ความสุขตามสัญชาตญาณ ๔


ความสุขตามสัญชาตญาณ ๔

อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกได้นำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความสุขตามสัญชาตญาณ ๔ เมื่อศึกษาความสุขของมนุษย์ในเชิงสัญชาตญาณพบว่าสามารถจัดแบ่งความสุขได้เป็น ๔ รูปแบบ ได้แก่ สัญชาตญาณสสาร สัญชาตญาณพืช สัญชาตญาณสัตว์หรืออารักขายีน และสัญชาตญาณปัญญา ทั้ง ๔ สัญชาตญาณนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องความสุข จึงเป็นปรัชญาจริยะ กล่าวคือ สัญชาตญาณ ๔ อย่างให้ความสุขใน ๔ รูปแบบ ได้แก่

          ๑) ความสุขตามสัญชาตญาณสสาร สสารมีสภาพแผ่กว้าง กินที่ อยู่นิ่ง จะมีการเคลื่อนไหวต้องอาศัยเหตุปัจจัยทางธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น สัญชาตญาณแท้ของสสารจึงมีสภาพคงที่ ชอบอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มันไม่ชอบไปยุ่งกับใคร เปรียบเหมือนก้อนหิน ก้อนหินมันชอบอยู่นิ่ง ๆ การได้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทำให้มันรู้สึกสบาย มีความสุข  แต่เมื่อสัญชาตญาณก้อนหินมาอยู่ในร่างมนุษย์ และมนุษย์คนนั้นรู้สึกยินดีกับความสุขแบบก้อนหิน ก็จะชอบทำตัวเป็นผู้รับ คือ ชอบรับบริการ แต่ไม่ชอบไปบริการใคร ไม่มีจิตคิดอาสาไปช่วยใคร เพราะชอบอยู่นิ่ง ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องเหนื่อย

          ดังนั้น มนุษย์ผู้แสวงหาความสุขตามสัญชาตญาณสสารจึงปรารถนาความสุขในรูปแบบการผ่อนคลาย ได้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องทำอะไร ซึ่งหากมีมากเกินไปก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจ หนักไม่เอา  เบาไม่สู้ เห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ความสุขของตนเองโดยไม่สนใจว่าคนรอบตัวจะสุขหรือทุกข์อย่างไร ไม่ชอบบริการใครแต่อาจชอบให้คนมาบริการตนเอง ไม่ชอบยุ่งกับใครและไม่ชอบให้ใครมาพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเพราะ เป็นคนกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยคิดที่จะก้าวออกจากกะลาใบเดิมเพื่อเรียนรู้ความเป็นจริงของโลกภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา ชีวิตจึงไม่เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม

          ยกตัวอย่าง คนที่ติดเกมจนไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองว่าต้องปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์รอบข้างอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ลูกหลาน เพื่อน ๆ หรือคนที่ขี้เกียจ ผลัดวันประกันพรุ่ง อยากรวย อยากมีโน่นมีนี่ แต่ไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉย ๆ ให้คนอื่นหามาให้ เป็นต้น

          ๒) ความสุขตามสัญชาตญาณพืช พืชนั้นมีชีวิตจึงต่างกับก้อนหินที่ไร้ชีวิต มันไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ เหมือนก้อนหินหรือสสาร โดยตัวมันเองคือชีวิต เป็นชีวิตที่ต้องการความอยู่รอด เมื่อเมล็ดพืชตกลงสู่ดิน รากที่อยู่ในเมล็ดพืชจะพยายามแทงลงไปในพื้นดิน และเมื่อรากสามารถหยั่งลงในดินอันอุดมด้วยสารต่าง ๆ แล้ว มันจะพยายามสูบหรือดูดแร่ธาตุต่าง ๆ ในบริเวณนั้นเข้ามาหล่อเลี้ยงให้มันรอดพ้นจากความตาย ธรรมชาติของพืชไม่ได้สนใจว่าพืชชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่ชนิดเดียวกันกับมันจะเหี่ยวเฉาตายเพราะขาดสารอาหารหรือไม่ มันรักตัวมันเองตามสัญชาตญาณพืช แต่กลับไม่เคยห่วงพืชชนิดอื่น ๆ หรือแม้แต่ชนิดเดียวกันที่อยู่รอบตัวมันแม้แต่น้อย จะเป็นจะตายมันไม่สนใจ ขอให้ตัวมันรอดและได้ผลประโยชน์มากที่สุดก็พอ

          มนุษย์ผู้แสวงหาความสุขตามสัญชาตญาณพืชจึงมีลักษณะเป็นคนกระตือรือร้น รักความก้าวหน้า ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองอยู่รอด ปลอดภัย แต่ถ้าหากมีมากเกินไป ก็จะกลายเป็นคนหิวเงิน มีผลประโยชน์เป็นเป้าหมายหลัก ทำอะไรก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทน ถ้าไม่มีไม่ทำ ไม่มีคำว่า จิตอาสาเด็ดขาด เพราะชีวิตคือการแข่งขัน ต้องได้กำไรเท่านั้น ขาดทุนไม่ทำ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น  มุ่งเฉพาะผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก แม้ว่าตนจะรักตัวกลัวตายโดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่เห็นใจคนอื่นว่าต่างก็รักตัวกลัวตายไม่ต่างอะไรกับตนเอง คือ ไม่เห็นใจเขาใจเรา คิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวให้มากที่สุดความสุขที่ได้กอบโกยเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้จึงเป็นผู้แสวงหาความสุขเหมือนพืช มีความสุขตามสัญชาตญาณพืช ได้เท่าไหร่ไม่เคยพอ ยิ่งลำต้นใหญ่ใบเยอะ รากก็ยิ่งแข็งแรง แตกกระจายรากฝอยขยายออกไปเรื่อย ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ใครจะได้รับทุกข์หรือความเดือดร้อนอย่างไรไม่สนใจใยดี

          ยกตัวอย่าง การทำธุรกิจแบบทุนนิยม เน้นการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ใครดีใครได้ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครทุนเยอะก็ได้เป็นปลาใหญ่ ใครทุนน้อยได้เป็นปลาเล็ก และปลาใหญ่ก็กินปลาเล็กเป็นเรื่องปกติ การทำธุรกิจเน้นการกินเรียบทั้งกระดาน เหมาทั้งโต๊ะ แม้ว่าธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจชุมชน ร้านโชว์ห่วย พ่อค้าแม่ค้าในตลาดจะอยู่ไม่ได้ก็ไม่สนใจ เพราะกฎหมายแบบเสรีทุนนิยมให้สิทธิและเสรีภาพในการแข่งขันอย่างเต็มที่ ใครดีใครอยู่ เป็นต้น

          ๓) ความสุขตามสัญชาตญาณสัตว์ ความสุขแบบสัตว์เป็นความสุขของสัญชาตญาณสัตว์ พูดให้ไพเราะขึ้นก็เรียก สัญชาตญาณอารักขายีน ซึ่งต่างจากสสารและพืช สสารมันไม่สนใจ  หาความสุขด้วยการอารักขายีน พืชก็เช่นกัน แม้ว่าพืชบางชนิดจะมีดอก เช่น ดอกไม้ ดอกหญ้า เป็นต้น หรือมีเมล็ดต่าง ๆ เพื่อการขยายพันธุ์ แต่โดยธรรมชาติของพืชไม่มีพลังแสวงหาความสุขจากการร่วมเพศ แม้แต่พืชชนิดเดียวกันกับมันเองมันก็ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นพวกพ้องร่วมวงศ์สกุลเดียวกันหรือยีนเดียวกัน มันมุ่งแต่กอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตัวเองเพื่อให้มันรอดและได้เปรียบผู้อื่นไปวัน ๆ เท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าพืชจะมีเกสรดอกไม้ มีเกสรตัวผู้ มีเกสรตัวเมีย แต่ก็ต้องอาศัยแมลง ภู่ ผึ้ง หรืออาศัยลมช่วยพัดเกสรตัวผู้ตัวเมียให้มาผสมพันธุ์กันเพื่อรักษาพันธุ์พืชให้คงอยู่ เมล็ดพืชจากต้นไม้ ก็เช่นกัน ต้องอาศัยนก อาศัยกาจิกกินเมล็ดแล้วคาบเอาไปทิ้งในที่ต่าง ๆ เพื่อขยายเขตแดนของพืชชนิดนั้นไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพราะหากมันตกลงในบริเวณต้นของมัน มันอาจไม่มีโอกาสได้เติบโต  เพราะไม่อาจแข่งกับต้นไม้ใหญ่ที่เป็นแม่มันได้ คือ ดูดกินสารอาหารไม่สู้ต้นไม้ใหญ่ หรือแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นมาได้ ลำต้นก็จะแคระแกร็น ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่

          ดังนั้น ความสุขของพืชที่ชอบกอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวจึงต่างจากความสุขของสัตว์ ที่ได้อารักขายีน สืบทอดเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ เราสามารถสังเกตได้จากการร่วมเพศของสัตว์ มันมีความสุขที่ได้ร่วมเพศเมื่อได้เข้าสู่วัยหนุ่มสาว บางครั้ง สัตว์ตัวผู้ต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งสัตว์ตัวเมีย บางครั้งหลังการต่อสู้ สัตว์ตัวผู้อาจตายทั้งคู่ แต่ถ้ารอดพ้นจากความตาย ตัวที่ชนะการต่อสู้ก็จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของสัตว์ตัวเมีย มีโอกาสได้สืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนเอง สัตว์ตัวผู้บางชนิดครอบครองสัตว์ตัวเมียมากกว่า ๑ ตัวขึ้นไป ด้วยพลังอำนาจและความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าจึงได้รับหน้าที่ปกปักรักษาและให้ความคุ้มครองสัตว์ตัวเมียรวมทั้งลูก ๆ ของมัน และขยายขอบเขตการปกครองของมันกว้างขวางขึ้นไปเรื่อย ๆ สัตว์บางชนิด เช่น ม้า มันขวนขวายในเรื่องการผสมพันธุ์ ธรรมชาติได้มอบพรสวรรค์ด้านการดมกลิ่นให้กับมัน ม้าตัวผู้สามารถได้กลิ่นม้าตัวเมียได้ถึง ๑๖ กิโลเมตร โดยเฉพาะม้าตัวเมียในวัยเจริญพันธุ์ เมื่อมันได้กลิ่นมันจะไม่รอช้าและจะรีบเคลื่อนที่ไปหาตัวเมียอย่างไม่รีรอ เพราะแรงขับจากภายในที่เกิดจากการรับรู้ทำให้มันตอบสนองตามสัญชาตญาณอารักขายีนตามธรรมชาติของสัตว์ที่มีความสุขตามสัญชาตญาณอารักขายีน

          นอกจากเรื่องการผสมพันธุ์แล้ว สัญชาตญาณอารักขายีนยังแสดงออกในลักษณะของการปกปักรักษาหรือปกป้องพวกพ้อง เช่น กรณีที่แม่ไก่หวงลูกไก่ เวลาที่ใครจะเข้าไปจับลูกไก่ แม่ไก่ จะเกิดความทุกข์เพราะห่วงลูกไก่ มันจะพุ่งเข้าไปจิกคนที่เข้าไปยุ่งกับลูกของมัน เป็นต้น

          เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์จึงเป็นลักษณะของคนที่ฝักใฝ่ในกามเป็นสำคัญ มุ่งหาความสุขเฉพาะที่ตอบสนองกามารมณ์หรืออารมณ์ทางกาม ชอบร่วมเพศ ชอบเปลี่ยนคู่นอน ชอบมีชู้ มีเมีย มีผัวหลายคน โดยเจตนานั้นเป็นไปเพื่อสนองความอยากทางกามที่ไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการปกป้องคุ้มครองดูแลและให้ความอบอุ่นหรืออ่อนโยนซึ่งกันและกัน 

          มนุษย์ผู้แสวงหาความสุขตามสัญชาตญาณสัตว์จึงมีลักษณะเป็นคนที่หาความสุขทางกามารมณ์เป็นที่ตั้ง ยิ่งได้ลิ้มรสมากมายหลายคนยิ่งรู้สึกได้ตอบสนองความต้องการทางเพศให้แก่ตนอย่างเต็มที่ หลายคนคิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าโดยเฉพาะในช่วงวัยหนุ่มสาวที่มีความต้องการทางเพศ มีกำลังวังชามหาศาล ต้องการปลดปล่อย ต้องการคู่ครอง

          ส่วนในด้านความสัมพันธ์แบบเพื่อน มีความต้องการพวกพ้องที่มีเชื้อชาติเดียวกัน มีความเชื่อและรสนิยมเดียวกัน เพราะสัญชาตญาณอารักขายีนมันรักพวกพ้อง ได้ผลประโยชน์มาก็รู้จักแจกจ่ายพวกพ้องของมัน (ตรงข้ามกับสสารและพืช) เริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นยีนเดียวกันโดยตรง ในฐานะผู้สืบต่อยีนบ้าง ผู้ให้กำเนิดบ้าง คู่ครองบ้าง ญาติพี่น้องบ้าง จากนั้นจึงแผ่ขยายกว้างขวางออกไป เช่น คนในหมู่บ้านเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ภาคเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกัน ประเทศเดียวกัน จนกระทั่งถึงภาคพื้นทวีปเดียวกัน นอกจากนี้ ความยึดมั่นในรสนิยม คติความเชื่อแบบสุดโต่ง เป็นเหตุให้เกิดการแบ่งแยก “พวกเขาพวกเรา” เช่น สีผิวเดียวกัน ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีเดียวกัน ปรัชญากระบวนทรรศน์เดียวกัน เป็นต้น

          ในทางการเมืองก็เป็นลักษณะของการเล่นพรรคเล่นพวกทั้งในกลุ่มสมาชิกทางสังคม ทั้งในหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ทั้งในสภาการเมือง โดยจะเอื้อผลประโยชน์และอำนาจเฉพาะพวกพ้องของตนเท่านั้น แม้จะต้องใช้กำลังหรือความรุนแรงเข้าไปทำร้าย ประหัตประหารกันก็ตามที เมื่อมีสัญชาตญาณสัตว์มากจนเกินไปเช่นนี้ มักจะมีการแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ มีการเล่นพรรคเล่นพวก ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ผิด อันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนจากวงเล็ก ๆ ขยายไปถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศ และสงครามโลกในที่สุด

          ๔) ความสุขตามสัญชาตญาณมนุษย์ ความสุขตามสัญชาตญาณมนุษย์เป็นความสุขของสัญชาตญาณปัญญา อันเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงที่มีในมนุษย์เท่านั้น ส่วนสสาร พืช และสัตว์นั้นหามีไม่

          “สสาร” ไม่มีสัญชาตญาณพืช ไม่มีสัญชาตญาณสัตว์ ไม่มีสัญชาตญาณปัญญา มันมีเพียงสัญชาตญาณในตัวมันเอง ความสุขที่มันได้รับและยึดติดอยู่จึงเป็นเพียงความสุขในระดับสัญชาตญาณสสารหรือสัญชาตญาณก้อนหินเท่านั้น

          “พืช” มีสัญชาตญาณสสารอยู่ในตัวของมัน และสัญชาตญาณพืชซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมันเอง ในตัวของมันไม่มีสัญชาตญาณสัตว์ ไม่มีสัญชาตญาณปัญญา มันจึงมีความสุขที่ได้รับผลประโยชน์ ผลประโยชน์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มันรับได้ บางคนอาจแย้งว่า กาฝากเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อต้นไม้แต่ทำไมต้นไม้ถึงยอมให้กาฝากอยู่ หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า การที่ต้นไม้ไม่ทำการปล่อยสารอะไรบางอย่างออกมาเพื่อฆ่ากาฝากให้ตายนั้นมันอาจจะเป็นเพราะกาฝากยังเป็นประโยชน์กับมันในบางเรื่อง เช่น กลิ่นของกาฝากอาจไล่แมลงบางชนิดที่เป็นภัยต่อต้นของมัน เป็นต้น เมื่อผลประโยชน์ลงตัวมันจึงไม่ต้องทุกข์ร้อน เพราะเป็นความสุขในระดับสัญชาตญาณพืชด้วยกัน แต่การที่มันไม่รู้ว่าในวันหนึ่งมันอาจต้องตายเพราะกาฝากนั้นเป็นเพราะมันขาดสัญชาตญาณปัญญาซึ่งมีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น มันจึงไม่สามารถวิจักษ์ (ประเมินค่า) ได้ว่าอะไรเป็นคุณอะไร-เป็นโทษ อะไรเป็นคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

          “สัตว์” มีสัญชาตญาณสสารและสัญชาตญาณพืชอยู่ในตัว รวมทั้งสัญชาตญาณอารักขายีนของมัน ในขณะที่สัญชาตญาณสสารและสัญชาตญาณพืชไม่มีสัญชาตญาณอารักขายีนเหมือนกับมัน แต่มันก็ไม่มีสัญชาตญาณปัญญาได้เหมือนมนุษย์ มีแต่เรื่องของการรับรู้และตอบสนองตามธรรมชาติของสัตว์เท่านั้น ดังนั้น สัตว์จึงมีความสุขได้ทั้งแบบสสาร พืช และการอารักขายีน ยกเว้นแบบมนุษย์

          “มนุษย์” มีสัญชาตญาณสสาร สัญชาตญาณพืช และสัญชาตญาณสัตว์อยู่ในตัว แต่สัญชาตญาณแท้จริงของมนุษย์ ที่มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ก็คือ “สัญชาตญาณปัญญา” ที่เรียกว่า สัญชาตญาณแท้จริงของมนุษย์ก็เพราะสัญชาตญาณปัญญานี้ไม่มีในสสาร พืช และสัตว์ แม้ว่าสัตว์จะมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดแต่สัตว์ก็ไม่สามารถตั้งคำถามเชิงตรรกะและวิเคราะห์หาคำตอบได้อย่างมนุษย์ ดังนั้น สมรรถนะคิดของมนุษย์จึงทำให้มนุษย์สามารถวิเคราะห์ได้ สังเคราะห์ได้ ยืนยันความคิดได้ว่าจริงหรือเท็จ ใช่หรือไม่ ทำได้หรือทำไม่ได้ ควรหรือไม่ควร เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียม จนถึงที่สุดแล้วมนุษย์มีความสามารถถึงขั้นหยั่งรู้ได้ด้วย และการหยั่งรู้ที่ยอมรับว่าสูงที่สุดก็คือการหยั่งรู้ของศาสดา

          กีรติ  บุญเจือ (๒๕๕๖) กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์มักรู้” (homo curious) เนื่องจากมนุษย์มีปัญญา และมีสัญชาตญาณปัญญาคือ มีความสุขสูงสุดด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต สัญชาตญาณมักรู้เป็นกระบวนการขั้นแรกสุดของการพัฒนาคุณภาพปัญญา อันเป็นปัจจัยจำเป็นและพอเพียง (necessary and sufficient cause) ของการมีความสุขสุดยอดของความเป็นมนุษย์ จึงควรรู้ขั้นตอนการเกิดความรู้จนถึงขั้นมีความสุขในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ดังนั้น มนุษย์ต่างจากสัตว์ พืช และก้อนหิน ตรงที่มีปัญญาและจิตสำนึก ปัญญาและจิตสำนึกนี้ไม่มีในสัตว์ พืช และก้อนหิน แต่สัญชาติญาณสัตว์ พืช และก้อนหินกลับมีในมนุษย์อย่างครบถ้วน ในบางเวลามนุษย์ต้องการพักผ่อน ในบางเวลามนุษย์ต้องการปัจจัย ๔ ต้องการผลประโยชน์เอื้ออำนวยให้ตัวเองสุขสบาย บางครั้งมนุษย์ต้องการเพื่อน พวกพ้อง และคู่ครองเพื่อสืบสานสกุล แต่สิ่งที่อยู่ในมนุษย์ เป็นศักยภาพ เป็นพลัง เป็นสัญชาตญาณเดิมแท้ของมนุษย์จริง ๆ คือ “ปัญญา” เพราะสัญชาตญาณปัญญามีอยู่ในมนุษย์เท่านั้น มนุษย์จึงเป็นเจ้าของสัญชาตญาณนี้โดยธรรมชาติ  มันคือสัญชาตญาณเดิมแท้ของมนุษย์ เมื่อได้รับความสุขจากสัญชาตญาณปัญญาจึงสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่ามันคือความสุขตามความเป็นจริงของมนุษย์ทุกคน สัญชาตญาณปัญญาแสดงออกมา  ด้วยการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๒๑ - ๒๖.

หมายเลขบันทึก: 710656เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท