะ อปท.คือ ฐานการเมืองให้ระดับชาติมีขุมกำลังคะแนนเสียงของประชาชนมากพอในระดับหนึ่ง 

ที่ผ่านมาส่วนกลาง ให้ความสำคัญต่อ อปท.น้อย ต่อไปเมื่อการโอน รพ.สต.มาสังกัด อบจ.[20] จะทำให้ระบบการเมืองท้องถิ่นหนักมากขึ้นแบบเต็มร้อย เพราะ รพ.สต.ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ทำให้คุมหมดไปถึง อสม.ในเขตรับผิดชอบของ รพ.สต.ด้วย ทำให้ อสม.มีบทบาทบารมีมากขึ้น มากกว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) จะเข้าถึง ส.จ/นายก อบจ. ได้มากกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำ อปท. การทำงานประสานงานมองในสองด้านเมื่อมีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ จึงต้องสร้างความร่วมมือและสร้างนวัตกรรมใหม่ในการทำงานร่วมกันกับ รพ.สต.และ อสม.ให้มากขึ้น เพราะ รพ.สต.อยู่ในเขตพื้นที่ของ อบต. และเทศบาลตำบล 

 

ทราบว่าตอนนี้นวัตกรรมใหม่ของท้องถิ่น คือ แพลตฟอร์ม Traffy Fondue[21] เกี่ยวกับบริหารจัดการปัญหาเมือง เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านต่างๆ จะนำมาใช้ในทุกท้องถิ่นด้วย สารพัดบทเรียนมากมายที่ท้องถิ่นผ่านมา อปท.ต้องถอดบทเรียนให้หมด อาทิเช่น โครงการถังขยะเปียก 100 % ลดโลกร้อน, โครงการสงครามยาเสพติด (การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ อปท.), โครงการนวัตกรรมไฟฟ้าแสงสว่างโซล่าเซล, โครงการติดตั้งกล้อง CCTV, โครงการตรวจประเมิน LPA&ITA, โครงการป้องกันอุบัติภัย 7 วันอันตรายช่วงเทศกาล ฯลฯ เป็นต้น รวมไปถึงกิจกรรมงานฝาก งานขอความร่วมมือต่างๆ เช่น โครงการโคกหนองนาโมเดล โครงการรำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย งานราชทัณฑ์ งานคุมประพฤติ งานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท งานปศุสัตว์ งานบริบาลคนภาวะพึ่งพิง งานเด็กและเยาวชน งานการพัฒนาสตรี งานกองทุนหมู่บ้าน งานศูนย์สงเคราะห์ประจำหมู่บ้าน งานผู้สูงอายุ และรวมถึงงานโควิดที่ยังไม่จบ เพราะพื้นที่ดำเนินการคือท้องถิ่น อปท.เป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นเจ้าของประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั้งหมด กำลังนั่งเขียนบทความนี้อยู่ดีๆ มีเสียงบ่นคนท้องถิ่นดังมาแว่วๆ ว่างานมากจัง แต่คนทำงานและงบไม่มี


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 6 มกราคม 2566, 

[2]รัฐสภาโหวตคว่ำ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า, ประชาชาติธุรกิจ, 7 ธันวาคม 2565, https://www.prachachat.net/politics/news-1141758 & รัฐสภา โหวตคว่ำ "ร่างปลดล็อกท้องถิ่น" ดับฝัน "คณะก้าวหน้า", สยามรัฐออนไลน์, 7 ธันวาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/405503 

[3]‘พริษฐ์’ ขอรัฐสภารับร่างปลดล็อกท้องถิ่น ถกรายละเอียดกันต่อวาระสอง ยันข้อเสนอไม่สุดโต่ง แค่ต้องการให้ไทยวิ่งตามทันโลก, สยามรัฐออนไลน์, 7 ธันวาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/405423 

[4]ดร.วีรศักดิ์ เครือเทพ แบ่งยุคของการกระจายอำนาจในประเทศไทยออกเป็น 3 ยุค ยุคที่หนึ่ง ยุคทองสั้นๆ ในปี 2540-2544 ก่อนเริ่มถูกชะลอตั้งแต่ปี 2545 และเจอรัฐประหารในปี 2549 ยุคที่สอง ตั้งแต่ประมาณปี 2550-2556 เสื่อมถอย-ขาลง ยุคที่สาม ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ถอยหลังลงคลอง แต่ท้องถิ่นยังถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม

ดู 3 ทศวรรษกระจายอำนาจ ท้องถิ่นไทยเจออะไรบ้าง? (คืนอำนาจท้องถิ่น ตอนที่ 1) โดยวีรศักดิ์ เครือเทพ, ในเวบคณะก้าวหน้า, Progressive Movement, 12 พฤษภาคม 2565, https://progressivemovement.in.th/article/7362/

[5]สว ท่านหนึ่ง อภิปรายในรัฐสภา ว่า ตอนนี้ประเทศไทยต้องรอต่อไป จึงค่อยเปลี่ยนแปลง เพราะพัฒนาการการกระจายอำนาจของต่างประเทศต้องใช้เวลาถึงร้อยปี ตามข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าระบุ ไทยได้ผ่าน 100 ปีของการกระจายอำนาจ (การปกครองท้องถิ่นไทย) มาแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เนื่องจาก ไทยมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการกระจายอำนาจมาตั้งแต่ปี 2440 นับเวลาได้กว่า 120 ปี คือ ปฏิรูปโครงสร้างและระบบราชการตามแบบสมัยใหม่ใน พ.ศ.2435 ของรัชกาลที่ 5 ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ในปี พ.ศ.2440 มีการทดลองจัดตั้งหน่วยการปกครองตนเองท้องถิ่น (Local Government) แบบใหม่ที่เรียกว่าสุขาภิบาลกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่รักษาความสะอาด การบูรณะ การจัดทำสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในชุมชน แต่ยังเป็นการปกครองท้องถิ่นโดยข้าราชการประจำ (Local Government by Government Officials) เพราะผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพมาจากข้าราชการประจำทั้งหมด เช่นเดียวกับสุขาภิบาลท่าฉลอมที่ตั้งใน พ.ศ.2448 ก็ยังอาศัยข้าราชการประจำในการดำเนินงาน และตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ที่ตราขึ้นเพื่อจัดตั้งสุขาภิบาลในหัวเมืองทั่วประเทศ

ดู การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยวุฒิสาร ตันไชย, สถาบันพระปกเกล้า, พฤษภาคม 2557, https://www.kpi.ac.th/media/pdf/research/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%8A%E0%B8%9F_2_f438dc7ff413738d46107b352c0c1610.pdf & 120 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย (พ.ศ.2440-2560), โดย ไททัศน์ มาลา (T Mala), ThaiJo, 2563, https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/download/79287/pdf_15/204330

[6]ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาอ้างข้อเสียของการกระจายอำนาจ กรณีหากมีการกระจายอำนาจมากเกินไป เช่น (1) อาจก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพย์สินเนื่องจากแต่ละท้องถิ่นจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อทรัพย์สินเป็นของตนเองเพื่อมาจัดทำบริการสาธารณะ (2) ทำให้อำนาจของรัฐหรือองค์การปกครองส่วนกลางน้อยลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ (3) ที่สำคัญด้านการเมือง การกระจายอำนาจมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของรัฐได้อาจจะนำไปสู่ภาวะของความไร้เอกภาพและเสถียรภาพในทางการเมืองได้ ดังเช่น กรณีของรัฐเดี่ยว การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นแรงผลักเคลื่อนไปสู่ความเป็นสหพันธรัฐ เป็นต้น

ดู ลักษณะของการกระจายอำนาจทางปกครอง : การกระจายอำนาจจากรัฐบาลที่อยู่นอกศูนย์กลางย่อมส่งให้เกิดข้อดีและข้อเสีย โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2564, http://www.law.tsu.ac.th/UserFiles/ปกครอง1ชุดที่3(1).ppt#:~:text=ข้อเสีย%20คือ%20หากมี,เป็นเอกภาพของรัฐได้ & “ธนาธร” ยันปลดล็อกท้องถิ่นไม่ทำให้ประเทศถูกแบ่งแยก ฝาก “พิธา” สานต่อภารกิจ หลังร่างฯถูกคว่ำ, สยามรัฐออนไลน์, 7 ธันวาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/405542 & ปลดล็อกท้องถิ่น ไปไม่ถึงฝันทอน กก.หาเสียงสู้ต่อ, ไทยโพสต์, 8 ธันวาคม 2565, https://www.thaipost.net/one-newspaper/279247/

[7]การกระจายอำนาจหรือการยุติรัฐรวมศูนย์ (Decentralization)คือ การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ หรือความรับผิดชอบทางการบริหารในภารกิจสาธารณะ จากรัฐบาลกลางสู่ท้องถิ่น ดู ชำนาญ จันทร์เรือง: ไม่มีคำว่ากระจายอำนาจใน รธน.60 ถึงเวลายุติการรวมศูนย์, โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล สัมภาษณ์, ประชาไท, 18 กรกฎาคม 2565, 20:36 น., https://prachatai.com/journal/2022/07/99569 

[8]หลักนิติธรรมหลักนิติรัฐ ดู เอกสารวิชาการส่วนบุคคล (Individual Study)หัวข้อ : หลักนิติธรรม เรื่อง : ความเป็นตุลาการภิวัฒน์ของศาลรัฐธรรมนูญกับการดำรงหลักนิติธรรม จัดทำโดย นายประกิต ประสิทธิ์ศุภพล เอกสารวิชาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” รุ่นที่ 2 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2557, https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=1269 

[9]“รัฐตำรวจ” (Police State) เป็นรัฐที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจอย่างมหาศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถกำหนดมาตรการทางกฎหมายใดๆ ขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนได้ตามที่เห็นสมควรโดยอิสระและด้วยความริเริ่มของตนเอง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์หนึ่งๆ และเพื่อให้บรรลุวัตถุที่ประสงค์ของรัฐ โดยสรุปแล้ว รัฐตำรวจตั้งอยู่บนแนวคิดที่เชื่อว่า “เป้าหมาย” (Ends) สำคัญกว่า “วิธีการ” (Means) เสมอ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจะใช้วิธีการอย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ดังนั้นในรัฐตำรวจประชาชนจึงเสี่ยงภัยกับการกระทำตามอำเภอใจ (Arbitrary) ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่อาจคาดหมายผลของการกระทำของตนได้, อ้างจาก sittikorn saksang, เฟซบุ๊ก 14 กรกฎาคม 2557

[10]นิติรัฐ VS นิติธรรม โดยสมชาย เหล่าพิทักษ์วรกุล ปลัดเทศบาล, ใน public-law, 14 มีนาคม 2553, http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=1442 & เดินหน้านิติธรรม ถ่วงดุลการใช้อำนาจตามอำเภอใจ, โพสต์ทูเดย์, 16 ธันวาคม 2553, https://www.posttoday.com/politic/analysis/65350 

[11]เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าชี้ชัด มายาคติ 'ท้องถิ่นเลว' ขวางกระจายอำนาจ, นิตยสารผู้นำท้องถิ่น, 22 ธันวาคม 2565, https://poonamtongtin.com/sa/crHEd70HvYknahWo

[12]"พลังท้องถิ่นไท" เสนอ "นายกฯ" แจก "ของขวัญ" เพื่อคนท้องถิ่น, กรุงเทพธุรกิจ, 26 ธันวาคม 2565, 13:54 น.23 น., https://www.bangkokbiznews.com/politics/1044889

[13]‘ชัชชาติ’โอดคนรวยได้ประโยชน์‘ลดภาษีที่ดิน15%’ของขวัญปีใหม่ที่รบ.ให้แต่กลายเป็น‘ท้องถิ่นแบกรับ’, มติชน, 26 ธันวาคม 2565, https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3744571

[14]ท้องถิ่นเก็บภาษีวืด 2 หมื่นล้าน เศรษฐกิจทรุดโควิดซ้ำ-อัดงบเบี้ยหัวแตก, ประชาชาติธุรกิจ, 11 พฤษภาคม 2563, https://www.prachachat.net/finance/news-462089 

[15]New Voter (นิวโหวตเตอร์ )หรือ First Time Voter หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก (ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง) เป็น “ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่” (New Voter)ซึ่งในทางกฎหมายคือบุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีในวันเลือกตั้ง เนื่องจากไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี เช่น ทำให้ชาวไทยผู้มีอายุตั้งแต่ 18-26 ปี (เกิดช่วงปี 2544-2536) กลายเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งมีโอกาสได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2562 รวมเวลา 8 ปีเต็ม (นับเวลาจริงคือ 9 ปี) ที่ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงปี 2554-2562 นับจากการเลือกตั้งครั้งที่ 26 เมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งไม่นับรวมการเลือกตั้ง ส.ส.ที่โมฆะ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อ 30 มีนาคม 2557 ที่ถูก คสช.ยึดอำนาจ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จึงยกเลิกไป สำหรับปี 2566 ก็คือกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 18-22 ปี เพราะวาระ 4 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงปี 2562-2565 

[16]ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ล่าสุดปี 2565 ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 66,090,475 คน สัญชาติไทย 65,106,481 คน ไม่ได้สัญชาติไทย 983,994 คน เทียบปี 2564 ใกล้เคียงกันมาก มีราษฎรรวมทั้งสิ้น 66,171,439 คน สัญชาติไทย 65,197,783 คน เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวม 52 ล้านคน หากนับเฉพาะ “นิวโหวตเตอร์” ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในปี 2566 กว่า 8.1 แสนคน แต่น้อยกว่าปี 2562 ราว 2.5 หมื่นคน ดู มท.ประกาศจำนวนราษฎรทั่วประเทศปี 65 กว่า 66 ล้านคน กทม.มากที่สุดกว่า 5 ล้านคน, ผู้จัดการออนไลน์, 5 มกราคม 2566, 17:22 น., https://mgronline.com/politics/detail/9660000001320 & เจาะข้อมูล “นิวโหวตเตอร์” มีสิทธิเลือกตั้งปี 66 กว่า 8.1 แสน, กรุงเทพธุรกิจ, 29 พฤศจิกายน 2564, 10:56 น., https://www.bangkokbiznews.com/politics/974495 & จำนวนราษฎรสิ้นปี 64 รวม 66.17 ล้านคน เฉพาะ กทม. 5.52 ล้าน โคราชมากสุด-แม่ฮ่องสอนน้อยสุด, ผู้จัดการออนไลน์, 11 มกราคม 2565, 12:19 น., https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000003049 

[17]คสช.รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง อปท.มาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง อปท.ครั้งสุดท้ายนับจากรัฐประหารมาจนถึงปี 2562 รวมเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี ดู ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง  วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 หน้า 12-14, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/134/12.PDF

[18]Career Path หมายถึง เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ อธิบายง่ายๆ คือ เราเริ่มต้นทำงานใน ตำแหน่งใด จากตำแหน่งนี้เราจะเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง สูงสุดแล้วเราอยากเป็นอะไร อยากไปถึงไหน ซึ่งเมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราควรมีการวางแผนเส้นทางเดินว่าเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไรด้วย ภายใต้กรอบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management : HRM)

[19]พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/068/40.PDF

ดู กกต. ไฟเขียวผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ช่วยหาเสียงเลือกตั้งช่วง 180 วันได้, ไทยโพสต์, 3 พฤศจิกายน 2565, https://www.thaipost.net/politics-news/255579/ & กกต.เผย “บิ๊กท้องถิ่น” ช่วยหาเสียง ส.ส.ได้ แต่ต้องส่วนตัว-นอกเวลาราชการ, กรุงเทพธุรกิจ, 20 พฤศจิกายน 2565, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1039027 & กกต.แจง แนวปฏิบัติ "ผู้บริหาร-สมาชิกสภาท้องถิ่น" ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง , ไทยรัฐ, 21 พฤศจิกายน 2565, https://www.thairath.co.th/news/politic/2558553 & วุฒิสภาผ่านร่างกม.เลือกตั้งท้องถิ่น ไฟเขียว นักการเมือง-ส.ส.ช่วยหาเสียงได้, มติชน, 20 ธันวาคม 2565, https://www.matichon.co.th/politics/news_3734795

[20]เตรียมความพร้อม 'คน งาน เงิน' ก่อนเปิดฉาก 'ถ่ายโอน รพ.สต.' 1 ต.ค.นี้ เร่งวิจัยหาแนวทางลดปัญหา-อุปสรรค, The Coverage, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), 23 กันยายน 2565, https://www.thecoverage.info/news/content/4055 & ถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ “กระจายอำนาจด้านสุขภาพ” สู่ประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน, โดย kawalee, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), 16 กันยายน 2565, 15:24, https://www.hsri.or.th/media/news/detail/13981 & วิเคราะห์ผลกระทบแบบ 360 องศา ถ่ายโอน รพ.สต. สู่อ้อมกอด อบจ. สธ. ปรับบทบาทดูแลนโยบายแห่งชาติ รพ.สต. ได้เงินเพิ่ม แต่ ‘อบจ.’ อาจมึนภารกิจ, The Coverage, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), 27 ตุลาคม 2564, https://www.thecoverage.info/news/content/2604 

[21]แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง (Traffy Fondue) หรือ ทราฟฟี่ฟองดูว์ / ท่านพี่ฟ้องดู เป็นช่องทางรับแจ้งและจัดการปัญหาเมืองที่พบ ผ่าน LINE Chatbot แบบอัตโนมัติ อีกทั้งยังสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือแจ้งความคืบหน้า ให้แก่ผู้ที่แจ้งปัญหาได้อีกด้วย ช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Citizen Engagement) และผู้เกี่ยวข้อง ได้ทุกที่และทุกเวลา ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาให้สามารถรับแจ้งปัญหาสาธารณภัย จากผู้ประสบเหตุ เพิ่มความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือกู้ภัย ในภารกิจของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และใช้รวบรวมข้อมูลและประเมินสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ในโครงการเมืองใจดีเที่ยวได้ทุกวัย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกด้วย

14 ประเภทปัญหาที่รับแจ้ง ได้แก่ (1) ความสะอาด ขยะ (2) ไฟฟ้า ประปา (3) ไฟถนนเสีย (4) ถนน ทางเท้า (5) อาคารสถานที่ชำรุด (6) อุปกรณ์ครุภัณฑ์ชำรุด (7) จุดเสี่ยง (8) สาธารณภัย: น้ำท่วม ไฟไหม้ เผาไหม้ (9) ต้นไม้ กลิ่น เสียง สัตว์ (10) ขึ้นทะเบียน ประชาสัมพันธ์ (11) ความช่วยเหลือ (12) สุขภาพ (13) เบาะแสทุจริต (14) อื่นๆ

ดู Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา โดยนักวิจัยไทย, อบต. เทศบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ใช้งานฟรี!!! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุน กทปส., https://www.traffy.in.th/?page_id=1660



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท