วิธีวิจัยทางปรัชญา


วิธีวิจัยทางปรัชญา

            ปรัชญาเป็นเรื่องของแนวคิด ไม่ใช่กรอบทฤษฎีที่มีความตายตัวเหมือนศาสตร์อื่น ๆ เพราะฉะนั้น วิธีการของปรัชญาจึงมีความแตกต่างจากวิธีการทั่วไป วิธีการทางปรัชญามีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว ซึ่งในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวก็ยังเป็นหัวใจสำคัญในการศึกษาเชิงปรัชญาและเป็นพื้นฐานในการวิจัยเชิงปรัชญาด้วย นั่นก็คือ “วิภาษวิธีและวิธีการถกปัญหา” นั่นเอง

            วิธีวิจัยทางปรัชญาที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ได้แก่ วิภาษวิธีแบบซาเครอทีส (Socrates Dialectics Method) วิธีการตีความ (Hermeneutics process) และกระบวนการไตร่ตรอง (Reflexive process)

1. วิภาษวิธีแบบซาเครอทีส คือ การถาม และตอบ การตั้งคำถามที่อาจตอบได้หลายคำตอบที่เป็นไปได้ (pluralistic question) เพื่อค้นความจริง ซึ่งมีทั้งคำถามแบบโต้แย้ง และค้นรายละเอียดของความจริงนั้น โดยรับฟังเหตุผลที่สนับสนุนแต่ละคำตอบ เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดจากการประนีประนอมทุกฝ่ายเท่าที่จะทำได้ และมีเหตุผลเหนือกว่าทุกฝ่ายเท่าที่จะเป็นไปได้

            “วิภาษวิธี” (dialectic) คือ การตั้งคำถามที่อาจตอบได้หลายคำตอบที่เป็นไปได้ เช่น การตั้งคำถามว่า เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรเรียกว่าเป็นลัทธิประโยชน์นิยมได้หรือไม่ ซึ่งสามารถตอบได้ 2 คำตอบคือ “ได้” กับ “ไม่ได้” เป็นต้น

            “วิธีการถกปัญหา” (discursive) คือ วิธีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ การรับฟังเหตุผลที่สนับสนุนแต่ละคำตอบ เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด จากการประนีประนอมทุกฝ่ายเท่าที่จะทำได้ และมีเหตุผลเหนือกว่าทุกฝ่าย เช่น 

            ฝ่ายที่ (1) เห็นว่า เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรเรียกว่าเป็นลัทธิประโยชน์นิยมได้ เพราะเกณฑ์ในเรื่องประโยชน์และความสุขมีแนวคิดที่สอดคล้องกับลัทธิประโยชน์นิยมตะวันตก

            ฝ่ายที่ (2) เห็นว่า เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรเรียกว่าเป็นลัทธิประโยชน์นิยมได้ แต่เป็นประโยชน์นิยมเชิงพุทธ ไม่ใช่ประโยชน์นิยมเชิงตะวันตก เนื่องจากมีระบบปรัชญาประโยชน์นิยมเป็นของตนเอง

            ฝ่ายที่ (1) และ (2) นี้ จัดเป็น “บทตั้ง” ของฝ่ายตรงข้าม

            ส่วนฝ่ายของเราจะต้องทำหน้าที่เป็น “บทแย้ง” โดยแย้งฝ่ายตรงข้ามทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้ว่าเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามมีจุดอ่อนอย่างไร จากการประนีประนอมทุกฝ่ายเท่าที่จะทำได้ และมีเหตุผลเหนือกว่าทุกฝ่าย เช่น เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตร ดูเหมือนจะเรียกได้ว่า เป็นลัทธิประโยชน์นิยมได้ แต่เหตุผลดังกล่าวมีจุดอ่อนมาจากการตีความแบบแยกส่วน โดยทิ้งองค์ประกอบโดยรวมของเกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตร แต่ถ้าตีความโดยไม่ทิ้งองค์ประกอบโดยรวมแล้วจะพบว่า เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรให้ความสำคัญทั้งส่วนของเจตนา และผลของการกระทำ ตลอดทั้งคำวินิจฉัยของวิญญูชนด้วย เหตุผลอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ จุดอ่อนในเรื่องความหมายของคำว่า “ประโยชน์นิยม” ซึ่งใช้ในปรัชญาตะวันตก โดยมีนัยทางผลประโยชน์ฝ่ายโลกที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุเท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นเจตนาหลักในทางพุทธศาสนา ดังนั้น (ฝ่ายเรา) จึงมีความคิดเห็นตรงข้ามว่า ไม่น่าจะเรียกได้เช่นนั้น แต่อาจจะถือว่าเป็นเรื่องของ “คุณค่า” ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ การทำดีมีสุขแท้ตามความเป็นจริง เป็นทางสู่พระนิพพาน ซึ่งอยู่เหนือความต้องการผลประโยชน์ทางวัตถุใด ๆ ทั้งสิ้นของโลกนี้ เป็นต้น

            หลังจากนั้นจึงทำหน้าที่เป็น “บทสังเคราะห์” คือ เสนอคำตอบใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ดูสมเหตุสมผล หรือมีความเป็นไปได้มากกว่าคำตอบของฝ่ายตรงข้าม เช่น เสนอคำตอบใหม่ว่า เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรเป็นลัทธิหลังนวยุคนิยมสายกลาง (Moderate Postmodern) เพราะมีหลักการ วิธีการ และจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น

2. วิธีการตีความ คือ วิธีการตีความ คือ เป็นกระบวนการของอรรถปริวรรต อรรถปริวรรต(hermeneutic) เป็นชื่อวิชา แต่เมื่อนำไปใช้เรียกว่า การตีความ (interpretation)

3. กระบวนการไตร่ตรอง คือ การทบทวนว่า สิ่งที่ได้รับรู้ มานั้น ถ้ามีข้อโต้แย้งในแต่ละเรื่อง ในแต่ละสถานการณ์ คำตอบที่ได้ควรเป็นอย่างไร การไตร่ตรองนี้ หมายถึง การย้อนคิดทบทวนว่า การรู้นั้น มีคุณค่า มีประโยชน์ ในขณะนี้เพียงใด ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับวิภาษวิธี แต่วิภาษวิธีมีหลายแบบ 

            นอกจากวิภาษวิธีและวิธีการถกปัญหาแล้ว ได้มีนักปราชญ์ท่านอื่น ๆ เสนอวิธีการของปรัชญาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วิธีการเก็งความจริงด้วยระบบคิดแบบตรรกะ 2 วิธี คือ วิธีการนิรนัยและวิธีการอุปนัย, วิธีการวิทยาศาสตร์, วิธีการนิยาม, วิธีการบรรยาย, วิธีการหยั่งรู้, วิธีการวิเคราะห์ภาษา, วิธีการวิจารณ์, วิธีการสงสัย และวิธีการนำสนทนา 

            ในส่วนของวิธีการวิจารณ์ วิธีการสงสัย และวิธีการนำสนทนา สังเคราะห์อยู่ในวิภาษวิธีและวิธีการถกปัญหาอยู่แล้ว ส่วนวิธีการอื่น ๆ จัดเป็นวิธีการของปรัชญาที่ช่วยเป็น “เครื่องมือ” ของวิภาษวิธีและวิธีการถกปัญหา เมื่อผู้ใช้ต้องการตีความ วิเคราะห์เหตุผล และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป

            กล่าวโดยสรุป วิภาษวิธีและวิธีการถกปัญหา เป็นหัวใจของวิธีการทางปรัชญา การเรียนปรัชญาให้เป็นปรัชญาได้นั้น ผู้เรียนหรือผู้ศึกษาจะต้องวางท่าทีต่อความรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งใดง่าย ๆ พยายามหาประเด็นหรือข้อสงสัยที่อาจนำมาซึ่งคำตอบตั้งแต่ 2 คำตอบขึ้นไป อาจเป็นประเด็นปัญหาทางปรัชญาในวงการวิชาการปัจจุบันก็ได้ แล้วลองค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น คือ การรับฟังเหตุผลที่สนับสนุนแต่ละคำตอบ เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดจากการประนีประนอมทุกฝ่ายเท่าที่จะทำได้ และมีเหตุผลเหนือกว่าทุกฝ่าย แต่สำหรับนักปรัชญารุ่นใหม่ สิ่งที่สำคัญไม่เพียงแต่การค้นหาคำตอบเพื่อสนองความอยากรู้ได้เท่านั้น ควรที่จะมีการตีความปรัชญาเพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และคนในสังคมด้วย เพราะงานของนักปรัชญาอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นผู้นำทางความคิดที่ถูกต้อง และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ ทำดีมีสุขในทุกอาชีพ

หมายเลขบันทึก: 710628เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท