เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของปรัชญาหน้าที่นิยม


เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของปรัชญาหน้าที่นิยม

            ระบบจริยธรรมของคานท์ได้ชื่อว่า Deontological Ethics คำว่า Deontology มาจากคำในภาษากรีกว่า Deontos แปลว่า หน้าที่ ประกอบกับคำว่า Logos แปลว่า ศาสตร์ เพราะฉะนั้น หลักจริยธรรมของค้านท์จึงเป็นศาสตร์แห่งการทำตามหน้าที่

            กีรติ บุญเจือ (2551) สรุปไว้ว่า ความถูกต้องของคานท์อยู่ที่เจตนา ถ้ามีเจตนาดี ไม่ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ต้องนับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เช่น ผู้มีเจตนาจะขับรถเร็วเกินอัตราเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยนับว่าเป็นเจตนาดี อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความบังเอิญสุดวิสัย ทำให้ผู้ป่วยต้องตายลงโดยมิได้เจตนา เขาควรได้รับการสรรเสริญว่าเป็นคนดี ทำถูกต้องแล้ว ส่วนผู้ที่ขับรถเร็วเพื่ออวดศักดา ควรได้รับคำตำหนิว่าไม่ร่วมมือรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน การสามารถช่วยชีวิตน้องชายจากไฟไหม้บ้านเป็นเรื่องของความบังเอิญ มิใช่เป็นความดีอันเกิดจากเจตนาขับรถเร็ว การขับรถเร็วของเขาครั้งนั้นไม่ควรได้รับการอภัยแต่ประการใดทั้งสิ้น พึงถูกลงโทษตามระเบียบ

          จากข้อสรุปนี้ ทำให้เราทราบถึงทรรศนะของคานท์ว่า คุณค่าทางศีลธรรมของการกระทำไม่ได้อยู่ที่ผลของการกระทำนั้น แต่อยู่ที่เจตนา สิ่งสำคัญคือเจตนา เป็นเจตนาชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ สิ่งที่สำคัญคือ การทำดีเพราะมันดี ไม่ใช่มีเจตนา (ที่หวังผล) แอบแฝง ซึ่งสอดคล้องกับข้อเขียนของคานท์ที่ว่า “เจตนาดีนั้นดี ไม่ใช่เพราะผลกระทบหรือผลลัพธ์ของมัน” มันเป็นสิ่งที่ดีในตัวเอง ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ถึงแม้ว่า... เจตนานี้จะไร้ซึ่งอำนาจในการปฏิบัติตามเจตนา ต่อให้พยายามจนสุดความสามารถแล้วก็ยังทำไม่ได้เลย... มันก็ยังคงเปล่งประกายราวอัญมณีในฐานะสิ่งซึ่งมีคุณค่าในตัวเอง (Immanuel Kant, 1964)

            ถ้าการกระทำอะไรก็ตามจะเป็นความดีมีศีลธรรม “ไม่พอที่มันจะสอดคล้องกับกฎศีลธรรม มันต้องกระทำไปเพื่อกฎศีลธรรมด้วย” (Immanuel Kant, 1964) เจตนาซึ่งมอบคุณค่าทางศีลธรรมให้กับการกระทำทุกอย่างคือเจตนาแห่งหน้าที่ ซึ่งคานท์หมายถึง การทำสิ่งที่ถูกด้วยเหตุผลที่ถูก

            ในคำกล่าวที่ว่า มีเพียงเจตนาแห่งหน้าที่เท่านั้นที่มอบคุณค่าทางศีลธรรมให้กับการกระทำ คานท์ยังไม่ได้บอกว่าเรามีหน้าที่อะไรบ้าง เขายังไม่ได้บอกเราว่าหลักศีลธรรมสูงสุดเรียกร้องให้ทำอะไร เขาเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า เวลาที่เราประเมินคุณค่าทางศีลธรรมของการกระทำ แปลว่า เราประเมินเจตนาของการกระทำนั้น ๆ ไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดขึ้น (Immanuel Kant, 1964)

            ถ้าหากเราทำอะไรด้วยเจตนาอื่นนอกเหนือจากหน้าที่ เช่น ผลประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของเราก็ไร้ซึ่งคุณค่าทางศีลธรรม คานท์ยืนยันว่าข้อนี้เป็นจริง ไม่เฉพาะแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ยังรวมถึงความพยายามทั้งหมดที่จะตอบสนองต่อความจำเป็น ความปรารถนา รสนิยม และกิเลสของเรา คานท์ชี้ว่าเจตนาแบบนี้ ซึ่งเขาเรียกว่า เจตนาแห่งแรงโน้ม (motive of inclination) อยู่ตรงข้ามกับเจตนาแห่งหน้าที่ (motive of duty) เขายืนยันว่ามีเพียงการกระทำที่ทำจากเจตนาแห่งหน้าที่เท่านั้นที่มีคุณค่าทางศีลธรรม

            ตัวอย่างบางส่วนที่คานท์ได้เสนอไว้ซึ่งชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างหน้าที่กับแรงโน้ม เป็นเรื่องของพ่อค้าผู้สุขุมรอบคอบ ลูกค้าผู้ขาดประสบการณ์ สมมติว่าเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาซื้อขนมปังหนึ่งแถวในร้านขายของชำ พ่อค้าคนนี้จะค้ากำไรเกินควร คิดราคามากกว่าราคาขนมปังปกติก็ได้ เพราะเด็กคนนี้ไม่รู้เรื่องอะไร แต่พ่อค้าตระหนักว่าถ้าหากคนอื่นมารู้ทีหลังว่าเขาเอาเปรียบเด็ก พวกเขาก็อาจบอกต่อ ๆ กันไป และธุรกิจของพ่อค้าก็จะเสียหาย เมื่อคิดได้แบบนี้เขาจึงตัดสินใจไม่โก่งราคาและคิดราคาตามปกติ ดังนั้น พ่อค้าคนนี้ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ด้วยเหตุผลที่ผิด เหตุผลเดียวที่เขาซื่อสัตย์ต่อเด็กก็เพื่อพิทักษ์ชื่อเสียงของตัวเอง พ่อค้าประพฤติตนอย่างซื่อสัตย์เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตน การกระทำของเขาไร้ซึ่งคุณค่าทางศีลธรรม (Immanuel Kant, 1964)

            ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “การเอาตัวรอด” ในความคิดของคานท์ คนเรามีหน้าที่เอาตัวรอด ในเมื่อคนส่วนใหญ่อยากมีชีวิตต่อไปอยู่แล้ว เราก็ไม่ค่อยนึกถึงหน้าที่นี้เท่าไรนัก ฉะนั้นวิธีการต่าง ๆ ที่เราทำเพื่อพิทักษ์รักษาชีวิตของตัวเองจึงไม่มีเนื้อหาทางศีลธรรม การรัดเข็มขัดและคุมคลอเลสเตอรอลให้พอเหมาะเป็นการกระทำที่รอบคอบ ไม่ใช่การทำความดี

            คานท์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าคนทำอะไรลงไปเพราะอะไร และเขาก็ตระหนักว่าคนอาจมีเจตนาแห่งหน้าที่และความชอบพร้อมกัน ประเด็นของเขาคือ มีแต่เจตนาแห่งหน้าที่ สิ่งที่ถูกเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเป็นประโยชน์หรือสะดวก เขาสาธิตประเด็นนี้ด้วยการยกตัวอย่างการฆ่าตัวตาย

            คนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตเพราะเขารักตัวกลัวตายไม่ใช่เพราะมีหน้าที่รักชีวิต คานท์เสนอกรณีที่เจตนาแห่งหน้าที่ปรากฏให้เห็น เขาจินตนาการว่ามีคน ๆ หนึ่งซึ่งสิ้นหวัง รันทดจนไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว ถ้าหากคน ๆ นั้น รวบรวมเจตจำนงที่จะรักษาชีวิตขงเขาต่อไป ไม่ใช่เพราะอยากทำแต่เป็นเพราะสำนึกในหน้าที่ การกระทำของเขาจะมีคุณค่าทางศีลธรรม (Immanuel Kant, 1964)

            อย่างไรก็ตาม คานท์ไม่ได้บอกว่ามีแต่คนรันทดแร้นแค้นเท่านั้นที่จะบรรลุหน้าที่รักษาชีวิตของตนเองได้ เป็นไปได้ที่เราจะรักชีวิตและรักษามันด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง นั่นคือ เพราะเรามีหน้าที่ที่ต้องทำอย่างนั้น ความปรารถนาอยากมีชีวิตอยู่ไม่ได้บั่นทอนคุณค่าทางศีลธรรมของการรักษาชีวิตตัวเอง ตราบเท่าที่คน ๆ นั้นตระหนักในหน้าที่ของการรักษาชีวิต และรักษาชีวิตด้วยเหตุผลนี้

            ข้อสนับสนุนที่ยากที่สุดสำหรับมุมมองของคานท์ อาจเป็นประเด็นที่ว่าเรามีหน้าที่ช่วยเหลือคนอื่น คนบางคนมีน้ำใจ พวกเขารู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและชอบช่วยเหลือ แต่สำหรับคานท์ การทำความดีจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ “ไม่ว่าจะดีงามและน่ารักเพียงใด” ก็ขาดคุณค่าทางศีลธรรม ข้อนี้อาจฟังดูตรงข้ามกับความรู้สึก การรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นนั้นไม่ดีตรงไหน คานท์จะตอบว่าดีแน่ เขาไม่คิดว่าการกระทำจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมีอะไรผิด แต่เขาแยกแยะระหว่างเจตนาที่จะช่วยคนอื่นแบบนี้ เพราะฉันรู้สึกดีที่ได้ช่วย กับเจตนาแห่งหน้าที่ เขายืนยันว่ามีเพียงเจตนาแห่งหน้าที่เท่านั้นที่จะมอบคุณค่าทางศีลธรรมให้กับการกระทำใด ๆ ก็ตาม ความเห็นอกเห็นใจของคนที่มีน้ำใจ “มีค่าควรแก่คำชื่นชมและการสนับสนุน แต่ไม่ใช่ความเคารพนับถือ” (Immanuel Kant, 1964)

            ถ้าเช่นนั้นแล้วต้องใช้อะไร การทำดีจึงจะมีคุณค่าทางศีลธรรม คานท์เสนอตัวอย่างนี้ ลองนึกภาพว่าคนมีน้ำใจของเราประสบเคราะห์ร้ายอะไรสักอย่างที่ทำให้ความรักในเพื่อนมนุษย์ของเขาเหือดแห้ง เขากลายเป็นคนเกลียดมนุษย์ที่แล้งน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจอย่างสิ้นเชิง แต่คนเลือดเย็นผู้นี้ข่มความไม่แยแสของตัวเองไว้ และยังช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหมือนเดิม ตอนนี้เขาไม่มีความอยากที่จะช่วยคนอื่น แต่ทำไป “เพราะตระหนักในหน้าที่เท่านั้น” นี่เป็นครั้งแรกที่การกระทำของเขามีคุณค่าทางศีลธรรม (Immanuel Kant, 1964)

            การตัดสินแบบนี้ฟังดูแปลก คานท์ต้องการยกย่องคนเกลียดมนุษย์ว่าเป็นต้นแบบทางศีลธรรมหรือเปล่า ก็ไม่เชิง การได้รับความเพลิดเพลินจากการทำดีไม่ได้ทำให้คุณค่าทางศีลธรรมด้อยลงเสมอไป คานท์บอกเราว่าประเด็นสำคัญคือ เราทำดีเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะทำให้เรารู้สึกดีด้วยหรือไม่

            จากการศึกษาจริยธรรมในปรัชญาหน้าที่นิยมของคานท์มาทั้งหมด พบว่า ศีลธรรมของคานท์ หมายถึง การกระทำตามหน้าที่ หรือ การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ (Duty for duty’s sake) เพราะถือหลักว่า The end does not justify the means (เป้าหมายไม่ทำให้วิถีถูกต้องชอบธรรม) คานท์ถือว่าทุกคนมีจิตสำนึกได้ว่า “หน้าที่จะต้องทำ” (duty to be done) คือ รู้ว่าอะไรเป็นหน้าที่ก็จะรู้สึกถูกบังคับให้ต้องทำตามมโนธรรมสำนึก เป็นคำสั่งแบบเด็ดขาดภายใต้กฎศีลธรรม 3 ประการ คือ

            1) จงกระทำโดยความสำนึกว่าเป็นกฎสากล 

            2) จงกระทำโดยความสำนึกว่า บุคคลเป็นจุดหมาย ไม่ใช่วิถีไปสู่จุดหมายอื่น 

            3) จงกระทำโดยความสำนึกว่า ตนมีเสรีภาพ และมนุษย์ทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ

            หากเราสังเกตการณ์เชื่อมโยงความคิดใหญ่ ๆ สามเรื่องคือ ศีลธรรม อิสรภาพ และความมีเหตุมีผลจะพบว่าคานท์ได้อธิบายความคิดเหล่านี้ผ่านการยกตัวอย่างตรงกันข้ามหรือคู่ขนาน ศัพท์ที่เป็นกุญแจสำคัญของเรื่องซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามที่ควรจำได้แก่

            คู่ตรงข้ามที่ 1 (ศีลธรรม)              หน้าที่ vs. แรงโน้ม

            คู่ตรงข้ามที่ 2 (อิสรภาพ)             อัตตาณัติ vs. อัญญาณัติ

            คู่ตรงข้ามที่ 3 (ความมีเหตุมีผล)   คำสั่งแบบเด็ดขาด vs. คำสั่งแบบมีเงื่อนไข

            คู่ตรงข้ามทั้ง 3 ส่วนที่ได้ศึกษาในเนื้อหามาแล้วนี้ สามารถสรุปได้ว่า

         คู่ตรงข้ามคู่แรก ระหว่างหน้าที่กับแรงโน้มนั้น มีเพียงเจตนาแห่งหน้าที่เท่านั้นที่จะมอบคุณค่าทางศีลธรรมให้กับการกระทำ

            คู่ตรงข้ามคู่ที่สอง คานท์มองว่า บุคคลจะเป็นอิสระ (อัตตาณัติ) ก็ต่อเมื่อสามารถกำหนดเจตนาอย่างเป็นอิสระ ด้วยเหตุผลปฏิบัติ ถ้าหากเรามีเหตุมีผลกำหนดเจตนา เจตนานั้นก็กลายเป็นอำนาจในการเลือกซึ่งไม่ขึ้นกับกฎธรรมชาติหรือแรงโน้มใด ๆ ความคิดเรื่องเหตุผลของเขาจึงดูเคร่งครัดมาก ในขณะที่ปรัชญาประโยชน์นิยมใช้เหตุผลเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการบรรลุจุดหมายบางอย่างเท่านั้น โธมัส ฮอบส์ เรียกเหตุผลว่า “แมวมองของความปรารถนา” (scout for the desires) ส่วนเดวิด ฮิวม์ เรียกเหตุผลว่า “ทาสของอารมณ์” (slave for the passion) คานท์ปฏิเสธบทบาทรองของเหตุผล เขามองว่าเหตุผลไม่ได้เป็นแค่ทาสของอารมณ์ คานท์กล่าวว่า “ถ้าหากมันเป็นเช่นนั้นจริง สู้เราใช้สัญชาตญาณไปเลยดีกว่า” (Immanuel Kant, 1964) ดังนั้น ความคิดเรื่องเหตุผลของคานท์จึงเป็นเหตุผลปฏิบัติ เป็นเรื่องของศีลธรรม กล่าวคือ ไม่ใช่เหตุผลในฐานะที่เป็นเครื่องมือ (Immanuel Kant, 1970b)

            คู่ตรงข้ามคู่ที่สาม ระหว่างคำสั่งแบบเด็ดขาดกับคำสั่งแบบมีเงื่อนไขนี้ คานท์ยืนยันว่า คำสั่งแบบเด็ดขาดเท่านั้นที่สามารถเป็นกฎคำสั่งทางศีลธรรมได้ (Immanuel Kant, 1964)

          ส่วนเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของคานท์ สรุปได้ว่า คานท์ใช้เจตนาเป็นเกณฑ์ตัดสินจริยธรรม ถ้ามีเจตนาดี ไม่ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ต้องนับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง การที่เกิดผลร้ายบ้างเป็นเพียงเหตุบังเอิญเท่านั้น คุณค่าทางศีลธรรมของการกระทำจึงไม่ได้อยู่ที่ผลของการกระทำนั้น แต่อยู่ที่เจตนา เจตนาเท่านั้นที่ก่อให้เกิดคุณค่าทางศีลธรรม จริยธรรม ได้อย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 137 - 141.

หมายเลขบันทึก: 710651เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท